ปลาหัวตะกั่ว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลาหัวตะกั่ว
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Cyprinodontiformes
วงศ์: Aplocheilidae
สกุล: Aplocheilus
สปีชีส์: A.  panchax
ชื่อทวินาม
Aplocheilus panchax
(Hamilton, 1822)
ชื่อพ้อง
ชื่อพ้อง
  • Aplocheilus melanostigma McClelland, 1839
  • Aplocheilus melastigmus McClelland, 1839
  • Aplochelus melastigmus McClelland, 1839
  • Esox panchax Hamilton, 1822
  • Oryzias melastigmus (McClelland, 1839)

ระวังสับสนกับ ปลาซิวหัวตะกั่ว

ปลาหัวตะกั่ว หรือ ปลาหัวเงิน หรือ ปลาหัวงอน (อังกฤษ: Blue panchax, Whitespot panchax) เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aplocheilus panchax อยู่ในวงศ์ปลาหัวตะกั่ว (Aplocheilidae)

มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับปลาในวงศ์ปลาซิวข้าวสาร (Adrianichthyidae) ซึ่งเป็นปลาต่างวงศ์กัน มีลำตัวกลมยาว หัวโตกว้าง มองด้านข้างเห็นปลายแหลม สันหัวแบน ปากซึ่งอยู่ปลายสุดเชิดขึ้น ตาโต และอยู่ชิดแนวสันหัว เกล็ดใหญ่ ครีบต่าง ๆ มีขอบกลม ครีบหลังมีขนาดเล็กอยู่ใกล้ครีบหาง พื้นลำตัวมีสีเทาอมเหลือง ครีบต่าง ๆ สีออกเหลือง โคนครีบหลังสีดำ มีจุดเด่น คือ มีจุดกลมสีเงินเหมือนสีของตะกั่วขนาดใหญ่โดดเด่นอยู่บนสันหัวระหว่างนัยน์ตา อันเป็นที่มาของชื่อเรียก[1]

มีขนาดยาวประมาณ 8 เซนติเมตร แต่มีขนาดโดยเฉลี่ยประมาณ 3-6 เซนติเมตร พบกระจายพันธุ์ทั่วไปในแหล่งน้ำจืดและน้ำกร่อยตั้งแต่อนุทวีปอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงอินโดนีเซีย สำหรับในประเทศไทยพบกระจายอยู่ทุกภาค จัดเป็นปลาที่หาได้ง่าย และเป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นในวงศ์นี้ที่พบได้ในประเทศ

มีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูง กินตัวอ่อนของแมลงน้ำ เช่น ลูกน้ำและแพลงก์ตอนสัตว์เป็นอาหาร ตัวผู้มีขนาดตัวที่ใหญ่กว่าตัวเมีย ครีบใหญ่กว่าและสีสันต่าง ๆ ก็สดกว่า และมีนิสัยก้าวร้าวชอบกัดกันเองในฝูง ผู้คนในสมัยโบราณจึงนักนิยมจับมาเลี้ยงดูเพื่อการกัดกันเป็นการพนันเหมือนปลากัดหรือปลาเข็ม

หลวงมัศยจิตรการและโชติ สุวัตถิ ได้กล่าวถึงปลาหัวตะกั่วเมื่อปี พ.ศ. 2503 ไว้ว่า

ปลาชนิดนี้รู้จักกันในชื่อ หัวตะกั่ว มากกว่าชื่ออื่น แม้ว่าจะมีชื่อ หัวเงิน และ หัวงอน ก็ตาม เป็นปลาขนาดเล็ก ชอบอยู่ตามผิวน้ำ ซึ่งอาจจะแลเห็นจุดขาวตะกั่วบนหัวได้เสมอ เนื่องจากปลาชนิดนี้ชอบกินลูกน้ำ จึงนับว่าทำประโยชน์ให้แก่มนุษย์อย่างหนึ่ง

[2]

ปลาหัวตะกั่วมีชื่อเรียกในภาษาใต้ว่า "หัวกั่ว" ปัจจุบันมีการเพาะขยายพันธุ์กันเป็นปลาสวยงาม

อ้างอิง[แก้]

  1. [https://web.archive.org/web/20120717163219/http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-41-search.asp เก็บถาวร 2012-07-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน หัวตะกั่ว ๑ น.ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542]
  2. สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์. สาระน่ารู้ปลาน้ำจืดไทย เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2547. 257 หน้า. หน้า 107. ISBN 974-00-8738-8

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]