ปลาไหลไฟฟ้า
ปลาไหลไฟฟ้า | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับ: | Gymnotiformes |
อันดับย่อย: | Gymnotoidei |
วงศ์: | Gymnotidae |
สกุล: | Electrophorus Gill, 1864 |
สปีชีส์: | E. electricus |
ชื่อทวินาม | |
Electrophorus electricus (Linnaeus, 1766) | |
ชื่อพ้อง | |
|
ปลาไหลไฟฟ้า (อังกฤษ: electric eel) เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Electrophorus electricus จัดอยู่ในวงศ์ Gymnotidae จัดเป็นปลาเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุลนี้[2]
ลักษณะ
[แก้]มีรูปร่างเรียวยาวคล้ายปลาไหล ตามีขนาดเล็ก ลำตัวสีน้ำตาลเขียวเข้ม ใต้ท้องสีเหลือง หัวมีขนาดใหญ่ ปากกว้าง ใต้ท้องมีครีบยาวตั้งแต่ส่วนอกไปจนถึงปลายหาง ชอบอยู่ตามบึงน้ำตื้น ๆ หมกโคลนเลน หรือซ่อนตามวัชพืชในน้ำ ชอบน้ำนิ่งและเก่า (ค่า pH สูง) มีขนาดโตเต็มที่เกือบ 2 เมตร ที่ใหญ่ที่สุดพบถึง 2.5 เมตร น้ำหนักมากกว่า 44 ปอนด์
มีความสามารถพิเศษคือ ปล่อยไฟฟ้าได้สูงถึง 800 โวลต์ หรืออาจมากกว่านั้น ในปลาที่โตเต็มที่ ซึ่งเท่ากับสามารถให้ไฟฟ้าในปริมาณที่พอใช้ในบ้านหลังเล็ก ๆ หลังหนึ่ง[3] และไม่เกิน 100 โวลต์ในปลาที่ยังเล็กอยู่ โดยกล้ามเนื้อที่อยู่บริเวณลำตัวไปจนถึงปลายหางมีเซลล์พิเศษที่สร้างประจุไฟฟ้าได้ นับเป็นสัตว์ที่สามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าได้สูงที่สุดในโลก เพื่อป้องกันตัวและใช้นำทางหาอาหาร เพราะปลาไหลไฟฟ้ามักอาศัยอยู่ในน้ำที่ขุ่นมัว จึงไม่สามารถใช้ประสาทตามองเห็นได้ดีนัก[3] ปลาไหลไฟฟ้าจะกินเนื้อจำพวกสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่า โดยการช็อตสัตว์เหล่านี้ให้สลบแล้วจึงเขมือบกิน และยังเป็นปลาที่ไม่ต้องหายใจผ่านเหงือกเหมือนปลาทั่วไป แต่จะใช้การฮุบอากาศบนผิวน้ำเพื่อรับออกซิเจนโดยตรงโดยผ่านเส้นเลือดฝอยจำนวนมากที่อยู่ที่ปาก โดยจะใช้เวลานานประมาณ 5-10 นาทีจึงขึ้นมาฮุบอากาศหนึ่งครั้ง [3]อีกทั้งยังอยู่บนบกได้อีกนานนับชั่วโมงถ้าผิวหนังยังเปียกชื้นอยู่[4]
ที่อยู่
[แก้]พบอาศัยอยู่ทั่วไปในลุ่มน้ำอะเมซอนและโอริโนโค ในทวีปอเมริกาใต้
เป็นปลาที่ไม่ได้ใช้บริโภคกันในท้องถิ่น เนื่องจากอันตรายในการถูกช็อต ซึ่งมีรายงานการที่มีมนุษย์เสียชีวิตมาแล้วหลายรายจากการปล่อยไฟฟ้าของปลาไหลไฟฟ้า แต่ก็สามารถบริโภคได้เมื่อปลาไหลไฟฟ้าถูกฆ่าตายแล้วแตกต่างจากปลาที่มีพิษแม้ฆ่าตายแล้วพิษก็ยังอยู่ ในนิทานพื้นบ้านของชาวพื้นเมืองอเมริกาใต้ เล่าว่า ชนเผ่านักรบโบราณลืมปล่อยสายฟ้าลงบนตัวปลา จึงเกิดเป็นปลาไหลไฟฟ้า[3] แต่นิยมเลี้ยงเป็นปลาตู้ สำหรับผู้ที่นิยมเลี้ยงสัตว์แปลก ๆ และนิยมชอบโชว์ตามพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำต่าง ๆ ทั่วโลก โดยมักมีหลอดไฟแสดงกระแสไฟฟ้าอยู่หน้าตู้ด้วย สำหรับในประเทศไทยยังไม่จัดว่าเป็นสัตว์น้ำต้องห้าม แต่ถูกประกาศว่ามีอันตราย ต้องระมัดระวังตามประกาศของกรมประมง
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Electrophorus electricus". The IUCN Red List of Endangered Species. สืบค้นเมื่อ 2014-06-07.
- ↑ จาก itis.gov (อังกฤษ)
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 รายการ River Monsters ตอน Electric Executioner ทางดิสคัฟเวอรี่ แชนแนล ทางทรูวิชั่นส์: วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2557
- ↑ ELECTRIC EEL
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]