ผู้ใช้:Cokepakawat/กระบะทราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ความเป็นมาของรัฐประศาสนศาสตร์[แก้]

รัฐประศาสนศาสตร์ (อังกฤษ: Public administration science) เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างขององค์การ ภาระงานขององค์การ ความผูกพันต่อองค์การ ศักยภาพขององค์การ และภาวะผู้นำ[1] มีนักวิชาการหลายคนได้เสนอความเห็นไว้ ขึ้นอยู่กับการที่นักวิชาการแต่ละท่านมองรัฐประศาสนศาสตร์ไปในทิศทางไหน แต่ไม่มีนักวิชาการท่านใดให้คำตอบที่ยอมรับได้เป็นสากลว่ารัฐประศาสนศาสตร์คืออะไร นักวิชาการรุ่นใหม่ที่ได้เสนอความเห็น เช่น

      - Nicholas Henry เสนอว่า “รัฐประศาสนศาสตร์นั้นเน้นศึกษาพฤติกรรมและโครงสร้างของระบบราชการ มีเอกลักษณ์ทางการศึกษา แตกต่างจากการบริหารโดยรัฐประศาสนศาสตร์นั้นมุ่งศึกษาเรื่ององค์การของรัฐ ซึ่งไม่ได้มุ่งแสวงหาผลกำไรแบบองค์การเอกชน และสนับสนุนให้องค์การของรัฐมีโครงสร้างกลไกการตัดสินใจและพฤติกรรมของข้าราชการที่เกื้อกูลการให้บริการสาธารณะ”[2]
      - Felix A. Nigro และ Lloyd G. Nigro กล่าวว่า “รัฐประศาสนศาสตร์ศึกษาเกี่ยวกับ ความพยายามร่วมของกลุ่มคนในทางสาธารณะ การกำหนดนโยบายสาธารณะ กิจกรรมของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ความแตกต่างทางการบริหารงานของรัฐและเอกชน บทบาทของบุคคลหลายฝ่ายต่อการให้บริการแก่ชุมชน”[3]

ความเป็นมาของรัฐประศาสนศาสตร์ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง[แก้]

      รัฐประศาสนศาสตร์นั้นมีมาตั้งแต่โบราณกาล จากการที่ประเทศฝรั่งเศสที่เริ่มสอนรัฐประศาสนศาสตร์โดยเน้นกฎหมายปกครอง เพราะเชื่อว่ากฎหมายปกครองเป็นรากฐานของการบริหารรัฐกิจ ด้านประเทศเยอรมนีและประเทศอังกฤษก็ได้เตรียมคนให้เป็นนักบริหารรัฐกิจ โดยเยอรมนีเน้นผู้ที่เตรียมตัวจะเป็นข้าราชการส่วนอังกฤษนั้นเน้นที่ศิลปศาสตร์ที่ประกอบด้วยวิชาปรัชญา ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ภาษาศาสตร์ จึงได้เห็นว่ารัฐประศาสนศาสตร์นั้นเป็นศาสตร์ที่มีความเก่าแก่ศาสตร์หนึ่งเลยก็ว่าได้ แต่ในสมัยนั้นไม่มีการรวบรวมความคิดอย่างเป็นระบบ จุดที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นคือ เมื่อวูดโรว์ วัลสัน(อังกฤษ: Woodrow Wilson) ได้เขียนบทความชื่อ "The Study of Administration" โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับ กรอบเค้าโครงความคิดการแยกการบริหารออกจากการเมือง โดยเห็นว่าหน้าที่หลักของฝ่ายบริหารคืองานประจำ ซึ่งกรอบเค้าโครงความคิดการแยกการบริหารออกจากการเมืองนี้ช่วยผลักดันให้มีการปฏิรูประบบบริหารโดยอาศัยทฤษฎีและแนวความคิดรัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อให้การบริหารเป็นไปโดยปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง การมีศูนย์อำนาจแห่งเดียวสำหรับการควบคุมการปกครองและการบริหาร เพื่อให้อำนาจรวบรวมไว้ที่แห่งเดียวกัน เมื่อการปรับปรุงระบบบริหารให้บรรลุเป้าหมายยิ่งขึ้นแล้วก็จะก่อให้เกิดแนวความคิดที่เรียกว่า การจัดการเชิงวิทยาศาสตร์ โดยมีหลักการสามประการคือ การอาศัยเทคนิค การค้นหาหลักในการปฏิบัติงาน และปัญหาของการใช้เทคนิค และอาจกล่าวได้อีกว่าการจัดการเชิงวิทยาศาสตร์นั้นเป็นการปฏิวัติจิตใจด้วย[4] นอกจากนี้ยังมีนักปราชญ์ชาวเยอรมนีที่ชื่อ แมกซ์ เวเบอร์ (อังกฤษ: Max Weber) ซึงได้เสนอแนวความคิดเกี่ยวกับองค์การขนาดใหญ่ที่มีรูปแบบ ที่มีสาระสำคัญคือ "theory of Domination" ที่เห็นว่าผู้ปกครองจะใช้อำนาจปกครองได้ก็ต่อเมื่ออำนาจนั้นได้รับความยินยอมจากผู้ถูกปกครอง เรียกว่า "legitimation of power" โดยอำนาจปกครองมีที่มา 3 แบบ คือ จากจารีตประเพณี(Traditional Domination), จากอำนาจบารมี(Charismatic Domination), จากกฎหมายและเหตุผล(Legal Domination) การที่อำนาจปกครองจะดำเนินไปได้ ต้องมีการบริหารที่ดี ได้แก่ Bureaucracy ซึ่งมีลักษณะคือ มีสายบังคับบัญชาลดหลั่น, ลักษณะเป็นงานประจำ, แบ่งงานตามความชำนาญ, ยึดหลักกฎหมายและบันทึกเป็นลายลักษณ์อีกษร[5]

ความเป็นมาของรัฐประศาสนศาสตร์ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 1970[แก้]

      รัฐประศาสนศาสตร์ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี้ได้ค้นพบกรอบเค้าโครงความคิด "การบริหารเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง" และ "การบริหารเป็นส่วนหนึ่งของศาสตร์การบริหาร"ซึ่งจะโต้แย้งกับกรอบเค้าโครงความคิดอีกสองอันในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สองนั่นคือ "การแยกการบริหารออกจากการเมือง"ที่ถูกลบล้างโดย"การบริหารเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง" และ "กฎหรือหลักเกณฑ์ทางการบริหาร"ที่ถูกลบล้างโดย"การบริหารเป็นส่วนหนึ่งของศาสตร์การบริหาร" ดังนั้นสถานภาพของรัฐประศาสนศาสตร์จึงเหลือกรอบเค้าโครงความคิดอยู่สองอันในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สองคือในช่วง ค.ศ.1968 และคาบเกี่ยวจนถึงปี ค.ศ.1970 นั่นคือ "การบริหารเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง" และ "การบริหารเป็นส่วนหนึ่งของศาสตร์การบริหาร" นั่นเอง[6]

ความเป็นมาของรัฐประศาสนศาสตร์ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1970 จนถึงปัจจุบัน[แก้]

      รัฐประศาสนศาสตร์ได้มีวิวัฒนาการมา 3 ระยะ ระยะแรกคือ ระยะที่เรียกได้ว่าเป็นรัฐประศาสนศาสตร์แบบดั้งเดิม(traditionalism) ระยะนี้ให้ความสำคัญมุ่งเน้นไปที่โครงสร้างขององค์การ การมีกฎเกณฑ์ทางการบริหาร และการแยกการบริหารออกจากการเมือง ระยะที่สอง คือ พฤติกรรมศาสตร์(behavioralism) ซึ่งให้ความสำคัญมุ่งเน้นไปที่พฤติกรรมของมนุษย์และพฤติกรรมขององค์การ และระยะปัจจุบัน คือ ยุคหลังพฤติกรรมศาสตร์ (post-behavioralism) ให้ความสำคัญมุ่งเน้นไปที่การชี้ให้เห็นจุดอ่อนของพฤติกรรมศาสตร์และเสนอทฤษฎีที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการนำมาใช้ให้สอดคล้องกับสังคม เน้นความสำคัญของค่านิยมและการมีความรู้เกี่ยวกับแต่ละคน(self) โดยในระยะนี้ก็ได้มีการเสนอแนวความคิดขึ้น ได้แก่ "ทฤษฎีองค์การที่อาศัยหลังมนุษย์นิยม(oganizational humanism)","การวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ(policy analysis)","เศรษฐกิจการเมือง(political economy)" และ"รัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่(New Public Administration)"[7]

การนำรัฐประศาสนศาสตร์มาประยุกษ์ใช้ในไทย[แก้]

      การนำรัฐประศาสนศาสตร์มาประยุกต์ไว้ในระบบการบริหารราชการของประเทศไทยนั้นมีมาช้านานแล้ว และปฏิบัติต่อเนื่องมาตลอดทุกสมัย ดังเช่นตัวอย่างในเรื่องการพัฒนากำลังคน เกี่ยวกับการฝึกอบรม ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานราชการต่างๆ ในปัจจุบันนั้นก็มีผู้ที่มีหน้าที่การงานในการบริหารงานระดับสูงเช่น ปลัดกระทรวงมหาดไทยนั้นก้ได้ให้ความสำคัญกับรัฐประศาสนศาสตร์และนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการปฏิบัติราชการมากขึ้น จึงเห็นได้ชัดว่านักบริหารระดับสูงของไทยมีความเชื่อว่ารัฐประศาสนศาสตร์นั้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการให้เกิดผลดีได้และต้องการทั้งบุคคลที่มีทั้งหลักวิชารัฐประศาสนศาสตร์และความสามารถที่จะนำหลักวิชาดังกล่าวไปใช้ให้เกิดผลดีได้ อย่างไรก็ตามการนำหลักวิชารัฐประศาสนศาสตร์ไปใช้ในการปฏิบัติงานของแต่ละบุคคลก็มีผลไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสาเหตุหลายประการ อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าหลักวิชารัฐประศาสนศาสตร์ไปใช้ให้เกิดผลดีหรือไม่อย่างไรนั้น ส่วนหนึ่งที่สำคัญขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้นำไปใช้[8] สำหรับแนวความคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ที่ได้นำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการบริหารระบบราชการของประเทศไทย ได้แก่ "Descriptive-Explanatory Theory" ทฤษฎีนี้มุ่งอธิบายว่า การปรับปรุงแก้ไขอะไรต้องมรการระบุให้แน่ชัดว่า อะไรคือปัญหา(What) พร้อมทั้งระบุความสำคัญของปัญหาว่าอะไรคือปัญหาหลัก อะไรคือปัญหารองและก็ต้องระบุถึงสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น, "Normative Theory" เป็นเครื่องมือในการวางเป้าหมายด้านคุณค่า โดยให้ความสำคัญกับค่านิยมว่า เป้าหมาย การปรับปรุง ควรจะไปทางไหน(should) และการปรับปรุงเป้าหมายที่ดีควรจะทำอย่างไร(good), "Assumptive Theory" เป็นแนวทางการศึกษาค้นคว้าเพื่อเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์, "Instrumental Theory" เป็นทฤษฎีที่มุ่งเน้นถึงวิธีการ เทคนิค เครื่องมือ การกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมในกระบวนการแก้ปัญหาให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยจะชี้ให้เห็นว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร(how) ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับระยะเวลาที่เหมาะสมในการปรับปรุงหรือแก้ไขสิ่งต่างๆให้บรรลุเป้าหมาย[9]

อ้างอิง[แก้]

  1. พิชิต พิทักษ์เทพสมบัติ, 10 แนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ :ความหมาย การวัด, พิมพ์ครั้งที่ 5, สำนักพิมพ์เสมาธรรม, 2545, 974-231-034-3
  2. Nicholas Henry, Public Administration and Public Affairs (Englewood Cliffs,N.J. : Prentice-Hall, Inc., 1980), p. 27. อ้างใน พิทยา บวรวัฒนา, รัฐประศาสนศาสตร์ ทฤษฎีและแนวทางการศึกษา (ค.ศ.1887 - ค.ศ.1970),พิมพ์ครั้งที่ 5, โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541, 974-637-618-7, หน้า 1
  3. Felix A. Nigro and Lloyd G. Nigro, Modern Public Administration (New york:Harper & Row Publishers, 1980), p.14. อ้างใน พิทยา บวรวัฒนา, รัฐประศาสนศาสตร์ ทฤษฎีและแนวทางการศึกษา (ค.ศ.1887 - ค.ศ.1970),พิมพ์ครั้งที่ 5, โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541, 974-637-618-7, หน้า 2
  4. ดร. อุทัย เลาหวิเชียร, รัฐประศาสนศาสตร์ : ลักษณะวิชาและมิติต่างๆ, พิมพ์ครั้งที่ 9, สำนักพิมพ์เสมาธรรม, 2545, 974-231-040-8, หน้า 17-21
  5. วรเดช จันทรศร และ อัจฉราพรรณ เทศะบุรณะ, รัฐประศาสนศาสตร์ : ทฤษฎีและการประยุกต์, พิมพ์ครั้งที่ 2, ห้างหุ้นส่วนจำกัดสหายบล็อคการพิมพ์, 2536, 974-8163-68-7
  6. ดร. อุทัย เลาหวิเชียร, รัฐประศาสนศาสตร์ : ลักษณะวิชาและมิติต่างๆ, พิมพ์ครั้งที่ 9, สำนักพิมพ์เสมาธรรม, 2545, 974-231-040-8, หน้า 30-31
  7. ดร. อุทัย เลาหวิเชียร, รัฐประศาสนศาสตร์ : ลักษณะวิชาและมิติต่างๆ, พิมพ์ครั้งที่ 9, สำนักพิมพ์เสมาธรรม, 2545, 974-231-040-8, หน้า 31-38
  8. ชิต นิลพานิช, รัฐประศาสนศาสตร์ ชอบข่าย สถานภาพ และพัฒนาการ ในประเทศไทย, พิมพ์ครั้งที่ 2, โรงพิมพ์แสงรุ้งการพิมพ์, 2523, หน้า 205-236
  9. วิมล หอมยิ่ง, รัฐประศาสนศาสตร์ ทฤษฎี และการประยุกต์, พิมพ์ครั้งที่ 2, ห้างหุ้นส่วนจำกัดสหายบล็อกการพิมพ์, 2536, 974-8163-68-7, หน้า 118-121