พระครูอนุศาสน์กิจจาทร (เขียว กิตฺติคุโณ)
พระครูอนุศาสน์กิจจาทร (เขียว กิตฺติคุโณ) | |
---|---|
ชื่ออื่น | พ่อท่านเขียว |
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 19 สิงหาคม พ.ศ. 2472 (93 ปี) |
มรณภาพ | 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดอรัญวาสิการาม (ห้วยเงาะ) จังหวัดปัตตานี |
อุปสมบท | 6 มิถุนายน พ.ศ. 2492 |
พรรษา | 73 |
พ่อท่านเขียว กิตติคุโณ (19 สิงหาคม พ.ศ. 2472 – 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565) เป็นพระเกจิอาจารย์สายหลวงปู่ทวด ผู้มีศีลวัตรปฏิบัติอันงดงาม และเป็นที่น่าเคารพนับถือ โดยท่านได้สืบทอดวิชามาจากพระเกจิอาจารย์รุ่นเก่า รวมไปถึงเกจิฆราวาส โดยสืบวิชาจำพวกสมุนไพร, สืบอายุ, เมตตา, แคล้วคลาด, โภคทรัพย์ ฯลฯ ซึ่งวัตถุมงคลของพ่อท่านเขียวนั้นมีประสบการณ์มาก ประชาชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศต่างเลื่อมใสศรัทธาในองค์พ่อท่านเขียว[ต้องการอ้างอิง]
ประวัติ
[แก้]พ่อท่านเขียว กิตติคุโณ วัดห้วยเงาะ เกิดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2472 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ณ ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา เป็นบุตรของนายทอง เพชรภักดี และนางกิ๊ม นวลศรี ครอบครัวชาวนาในจังหวัดยะลา โดยเป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งหมด 7 คน ช่วงชีวิตในวัยเด็ก ท่านเรียนจบระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เพราะบิดาถึงแก่กรรม จึงต้องออกมาช่วยมารดาทำงานเพื่อช่วยเหลือครอบครัว จนกระทั่งเมื่อมีอายุได้ 20 ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดนางโอ (หรือวัดบุพนิมิต ในปัจจุบัน) ตำบลแม่ลาน (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น อำเภอแม่ลาน) จังหวัดปัตตานีเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2492 โดยมีพระครูมนูญสมณการ วัดพลานุภาพ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการแดง ธมฺมโชโต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการคำ ติสสโร เป็นพระอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้วิชาให้แก่พ่อท่านเขียวก่อนอุปสมบท หลังจากนั้นท่านจึงได้ฝึกฝนสวดมนต์บทต่าง ๆ ในเจ็ดตำนานและการสวดภาณยักษ์[1]
พรรษาที่ 2 ท่านได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดสุนทรประชาราม อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
พรรษาที่ 3 พ่อท่านเขียวได้กลับไปที่วัดนางโออีกครั้ง พร้อมกับได้ศึกษาวิชากับ ตาเลี่ยม กับฆราวาสที่เชี่ยวชาญด้านวิปัสสนากรรมฐาน รวมทั้งศึกษาสรรพวิชาต่าง ๆ จากฆราวาสอีกหลายท่าน พ่อท่านเขียวยังสอบได้นักธรรมชั้นโท แล้วยังได้รับตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาสวัดนางโอ ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสในเวลาต่อมา พ่อท่านเขียวเป็นคนที่รักความสันโดษ และใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย มัธยัสถ์ อดออม และรักการอ่านและการศึกษาหาความรู้ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านกฎหมายหรือทางด้านเกษตรกรรม หรือในทางด้านทางธรรม ท่านก็ศึกษาพระปริยัติธรรม บาลีไวยากรณ์ และ นักธรรม รวมทั้งสวดมนต์พิธีต่าง ๆ[2]
พรรษาที่ 5 สามารถสวดปาฏิโมกข์ได้ มีความเคร่งครัด ไม่ยึดติดในลาภยศ สรรเสริญ[3]
พ่อท่านเขียว กิตติคุโณ ได้ย้ายมาจำพรรษา ณ วัดห้วยเงาะ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ในสมัยที่พ่อท่านธีร์ ลูกศิษย์ของท่านเป็นอดีตเจ้าอาวาส
มรณภาพ
[แก้]พระครูอนุศาสน์กิจจารทร (พ่อท่านเขียว กิตฺติคุโณ) ถึงแก่กาลมรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันพุธที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เวลา 21.25 น. (ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 12) ณ โรงพยาบาลปัตตานี
โดยมีกำหนดนำสรีระสังขารกลับไปบำเพ็ญกุศล ณ วัดอรัญวาสิการาม (ห้วยเงาะ) ในวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565
อ้างอิง
[แก้]- ↑ หนังสือ 19 คณาจารย์ยอดนิยมยุคปัจจุบัน
- ↑ ชีวประวัติพ่อท่านเขียว วัดห้วยเงาะ[ลิงก์เสีย]
- ↑ "พ่อท่านเขียว วัดห้วยเงาะ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-13. สืบค้นเมื่อ 2011-10-10.
ก่อนหน้า | พระครูอนุศาสน์กิจจาทร (เขียว กิตฺติคุโณ) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
หลวงพ่อดำ | เจ้าอาวาสวัดนางโอ (พ.ศ. 2497 – พ.ศ. 2500) |
พระครูกิตติคุณากร |