ผ้าทอเกาะยอ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ผ้าทอเกาะยอหรือ ผ้าเกาะยอ เป็นผ้าทอพื้นเมืองของตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นผ้าพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสงขลา ที่มีความประณีตและสีสันที่สวยงาม โดยมีการทอยกดอกที่มีลวดลายอ่อนนุ่ม ถือเป็นสัญลักษณ์หัตถกรรมพื้นบ้านของภาคใต้และยังเป็นสุดยอดผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ OTOP ปี 2549 สืบสานตำนานจากชาวเกาะยอที่ส่วนหนึ่งอพยพมาจากตำบลน้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่ และตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา มีเชื้อสายจีน ทำอาชีพประมง ทำสวนยาง สวนผลไม้ และงานหัตถกรรมพื้นบ้าน คือการทอผ้าพื้นเมืองสำหรับใช้ในครัวเรือน จึงเป็นที่มาของ "ผ้าทอเกาะยอ” ไม่มีหลักฐานที่ปรากฏแน่ชัดว่า ชาวเกาะยอ เริ่มทอผ้ากันตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ทราบว่าที่เกาะยอมีการทอผ้ามานับเป็นร้อยๆปีแล้ว ตั้งแต่เมื่อครั้งที่มีการอพยพมาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอยู่บนเกาะยอสืบสานการถ่ายทอดภายในครอบครัวเรื่อยมา

ประวัติ[แก้]

จากคำบอกเล่าสืบต่อกันมาของผู้เฒ่าผู้แก่ได้ความว่า การทอผ้าของเกาะยอมีมาตั้งแต่ประเทศสยามสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยหมู่บ้านเกาะยอนั้นเป็นเกาะที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะทั้งโดยทางบนบกและทางน้ำ คนที่อพยพมาในช่วงแรกนั้นซึ่งเป็นคนเชื้อสายจีน ได้นำอาชีพการทอผ้ามาสอนชาวบ้านในบริเวณนั้น การทอผ้าจะทอด้วย “กี่มือ” ที่โครงสร้างเป็นไม้ไผ่ และใช้“ตรน” แทนลูกกระสวย ผ้าที่ทอในระยะแรกนั้นจะเป็นแบบเรียบๆ ไม่มีลวดลาย ระยะหลังได้มีการปลูกฝ้ายเพื่อนำมาทอผ้าและย้อมด้วยสีธรรมชาติและมีการทอเป็นลายดอกชนิดต่างๆในเวลาต่อมา เช่น "ลายก้านแย่ง"” ชื่อเดิมคือ “ลายคอนกเขา” ซึ่งเป็นลายที่สวยที่สุด และเมื่อปีพ.ศ. 2475 ชาวบ้านเกาะยอได้นำผ้าเกาะยอขึ้นถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่า “ลายราชวัตร” แปลว่า “กิจวัตรหรือการกระทำ” ผลิตภัณฑ์ผ้าทอเกาะยอ มีการสั่งสอน สืบทอดต่อกันภายในครัวเรือนเรื่อยมา เป็นเวลาหลายร้อยปี จนปรากฏว่ามีเพลงกล่อมเด็กเก่าแก่หลายบท ที่แสดงให้เห็นถึงค่านิยมและวัฒนธรรมการทอผ้าของชาวเกาะยอซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่บนเกาะเล่าว่า ได้ฟังเพลงกล่อมเด็กเหล่านั้นมาจากยายอีกต่อ นอกจากนั้นยังมีปริศนาคำทายเกี่ยวกับเครื่องมือทอผ้าด้วย กลุ่มผ้าทอเกาะยอ กลุ่มผ้าทอเกาะยอมีการเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2539 โดยมีการติดต่อกับหน่วยงานราชการ คือ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองสงขลา และได้รับเงินทุนจำนวนหนึ่งมาจัดตั้งกลุ่ม กลุ่มผ้าทอมีการพัฒนาเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อปี 2541 ได้จัดตั้งกลุ่ม ในนามว่า “กลุ่มราชวัตถ์ พัฒนาผ้าทอเกาะยอ” มีสมาชิกเริ่มแรก 14 คน วัตถุประสงค์ของกลุ่ม คือ เพื่อพัฒนาอาชีพของชาวตำบลเกาะยอ คือการทอผ้าเกาะยอ และเพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น จากการรวมกลุ่มครั้งแรกจึงได้กู้เงินมาเป็นทุนในการซื้อเส้นใยที่มีหน่วยงาน “ชมรมแสงส่องหล้า” มาให้ความช่วยเหลือในเรื่องการต่อเติมอาคารและได้นำเรื่องกลุ่มอาชีพไปเสนอสำนักพระราชวัง และต่อมาในปี 2543 จึงได้รับพระราชทานชื่อกลุ่ม ระหว่างกลุ่มราชวัตถ์ และกลุ่มแสงส่องหล้า จึงรวมเรียกชื่อว่า “กลุ่มราชวัตถ์แสงส่องหล้า” เป็นต้นมา

กระบวนการผลิตและขั้นตอนการผลิต[แก้]

เครื่องมือและอุปกรณ์[แก้]


- อุปกรณ์การเตรียมด้าย ประกอบด้วย
1. ดอกหวิง ในหลดตัน(หรือลูกคัน)
2. รางดันหลักดัน ฟีม ตะขาเกี่ยวกับ(เบ็ดเข้าฟีม)
3. เครื่องรองตอนเข้าฟีมลูกหัด(หรือระหัด) เพื่อส่งด้ายเวลาทอ
4. ไม้นัด มีไว้เพื่อกรอเข้าไม้ขัดด้าย(หรือไม้ค้ำ)
5. เครื่องม้วนด้าย
- เครื่องทอผ้าหรือกี่ ประกอบด้วย
1. ฟีม(ฟันหวี)
2. เขาหูก(ตะกอหรือกระกอ)
3. กระสวย
4. วางกระสวย
5. ไม้แกนม้วนผ้า
6. หลักม้วนผ้า
7. คานเหยียบ(ตีนเหยียบ)
8. ลายกระตุก(เชือกดึง)
9. ด้ายยืน
10. หลอดด้ายพุ่ง
11. ระหัดถัดด้าย
12. ถังและเครื่องมืออื่นๆที่แยกจากเครื่องทอผ้า มีไนปั่นด้ายเข้ากระสวยและกงล้อ ปั่นด้าย ยืนเข้าระหัดถักด้าย

ขั้นตอนการทำ[แก้]

1. การเตรียมเส้นด้ายยืน ประกอบด้วยกรรมวิธีต่างๆคือก่อนจะทอผ้า ช่างจะต้องนำด้ายริ้วที่เป็นไจ นำไปกรอเข้าหลอดเพื่อสำหรับงานโดยเฉพาะ เมื่อสอดด้ายเข้าพิมพ์เสร็จแล้วก็นำไปขึงบนกี่สำหรับเก็บตะกอหรือร้อยตะกอต่อไป

2. การเตรียมเส้นพุ่ง เริ่มจากการที่ช่างทอกรอด้ายที่จะใช้เป็นด้ายพุ่งเข้ากระสวยแล้วนำกระสวยแต่ละสีไปใส่ในรางกระสวย

3. ลำดับขั้นการทอในกี่กระตุก สับตะกอให้ด้ายยืนแยกออกจากกัน โดยมีที่เหยีบอยู่ข้างล่าง(ใช้เท้าเหยียบ) เป็นการเปิดช่อว่างสำหรับด้ายพุ่งผ่านเข้าไปได้ ใช้มือพุ่งกระสวยด้ายให้สอดไปตามระหว่างด้าย โดยมีช่องสอดกระสวยซึ่งทำด้วยไม้ ปล่อยเท้าที่เหยียบเครื่องบังคับตะกอ เพื่อให้ด้ายพุ่งรวมเป็นหมู่เดียวกันตามเดิม กระทบฟันหวีโดยแรง ฟันหวีจะพาด้ายพุ่งให้เข้ามาชิดกันเป็นเส้นตรง เหยียบที่บังคับตะกออีกครั้งหนึ่ง

อ้างอิง[แก้]