ข้ามไปเนื้อหา

ปลาตาเดียว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลาตาเดียว
ปลาตาเดียวขนาดเต็มวัย
ภาพวาดพัฒนาการของปลาตาเดียวในวัยอ่อน
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Pleuronectiformes
อันดับย่อย: Psettodoidei
วงศ์: Psettodidae
สกุล: Psettodes
สปีชีส์: P.  erumei
ชื่อทวินาม
Psettodes erumei
(Bloch & Schneider, 1801)
ชื่อพ้อง
  • Hippoglossus goniographicus Richardson, 1846
  • Hippoglossus orthorhynchus Richardson, 1846
  • Hippoglossus quadrifasciatus Bleeker, 1870
  • Pleuronectes erumei Bloch & Schneider, 1801
  • Pleuronectes nalaka Cuvier, 1829

ปลาตาเดียว เป็นปลาทะเลชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Psettodes erumei อยู่ในวงศ์ปลาตาเดียว (Psettodidae) อันดับปลาซีกเดียว (Pleuronectiformes)

มีรูปร่างยาวรี หัวเล็ก จะงอยปากสั้นทู่ นัยน์ตาทั้งสองข้างอยู่ใกล้กันและอยู่บนซีกเดียวกับตำแหน่งของตาซึ่งอยู่ค่อนไปทางส่วนบนของลำตัว ปากกว้างและเฉียงขึ้น มีฟันแหลมคมแบบฟันเขี้ยวเห็นชัดเจนอยู่บนขากรรไกรบนและล่าง จุดเริ่มต้นของครีบหลังอยู่หลังนัยน์ตา ครีบหลัง ครีบหางและครีบก้นไม่เชื่อมติดกัน ครีบหางมีปลายเว้าเป็นสองลอน มีพื้นลำตัวด้านมีนัยน์ตาเป็นสีน้ำตาลเข้มตลอดทั้งตัว ส่วนซีกล่างมีสีขาว สามารถปรับเปลี่ยนสีลำตัวได้ตามสภาพแวดล้อม

มีความยาวเต็มที่ได้ถึง 64 เซนติเมตร แต่ขนาดโดยทั่วไปมีความยาวประมาณ 18-50 เซนติเมตร นับว่าเป็นชนิดที่มีความใหญ่ที่สุดของวงศ์นี้[1] โดยพบน้ำหนักมากที่สุดคือ 9,000 กรัม พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่ชายฝั่งของทวีปแอฟริกา, ทะเลแดง, มหาสมุทรอินเดีย, อ่าวไทย, ทะเลอันดามัน, ทะเลญี่ปุ่น จนถึงออสเตรเลีย โดยกินปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กกว่าตามพื้นน้ำหรือพื้นทรายในเวลากลางคืนเป็นอาหาร พบได้ตั้งแต่ความลึก 1-100 เมตร

ปลาตาเดียวนับเป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญ เพราะมีขนาดลำตัวใหญ่ เนื้อเยอะ จึงมักนิยมทำเป็นอาหาร โดยนอกจากชื่อตาเดียวแล้วยังมีชื่ออื่น ๆ อีก เช่น "จักรผาน", "หน้ายักษ์", "ซีกเดียว", "ใบขนุน" หรือ "โทต๋า" เป็นต้น[2]

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]