พระคันธารราฐ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระคันธารราฐ
ชื่อเต็มพระคันธารราฐ
ชื่อสามัญพระคันธารราฐ
ประเภทพระพุทธรูป
ศิลปะศิลปะทวาราวดี
ความกว้าง1.7 เมตร
ความสูง5.2 เมตร
วัสดุแกะสลักจากศิลาเขียว
สถานที่ประดิษฐานพระวิหารน้อยวัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ความสำคัญเป็นพระพุทธรูปศิลาเขียวขนาดใหญ่จากสมัยทวาราวดี เป็น 1 ใน 5 องค์ของพระพุทธรูปศิลาในประเทศไทยที่สันนิษฐานว่าสร้างในยุคเดียวกัน และเป็น 1 ใน 6 องค์ของพระพุทธรูปขนาดใหญ่ในโลกที่สร้างจากศิลา
หมายเหตุวัดหน้าพระเมรุ อยู่ในตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

พระคันธารราฐ วัดหน้าพระเมรุ หรือวัดพระเมรุราชิการามวรวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปประธานอยู่ในพระวิหารน้อย หรือพระวิหารเขียน ซึ่งอยู่ด้านข้างของพระอุโบสถ (ด้านขวาของพระอุโบสถเมื่อหันหน้าเข้าสู่ด้านหน้าของพระอุโบสถ)

พุทธลักษณะ เป็นพระพุทธรูปศิลาเขียว ศิลปะทวารวดี ประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ทั้งสองข้างวางคว่ำอยู่บนพระชานุ (เข่า) เบื้องพระปฤษฎางค์ (เบื้องหลัง) มีพนักพิง และเหนือขึ้นไปหลังพระเศียรมีประภามณฑลหรือรัศมี มีสลักลายที่ขอบ คาดว่าเดิมเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา แต่จากการบูรณะเมื่อขุดพบและนำมาประดิษฐานที่วัดหน้าพระเมรุ พระหัตถ์ทั้งสองด้านเปลี่ยนเป็นวางคว่ำอยู่บนพระชานุ (เข่า) มีขนาดหน้าตักกว้าง 1.7 เมตร สูง 5.2 เมตร[1] ศิลาเขียวที่สร้างเป็นวัสดุหินปูนที่มีสีเขียวแก่ (Bluish Limestone)

แต่เดิมพระคันธารราฐน่าจะเคยประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุ ในเกาะเมืองอยุธยามาก่อน ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ พระยาไชยวิชิต (เผือก) ผู้รักษาพระนครศรีอยุธยาในขณะนั้น เป็นแม่กองบูรณปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุ จึงได้ขุดพบพระคันธารราฐองค์นี้ แล้วได้มีการเคลื่อนย้ายอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในพระวิหารน้อย ที่เพึ่งสร้างขึ้นใหม่ ณ วัดหน้าพระเมรุ จนถึงปัจจุบัน

พระยาไชยวิชิต (เผือก) ได้จารึกไว้ในศิลาติดตั้งไว้ที่ฝาผนังเมื่อปี พ.ศ. 2381 ที่สร้างพระวิหารน้อยว่า พระคันธารราฐนี้ พระอุบาลีมหาเถระ ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดธรรมาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำมาจากประเทศลังกา ในคราวที่ท่านเป็นสมณทูตพร้อมด้วยพระสงฆ์นำพระพุทธศาสนากลับคืนไปประดิษฐานในประเทศลังกา[2] ซึ่งก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นความเห็นของพระยาไชยวิชิตถึงที่มาของพระคันธารราฐหรือไม่ หรือได้ข้อมูลมาจากแหล่งใด

นักโบราณคดีมีความเห็นว่า พระคันธารราฐเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่สมัยทวารวดี สร้างขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 1000 ถึง 1200 สันนิษฐานว่าก่อนที่จะนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดมหาธาตุ กรุงศรีอยุธยานั้น แต่เดิมเคยประดิษฐานอยู่ที่วัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม มาก่อน เนื่องจากทางการขุดพบเรือนแก้วที่ชำรุด ซึ่งเป็นเรือนแก้วของพระพุทธรูปองค์นี้ ดังนั้น ความเก่าแก่ของ พระคันธารราฐ จึงเก่าแก่กว่าสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี และน่าจะไล่เลี่ยกับพระพุทธรูปศิลาสมัยบุโรพุทโธ (ฺBorobodur) ที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย

สำหรับพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สร้างจากศิลาประทับนั่งห้อยพระบาทปางปฐมเทศนานี้ ปรากฏในโลกเพียง 6 องค์เท่านั้น (ในจำนวนนี้อยู่ในประเทศไทยจำนวน 5 องค์) ประดิษฐานอยู่ในที่ต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. วัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระพุทธรูปศิลาเขียว คือ พระคันธารราฐ องค์นี้

2. วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม เป็นพระพุทธรูปศิลาขาว ชื่อ หลวงพ่อประทานพร เป็นพระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถ

3. วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม เป็นพระพุทธรูปศิลาขาว ชื่อ พระพุทธนรเชษฐ์ เศวตอัศมมัยมุนี ศรีทวารวดีปูชนียบพิตร หรือ หลวงพ่อขาว อยู่ที่ลานชั้นลด (กะเปาะ) ด้านทิศใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์

4. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นพระพุทธรูปศิลาขาว

5. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระพุทธรูปศิลาขาว

6. พระวิหารเมนดุต ณ จันทิเมนดุต (Candi Mendut) หรือวัดเมนดุต พุทธสถานขนาดเล็กที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองยอกยาการ์ตา (Yogyakarta) ประเทศอินโดนีเซีย เป็นพระพุทธรูปศิลาขาว อยู่ภายในอาคารทรงปราสาทยอดสถูปที่สร้างครอบศาสนสถานเดิมที่ก่อด้วยอิฐ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทำจากหินภูเขาไฟเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 13 ตั้งอยู่ห่างจากบุโรพุทโธไปประมาณ 3 กิโลเมตร พระพุทธรูปศิลาในประเทศอินโดนีเซียองค์นี้ มีขนาดใหญ่กว่าตัวคนจริง คือ มีขนาดสูง 3 เมตร แกะสลักจากหินลาวาจากภูเขาไฟ อายุ 1,200 กว่าปี หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก นับว่าแปลกกว่าพระพุทธรูปในจันทิ (วัด) อื่นๆ ที่ล้วนหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก และเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรพระวิหารบุโรพุทโธ และพระวิหารเมนดุต โดยสมาคมพุทธศาสนาแห่งอินโดนีเซียได้น้อมเกล้าฯ ถวายพระพุทธรูปองค์หนึ่งพร้อมด้วยธงฉัพพรรณรังสี ซึ่งเป็นธงสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา

ในจำนวนพระพุทธรูปศิลา 6 องค์นี้ มีเพียงองค์เดียวที่สร้างขึ้นจากศิลาเขียว ก็คือ พระคันธารราฐ อยู่ที่วัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่วนที่เหลือทั้งหมดสร้างขึ้นจากศิลาขาวทั้งสิ้น ถึงกระนั้นก็ยังมีความสับสนกันอยู่เนืองๆ

พระวิหารน้อย หรือ พระวิหารเขียน ที่ประดิษฐานพระคันธารราฐองค์นี้ มีลายเขียนภายในพระวิหาร พระวิหารนี้มีขนาดเล็ก กว้างประมาณ 6 เมตร ยาวประมาณ 16 เมตรเท่านั้น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระอุโบสถ ห่างจากพระอุโบสถประมาณ 2 เมตรเศษ หันหน้าออกไปทางทิศใต้หรือทางแม่น้ำลพบุรี พระยาไชยวิชิต (เผือก) ได้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2381 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระวิหารมีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ปิดทองประดับกระจกเช่นเดียวกับพระอุโบสถ หน้าบันสลักลายดอกไม้และนก มีประตูเข้าสู่ภายในพระวิหารเฉพาะด้านหน้าประตูเดียว เป็นประตูไม้แกะสลักลายก้านขดเคล้าภาพเป็นภาพเทพนม ครุฑ นาค และนก ตอนล่างแกะลายฐานสิงห์ ตอนบนเป็นวิมานและลายเปลว (ฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนปลาย อาจเป็นสมัยพระเจ้าปราสาททอง) ซุ้มประตูเป็นลายปูนปั้นปิดทอง ตรงกลางทำเป็นรูปอาคารแบบยุโรป ล้อมด้วยลายดอกไม้มีลายเครือเถาอยู่ที่กรอบ เป็นลายแบบฝรั่งปนจีนฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 4 ผนังด้านข้างของพระวิหารมีหน้าต่างด้านละ 1 บาน ผนังด้านในมีจิตรกรรมฝาผนังเขียนภาพเล่าเรื่องชาดกโดยรอบ[3] ปัจจุบันภาพเขียนจิตรกรรมยังคงอยู่แม้จะลบเลือนไปมากตามกาลเวลา

ในแง่ความเชื่อ ผู้คนที่มาสักการะบูชามักขอพรให้ตนเองหรือญาติผู้ใหญ่ที่เคารพรักมีอายุยืนมั่นคงดังศิลา



อ้างอิง[แก้]

  1. [Ebook] ๑๐๘ องค์พระปฏิมา พระพุทธรูปคู่แผ่นดิน กรมการศาสนา http://www.dra.go.th/th/cmsdetail-4-59-1-3213.html
  2. วัดพระเมรุราชิการาม จัดพิมพ์เนื่องในงานสมโภช 513 ปี วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2559
  3. พระพุทธปฏิมากรองค์สำคัญของประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547