บิสกอตตี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บิสกอตตีแห่งปราโต

บิสกอตตี (อิตาลี: biscotti) คือคำในภาษาอิตาลีซึ่งมีความหมายว่า "ขนมปังกรอบ" (บิสกิต) แต่ในอเมริกาเหนือ คำนี้ถูกนำไปเรียกขนมปังกรอบชนิดหนึ่ง

ที่มาและความหมายในภาษาอิตาลี[แก้]

"บิสกอตตี" (biscotti) เป็นรูปพหูพจน์ของคำว่า "บิสกอตโต" (biscotto) ซึ่งมีหมายรวมถึงขนมปังกรอบทุกประเภท มีต้นกำเนิดมาจากคำว่า biscoctus ซึ่งเป็นภาษาละตินที่ใช้ในยุคกลาง หมายความว่า "ผ่านการอบสองครั้ง" คำนี้ได้ถูกนำเข้าไปใช้ในภาษาอังกฤษเป็นคำว่า biscuit (บิสกิต) ผ่านทางช่วงรอยต่อการเปลี่ยนแปลงของภาษาฝรั่งเศส

ความหมายในอเมริกาเหนือ[แก้]

ในอเมริกาเหนือ บิสกอตตีหมายถึงบิสกิตชนิดหนึ่งซึ่งกลายมาจากบิสกอตตีที่แข็ง มีรสอัลมอนด์ จากแคว้นทัสกานีของอิตาลี เสิร์ฟกับไวน์ซานโต บิสกอตตีชนิดนี้ยังเป็นที่รู้จักในชื่อ "บิสกอตตีแห่งปราโต" จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีต้นกำเนิดอยู่ที่เมืองปราโตในแคว้นทัสกานี

บิสกอตตีแบบอเมริกันอันที่จริงแล้วคือคุกกี้กรอบที่มักจะมีถั่วหรือกลิ่นแอนิส (เครื่องเทศจำพวกโป๊ยกั้ก) ประกอบอยู่ สูตรพื้นฐานที่ใช้ทำประกอบไปด้วยแป้งสองส่วน น้ำตาลหนึ่งส่วน ผสมเข้าด้วยกัน ใส่ไข่จนส่วนผสมเกาะกันแข็ง ใส่ผงฟู เติมกลิ่น และใส่ส่วนผสมอื่น ๆ เช่นถั่วหรือช็อกโกแลต จากนั้นก็นำแป้งที่เป็นแผ่นหนาไปอบครั้งแรกประมาณ 25 นาที ตัดเป็นชิ้นและนำไปอบอีกครั้งโดยใช้เวลาน้อยกว่าเดิม ยิ่งใช้เวลาในการอบครั้งที่สองมากเท่าใด คุกกี้ก็จะแข็งขึ้นเท่านั้น

บิสกอตตีแบบอิตาลีมักจะรับประทานคู่กับไวน์ แต่บิสกอตตีแบบอเมริกันมักจะรับประทานคู่กับกาแฟแบบอิตาลี หรือเครื่องดื่มที่มีเอสเปรสโซยืนพื้น เช่น กัปปุชชีโนและลัตเต มากกว่า