ปอบิด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปอบิด
ดอกปอบิด (Helicteres isora)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Rosids
อันดับ: Malvales
วงศ์: Malvaceae
วงศ์ย่อย: Helicteroideae
สกุล: Helicteres
สปีชีส์: H.isora
ชื่อทวินาม
Helicteres isora
(L.)

ปอบิด (East Indian screw tree) มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามพื้นที่ปลูก มะบิด (ภาคเหนือ) ปอทับ (เชียงใหม่) ช้อ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) ข้าวจี่ (ลาว) ห้วยเลาะมั่ว (จีนแต้จิ๋ว) หั่วลั่งหมา (จีนกลาง) นาคพต มะปิด ในตำรายาไทยสามารถใช้เป็นพืชสมุนไพรสำหรับรักษาโรคได้หลายชนิด [1]

ลักษณะทั่วไป[แก้]

ปอบิดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 1-3 เมตร มีขนสีน้ำตาลปกคลุมทั่วทุกส่วน ลำต้นกลม เรียว อ่อนคล้ายเถา บริเวณส่วนเปลือกมีสีเทาและมียางเหนียว ใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่ แผ่นใบสาก ท้องใบจะมีขน

กว้าง 2.5-3.5 นิ้ว ยาว 4-8 นิ้ว ม้วนเว้าเข้าหากัน ขอบใบหยักเป็นแบบฟันปลา ดอกจะมีสีส้มหรือสีแดงอิฐ จะออกเป็นกระจุกระหว่างต้นกับใบ กระจุกละประมาณ 2-3 ดอก แต่ละดอกมีใบประดับขนาดเล็กรองรับ

มีกลีบรองกลีบดอกสีเหลือง มีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบคู่บนมีขนาดใหญ่กว่ากลีบอื่น ปลายกลีบมน มีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย เกสรตัวผู้มีสีเหลือง มี 10 อันเชื่อมรวมกับก้านของเกสรตัวเมีย ผล มีลักษณะเป็น

ฝักยาว กลม บิดเป็นเกลียวมีทั้งบิดซ้ายและบิดขวา ยาว 3-4 เซนติเมตร ออกผลประมาณเดือนธันวาคม-มกราคม เมื่อแก่จะมีสีน้ำตาลหรือสีดำ แก่เต็มที่ฝักจะอ้าออก

การขยายพันธุ์[แก้]

ต้องผสมเกสรเพื่อให้ได้ฝักและเมล็ดในการขยายพันธุ์

แหล่งที่พบ[แก้]

พบทั่วไปในป่าเบญจพรรณแล้ง[2] ป่าเต็งรัง ที่รกร้างว่างเปล่า ตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย อินเดีย จีนตอนใต้จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ระดับความสูง 100-400 เมตร

สรรพคุณ[แก้]

ราก ใช้ต้มเอาน้ำกิน รสฝาดเฝื่อน บำรุงธาตุ แก้ท้องร่วง แก้บิด ขับเสมหะ แก้ปวดเคล็ดบวม โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิต ปอบิดจะมีผลลดน้ำตาลในเลือดได้ใกล้เคียงกับยาแผนปัจจุบัน แต่ยังไม่สามารถทดแทนยารักษาเบาหวานได้จริง [3]

เปลือกลำต้น มีสารเฮมิเซลลูโลส 15.8%, ลิกนิน 2.89%, เซลลูโลส 18.6%, เพคติน 0.4%, น้ำมัน 3.11%, กรดไฮดรอกซี่คาร์บอซีลิค, ไฟโตสเตอรอล, phobatanin ใช้เปลือกลำต้นนำมาต้มเป็นยาแก้โรคบิด ท้องร่วง และเป็นยาบำรุงธาตุ

ฝัก แก้บิด แก้ปวดท้อง แก้โรคลำไส้ในเด็ก[4 1]

แก่น รสจืดเฝื่อน บำรุงน้ำเหลือง บำรุงกำลัง แก้เสมหะ แก้น้ำเหลืองเสีย

ผล ใช้ผลแห้ง 10-15 กรัม มาต้มเอาน้ำกินแก้ท้องอืด แก้ปวดเคล็ดบวม แก้เสมหะ แก้ลงแดง กระเพาะอาหารเป็นแผล อักเสบ หรือเรื้อรัง [4]

อ้างอิง[แก้]

  1. [1] เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  2. [2] เก็บถาวร 2013-04-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย
  3. http://dric.nrct.go.th/index.php?page=ar&ar_id=196
  4. [3] เก็บถาวร 2013-07-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ


อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref> สำหรับกลุ่มชื่อ "4" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="4"/> ที่สอดคล้องกัน