ปลาปอด
ปลาปอด ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ดีโวเนียนตอนต้น-ปัจจุบัน | |
---|---|
ปลาปอดออสเตรเลียในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ | |
อวัยวะที่ช่วยในการหายใจที่เหมือนปอดของสัตว์บกของปลาปอดโดโลไอ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ไฟลัมย่อย: | Vertebrata |
ชั้น: | Sarcopterygii |
ชั้นย่อย: | Dipnoi Müller, 1844 |
อันดับ | |
ชื่อพ้อง[1] | |
|
ปลาปอด (อังกฤษ: Lungfish, Salamanderfish, Amphibious fish) เป็นปลาน้ำจืดจำพวกหนึ่งที่อยู่ในชั้นย่อย Dipnoi เป็นปลาเพียงจำพวกเดียวในโลกที่ยังมีการสืบสายพันธุ์จนปัจจุบันนี้ที่หายใจด้วยอวัยวะที่คล้ายกับปอดของสัตว์ทั่วไป โดยไม่ใช้เหงือกเหมือนปลาชนิดอื่น ๆ
ปลาปอดได้ชื่อว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์มีชีวิต เพราะเป็นปลาที่ไม่ได้เปลี่ยนรูปร่างมากนักจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยปลาปอดจัดอยู่ในชั้นใหญ่ Sarcopterygii ซึ่งจะมีลักษณะเด่น คือ มีพู่เนื้อหรือเนื้อเยื่อเป็นครีบ มีครีบหางเดี่ยว มีครีบ 2 คู่ มีเกล็ดแบบ Cosmoid ซึ่งแตกต่างไปจากปลาชนิดอื่น ๆ ในโลก ซึ่งปลาในกลุ่มนี้จะแยกออกได้เป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ 1. ปลาซีลาแคนท์ 2. ปลาปอดแอฟริกาและปลาปอดอเมริกาใต้ 3. ปลาปอดออสเตรเลีย
ปลาปอดทั้งหมดมีรูปร่างเรียวยาวคล้ายปลาไหล ยกเว้นปลาปอดออสเตรเลีย ซึ่งแยกย่อยไปอีกกลุ่ม ถือเป็นหลักฐานและร่องรอยของการวิวัฒนาการของปลาที่พัฒนามาเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ปลาปอดนั้นมีกระดูกครีบอกคู่ที่เทียบได้กับแขนขาของสัตว์ชั้นสูง มีแกนยาวและมีกล้ามเนื้อประกอบชัดเจน เมื่ออยู่ในน้ำหรือบนบกที่ชื้นแฉะจะใช้คืบคลานคล้ายสัตวครึ่งบกครึ่งน้ำ หางมีลักษณะเป็น Diphycercal เกล็ดเป็น Cosmoid ภายในลำไส้มีแผงเนื้อที่วางตัวเป็นเกลียวตามความยาวลำไส้ ชื่อของปลาปอดมีที่มาจากปลาชนิดนี้มีกระเพาะลมหนามาก อยู่ใกล้สันท้อง (เทียบได้กับหน้าอก) และมีท่อเชื่อมกับส่วนล่างทางด้านหน้าของกระเพาะอาหาร ทำหน้าที่เป็นปอดคอยดูดซับออกซิเจนและกำจัดขยะ ในขณะที่ปลาทั่วไปในส่วนนี้จะทำหน้าที่ช่วยพยุงตัวในขณะที่ปลาว่ายน้ำ กินอาหารได้หลากหลาย กินได้ทั้งพืชและสัตว์น้ำและสามารถขบกัดสัตว์มีกระดองได้เป็นอย่างดี เพราะมีกรามและฟันที่แข็งแรง
นอกจากนี้ปลาปอดยังมีระบบจมูกที่แตกต่างจากปลาทั่วไป คือมีท่อเชื่อมกับช่องปาก ในปลาปอดยุคใหม่ (ปลาปอดแอฟริกา และ อเมริกาใต้) สามารถมีชีวิตอยู่ได้ แม้ในช่วงที่แหล่งน้ำที่มันอาศัยแห้งขอด โดยจะขุดโพรงในโคลนและปิดผนึกโพรงนั้นไว้ด้วยเมือก ในระหว่างนั้นจะหายใจเอาอากาศโดยตรงผ่านทางถุงลมและจะลดการเผาผลาญพลังงาน อย่างรวดเร็ว แต่ถึงกระนั้นปลาปอดก็สามารถจมน้ำตายได้หากไม่สามารถขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำได้
ปลาปอดนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 วงศ์ใหญ่ ๆ คือ ปลาปอดยุคเก่า คือ ปลาปอดออสเตรเลีย (Ceratodontidae) ซึ่งพบเฉพาะประเทศออสเตรเลียบริเวณรัฐควีนส์แลนด์เท่านั้น และปลาปอดยุคใหม่ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 วงศ์อีก คือ ปลาปอดแอฟริกา (Protopteridae) ซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 7 ชนิด 1 สกุล พบในหนองน้ำทวีปแอฟริกาเท่านั้น และปลาปอดอเมริกาใต้ (Lepidosirenidae) พบทั้งหมด 1 สกุลและ 1 ชนิด เท่านั้น โดยทั้งหมดจะมีพฤติกรรมที่คล้ายกันคือ สามารถกินได้ทั้งพืชและสัตว์ บางวงศ์สามารถขุดรูจำศีลใต้ดินได้ในฤดูแล้ง และอาศัยอยู่ในหนองน้ำหรือแหล่งน้ำที่ไม่ค่อยสะอาดหรือมีปริมาณออกซิเจนมากนัก
วงศ์ปลาปอด
[แก้]ปลาปอดออสเตรเลีย
[แก้]ดูในบทความหลัก: ปลาปอดออสเตรเลีย
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Neoceratodus forsteri จัดอยู่ในวงศ์ Ceratodontidae มีลักษณะเด่นคือ มีขนาดตัวที่ยาว ลำตัวมีขนาดใหญ่ พร้อมทั้งมีเกล็ดขนาดใหญ่กว่าปลาปอดแอฟริกาและปลาปอดอเมริกาใต้ มีตาขนาดเล็ก ตาของปลาปอดออสเตรเลียแย่มาก ในการหาอาหารนั้นปลาปอดชนิดนี้ใช้การสัมผัส และ กลิ่น มากกว่า ใช้สายตา และมีครีบคล้ายใบพาย อยู่บริเวณครีบอก และ ครีบบริเวณเชิงกราน ครีบหลังเริ่มตั้งแต่ปลายลำตัว ยาวไปจนถึงปลายหางโดยรวมเข้าด้วยกันกับครีบหางและครีบก้น ปลาปอดออสเตรเลียมีสีเขียวมะกอกไปจนถึงสีน้ำตาล บนบริเวณหลัง และด้านข้าง โดยที่ มีจุดสีเข้มกระจาย ๆ ทั่วลำตัว ช่วงล่างลำตัวจะมีสีที่อ่อนกว่าช่วงบนลำตัว ครีบอกกับครีบหางคล้ายตีนกบ เกล็ดมีขนาดใหญ่ มีถุงลมหรือปอดไม่เป็นคู่ ปลาปอดชนิดนี้จะมีปอดเดี่ยว ในปลาวัยเล็กจะไม่มีพู่เนื้อเหมือนเหงือกเช่นปลาปอดแอฟริกา และปลาเต็มวัยไม่มีการขุดรูจำศีล แต่เมื่อถึงฤดูที่น้ำเหือดแห้ง ปลาปอดออสเตรเลียจะอยู่นิ่ง ๆ ในน้ำ โดยจะฮุบอากาศเพียง 1-2 ครั้งเท่านั้นต่อชั่วโมง และมีความสามารถคือปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ ได้เพื่อหาอาหาร
ในอดีต ปลาปอดออสเตรเลียถือว่าเป็นสัตว์ที่หายากมาก ๆ และใกล้สูญพันธุ์ถึงที่สุดชนิดนึงของออสเตรเลีย จนมีชื่อติดอยู่ในบัญชีหมายเลข 2 (Appendix II) ของไซเตส (CITES) แต่ปัจจุบันสามารถเพาะขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงได้และมีการส่งออกเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ที่มีราคาซื้อขายแพงมาก
ปลาปอดแอฟริกา
[แก้]ดูในบทความหลัก: วงศ์ปลาปอดแอฟริกา
เป็นปลาที่อยู่ในวงศ์ Protopteridae จัดเป็นวงศ์ใหญ่ เพราะมีด้วยกันทั้งหมดถึง 7 ชนิด ทั้งชนิดหลักและชนิดย่อย มีเพียง 1 สกุล มีลักษณะร่วมกันทางสรีระคือ มี 6 เหงือกหลัก และ 5 เหงือกย่อย ลำตัวมีลักษณะยาวเต็มที่ประมาณ 1 เมตรหรือเมตรครึ่ง ปลาปอดวงศ์นี้มีความสามารถเอาชีวิตรอดได้ในช่วงแห้งแล้ง โดยการลดการเผาผลาญพลังงานที่เรียกว่า แอสติเวชั่น โดยขุดรูอยู่ใต้ดินได้ลึกถึง 1 เมตร และหุ้มห่อตัวด้วยเนื้อเยื่อคล้ายรังไหม พบได้ทั่วไปตามหนองน้ำในทวีปแอฟริกา มีตาขนาดเล็ก มีกรามที่แข็งแรงและแหลมคม สามารถขบกัดสัตว์มีเปลือกได้เป็นอย่างดี จะงอยปากยื่นยาวออกมาและงอนขึ้นข้างบน มีพละกำลังมาก มีนิสัยก้าวร้าวเมื่อถูกรบกวน แต่กระนั้นปลาปอดแอฟริกาก็ยังตกเป็นอาหารของนกกินปลาขนาดใหญ่เสมอ ๆ
ปลาปอดอเมริกาใต้
[แก้]ดูในบทความหลัก: ปลาปอดอเมริกาใต้
อยู่ในวงศ์ Lepidosirenidae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lepidosiren paradoxa ขนาดเมื่อโตเต็มที่ประมาณเมตรครึ่ง หัวมีลักษณะกลมกว่าปลาปอดแอฟริกา ลำตัวมีสีดำคล้ำ เมื่อยังเล็กจะมีจุดสีเหลืองกระจายไปทั่วตัว มีรูปร่างเรียวยาวกว่าปลาปอดแอฟริกา และมีนิสัยที่สุภาพกว่า มีพฤติกรรมการกินอาหารที่แปลกไปกว่าปลาปอดจำพวกอื่น ๆ คือ สามารถกินพืชจำพวกเห็ดราได้ด้วย เมื่อยังเล็กมีพู่เนื้อและสามารถขุดรูจำศีลได้เช่นเดียวกับปลาปอดแอฟริกา โดยในปลาวัยเล็กภายในอาทิตย์แรก พวกจะหายใจผ่านทางเหงือกภายนอกอย่างเดียวจนกระทั่งมีอายุได้ 7 สัปดาห์ จะเริ่มหายใจด้วยอากาศได้ และเหงือกภายนอกจะเริ่มหายไป พบในหนองน้ำทวีปอเมริกาใต้ นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามเช่นเดียวกับปลาปอดแอฟริกา[2]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ จาก itis.gov
- ↑ "มาทำความรู้จัก ปลาปอด กันเถอะ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-12-17. สืบค้นเมื่อ 2008-05-12.
{{cite web}}
: ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help)