ผู้ใช้:Natta.km/sandbox

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สินิทธ์ สิทธิรักษ์ เป็นผู้บุกเบิกโครงการหลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเปิดสอนครั้งแรกในปีพ.ศ. 2544 สินิทธ์ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดีมาก ประจำปี 2560 จากสภาวิจัยแห่งชาติ จากงานวิจัยเรื่อง "เส้นทางสู่การเขียนและการต่อสู้เพื่อสิทธิทำกินของหญิงรากหญ้า: ศึกษาผ่านเอกสาร 'จดหมายเหตุ' และอัตชีวประวัติ (2480-2547) ในมุมมองสตรีนิยมสายหลังอาณานิคม"

ประวัติการศึกษา[แก้]

สินิทธ์ สิทธิรักษ์สำเร็จการศึกษาศิลปศาสตร์บัณฑิต (ประวัติศาสตร์) คณะศิลปศาสตร์ ในปี 2526 และมหาบัณฑิตจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ในปี 2534 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นได้รับทุนจากโครงการประสานงานเพื่อพัฒนาสตรีในประเทศไทย (ปพส.) ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยยอร์ค ประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยคู่สัญญาด้านพัฒนาสตรี ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงทศวรรษ 2530[1] และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาสิ่งแวดล้อมศึกษา (Women, Environment and Media in Development) ในปี 2537 และปรัชญาดุษฎีบัณฑิต ในปี 2557 จากมหาวิทยาลัยวิคตอเรีย ประเทศนิวซีแลนด์

ประวัติการทำงาน[แก้]

หลังจากสำเร็จการศึกษาจากประเทศแคนาดา สินิทธ์ได้กลับมาสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พร้อมกับความคิดที่อยากจะเปิดหลักสูตรเกี่ยวกับสตรีศึกษา แต่เนื่องจากวิชาสตรีศึกษาเป็นวิชาที่ใหม่มากสำหรับประเทศไทยในขณะนั้น จึงไม่มีคณะใดที่เปิดสอนสตรีศึกษาอย่างเต็มตัว มีเพียงแค่รายวิชาเล็กๆ ที่สอดแทรกอยู่ในคณะใหญ่ๆ เท่านั้น ตอนนั้นเองที่สินิทธ์ได้พบกับคุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี ผู้แนะนำให้เปิดหลักสูตรสตรีศึกษาที่นวัตกรรมอุดมศึกษา ซึ่งเป็นวิทยาลัยใหม่นอกระบบของธรรมศาสตร์ โดยมี ผศ.ดร.นพดล อินนาเป็นผู้อำนวยการในขณะนั้น สินิทธ์จึงร่วมมือกับเพื่ออาจารย์ 3-4 คนร่วมกันร่างหลักสูตรปริญญาโทสตรีศึกษามหาบัณฑิตขึ้น เพื่อสร้างองค์ความรู้เรื่องผู้หญิงในสังคมไทย พร้อมกับเรียนรู้องค์ความรู้จากทางตะวันตกซึ่งมีความสำคัญ

เมื่อครั้งที่เรียนอยู่ประเทศแคนาดา สินิทธ์ได้มีโอกาสไปฝึกงานที่ International Women Tribute Center (IWTC) ซึ่งเป็นหน่วยงานสตรีที่ตั้งขึ้นในปีค.ศ. 1975 และทำหน้าที่เผยแพร่ข่าวสารความรู้ให้กับผู้หญิงทั่วโลก ในขณะนั้นสินิทธ์ได้รับโอกาสให้มีส่วนในการร่วมจัดการจดหมายข่าวที่เผยแพร่ทั่วโลก เธอจึงได้นำประสบการณ์ตรงนี้มาใช้ในวิชา Women & Media และทำให้เธอได้มองเห็นภาพรวมของความเคลื่อนไหวของผู้หญิงในพื้นที่ต่าง ๆ ของโลกต่อประเด็นเรื่องผู้หญิง

สินิทธ์ยังได้ก่อตั้งโรงเรียนภาคฤดูร้อน (Summer School) หัวข้อความรู้เบื้องต้นทางสตรีศึกษาขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

มุมมองต่อสตรีศึกษา[แก้]

สตรีศึกษาคือวิชาที่เปลี่ยนชีวิตและประสบการณ์ของผู้หญิงให้กลายเป็นองค์ความรู้ เป็นการศึกษาสังคมจากมุมมองของผู้หญิง อันเป็นมุมมองที่ขาดหายไป เพราะมนุษย์เรียนรู้จากมุมมองของผู้ชายมาเป็นเวลานาน ขณะที่ผู้หญิงที่เป็นประชากรครึ่งหนึ่งในสังคม ความรู้ มุมมอง และประสบการณ์ของผู้หญิงกลับไปเคยได้รับการให้คุณค่า หรือได้รับการให้คุณค่าเพียงน้อยนิด ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นผู้หญิงถูกทำให้กลายเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ประสบการณ์ของผู้หญิงนั้นเป็นสิ่งมีค่า ไม่ว่าจะเป็นการให้ชีวิต การเลี้ยงดู การสืบทอดต่อ การดูแลรักษาของผู้หญิงล้นแล้วแต่เป็นเรื่องราวที่ทำให้สังคมเดินไปข้างหน้าได้

คำว่า "ผู้หญิง" หรือ "ผู้ชาย" ล้วนแล้วแต่ถูกประกอบสร้างขึ้น เมื่อความเป็นหญิงชายถูกสร้างขึ้น ก็สามารถถูกรื้อสร้างได้เช่นกัน เพื่อให้เกิดผู้หญิงในแบบที่ควรจะเป็น ไม่ใช่ผู้หญิงแบบที่ถูกประกอบสร้างหรือสั่งสอนมา ในแวดวงภาษาวิชาการมักบอกว่าระบบความคิดแบบชายเป็นใหญ่เป็นตัวกำหนดว่าผู้หญิงต้องเป็นอย่างไร แต่ในขณะเดียวกับระบบความคิดนี้ก็กำหนดว่าผู้ชายต้องเป็นอย่างไรเช่นเดียวกัน ระบบความคิดแบบชายเป็นใหญ่ไม่ได้กดทับผู้หญิงเพียงอย่างเดียวแต่ยังกดทับผู้ชายด้วยเช่นกัน และสตรีศึกษาก็ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ผู้หญิงเท่าเทียมผู้ชาย ไม่ได้เอาผู้ชายเป็นตัวตั้งแล้วให้ผู้หญิงขยับไปเท่าเทียม แต่เป็นการตั้งคำถามและรื้อกรอบสร้างของความเป็นผู้หญิงและความเป็นชาย

ผลงานเด่น[แก้]

  • ลูกสาวแห่งการพัฒนา: ผู้หญิงและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงในประเทศไทย

จุดเริ่มต้นจากคำถาม "What does development mean to you?" ทำให้สินิทธ์ตั้งคำถามกับตัวเองและก่อเกิดเป็นวิทยานิพนธ์ที่ตอบคำถามนี้โดยเฉพาะ โดยสินิทธ์เริ่มจากความเข้าใจของตัวเองต่อคำว่า "พัฒนา" ซึ่งเข้ามาในช่วงยุคปลายค.ศ. 1960 เกิดความพัฒนาทางการการอุปโภคบริโภค มีน้ำประปา มีไฟฟ้า และถนนหนทางไปสู่เมืองต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบาย เกิดเขื่อนชนาดใหญ่ โรงงานผุดขึ้นพร้อมกับคำขวัญที่ว่า "มีเงิน มีงาน บันดาลสุข" สินค้าต่างๆ ที่วางขายในประเทศแคนาดาล้วนแล้วแต่มาจากประเทศอื่นทั้งสิ้น นั่นทำให้สินิทธ์ตระหนักถึงคำว่า Neocolonization และ Consumerism ที่เกิดจากประเทศทุนนิยมยัดเยียดความเป็นประเทศด้อยพัฒนาให้ที่อื่นเพื่อสิทธิประโยชน์ของตัวเอง

ผลพวงของการพัฒนาส่งผลต่อชีวิตมนุษย์ในประเทศนั้นๆ ซึ่งนับรวมถึงชีวิตของผู้หญิงมากมายที่ตัดสินใจมาทำอาชีพโสเภณี เพราะการพัฒนาที่แย่งชิงป่าไม้ แม่น้ำไปจากพวกเขา ผลพวงของกระแสบริโภคนิยมที่ไม่หลงเหลือสินค้าใดๆ ให้ค้าขายนอกจากเรือนร่างของตัวเอง และนั่นก่อให้เกิดคำถามถึงการพัฒนากับแม่ของสินิทธ์ ผู้ใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ ใช้ชีวิตในวิถีของตัวเอง ไม่ได้หลุดไปกับกระแสการพัฒนา ยังปลูกผักสวนครัว นำภูมิปัญญาเดิมๆ มาใช้อยู่เสมอเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตประจำวัน

  • แม่หญิงป่าไม้: เรื่องเล่าของหญิงรากหญ้าไทยในขบวนการสิ่งแวดล้อม

ผลงานวิจัยชิ้นนี้ของสินิทธ์ที่มุ่งศึกษาการต่อสู้แบบผู้หญิงหรือคนชายขอบ ที่ตกผลึกออกมาเป็นกระบวนการลุกขึ้นมา "ทลายความเงียบ และเริ่มต้นที่จะส่งเสียง"[2] สินิทธ์เลือกศึกษาการต่อสู้ของสอิ้ง ไถวสินธุ์ ผู้นำชาวบ้านแห่งป่าดงแม่แผด บ้านโคกสมบูรณ์ ตำบลคำพอุง อำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดร้อยเอ็ด ผู้หญิงชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องรักษาป่าหลังบ้านเพื่อให้เป็นที่ทำกินของลูกหลานจากโครงการจัดสรรที่ดินทำกินในสมัยของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ รสช. ที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงพื้นที่ผืนป่าในบริเวณนั้นให้กลายเปเนสวนป่ายูคาลิปตัสหรือแจกจ่ายให้เป้นพื้นที่ทำกินของชาวบ้านผู้ยากไร้

บทบาทของสอิ้งในการต่อสู้เพื่อสิทธิที่จะไม่ถูกแย่งชิงพื้นที่ทำกินไปชี้ให้เห็นถึงบทบาทของผู้หญิงกับอำนาจรัฐ หรือผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับศูนย์กลางของอำนาจ เธอเฝ้าเพียรเรียกร้องต่อสู้ทั้งยังเดินทางเข้ามาในกรุงเทพเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมที่เธอและชาวบ้านควรจะได้รับ เธอฝึกฝนวิธีการพูดและเขียนแบบทางการ เพราะการต่อสู้แบบชาวบ้านของเธอจะไม่นำมาซึ่งสิ่งที่เธอต้องการ สินิทธ์เชื่อมโยงเรื่องราวของสอิ้งเข้ากับคำถามของสปิวัคค์นั่นคือ "Can the Subalterns speak?" และชี้ให้เห็นว่าคนเบี้ยล่างเหล่านี้ก็สามารถพูดด้วยภาษากลางอย่างตรงประเด็น

เรื่องราวของสอิ้งชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมรวมถึงแนวความคิดแบบปิตาธิปไตยแพร่กระจายอยู่ในทุกความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือแม้แต่รัฐกับราษฎร เสียงของชาวบ้านตัวเล็กเหล่านี้ไม่เคยถูกให้คุณค่าหรือรับฟังอย่างจริงจัง ชาวบ้านรู้วิธีการพูดไม่ว่าจะด้วยทางกายภาพหรือภูมิปัญญา แต่การกดทับและกดดันให้ชาวบ้านต้องพูดด้วยภาษาของนายต่างหากที่เป็นตัวดูดกลืนเสียงของพวกเขาไป ดังนั้น เสียงของชาวบ้านจะเป็นที่ได้ยินก็ต่อเมื่อโครงสร้างการฟังที่กดทับเสียงแตกต่างถูกรื้อสร้าง หรือถูกเปลี่ยนแปลง รู้จักฟัง ทั้งฟังเสียงและฟังความเงียบ เพราะบางครั้งความเงียบก็ไม่ได้มีความหมายถึงการยินยอมหรือยอมรับ แต่ยังเป็นการต่อสู้อีกอย่างหนึ่งเช่นกัน

  • เส้นทางสู่การเขียนและการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ทำกินของหญิงรากหญ้า: ศึกษาผ่านเอกสาร 'จดหมายเหตุ' และอัตชีวประวัติ (2480-2547) ในมุมมองสตรีนิยมหลังอาณานิคม

เรื่องราวของพรเพชร เหมือนศรี ผู้หญิงชาวนาผู้ขี่ควายมาประท้วงหน้าทำเนียบอาจเป็นเรื่องราวที่ใครหลายคนจดจำได้ แต่เบื้องหลังการต่อสู้เหล่านั้นอาจจะเพียงคนไม่กี่คนเท่านั้นที่จะได้รู้ สินิทธ์ตัดสินใจเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องของพรเพชร การต่อสู้กับอำนาจรัฐของเธอที่กินเวลานานกว่า 40 ปี เอกสารร้องเรียนที่พรเพชรเขียนถึงนายกรัฐมนตรีทุกสมัยกลายเป็นเอกสารสำคัญต่อการศึกษาวิจัย ไม่เพียงแต่เอกสารที่พรเพชรเขียนด้วยลายมือของตัวเองเท่านั้นที่กลับกลายมาเป็นองค์ความรู้ของผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจศูนย์กลางของรัฐ แต่สมุดบันทึก สมุดรายรับ-รายจ่ายที่พรเพชรจดอยู่เสมอก็แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านในอำเภอหนองบัวขณะนั้น สิ่งของทุกชิ้น สมุดบันทึกทุกเล่ม และเอกสารทุกแผ่น คือจดหมายเหตุที่เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญของผู้หญิง เป็นความรู้ในมุมมองสตรีนิยม สมุดบันทึกของพรเชพรสะท้อนให้เห็นประวัติศาสตร์ของอำเภอหนองบัวที่แสดงให้เห็นชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวันของชาวบ้าน ยกตัวอย่างเช่น น้าชมมาซื้อไส้ตะเกียง นั่นแสดงว่าไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงอำเภอหนองบัวในขณะนั้น

วิทยานิพนธ์เล่มนี้ของสินิทธ์สร้างแรงกระเพื่อมให้กับแวดวงสตรีศึกษา เพราะองค์ความรู้ไม่ได้มาจากผู้ชายเพียงอย่างเดียวและเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่องค์ความรู้สามารถมาจากสิ่งเล็กๆ ที่ไม่เคยมีใครให้ความสำคัญ เป็นสิ่งที่ทุกคนมองข้าม แต่กลับมีคุณค่าและกลับกลาบเป็นองค์ความรู้ให้กับคนอื่นๆ ที่สามารถเชื่อมต่อกับคนเชื้อชาติอื่นๆ หรือในเวทีระดับโลกได้ นอกจากนี้วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ยังได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดีมาก ประจำปี 2560 จากสภาวิจัยแห่งชาติอีกด้วย

ผลงานทางวิชาการ[แก้]

ผลงานตีพิมพ์[แก้]

  • "สตรีศึกษา ธรรมศาสตร์: กำเนิด และ พัฒนาการ." จดหมายข่าวสภาอาจารย์. กรุงเทพฯ: สภาอาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2546.
  • กำเนิดโทรทัศน์ไทย (พ.ศ.2493-2500). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543. พิมพ์ครั้งที่ 3.
  • Daughters of Development: Women in a Changing Environment. Tokyo: The Shogan Press (ฉบับแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นจากฉบับภาษาอังกฤษ)
  • "แม่หญิงป่าไม้: เรื่องเล่าของหญิงรากหญ้าไทยในขบวนการสิ่งแวดล้อม.".ใน เท้าหลัง ย่างก้าว: หนังสือรวมบทความทางวิชาการและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องในประเด็น "สตรีศึกษา". กรุงเทพฯ: โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2542.
  • "สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาในสายตาผู้หญิง." วารสรสถาบันไทยคดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 16:1 (2542).
  • Daughters of Development: Women in a Changing Environment. London: Zed books, 1998.
  • "อ่านหนังสือพิมพ์ที่เมืองอื่น: อ่านเรื่อง "ข่มขืน" ในนครโตรอนโต." โลกของสื่อ 1:2 (มิถุนายน 2541): 54-67.
  • "ผู้หญิงกับ (พรรค) การเมือง: บทเรียนจากไอซ์แลนด์." สตรีศึกษา. กรุงเทพฯ: โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2541.
  • "Daughter of Development: Women and Thailand's Changing Environment", Kasarinlan: Philippine Journal of Third World Studies 13:3 (1998).

บรรณาธิการ[แก้]

  • ผู้หญิงกับความรู้: หนังสือรวมบทความทางวิชาการเนื่องในโอกาสการประชุมวิชาการประเพณีสตรีศึกษาแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1, 16-17 ธันวาคม 2542. กรุงเทพฯ: โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2546.
  • เท้าหลัง ย่างก้าว: หนังสือรวมบทความทางวิชาการและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประเด็น "สตรีศึกษา". กรุงเทพฯ: โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มกาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2542.
  • 25 ปี สำนักเสริมศึกษาและบริการสังคม. กรุงเทพฯ: สำนักเสริมศึกษาและบริการสังคม, 2542.
  • จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ 3:1 (2542).
  • Thammasat Review: Southeast Asian Studies in the 21st Century, Self Awareness and Mutual Struggle 3:1 (June 1998).
  • สตรีศึกษา. กรุงเทพฯ: โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2541.
  • จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ 2:1 (2541).

การนำเสนอผลงานวิชาการ[แก้]

  • 2557
    • "Learning to Read and Reading to Learn: Re-Reading the life of a Thai Grassroots Dressmaker (1963-2004) in the Postcolonial Scene" at the ANZHES 2014 Conference: Knowledge, Learning and Expertise, University of Melbourne, Melbourne, Australia, December 8.
  • 2553
    • "My 'W/ri[gh]t/E' and My Land': A Postcolonial Feminist Study on Grassroots' Archives and Autobiography (1937-2004)" at the Rockefeller Foundation Bellagio Center's Scholars in Residence Seminar Series, Bellagio, Italy, August 27.
  • 2551
    • "Writing Intersubjectively: Lessons Learned from the Process of Biographizing a Thai Grassroots Activist" at the Contemporary Critical Theories Conference, Victoria University of Wellington, Wellington, New Zealand, December 13.
    • "Resisting Postcolonial Hegemonies: A Grassroots Woman's Story of Writing and Fighting for Land right in Thailand (1963-2004)" at the 10th Women's World Congress, Madrid, Spain, July 3-9.
    • "Resisting Postcolonial Hegemonies: A Grassroots Woman's Story of Writing and Fighting for Land right in Thailand (1963-2004)" at the 14th Berkshire Conference on the History of Women, University of Minnesota, Twin Cities, USA, June 12-15.
    • "Resisting Postcolonial Hegemonies: A Grassroots Woman's Story of Writing and Fighting for Land right in Thailand (1963-2004)" at The Association of American Geographers Annual Conference, Boston, USA, April 23-26.
    • "Thinking Beyond the (Epistemological) Border of the Thai Women's Movement--A Postcolonial Critique and Feminist Re-clamation through Grassroots Narratives": A Keynote Panel at the Canadian Women's Studies Association Annual Conference, Vancouver, Canada, May 29.
  1. "สินิทธ์ สิทธิรักษ์ เปิดโลกใบใหม่สตรีศึกษา ผ่าน ‘จดหมายเหตุ’ นักประท้วงบนหลังควาย,". มติชนออนไลน์. <https://www.matichon.co.th/prachachuen/interview/news_861439> 8 มีนาคม 2562.
  2. สินิทธ์ สิทธิรักษ์. แม่หญิงป่าไม้: เรื่องเล่าของผญิงรากหญ้าไทยในขบวนการสิ่งแวดล้อม. กรุงเทพ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2541.