ผู้ใช้:Atipat.u/กระบะทราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปัญหาของการปกครองท้องถิ่นไทย[แก้]

1.ปัญหาการปกครองท้องถิ่นไทยในอดีต[แก้]

  การปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยมีการพัฒนา เกิดการเปลี่ยนแปลงมามากมายจากในอดีตโดยมีจุดเริ่มต้นจากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ได้ทรงปฏิรูประบบการบริหารในส่วนท้องถิ่นโดยทรงริเริ่มจัดตั้ง"สุขาภิบาลกรุงเทพฯ" หลังจากนั้นได้มีการขยายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปยังหัวเมืองต่างๆ[1] ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ได้มีการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาล[2] และมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
  ปัญหาการปกครองท้องถิ่นในอดีต มีปัญหาหลักที่สำคัญคือการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการพัฒนาที่ล่าช้าและในตอนแรกเริ่มไม่มีการปกครองที่เป็นอิสระเท่าที่ควรโดยจะเห็นได้จากการที่แรกเริ่มนั้นได้ให้ข้าราชการส่วนกลางมาบริหารแทนที่จะมีข้าราชการส่วนท้องถิ่น 
  อีกปัญหาที่สำคัญในอดีตคือการพัฒนาท้องถิ่นที่วนเวียนเหมือนย่ำอยู่กับที่เป็นเวลาหลายปี โดยจะเห็นได้จากการยกเลิกสุขาภิบาลมาใช้รูปแบบเทศบาล แต่ต่อมาก็ไม่ได้รับการพัฒนาและมีอุปสรรคมากมายจนมีเหลือเพียงไม่กี่แห่ง แต่ต่อมาได้มีการรื้อฟื้นสุขาภิบาลอีกครั้ง[3]  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการขาดการพัฒนาในบางยุคสมัยจึงทำให้การปกครองส่วนท้องถิ่นในไทยพัฒนาได้ช้าและย่ำอยู่กับที่เป็นเวลาหลายปีในอดีต

2.ปัญหาอุปสรรคในการกระจายอำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น[แก้]

การกระจายอำนาจในสังคมไทยเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ปัญหาอุปสรรคที่สำคัญในการทำให้การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรอยู่ 3 ประการคือ 1.ระบบการศึกษาที่ไม่เอื้ออำนวย คนส่วนใหญ่จึงไม่มีความรู้และไม่เห็นความสำคัญของ[การปกครองท้องถิ่น] 2.รัฐบาลคุ้นชินกับการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ทำให้ปัจจุบันแม้จะมีการกระจายอำนาจมาสู่ท้องถิ่นมากขึ้นกว่าในอดีต แต่ก็ยังมีอำนาจหน้าที่ที่ต้องทำตามส่วนกลาง ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีเสถียรภาพเท่าที่ควร 3.วิสัยทัศน์ของผู้นำที่ยังไม่ให้ความเชื่อมั่นในระดับท้องถิ่น ว่าจะสามารถพัฒนาไปได้ด้วยตนเองและไม่ได้เล็งเห็นว่าประชาชนในท้องถิ่นควรมีบทบาทในการดูแลท้องถิ่นตนเอง ทำให้บทบาทและอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นในปัจจุบันมีจำกัด[4]

3.ปัญหาเกี่ยวกับอุดมคติในการปกครองท้องถิ่น[แก้]

  ปัญหาเกี่ยวกับอุดมคติของการปกครองท้องถิ่น ถือเป็นปัญหาสำคัญซึ่งหมายถึงทัศนคติที่มีต่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นับว่าเป็นปัญหาทั้งในด้านรัฐบาลและด้านประชาชน ซึ่งมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายและการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก[5]
  ทางด้านรัฐบาลนั้นมีความไม่ให้ความสำคัญต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่าที่ควร โดยยังมีการบริหารงานที่ต้องทำตามภาระหน้าที่และอำนาจจากราชการส่วนกลางซึ่งมีข้อจำกัดในหลายๆเรื่อง โดยสาเหตุสำคัญในเรื่องนี้น่าจะมาจากการที่รัฐบาลเป็นผู้หยิบยื่นอำนาจนี้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงมีทัศนคติที่ว่าจะดำเนินการใดก็ได้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเนื่องจากเป็นผู้หยิบยื่นอำนาจนั้นให้[6]
  อีกหนึ่งปัญหาเกี่ยวกับอุดมคติที่สำคัญคือภาคส่วนประชาชน ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการปกครองส่วนท้องถิ่น ในเรื่องการเข้ามีส่วนร่วมของประชาชนที่ไม่สนใจในการมีส่วนร่วมเท่าที่ควรเนื่องมาจากการที่ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจในการปกครองตนเอง[7] และเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ของตนแต่ดลับเห็นว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลหรือราชการส่วนกลางในการดำเนินการ ทั้งที่ประชาชนคือปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการปกครองส่วนท้องถิ่นไปสู่เป้าหมาย

4.ปัญหาในการบริหารงานท้องถิ่น[แก้]

4.1.ปัญหาอุปสรรคในการกำหนดนโยบายและวางแผนการบริหารท้องถิ่นไทย[แก้]

  งานสำคัญลำดับแรกๆของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากคือ งานด้านการกำหนดนโยบายและแผน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการบริหารกิจการโดยรวมของหน่วยงานและการพัฒนาท้องถิ่น จากปัญหาในการบริหารท้องถิ่นไทยพบว่าปัญหาในงานด้านกำหนดนโยบายและแผน เป็นปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งจากสภาพที่เป็นจริงพบว่า การดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นยังไม่เป็นไปตามนโยบายและแผนที่ถูกกำหนดไว้เท่าที่ควร จากปัญหาสำคัญดังกล่าวจะพบในลักษณะดังต่อไปนี้[8]

4.1.1.ปัญหาเกี่ยวกับนโยบายและแผนไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่

   จากการที่การจัดทำนโยบายและแผนไม่ได้รับการปฏิบัติตามแผนเท่าที่ควร จากปัญหาดังกล่าวนำมาซึ่งปัญหาการจัดทำแผนนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดจากการที่ผู้ซึ่งมีอำนาจในการพิจารณาอนุมัติให้ใช้นโยบายและแผนดังกล่าวขาดความรู้ความเข้าใจในการที่จะเก็บข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับสภาพปัญหา ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่มาใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการจัดทำแผนนโยบายและแผน 

4.1.2.ปัญหาเกี่ยวกับการประสานงานแผนระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

  การที่มีข้อจำกัดบางประการในระหว่างองค์กรทั้งในเรื่องระเบียบและโครงสร้างการประสานงานนโยบายและแผนที่ยังมีข้อบกพร่องอยู่ในหลายๆประเด็น เช่นการคณะกรรมการประสานแผนและนโยบายในระดับอำเภอและจังหวัดที่มีขนาดใหญ่จนไม่สามารถทำการประสานนโยบายและแผนอย่างมีประสิทธิภาพ และอีกหนึ่งปัญหาสำคัญคือเงื่อนไขในเรื่องเวลาของการวางแผนในระดับท้องถิ่นกับระดับภูมิภาคที่ไม่สอดคล้อง นำมาซึ่งการทำงานที่ว่าต่างคนต่างทำเพราะเงื่อนไขเวลาขององค์กรทั้งสองที่ไม่สอดคล้องกัน[9]

4.2.ปัญหาการบริหารการคลังท้องถิ่น[แก้]

  ในส่วนของการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น มีข้อจำกัดในหลายๆเรื่องทั้งงบประมาณจากส่วนกลาง การจัดเก็บภาษี และในอีกหลายๆเรื่องที่ทำให้การพัฒนาในส่วนท้องถิ่นเป็นไปได้ช้า และไม่มีประสิทธิภาพมากนัก หากจะกล่าวถึงปัญหาหลักๆจะแยกได้เป็น 2 ประเด็นคือ ปัญหาการบริหารรายได้และปัญหาการบริหารรายจ่าย[10]

4.2.1.ปัญหาการบริหารรายได้ 4.2.1.1.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บรายได้ไม่เพียงพอกับการใช้จ่าย[11] 4.2.1.2.ระบบการจัดหารายได้ของท้องถิ่นรวมทั้งภาษีขาดความยืดหยุ่นที่จะอำนวยความสะดวกให้สามารถได้ตามความเหมาะสมของท้องถิ่นนั้นๆ 4.2.1.3.กิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการทับซ้อนกันมากในแต่ละพื้นที่ 4.2.2.ปัญหาการบริหารรายจ่าย 4.2.2.1.การโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณระหว่างปีงบประมาณเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แสดงให้เห็นถึงการวางแผนงบประมาณที่ไม่ดีเท่าที่ควร 4.2.2.2.การจัดทำงบประมาณรายปีในหลายๆพื้นที่ไม่ได้มีการนำแผนพัฒนาท้องถิ่นระยะยาวมาใช้ให้สอดคล้องกัน ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการบริหารและพัฒนาในระยะยาว 4.2.2.3ระบบงบประมาณแบบแผนงานในปัจจุบัน ยังไม่สามารถใช้ในการวัดผลการดำเนินงานได้อย่างสมบูรณ์ หรือกิจกรรมที่ดำเนินไปประสบความสำเร็จหรือไม่อย่างไร แต่เน้นวิธีการใช้จ่ายงบประมาณ จัดซื้อจัดจ้าง จึงไม่สามารถทราบได้ว่าการใช้จ่ายเงินในงบประมาณในกิจกรรมหนึ่งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด[12]

4.3.ปัญหาอุปสรรคในการควบคุมและตรวจสอบกิจการของท้องถิ่น[แก้]

ปัญหาในการควบคุมและตรวจสอบกิจการของท้องถิ่นมีปัญหาเกิดจากสองปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ 4.3.1.ปัจจัยภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจะเกิดจากบุคลากรภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยมีแนวทางแก้ไขที่ดีคือ ควรมีการพัฒนาบุคลากรของท้องถิ่นให้มีความรู้ความสามารถและมีทัศนคติที่ดีในการทำงาน และควรมีการจัดทำแผ่นแม่บทในการพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นรูปธรรม[13] 4.3.2.ปัจจัยภายนอกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจะกล่าวถึงในส่วนของภาคประชาชนซึ่งควรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร อาทิเช่นการร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น,เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นในแต่ละเรื่อง เป็นต้น

5.ปัญหา อุปสรรคและแนวทางในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับท้องถิ่น[แก้]

  ปัญหาใหญ่ที่เป็นปัญหาหลักในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ที่ควรแก้ไขเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการบริหารส่วนท้องถิ่นคือ ควรลดศูนย์รวมอำนาจจากส่วนกลางและกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจัง[14] เนื่องจากยังมีการรวมศูนย์อำนาจและการจัดลำดับการบังคับบัญชาที่ลดหลั่นกันลงไป ซึ่งทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีบทบาทเท่าที่ควร ประชาชนก็มีบทบาทในทางการเมืองลดน้อยลงไปด้วย และอีกปัญหาที่สำคัญคือทัศนคติรัฐบาลที่มีต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนที่มีวิธีการจัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างรวบรัดและมีขอบเขตที่จำกัด
  นอกจากนี้อีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญคือประชาชนยังไม่เข้าใจหลักการปกครองตนเองไม่รู้ถึงความจำเป็นและประโยชน์ของการปกครองท้องถิ่นทำให้ประชาชนขาดการเอาใจใส่และไม่สนใจในการมีส่วนร่วมเท่าที่ควร 

แนวทางในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการบริหารคือควรมีการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดแผนพัฒนาและกำหนดนโยบาย มีการนำความเห็นของประชาชนไปใช้ประโยชน์อย่างจริงจังและพึงสนับสนุนงบประมาณเพื่อส่งเสริมกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น[15]

6.ปัญหาในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ[แก้]

6.1.กรุงเทพมหานคร[แก้]

  กรุงเทพมหานครเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษซึ่งมีความแตกต่างจากองค์กรปกครองท้องถิ่นอื่น อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งเมืองหลวง ซึ่งการที่กรุงเทพมหานครเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษก็เพื่อสำหรับการบริหารงานในพื้นที่เมืองหลวง[16] 
6.1.1.ปัญหา อุปสรรคของกรุงเทพมหานคร[แก้]

-ปัญหาการจราจรติดขัด จากการเติบโตของเมืองหลวงและการเติบโตของระบบเศรษฐกิจที่พัฒนาอย่างรวดเร็วของกรุงเทพมหานคร ทำให้คนในต่างจังหวัดเข้ามาในกรุงเทพมหานครเป็นอย่างมาก จะเห็นว่าทางกรุงเทพมหานครจะดำเนินการแก้ไขเพียงใดก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการเข้ามาอย่างต่อเนื่องของคนในต่างจังหวัดที่ย้ายมาอาศัยที่กรุงเทพมหานคร นำมาซึ่งยานพาหนะที่มากขึ้นทำให้การจราจรติดขัด[17] -ภาระหน้าที่ของกรุงเทพมหานครซ้ำซ้อนกับงานของหน่วยงานราชการส่วนกลางในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จึงก่อให้กิดความขัดแย้งระหว่างองค์กรและขาดเสถียรภาพในการทำงาน -อำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครไม่มีเสถียรภาพเท่าที่ควร เนื่องจากการที่กฎหมายให้อำนาจหน่วยงานส่วนกลางไว้แทบทั้งสิ้น[18]

6.1.2.แนวโน้มกรุงเทพมหานครในอนาคต[แก้]
  ในการพัฒนากรุงเทพมหานครในอนาคตนั้น มีการวางกรอบของภาคมหานคร ซึ่งต้องการความต้องการจากภาคีทุกภาคส่วนในการพัฒนา โดยมีหน่วยงานหลัก 3 หน่วยงานได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย และสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร[19] โดยได้มีการคาดการณ์และกำหนดทิศทางการพัฒนาไว้เป็น 4 ระยะคือ

-ระยะ 5 ปี กรุงเทพมหานครจะเป็นมหานครสีเขียว ปลอดภัยจากน้ำท่วม พร้อมทั้งมีระบบคมนาคมขนส่งมวลชนที่สะดวกและเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค -ระยะ 15 ปี จะเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงคมนาคมขนส่งในระดับภูมิภาค มีการกระจายความเจริญภาคมหานครไปสู่พื้นที่โดยรอบ -ระยะ 30 ปี เป็นเมืองที่น่าอยู่มีการเดินทางที่สะดวกสบาย และมีความคล่องตัวในคมนาคมขนส่ง โดยจะมีการพัฒนาและเชื่อมโยงคมนาคมขนส่งทุกระบบเข้าด้วยกัน บนรากฐานการพัฒนาเมืองที่สมดุล -ระยะ 50 ปี จะเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน น่าอยู่ พร้อมทั้งมีความสะดวกในการคมนาคมขนส่ง เพื่อกระจายความเจริญไปยังอนุภูมิภาคอย่างสมดุล[20]

6.2.เมืองพัทยา[แก้]

  เมืองพัทยาเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอีกประเภทหนึ่งนอกเหนือจากกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมและเป็นพื้นที่ที่มีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทั้งทางกายภาพและสภาพเศรษฐกิจ[21]
6.2.1.ปัญหา อุปสรรคของเมืองพัทยา[แก้]

-ความรับรู้และความเข้าใจของประชาชนในท้องถิ่นต่อรูปแบบการบริหารเมืองพัทยามีจำกัดมาก การที่ประชาชนไม่รู้เกี่ยวกับองค์กรปกครองท้องถิ่นมากนักเช่นนี้ย่อมเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการบริหาร -วิธีการจัดระบบการบริหารตั้งแต่แรกเริ่มมีจุดบกพร่องที่การเรียกประธานสภาเมืองพัทยาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติว่านายกเมือง แต่เรียกหัวหน้าฝ่ายบริหารว่าปลัดเมือง จึงได้ก่อให้เกิดความสับสนคิดว่านายกเป็นบุคคลที่มีหน้าที่ในการบริหารและเมื่อขาดการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ความเข้าใจผิดจึงดำรงอยู่ตลอดมา นี่คือการริเริ่มสร้างสรรค์ในทางที่ผิดเพราะระบบจัดการเมืองในสหรัฐอเมริกาไม่มีความสับสนเช่นนี้ -ระบบบริหารเมืองถูกควบคุมโดยรัฐบาลกลาง ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดอิสระในการทำงานและไม่มีเสถียรภาพเท่าที่ควร

6.2.2.แนวโน้มเมืองพัทยาในอนาคต[แก้]
  เมืองพัทยามีการกำหนดแผนแม่บทการพัฒนาเมืองพัทยา 10 ปี[1] โดยมีวิสัยทัศน์ที่จะยกระดับเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก มีภูมิทัศน์ทางธรรมชาติที่สวยงาม มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยแผ่นการพัฒนาเมืองพัฒนานี้มีระยะเวลาคือ พ.ศ.2554 – 2563 โดยในกำหนดระยะเวลานี้จะใช้แผนแม่บทนี้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาไปสู่จุดมุ่งหมายในอนาคต

7.แนวโน้มการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอนาคต[แก้]

ในอนาคตอาจมีแนวโน้มที่จะปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครั้งใหญ่ โดยจากการที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้เสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญ

โดยจะมีการแบ่งรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็น 2 รูปแบบคือ รูปแบบทั่วไปและรูปแบบพิเศษ ซึ่งจะแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ

-องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่ำกว่าระดับจังหวัด เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับตำบลและเมือง -องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับจังหวัด เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ในระดับจังหวัด -องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิเศษ เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นที่มีการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการท้องถิ่น ภายใต้แนวคิดท้องถิ่นจัดการตนเอง

  ปัจจุบันมีการหารือในการที่จะควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อยกระดับเป็นเทศบาล[2] เนื่องจากปัจจุบันมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กอยู่มาก ซึ่งไม่มีรายได้เพียงพอต่อการบริหารงาน ทำให้งบประมาณจำนวนมากต้องใช้ไปเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร
  ดังนั้น เพื่อลดภาระต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารของภาครัฐ จึงมีการหารือที่จะกำหนดขนาดที่เหมาะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กจำนวนหนึ่งและยกสถานะทั้งหมดให้เป็นเทศบาล
  1. รศ.สนธิ์ บางยี่ขัน.(2545).การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย.หน้า 73.
  2. ธเนศวร์ เจริญเมือง.(2540).100ปีการปกครองท้องถิ่นไทยพ.ศ.2440-2540.หน้า 133.
  3. ผศ.ดร.บูฆอรี ยีหมะ.(2555).การปกครองท้องถิ่นไทย.หน้า 77.
  4. ธเนศวร์ เจริญเมือง.(2540).100ปีการปกครองท้องถิ่นไทยพ.ศ.2440-2540.หน้า 300.
  5. รศ.สนธิ์ บางยี่ขัน.(2545).การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย.หน้า 318.
  6. รศ.สนธิ์ บางยี่ขัน.(2545).การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย.หน้า 319.
  7. รศ.สนธิ์ บางยี่ขัน.(2545).การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย.หน้า 321.
  8. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.(2547).เอกสารชุดการสอนวิชาการบริหารท้องถิ่น.หน้า 172.
  9. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.(2547).เอกสารชุดการสอนวิชาการบริหารท้องถิ่น.หน้า 174.
  10. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.(2547).เอกสารชุดการสอนวิชาการบริหารท้องถิ่น.หน้า 264.
  11. รศ.ประหยัด หงส์ทองคำ.(2526).การปกครองท้องถิ่นไทย.หน้า 178.
  12. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.(2547).เอกสารชุดการสอนวิชาการบริหารท้องถิ่น.หน้า 264.
  13. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.(2547).เอกสารชุดการสอนวิชาการบริหารท้องถิ่น.หน้า 305.
  14. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.(2547).เอกสารชุดการสอนวิชาการบริหารท้องถิ่น.หน้า 348.
  15. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.(2547).เอกสารชุดการสอนวิชาการบริหารท้องถิ่น.หน้า 349.
  16. ผศ.ดร.บูฆอรี ยีหมะ.(2555).การปกครองท้องถิ่นไทย.หน้า 208.
  17. ผศ.ดร.บูฆอรี ยีหมะ.(2555).การปกครองท้องถิ่นไทย.หน้า 188.
  18. ผศ.ดร.บูฆอรี ยีหมะ.(2555).การปกครองท้องถิ่นไทย.หน้า 189.
  19. สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผลกรุงเทพมหานคร.(2552).แผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ12ปีพ.ศ.2552-2563กรุงเทพฯมหานครแห่งความน่าอยู่อย่างยั่งยืน.หน้า 15.
  20. สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผลกรุงเทพมหานคร.(2552).แผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ12ปีพ.ศ.2552-2563กรุงเทพฯมหานครแห่งความน่าอยู่อย่างยั่งยืน.หน้า 16.
  21. ผศ.ดร.บูฆอรี ยีหมะ.(2555).การปกครองท้องถิ่นไทย.หน้า 227.