ปลาปอดอเมริกาใต้
ปลาปอดอเมริกาใต้ | |
---|---|
ปลาปอดอเมริกาใต้ | |
ส่วนหัว | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Sarcopterygii |
ชั้นย่อย: | Dipnoi |
อันดับ: | Ceratodontiformes |
วงศ์: | Lepidosirenidae Bonaparte, 1841 |
สกุล: | Lepidosiren Fitzinger, 1837 |
สปีชีส์: | L. paradoxa |
ชื่อทวินาม | |
Lepidosiren paradoxa Fitzinger, 1837 |
ปลาปอดอเมริกาใต้ (อังกฤษ: South American lungfish, American mud-fish, Scaly salamander-fish[1]) เป็นปลาปอดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lepidosiren paradoxa อยู่ในวงศ์ Lepidosirenidae จัดเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุลนี้และวงศ์นี้[2]
ปลาปอดอเมริกาใต้ มีลักษณะโดยรวมแล้วคล้ายกับปลาปอดที่พบในทวีปแอฟริกา (Protopterus spp.) แต่จะมีรูปร่างที่เพรียวยาว เมื่อยังเล็ก จะมีพู่เหงือกเหมือนสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำจำพวกซาลาแมนเดอร์ ซึ่งจะใช้อวัยวะส่วนนี้ช่วยในการหายใจ จนกระทั่งอายุได้ราว 7 สัปดาห์ อวัยวะส่วนนี้จะหายไป และจะมีสีเหลืองเป็นจุดเป็นแต้มกระจายไปทั่วลำตัว แลดูสวยงาม
ปลาปอดอเมริกาใต้จัดเป็นปลาปอดโลกใหม่ ที่มีพัฒนาการจากปลาปอดในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ไม่เหมือนปลาปอดโลกเก่าอย่าง ปลาปอดออสเตรเลีย (Neoceratodus forsteri) โดยจะมีถุงลมจำนวนหนึ่งคู่ มีอวัยวะที่ทำหน้าที่คล้ายปอดของมนุษย์หนึ่งคู่ มีครีบอกและครีบส่วนล่างเป็นเส้นยาวเห็นได้ชัดเจน โดยที่ไม่มีก้านครีบ ซึ่งครีบตรงส่วนนี้เมื่อขาดไปแล้ว สามารถงอกใหม่ได้
โตเต็มที่ประมาณ 125 เซนติเมตร มีอายุสูงสุดราว 8 ปี ตามีขนาดเล็ก ปลาตัวเต็มวัยมีลำตัวสีเทาคล้ำหรือสีดำ กินอาหารได้ทั้งพืชและสัตว์ ได้แก่ หอย, กุ้ง, ปลาขนาดเล็ก, แมลงน้ำ รวมถึงเห็ดรา ในขณะที่ยังเล็กจะกินอาหารจำพวกสัตว์เพียงอย่างเดียว พบกระจายพันธุ์ในแม่น้ำสาขาต่าง ๆ ที่เป็นสาขาของแม่น้ำอเมซอน เช่น แม่น้ำปารานา ขณะเดียวกันปลาปอดอเมริกาใต้ก็ตกเป็นอาหารของสัตว์ใหญ่กว่าชนิดอื่นด้วย[3]
สามารถดำรงชีวิตในแหล่งน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำได้เป็นอย่างดี เมื่อถึงฤดูแล้งที่น้ำแห้งขอด ปลาปอดอเมริกาใต้จะขุดหลุมลึกประมาณ 30–50 เซนติเมตร และจะใช้โคลนปิดปากหลุมไว้เพื่อการจำศีล ลดการเผาผลาญพลังงาน จนกว่าจะถึงฤดูฝนที่ปริมาณน้ำจะกลับมามากดังเดิม
มีพฤติกรรมในการขยายพันธุ์ คือ พ่อแม่ปลาจะขุดหลุมลึกประมาณ 1.5 เมตร เพื่อสร้างเป็นรัง โดยที่ปลาตัวผู้จะทำหน้าที่ดูแลตัวอ่อน ตัวผู้จะเพิ่มปริมาณออกซิเจนในหลุม เพราะช่วงฤดูวางไข่ ครีบหางจะพัฒนาให้มีเส้นเลือดบริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก เหงือกที่คล้ายโครงสร้างของขนนก ซึ่งจะทำหน้าที่ตรงข้ามกับเหงือก คือ จะทำหน้าที่ปล่อยออกซิเจนออกจากเลือด และรับคาร์บอนไดออกไซด์ และเนื้อเยื่อหายไปหลังจากช่วงสิ้นสุดฤดูกาลวางไข่
นอกจากนี้แล้ว ในทางวิทยาศาสตร์ เมื่อปี ค.ศ. 2024 มีการค้นพบว่า ปลาปอดอเมริกาใต้เป็นสัตว์ที่มีจีโนมใหญ่ที่สุดในบรรดาสัตว์โลกทั้งหมด โดยมีขนาดโครงสร้างของจีโนมหรือข้อมูลทางพันธุกรรมใหญ่กว่าของมนุษย์ประมาณ 30 เท่า ความยาวของดีเอ็นเอในแต่ละเซลล์จะมีความยาวเกือบ 60 เมตร ในขณะที่จีโนมของมนุษย์มีความยาวเพียง 2 เมตรเท่านั้น แต่ทว่าก็ยังมิใช่เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีจีโนมขนาดใหญ่ที่สุดในโลก[4]
ปลาปอดอเมริกาใต้ นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม เป็นปลาที่มีนิสัยไม่ดุร้ายก้าวร้าวเหมือนปลาปอดที่พบในทวีปแอฟริกา จึงสามารถเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นที่มีขนาดใหญ่กว่าในตู้เลี้ยงได้เป็นอย่างดี โดยผู้เลี้ยงสามารถให้กินอาหารสำเร็จรูปได้ด้วย[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Ernst Heinrich Philipp August Haeckel, Edwin Ray Lankester, L. Dora Schmitz (1892). The History of Creation, Or, The Development of the Earth and Its Inhabitants by the Action of Natural Causes: A Popular Exposition of the Doctrine of Evolution in General, and of that of Darwin, Goethe, and Lamarck in Particular : from the 8. German Ed. of Ernst Haeckel. D. Appleton. pp. 422. http://books.google.com/books?id=ltUj8vk3auEC. page 289 ^ Konrad Guenther, Bernard Miall (1931). A Naturalist in Brazil: The Record of a Year's Observation of Her Flora, Her Fauna, and Her People. Houghton Mifflin Company. pp. 399. page 275
- ↑ "จาก ITIS". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-04. สืบค้นเมื่อ 2010-12-30.
- ↑ "Wild Brazil Land of Fire and Flood : ตอนที่ 3". ช่อง 7. 9 August 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 9 August 2015.
{{cite web}}
: ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ หน้า 17 วิทยาการ–เกษตร, "ชื่นชีวิต". ปลาปอดอเมริกาใต้มีจีโนมใหญ่ที่สุด. ไทยรัฐปีที่ 75 ฉบับที่ 24319 วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2567 แรม 2 ค่ำ เดือน 9 ปีมะโรง
- ↑ Article>Anc - 002
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- รูปและข้อมูลปลาปอดอเมริกาใต้จาก Fishbase.org
ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Lepidosiren paradoxa ที่วิกิสปีชีส์