ปลิว ตรีวิศวเวทย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลิว ตรีวิศวเวทย์
เกิด10 กันยายน พ.ศ. 2488 (78 ปี)
สัญชาติไทย
อาชีพวิศวกร นักธุรกิจ
ผลงานเด่นประธานกรรมการ และกรรมการบริหาร บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)
ตำแหน่งประธานกรรมการ และกรรมการบริหาร บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)
คู่สมรสสายเกษม ตรีวิศวเวทย์

ปลิว ตรีวิศวเวทย์ เกิดเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2488 เป็นวิศวกร นักธุรกิจชาวไทย หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ช.การช่าง

ปัจจุบัน ปลิว เป็นกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), กรรมการบรรษัทภิบาลและบริหารความเสี่ยง บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), กรรมการ และรองประธานกรรมการ บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน), กรรมการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน), ประธานกรรมการ และกรรมการบริหาร บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และรองประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ส่วนบริษัทอื่น รับตำแหน่ง กรรมการ บริษัท ช.การช่างเรียลเอสเตท จำกัด, ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด, ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คอนสตรัคชั่น แมททีเรียล ซัพพลาย จำกัด, ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เซาท์อีสท์ เอเซีย เอนเนอร์จี จำกัด, กรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด และประธานกรรมการ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด[1]

ประวัติ[แก้]

ปลิวเป็นคนไทยเชื้อสายจีน มีพี่น้อง 10 คน ชื่อปลิวนั้น มารดาเป็นผู้ตั้งให้ โดยตั้งจากภาษาแต้จิ๋ว ว่า ปิว แปลว่า เสือดำ พอเปลี่ยนเป็นภาษาไทยเติม "ล" เป็น "ปลิว"[2] ปลิวได้ช่วยพ่อแม่เลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ และโรงสีข้าวที่สุพรรณบุรี แต่ด้วยเป็นคนเรียนดี อาจารย์ที่สุพรรณบุรีจึงพาเข้ามาสอบชิงทุนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และเป็น 1 ใน 2 คนของพี่น้องที่ได้เรียนหนังสือ แต่เป็นคนแรกในพี่น้องที่ได้เรียนสูง จากนั้นสามารถสอบชิงทุนมอนบุโชได้ไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น (ปริญญาตรี และโทด้านวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยโอซากะ)[3]

ปี 2515 ปลิวร่วมกับพี่น้องก่อตั้ง ช.การช่าง ซึ่งทำกิจการอู่ซ่อมรถที่สี่แยกบ้านแขก ขณะนั้นปลิวมีอายุเพียง 29 ปี ต่อมาเล็งเห็นโอกาสของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง จึงได้หันมารับงานอาคารและงานโยธา โดยโครงการส่วนใหญ่นั้นเป็นโครงการจากภาครัฐและกองทัพเป็นหลัก กิจการของบริษัทเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนมีงานเพิ่มขึ้นมากตามลำดับ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน จนเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2537 บริษัทได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ในปี 2558 ปลิวติดอยู่ในทำเนียบมหาเศรษฐีในอันดับที่ 50 ของไทย จากการจัดอันดับของนิตยสาร ฟอบส์ไทยแลนด์ ซึ่งครอบครองมูลค่าทรัพย์สินรวม 1.43 หมื่นล้านบาท[4]

ด้านผลงานทางวิศวกรรมศาสตร์ ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างที่มีการพัฒนาโดยนำเทคโนโลยีวิศวกรรมขั้นสูง และนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น โครงการรถไฟฟ้าใต้ดินที่ใช้เทคโนโลยีก่อสร้าง Segmental External Post-Tensioned แบบ 6 ช่องทางจราจรที่ยาวที่สุดในโลก และใช้คานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง Precast Segmental Box Girder และเสารองรับ H-Column ที่ประหยัดค่าใช้จ่ายและปลอดภัย ยังสามารถก่อสร้างได้รวดเร็ว โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่ใช้เทคโนโลยีการขุดอุโมงค์แบบ Pipe Roof ซึ่งเป็นอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดแม่น้ำแห่งแรกของประเทศไทย, โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนน้ำงึม 2 ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ใช้เทคโนโลยีเขื่อนหินทิ้งดาดคอนกรีต Concrete Face Rock Filled Dam และการเจาะอุโมงค์ผันน้ำด้วยวิธีเจาะระเบิดด้วยรถเจาะจัมโบ้ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ซึ่งเป็นฝายน้ำล้นในลาว อันประกอบด้วยฝายทดน้ำ โรงไฟฟ้า ตลอดจนช่องทางเดินเรือ ช่องทางระบายตะกอนและทางปลาผ่าน ตามมาตรฐานสากลที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น[5]

นอกจากนี้ ยังลงทุนในโครงการสัมปทานด้านต่าง ๆ หลายโครงการเช่น ระบบทางด่วน ระบบไฟฟ้าขนส่งมวลชน ระบบน้ำประปา และด้านพลังงานและโครงการพัฒนาประเทศอีกหลายโครงการ

งานด้านสังคม ปลิวเป็นบุคคลสำคัญในการดำเนินงานก่อตั้งสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น และยังเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2548 ถึง 2549 เขายังบริจาคเงินสมทบเพื่อช่วยเหลือรัฐบาลญี่ปุ่นในการฟื้นฟูความเสียหายจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮกุ พ.ศ. 2554

ด้านชีวิตส่วนตัว สมรสกับสายเกษม ตรีวิศวเวทย์ มีบุตรด้วยกัน 3 คน ได้แก่ สุภามาส ตรีวิศวเวทย์, ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ และ ณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "คณะกรรมการบริษัท". สืบค้นเมื่อ 2019-01-02.
  2. ""ธนวัฒน์" GEN 3 ช.การช่าง". ประชาชาติธุรกิจ. 31 มีนาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 2019-01-03.
  3. "ณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์ ทายาท ช.การช่าง ที่ไม่ได้มีดีแค่หุ่นเฟิร์มซิกแพก". ผู้จัดการออนไลน์. 16 เมษายน 2559. สืบค้นเมื่อ 2019-01-02.
  4. อำนาจเจริญฤทธิ์, บำรุง (สิงหาคม 2558). "ช.การช่างในยุคผลัดใบ ภายใต้บังเหียน "สุภามาส ตรีวิศวเวทย์"". ฟอบส์ไทยแลนด์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-17. สืบค้นเมื่อ 2019-01-02.
  5. "นายปลิว ตรีวิศวเวทย์" (PDF). สืบค้นเมื่อ 2019-01-03.
  6. "สถานทูตญี่ปุ่นมอบเครื่องราชฯให้ ปลิว ตรีวิศวเวทย์". มติชน. 13 กรกฎาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 2019-01-02.