ปลากระเบนบัว
ปลากระเบนบัว | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Chondrichthyes |
ชั้นย่อย: | Elasmobranchii |
อันดับใหญ่: | Batoidea |
อันดับ: | Myliobatiformes |
วงศ์: | Dasyatidae |
สกุล: | Himantura |
สปีชีส์: | H. uarnacoides |
ชื่อทวินาม | |
Himantura uarnacoides (Bleeker, 1852) | |
ชื่อพ้อง[1] | |
|
ปลากระเบนบัว (อังกฤษ: Whitenose whipray, Bleeker's whipray; ชื่อวิทยาศาสตร์: Himantura uarnacoides) เป็นปลากระเบนชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลากระเบนธง (Dasyatidae) เป็นปลากระเบนที่อยู่ในน้ำจืดชนิดหนึ่ง รูปร่างคล้ายปลากระเบนลายเสือ (H. oxyrhyncha) ซึ่งอยู่ในสกุลเดียวกัน แต่มีขนาดใหญ่กว่ามาก มีจะงอยปากยื่นแหลมกว่า ขอบครีบกว้างกว่า พื้นลำตัวสีนวลหรือสีน้ำตาลแดง ไม่มีลวดลายใด ๆ กลางหลังมีเกล็ดเป็นตุ่มหยาบ ๆ ด้านล่างสีขาว และมีลักษณะคล้ายกับปลากระเบนทะเลชนิด H. fai และ H. pastinacoides[2]
เป็นปลาที่ถูกบรรยายทางวิทยาศาสตร์ครั้งแรกโดย พีเตอร์ บลีกเกอร์ นักวิทยาศาสตร์ชาวดัตช์ในปี ค.ศ. 1852 บลีกเกอร์เป็นศัลยแพทย์ของกองทัพที่ทำงานเป็นเวลา 20 ปี ให้กับบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ในอินโดนีเซีย มีตัวอย่างปลาสะสมมากกว่า 12,000 ชิ้น เมื่อบลีกเกอร์เดินทางกลับเนเธอร์แลนด์ก็ได้ตัวอย่างกลับไปด้วย โดยส่วนใหญ่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในไลเดิน[3]
ส่วนหางยาวได้กว่า 80 เซนติเมตร หรือ 1 เมตร โคนหางมีเงี่ยงแหลมมีพิษ 1 หรือ 2 ชิ้น ที่เมื่อหักหรือหลุดไปแล้วสามารถงอกใหม่ได้ ไม่มีแผ่นหนังที่หาง ขนาดลำตัวกว้างโดยเฉลี่ย 40 เซนติเมตร น้ำหนักโดยเฉลี่ย 5 กิโลกรัม แต่ก็มีรายงานว่าเคยพบตัวที่มีขนาดใหญ่ถึง 1.5 เมตร น้ำหนักกว่า 65 กิโลกรัม หากินตามพื้นท้องน้ำโดยอาหารได้แก่ ปลาขนาดเล็ก, สัตว์หน้าดิน, และสัตว์มีเปลือก จะว่ายขึ้นมาหากินบริเวณผิวน้ำบ้างเป็นบางครั้ง
เป็นปลาที่พบน้อย โดยพบแต่เฉพาะบริเวณปากแม่น้ำในภาคใต้ และพบที่ทะเลสาบสงขลาตอนในที่เป็นส่วนของน้ำจืด ที่อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา และตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง และมีรายงานอย่างไม่เป็นทางการว่าเคยพบที่แม่น้ำเจ้าพระยาด้วย[2]
ตัวมีลักษณะกลมเหมือนใบบัว จึงเป็นที่มาของชื่อ
ปลากระเบนบัว มีชื่อเรียกเป็นภาษาใต้ว่า "ปลากระเบนหัวเลี่ยม" แปลว่า "ปลากระเบนหัวแหลม"[4]
อนึ่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ของปลากระเบนบัวยังไม่เป็นที่แน่นอน เป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นปลากระเบนชนิดเดียวกันกับ H. lobistoma ซึ่งถูกอนุกรมวิธานในปี ค.ศ. 2006 พบกระจายพันธุ์ที่น่านน้ำแถบเกาะบอร์เนียวและเกาะชวา แต่ปลากระเบนบัวมีแถวฟันน้อยกว่า ในบางข้อมูลจะใช้ชื่อว่า H. aff. lobistoma โดยในปี ค.ศ. 1995 มีรายงานของกรมประมงระบุว่า ในช่วงปี ค.ศ. 1991–1992 เคยจับได้ปริมาณมากถึง 5 ตัน แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 1994 จับได้เพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น ปัจจุบันเป็นปลาที่หายากมาก โดยชาวประมงในพื้นที่ตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพะยูน รายงานว่าเคยพบเห็นว่ายเฉียดผิวน้ำ และในปี ค.ศ. 2006–2007 ก็มีการจับได้ลูกปลาขนาดเล็กเพียง 2 ตัว เท่านั้น ดังนั้นอาจจะต้องตั้งเป็นตัวอย่างต้นแบบในการบรรยายทางวิทยาศาสตร์ใหม่[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Bleeker's Whipray จาก IUCN (อังกฤษ)
- ↑ 2.0 2.1 2.2 หน้า 102-120, กระเบนน้ำจืดแห่งชาติ. "Wild Ambition" โดย กิตติพงษ์ จารุธาณินทร์, ชวลิต วิทยานนท์. นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 4 ฉบับที่ 51: กันยายน 2014
- ↑ Watkins, Michael; Beolens, Bo (2015). Sharks: An Eponym Dictionary. Pelagic Publishing Ltd. pp. 14–15. ISBN 978-1-78427-037-7.
- ↑ "ปลากระเบนทรัพยากรที่ถูกลืมในทะเลสาบสงขลา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2010-11-16.