บ่าย


ในวันหนึ่ง ๆ บ่าย เป็นเวลาระหว่างเที่ยงวันถึงเย็น โดยเป็นเวลาที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนต่ำลงจากจุดสูงสุดบนท้องฟ้าไปทางขอบฟ้าด้านตะวันตก สำหรับมนุษย์ บ่ายถือเป็นครึ่งหลังของวันทำงานและการเรียน นอกจากนี้ ยังมีผลต่อสุขภาพ ความปลอดภัย และผลิตภาพทางเศรษฐกิจด้วย โดยทั่วไป ในช่วงบ่ายต้น ๆ หลังอาหารกลางวัน สมรรถนะในการทำงานและความตื่นตัวมักลดลง ทำให้ความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุทางรถยนต์เพิ่มขึ้น
ศัพทมูลวิทยา
[แก้]บ่าย เป็นช่วงเวลาระหว่างเที่ยงวันและเย็น[1] ซึ่งขอบเขตของเวลาบ่ายอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าเวลาเย็นเริ่มเมื่อใด จึงไม่มีคำนิยามที่เป็นมาตรฐาน ปัจจุบัน เที่ยงวันถูกกำหนดไว้ที่ 12:00 น.[2] แต่ตอนบ่ายจะขึ้นอยู่กับเวลาเย็นเริ่มต้นเมื่อใด จึงไม่มีคำนิยามที่เป็นมาตรฐาน[3] อย่างไรก็ตาม ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 ถึง 14 คำว่าเที่ยงวันเคยหมายถึงเวลาบ่ายสาม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนเวลาสวดมนต์และมื้ออาหารกลางวันในขณะนั้น ส่งผลให้ช่วงเวลาบ่ายในอดีตสั้นกว่าที่เข้าใจกันในปัจจุบัน[4]
คำว่า afternoon ในภาษาอังกฤษมาจากคำว่า after และ noon โดยมีการบันทึกการใช้ครั้งแรกประมาณ ค.ศ. 1300 ในภาษาอังกฤษยุคกลาง นอกจากคำว่า afternoon แล้ว ยังมีคำว่า aftermete ซึ่งมีความหมายเดียวกัน ในศตวรรษที่ 15 และ 16 การกล่าวถึงช่วงบ่ายในภาษาอังกฤษมักใช้ว่า at afternoon ก่อนจะเปลี่ยนเป็น in the afternoon ตั้งแต่นั้นมา[5] ในภาษาอังกฤษอเมริกันภาคใต้ และภาษาอังกฤษอเมริกันภาคกลาง บางครั้งคำว่า evening ครอบคลุมทั้งเวลากลางวันและกลางคืน[3] ในภาษาไอริช มีคำที่ใช้ระบุช่วงเวลาตั้งแต่บ่ายแก่จนถึงพลบค่ำมากถึงสี่คำ เนื่องจากช่วงเวลานี้ถูกมองว่าเป็นช่วงเวลาที่ลึกลับ[6] ในเชิงอุปมา afternoon ยังสามารถหมายถึงช่วงปลายของเวลา หรือบั้นปลายชีวิตของบุคคลหนึ่งได้ด้วย[1]
คำว่า afternoon ไม่ควรสับสนกับคำว่า "after noon" ที่มีความหมายเดียวกับ post meridiem (p.m.) และใช้ระบุช่วงเวลาตั้งแต่ 12.00 น. ถึง 00.00 น.
กิจกรรม
[แก้]บ่ายเป็นเวลาที่ดวงอาทิตย์เริ่มเคลื่อนต่ำลงจากจุดสูงสุดของวัน โดยระหว่างช่วงบ่าย ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนจากกึ่งกลางท้องฟ้าไปทางทิศตะวันตก ในช่วงบ่ายแก่ แสงอาทิตย์มักจะส่องสว่างจ้าและแยงตามากขึ้น เนื่องจากดวงอาทิตย์อยู่ในมุมที่ต่ำลงบนท้องฟ้า[7] เวลาทำงานมาตรฐานในประเทศอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มักเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงบ่ายแก่หรือเย็นตอนต้น โดยทั่วไปคือระหว่าง 9.00 น. ถึง 17.00 น. ดังนั้นกิจกรรมที่เกิดขึ้นหลังเวลาทำงานมักอยู่ในช่วงบ่ายต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเย็น[8] โดยทั่วไป โรงเรียนมักเลิกเรียนในช่วงบ่ายกลาง ๆ ประมาณ 15.00 น.[9] ในขณะที่ในเดนมาร์ก ช่วงบ่ายถูกกำหนดให้ครอบคลุมระหว่าง 13.00 ถึง 17.00 น.[10]
ผลกระทบต่อชีวิต
[แก้]ฮอร์โมน
[แก้]ในสัตว์ที่มีกิจกรรมในเวลากลางวัน ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในเลือด ซึ่งช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ส่งเสริมเมแทบอลิซึม และตอบสนองต่อความเครียด มักจะคงที่ที่สุดในช่วงบ่าย หลังจากลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเช้า อย่างไรก็ตาม ระดับคอร์ติซอลในช่วงบ่ายยังไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับและแสงแดดมากที่สุด ด้วยเหตุนี้ ช่วงเวลานี้จึงมักถูกใช้ในการวิจัยเกี่ยวกับความเครียดและระดับฮอร์โมน[11] สำหรับพืช โดยทั่วไปกระบวนการสังเคราะห์แสงมักอยู่ในระดับสูงสุดในช่วงเที่ยงวันถึงบ่ายต้น ๆ เนื่องจากดวงอาทิตย์อยู่ในมุมที่สูงบนท้องฟ้า การปลูกข้าวโพดในปริมาณมากทั่วโลกมีผลต่อระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศเพียงเล็กน้อยและไม่เป็นอันตรายในรูปแบบปกติ เนื่องจากข้าวโพดสังเคราะห์แสงและดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมากในช่วงกลางวัน ก่อนที่กระบวนการนี้จะลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงบ่ายแก่และช่วงเย็น[12]
อุณหภูมิร่างกาย
[แก้]ในมนุษย์ อุณหภูมิร่างกายมักสูงที่สุดในช่วงบ่ายกลางถึงบ่ายแก่[13] อย่างไรก็ตาม จากการทดสอบความแข็งแรงทางกายภาพของนักกีฬาที่ใช้เครื่องออกกำลังกาย ไม่พบความแตกต่างทางสถิติหลังมื้อกลางวัน [13] สำหรับฟาร์มปศุสัตว์ เจ้าของฟาร์มมักได้รับคำแนะนำให้สร้างโรงเรือนในแนวตะวันออก-ตะวันตกสำหรับการเลี้ยงปศุสัตว์ แทนที่จะเป็นแนวเหนือ-ใต้ เนื่องจากอาคารที่หันไปทางตะวันออก-ตะวันตกสามารถออกแบบให้มีผนังด้านทิศตะวันออกและตะวันตกที่หนากว่า เพื่อป้องกันมุมแสงแดดที่รุนแรงและความร้อนสูงในช่วงบ่ายแก่ หากสัตว์เลี้ยงได้รับความร้อนมากเกินไป พวกมันมีแนวโน้มที่จะก้าวร้าวและให้ผลผลิตลดลง[7]
ความตื่นตัว
[แก้]
ช่วงบ่าย โดยเฉพาะช่วงบ่ายต้น ๆ มักเป็นช่วงที่สมรรถภาพทางปัญญาและประสิทธิภาพการทำงานลดลง ที่น่าสังเกตคือ อุบัติเหตุทางรถยนต์ มักเกิดขึ้นบ่อยในช่วงบ่าย ซึ่งอาจเกิดจากผู้ขับขี่เพิ่งทานอาหารกลางวัน[14] การศึกษาสถิติอุบัติเหตุทางรถยนต์ในสวีเดนระหว่างปี 1987 ถึง 1991 พบว่าเวลาประมาณ 17:00 น. เป็นช่วงที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นมากที่สุด โดยมีจำนวนประมาณ 1,600 ครั้ง เทียบกับประมาณ 1,000 ครั้งในช่วงเวลา 16:00 น. และ 18:00 น. แนวโน้มนี้อาจได้รับอิทธิพลจากชั่วโมงเร่งด่วนในช่วงบ่าย อย่างไรก็ตาม ที่น่าสังเกตคือชั่วโมงเร่งด่วนในตอนเช้ามีจำนวนอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นน้อยกว่ามาก[15] ในฟินแลนด์ อุบัติเหตุในอุตสาหกรรมการเกษตรมักเกิดขึ้นบ่อยที่สุดในช่วงบ่าย โดยเฉพาะช่วงบ่ายวันจันทร์ในเดือนกันยายน[16]
ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาผู้ศึกษาจังหวะการทำงานของร่างกายพบว่า นักเรียนทำข้อสอบได้ดีกว่าในช่วงเช้า เมื่อเทียบกับตอนบ่ายที่คะแนนลดลงเล็กน้อย และยิ่งแย่ลงในช่วงเย็น อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างเหล่านี้ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ[13] จากการศึกษาวิจัย 4 ครั้งที่ดำเนินการในปี 1997 พบว่าผู้เข้าทดสอบใช้เวลาตอบสนองนานขึ้นในการแยกความแตกต่างของป้ายจราจร เมื่อทำการทดสอบเวลา 15.00 น. และ 18.00 น. เมื่อเทียบกับเวลา 9.00 น. และ 21.00 น. แนวโน้มนี้เกิดขึ้นสม่ำเสมอในทุกการศึกษา และพบทั้งในคำถามที่ซับซ้อนและเป็นนามธรรม[17] อย่างไรก็ตาม นักวิจัยจากสหราชอาณาจักรไม่พบความแตกต่างของผลการสอบ A-level จากข้อสอบกว่า 300,000 ไม่ว่าจะสอบในช่วงเช้าหรือบ่าย [18]
ประสิทธิภาพการทำงานของมนุษย์มักจะลดลงในช่วงบ่าย โรงไฟฟ้าพบว่าผลผลิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงเช้า โดยความแตกต่างเด่นชัดที่สุดในวันเสาร์ และน้อยที่สุดในวันจันทร์[19] การศึกษาช่วงปี ค.ศ. 1950 ที่ติดตามคนงานหญิงสองคนในโรงงานเป็นเวลา 6 เดือน พบว่าประสิทธิภาพการทำงานของพวกเธอลดลงร้อยละ 13 ในช่วงบ่าย โดยชั่วโมงสุดท้ายของวันเป็นช่วงที่มีประสิทธิภาพต่ำที่สุด สาเหตุหลักมาจากช่วงพักส่วนตัวและกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตในที่ทำงาน[20] อีกการศึกษาหนึ่งที่มีขนาดใหญ่กว่าพบว่าประสิทธิภาพการทำงานลดลงมากขึ้นในช่วงบ่าย โดยเฉพาะเมื่อทำงานในกะยาว[21]
จังหวะการทำงานของร่างกายมนุษย์ไม่ได้เหมือนกันทุกคน การศึกษาหนึ่งในอิตาลีและสเปนให้เด็กนักเรียนกรอกแบบสอบถามและจัดอันดับตามมาตรวัด " ช่วงเช้า–ช่วงเย็น " ผลลัพธ์แสดงเป็นเส้นโค้งรูประฆัง มาตรฐาน โดยพบว่าระดับความตื่นตัวตลอดวันมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับคะแนนแบบสอบถาม ทุกกลุ่ม กลุ่มที่ตื่นช่วงเช้า ช่วงเย็น และระดับกลาง มีความตื่นตัวสูงระหว่าง 14.00 น. ถึง 20.00 น. แต่ในช่วงเวลาอื่น ระดับความตื่นตัวของแต่ละคนเป็นไปตามแนวโน้มที่สะท้อนในคะแนนของพวกเขา[22]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "Afternoon". Merriam-Webster. สืบค้นเมื่อ October 9, 2014.
- ↑ "Noon". Merriam-Webster. สืบค้นเมื่อ October 9, 2014.
- ↑ 3.0 3.1 "Evening". Merriam-Webster. สืบค้นเมื่อ October 9, 2014.
- ↑ "noon (n.)". Online Etymology Dictionary. 2001. สืบค้นเมื่อ October 10, 2014.
- ↑ "afternoon (n.)". Online Etymology Dictionary. 2001. สืบค้นเมื่อ October 10, 2014.
- ↑ Ekirch 2006, p. xxxii
- ↑ 7.0 7.1 Aggarwal & Upadhyay 2013, p. 172
- ↑ "Nine-to-fiver". Merriam-Webster. สืบค้นเมื่อ October 9, 2014.
- ↑ Voght, Kara (2018-09-05). "Why Does the School Day End Two Hours Before the Workday?". The Atlantic. สืบค้นเมื่อ 2021-02-11.
- ↑ "eftermiddag — Den Danske Ordbog". ordnet.dk. สืบค้นเมื่อ 2023-04-23.
- ↑ Blaskovich 2011, p. 74
- ↑ Sinclair & Weiss 2010, p. 118
- ↑ 13.0 13.1 13.2 Refinetti 2006, p. 556
- ↑ McCabe 2004, p. 588
- ↑ Refinetti 2006, p. 559
- ↑ McCabe 2004, p. 471
- ↑ McCabe 2004, p. 590
- ↑ Quartel, Lara (2014). "The effect of the circadian rhythm of body temperature on A-level exam performance". Undergraduate Journal of Psychology. 27 (1).
- ↑ Ray 1960, p. 11
- ↑ Ray 1960, p. 12
- ↑ Ray 1960, p. 18
- ↑ Refinetti 2006, p. 561