ข้ามไปเนื้อหา

ธาตุก่องข้าวน้อย

พิกัด: 15°45′49″N 104°12′25″E / 15.763515°N 104.207039°E / 15.763515; 104.207039
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระธาตุก่องข้าวน้อย)
ธาตุก่องข้าวน้อย
แผนที่
ชื่อสามัญพระธาตุถาดทอง , ธาตุก่องข้าวน้อย
ที่ตั้งถนนธรรมาภินันท์ ตำบลตาดทอง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร 35000
พระพุทธรูปสำคัญพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนโบราณ
จุดสนใจพระธาตุตาดทอง สถูปพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนโบราณ และใบเสมาสมัยทวาราวดี
กิจกรรมงานนมัสการและสรงน้ำพระธาตุตาดทอง
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

พระธาตุตาดทอง หรือ พระธาตุถาดทอง หรือที่นิยมเรียกกันว่า ธาตุก่องข้าวน้อย ตั้งอยู่ในกลางทุ่งนาของบ้านตาดทอง ตำบลตาดทอง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 9 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 23 (สายยโสธร-อุบลราชธานี) กิโลเมตรที่ 194 เลี้ยวซ้ายไปอีก 1 กิโลเมตร

ประวัติ

[แก้]

บ้านตาดทองเป็นชุมชนโบราณตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงสมัยทวาราวดี ตามตำนานอุรังคนิทาน (พระธาตุพนม) มีข้อความว่า ชาวสะเดาตาดทองได้นำของมาช่วย พบหลักฐานการอยู่อาศัยเป็นแหล่งฝังศพและมีเศษภาชนะแบบที่พบในทุ่งกุลาร้องไห้ มีเนินดินขนาดราว ๕๐๐ X ๖๕๐ เมตรรูปวงรี มีคูน้ำล้อมรอบ แต่ปัจจุบันทางหลวงตัดผ่านกลางเนิน จนแบ่งออกเป็นสองฟากและมีบ้านเรือนตั้งอยู่หนาแน่น

พระธาตุตาดทองจากรูปแบบสถาปัตยกรรมสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 24 และอาจจะมีความเกี่ยวเนื่องกับนิทานพื้นบ้านเล่าสืบกันมาว่า เมื่อผู้คนในแถบอำเภอรัตนบุรีทราบข่าวการบูรณะพระธาตุพนม จึงพร้อมใจกันรวบรวมวัตถุมงคลสิ่งมีค่าเพื่อนำไปบรรจุไว้ในพระธาตุพนม แต่เมื่อเดินทางถึงบ้านตาดทองได้พบกับชาวบ้านสะเดา ตำบลตาดทอง ที่ไปช่วยบูรณะพระธาตุเดินทางกลับมาบ้านเพราะการบูรณะพระธาตุพนมได้เสร็จสิ้นแล้ว ผู้คนเหล่านั้นจึงพร้อมใจกันสร้างเจดีย์บรรจุของมีค่าที่ตนนำมา ชาวบ้านสะเดาจึงนำถาดทองที่ใช้อัญเชิญของมีค่านำไปบรรจุในพระธาตุพนม มารองรับของมีค่าที่ชาวอำเภอรัตนบุรีที่จะนำไปบรรจุไว้ในเจดีย์ที่กำลังสร้าง จึงเรียก พระธาตุตาดทอง หรือ พระธาตุถาดทอง

ลักษณะสถาปัตยกรรม

[แก้]

พระธาตุตาดทอง เป็นเจดีย์ทรงมณฑปยอดบัวเหลี่ยมในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส สร้างก่ออิฐถือปูน รูปทรงแปลกไปจากเจดีย์โดยทั่วไป ส่วนฐานตอนล่างเป็นฐานเขียงรองรับชั้นชุดฐานบัวท้องไม้ลูกแก้วอกไก่ ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 2 เมตร ก่อสูงขึ้นไปประมาณ 1 เมตร ช่วงกลางขององค์ธาตุมีลวดลายทำเป็นซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน ถัดจากช่วงนี้ไปเป็นส่วนยอดของเจดีย์ที่ค่อยๆ สอบเข้าหากัน ส่วนยอดรอบนอกของธาตุก่องข้าวน้อยมีกำแพงอิฐล้อมรอบขนาด 5x5 เมตร ส่วนมณฑปทำย่อเก็จมีซุ้มพระทั้ง 4 ด้าน เดิมคงมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ ยอดซุ้มโค้งแบบซุ้มหน้านางภายในประดับปูนปั้นลายพรรณพฤกษา เสาซุ้มทำลายแสงตาเวน(ตะวัน)ประดับกระจก ส่วนยอดเป็นบัวเหลี่ยมทำย่อเก็จเป็นรูปบัวเหลี่ยมมีเครื่องยอดซ้อนกัน 3 ชั้นยอดแหลม โดยรอบมีใบเสมาสมัยทวารวดี และกลุ่มเจดีย์รายจำลองทรงบัวเหลี่ยม ด้านหน้าพระธาตุตาดทองมีอูบมุงแบบพื้นถิ่นอีสานในผังเหลี่ยมจัตุรัส ลักษณะเป็นห้องสี่เหลี่ยมหลังคาโดมเอนลาดสอบเข้าหากัน สันหลังคาประดับปูนปั้นรูปนาค ยอดหลังคาในตอนกลางเป็นเจดีย์ขนาดเล็ก ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยฝีมือช่างพื้นถิ่นอีสาน นับถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก และในช่วงเดือนเมษายนจะมีประเพณีสรงน้ำพระและปิดทอง เชื่อกันว่าถ้าไม่ทำเช่นนี้ฝนจะแล้งในปีนั้น

โบราณคดี

[แก้]

เอกลักษณ์ของพระธาตุตาดทอง คือ การออกแบบรูปทรงเจดีย์ที่สวยงาม และเป็นพระธาตุแห่งหนึ่งที่อาจจะเกี่ยวข้องนิทานเรื่องก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ อีกทั้งมีประวัติอ้างอิงเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การสร้างพระธาตุพนม กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานพระธาตุตาดทอง ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 27 กันยายน 2479 และประกาศกำหนดเขตที่ดิน ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 15 มกราคม 2552 เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 59 ตารางวา โบราณสถานแห่งนี้ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดในปี พ.ศ. 2545 ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย

นอกจากนี้แล้วบริเวณโดยรอบองค์พระธาตุตาดทอง กรมศิลปากรได้ค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีต่าง ๆ บริเวณแห่งนี้คาดว่าเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ของไทย และภาพเขียนสียุคเดียวกับโบราณสถานบ้านเชียงด้วย[1] อนึ่งชื่อที่ถูกต้องของธาตุองค์นี้ ควรจะเรียกว่า "ธาตุก่องข้าวน้อย" มากกว่า "พระธาตุก่องข้าวน้อย" เพราะภายในบรรจุอัฐิบุคคลธรรมดา มิใช่เป็นอัฐิพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนเช่นพระธาตุ หรือพระบรมธาตุทั่วไป[2][3][ต้องการแหล่งอ้างอิงดีกว่านี้]

นิทานก่องข้าวน้อยฆ่าแม่

[แก้]

ประวัติของการสร้างธาตุแห่งนี้แตกต่างไปจากธาตุอื่น ๆ ที่มักเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา โดยเป็นนิทานพื้นบ้านเล่าว่า มีชายหนุ่มชาวนา (บ้างว่าชื่อ ทอง) ที่ได้ทำนาทั้งชีวิต วันหนึ่งเขาออกไปไถนา ในเวลาเที่ยงเขาเหนื่อยล้า รู้สึกเกิดอาการร้อนรนและหิวโซ มารดาของหนุ่มชาวนามาส่งข้าว แต่มาช้ากว่าเวลาปกติ ชายหนุ่มเห็นว่าก่องข้าวที่มารดาถือมาให้นั้นก่องเล็กมาก เขาโกรธมารดามาก จึงทำร้ายมารดาด้วยความหิวแลโมโห จึงเอาคันไถนาฟาดไปที่มารดา จนมารดาล้มและเสียชีวิต หลังจากนั้นเขากินข้าวที่มารดานำมาให้ แต่ก็กินเท่าไรข้าวก่องน้อยนั้นก็ไม่หมดก่อง ลูกชายเริ่มได้สติ หันมาเห็นมารดานอนเสียชีวิตบนพื้น จึงรู้สึกเสียใจมากที่ได้ทำผิดไป จึงได้สร้างธาตุก่องข้าวน้อยแห่งนี้ขึ้นมาด้วยมือเพื่อชดใช้บาปกรรม

ข้อเท็จจริง

[แก้]

ปัจจุบันได้มีการค้นพบธาตุเก่าแก่ที่วัดทุ่งสะเดา บ้านสะเดา ตำบลตาดทอง อำเภอเมืองยโสธร ซึ่งกรมศิลปากรได้สันนิษฐานว่า ธาตุดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับนิทานพื้นบ้านเรื่องก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ที่เล่ากันในพื้นถิ่นอีสานว่าลูกชายคนหนึ่งได้ฆ่าแม่ของตน เพราะความหิวและความโกรธที่แม่นำข้าวมาส่งช้าและน้อยเกินไป แต่เมื่อความหิวและความโกรธคลายลง ประกอบกับข้าวที่แม่นำมาส่งที่ตนคิดว่ามีปริมาณน้อยนั้น ยังเหลืออยู่จึงเกิดความรู้สึกผิดที่ได้กระทำบาปกับแม่ จึงได้สร้างเจดีย์ขึ้นในบริเวณที่แม่เสียชีวิตเพื่อเป็นการไถ่โทษ ปัจจุบันชาวบ้านเรียกเจดีย์องค์นี้ว่า ธาตุลูกฆ่าแม่ ตั้งอยู่ภายในวัดทุ่งสะเดา นิทานพื้นบ้านที่มีเนื้อหาในลักษณะเช่นนี้ ยังถูกใช้เล่าประกอบประวัติพระธาตุตาดทองที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ธาตุก่องข้าวน้อย

โบราณสถานสำคัญภายในวัดทุ่งสะเดา ประกอบด้วยเจดีย์ก่ออิฐถือปูน จำนวน 2 องค์ ตั้งอยู่ใกล้กัน องค์แรกมีสภาพสมบูรณ์ องค์ที่สองเหลือเพียงส่วนฐาน จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบฐานแท่นบูชาของเจดีย์องค์ที่สองยื่นเข้าไปใต้ฐานเจดีย์องค์แรก อันเป็นหลักฐานว่า เจดีย์องค์ที่เหลือเพียงฐานนั้น ได้สร้างขึ้นมาก่อน ภายหลังพังทลายไปจึงมีการสร้างเจดีย์องค์ที่สองทับลงไปบนส่วนฐานของเจดีย์ นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2525 ชาวบ้านยังได้ขุดพบโบราณวัตถุในไหจำนวน 4 ไหใต้ฐานเจดีย์องค์แรก เป็นพระพุทธรูปไม้แกะสลัก พระพุทธรูปบุเงิน พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพุทธรูปสำริด พระพุทธรูปตะกั่ว พระพุทธรูปดินเผาสีแดงชาดปิดทอง พระพุทธรูปปางสมาธิ พระพิมพ์ เศษกระดูก กล้องยาสูบ และเครื่องถ้วยจีน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดทุ่งสะเดา

ลักษณะสถาปัตยกรรมของเจดีย์ที่มีสภาพสมบูรณ์นั้น เป็นทรงบัวเหลี่ยมในผังแปดเหลี่ยม ตามแบบศิลปะพื้นถิ่นอีสาน กำหนดอายุในพุทธศตวรรษที่ 23 มีส่วนฐานเป็นชั้นหน้ากระดานขนาดเล็กเรียงลดหลั่นกัน รับฐานบัว และมีชั้นคล้ายบัวหงายขนาดใหญ่ ถัดขึ้นมาเป็นบัวแปดเหลี่ยมรับปลียอดและฉัตร อันเป็นลักษณะเจดีย์ที่นิยมสร้างในเมืองหลวงพระบางและเวียงจันทน์ด้วยเช่นเดียวกัน

เอกลักษณ์ของเจดีย์วัดทุ่งสะเดาหรือธาตุลูกฆ่าแม่ คือ การผูกนิทานพื้นบ้านให้เข้ากับประวัติความเป็นมาของเจดีย์ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานพระธาตุก่องข้าวน้อย วัดทุ่งสะเดา ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 27 กันยายน 2479 โดยเจดีย์องค์ที่มีสภาพสมบูรณ์(องค์ลูก)ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดในปี พ.ศ. 2555 ส่วนเจดีย์องค์ที่เหลือเพียงส่วนฐาน(องค์แม่)ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดในปี พ.ศ. 2537 ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย

ดังนั้นจึงสันนิษฐานใหม่ว่า ธาตุวัดทุ่งสะเดา น่าจะเป็นธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ตามตำนานเล่าขาน เพราะมีขนาดเล็ก คนๆ เดียวสามารถสร้างได้ ส่วนธาตุก่องข้าวน้อย หรือ พระธาตุตาดทอง บ้านตาดทอง มีขนาดใหญ่พอๆ กับพระธาตุอานนท์ วัดมหาธาตุ ซึ่งมีสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบเฉพาะตัว บุคคลคนเดียวไม่มีความรู้เรื่องช่างไม่สามารถทำได้ จึงสมควรเรียกขานธาตุก่องข้าวน้อยที่บ้านตาดทองเสียใหม่ว่า พระธาตุตาดทอง หรือ พระธาตุถาดทอง[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "พระธาตุก่องข้าวน้อย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-24. สืบค้นเมื่อ 2013-02-17.
  2. เที่ยวอีสานหน้าฮ้อน ออนซอนแท้เด้อ, "สมุดโคจร". รายการทางช่อง 5: อาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน 2556
  3. http://www.qrcode.finearts.go.th/index.php/th/historic-site/hs-ya-sothon/thadtadthong
  4. http://www.qrcode.finearts.go.th/index.php/th/historic-site/hs-ya-sothon/item/439-hs-yasothon-008

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

15°45′49″N 104°12′25″E / 15.763515°N 104.207039°E / 15.763515; 104.207039