บาชาบูช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

บาชาบูช (อาหรับ: باشا بوش, อักษรโรมัน: basha bewsh; เสียงอ่านภาษาอาหรับ: [baːʃaː bwʃ], อูรดู: بچہ پوش, เปอร์เซีย: بچه‌پوشی, อักษรโรมัน: becheh‌pewesha หรือในวรรณกรรมภาษาอังกฤษนิยมสะกดอักษรโรมัน: Bacha posh) เป็นการปฏิบัติในประเทศอัฟกานิสถานและบางส่วนของปากีสถานที่บางครอบครัวที่ไม่มีบุตรชายจะให้ลูกสาวใช้ชีวิตและปฏิบัติตนเป็นผู้ชาย ทำไปเพื่อให้ลูกสาวนั้นสามารถปฏิบัติตนได้อย่างอิสระขึ้นในสังคม เช่น เข้าเรียนในโรงเรียน หรือดูแลลูกสาวคนอื่นของครอบครัวในสาธารณะ

ที่มา[แก้]

ธรรมเนียมปฏิบัตินี้มีปรากฏบันทึกไว้อย่างน้อยหนึ่งร้อยปีมาแล้ว เป็นไปได้ว่าธรรมเนียมนี้อาจมีปฏิบัติมาอย่างยาวนานกว่านั้น[1] บาชาบูชอาจเริ่มต้นจากการที่สตรีปลอมตัวเป็นชายเพื่อสู้รบในช่วงเวลาแห่งสงคราม[2]

นักประวัติศาสตร์ Nancy Dupree ระบุกับ เดอะนิวยอร์กไทมส์ ว่าเธอเคยเห็นภาพถ่ายที่อายุย้อนไปได้ถึงทศวรรษ 1900 ตอนต้น ในสมัยของฮะบีบุลละฮ์ ข่าน ที่แสดงภาพของสตรีแต่งตัวเป็นชาย พิทักษ์ฮาเร็มของกษัตริย์ เนื่องจากโดยทางการแล้ว ฮาเร็มจะสามารถมีผู้พิทักษ์ได้ ต้องไม่เป็นหญิงและไม่เป็นชาย[3]

ภาพรวม[แก้]

ในประเทศอัฟกานิสถาน ความกดดันทางสังคมส่งผลให้ครอบครัวต้องการมีลูกชายเพื่อสืบวงศ์ตระกูลและสืบทอดสมบัติของบิดา หากไม่มีลูกชาย ครอบครัวจะให้ลูกสาวแต่งตัวเป็นชาย บ้างยังมีความเชื่อว่าหากลูกสาวคนหนึ่งแต่งชายเป็นบาชาบูชแล้วจะทำให้โอกาสที่มารดามีลูกคนต่อไปเป็นลูกชายมีมากขึ้น[3]

เด็กหญิงที่ปฏิบัติตามธรรมเนียมบาชาบูชจะแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายลักษณะแบบเพศชาย ตัดผมสั้นเหมือนผู้ชาย[4] และใช้ชื่อที่เป็นผู้ชาย[5] ในครอบครัวจะปฏิบัติต่อบาชาบูชในสถานะก้ำกึ่ง ไม่ใช่ทั้งหญิงและชายเต็มตัว ไม่ต้องเรียนที่จะทำอาหารหรือทำความสะอาดบ้านแบบผู้หญิง เมื่อเด็กหญิงเป็นบาชาบูชแล้ว มักจะมีโอกาสมากกว่าในการเข้าเรียน เดินทางไปมาในสาธารณะโดยอิสระ คุ้มครองพี่สาวน้องสาวของตนในที่สาธารณะในฐานะผู้ชาย เล่นกีฬา และหางาน[3]

สถานะบาชาบูชของเด็กหญิงมักสิ้นสุดลงเมื่อเด็กหญิงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ผู้หญิงที่ถูกเลี้ยงดูในวัยเด็กมาให้เป็นบาชาบูชมักจะประสบปัญหาในการเปลี่ยนผ่านชีวิตจากเด็กผู้ชายมาเป็นสตรีซึ่งเต็มไปด้วยข้อจำกัดของสังคมอัฟกัน[3]

อาซีตา ราฟาต (Azita Rafaat) สมาชิกสภานิติบัญญัติของอัฟกานิสถาน ผู้แทนแคว้นบัดกีส ไม่มีลูกชาย และเลี้ยงดูลูกสาวคนหนึ่งของตนให้เป็นบาชาบูช พร้อมระบุว่า "นี่เป็นสิ่งที่ชาวตะวันตกแทบจะจินตนาการไม่ออกด้วยซ้ำ"[3]

การยอมรับในสังคม[แก้]

เดิมที บาชาบูชไม่เป็นที่ทราบในสาธารณชนนอกตะวันออกกลาง กระทั่งเรื่องราวเริ่มถูกเผยแพร่ออกมาโดยสื่อต่าง ๆ[6] ไม่มีสถิติแน่ชัดว่ามีที่ครอบครัวที่ปฏิบัติให้ลูกสาวแต่งชายเช่นนี้ เนื่องจากลักษณะโดยธรรมชาติของบาชาบูชเป็นธรรมเนียมลับอยู่แล้ว มีเพียงแค่สมาชิกหลักของครอบครัว มิตรสหายของครอบครัว และเจ้าหน้าที่การศึกษากับการแพทย์ที่จำเป็นเท่านั้นที่จะทราบถึงเพศทางชีววิทยาของบาชาบูชคนหนึ่ง ๆ โดยทั่วไปในสังคม ผู้คนรับรู้และมีความอดกลั้นต่อบาชาบูช แต่กระนั้น บาชาบูชก็ยังถูกล้อเลียนและกลั่นแกล้งหากถูกพบว่าเป็นบาชาบูชจริงเพราะถือเป็นการทำขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม เมื่อถูกเปิดเผยแล้ว บาชาบูชอาจถูกสังคมตีตราบาปในลักษณะแอลจีบีทีในสังคมมุสลิม แม้จะไม่ได้ระบุตัวตนเป็นแอลจีบีทีก็ตาม[7]

ในขบวนการสิทธิสตรีอัฟกันนั้นเป็นที่ถกเถียงว่าบาชาบูชเป็นธรรมเนียมซึ่งสร้างพลังแก่ผู้หญิงและช่วยให้พวกเธอสามารถประสบความสำเร็จได้ หรือว่าธรรมเนียมถือว่าทำร้ายผู้หญิง โดยเฉพาะในทางจิตวิทยา[8] ผู้หญิงหลายคนที่ผ่านการเป็นบาชาบูชมาก่อนระบุว่าพวกเธอรู้สึกว่าบาชาบูชเป็นการสร้างพลัง แต่ก็น่าอึดอัด นักเคลื่อนไหวส่วนใหญ่มองว่าปัญหาแท้จริงเบื้องหลังธรรมเนียมบาชาบูชอยู่ที่สิทธิสตรีในสังคมมากกว่าที่ตัวธรรมเนียมบาชาบูชเอง[7][8]

อ้างอิง[แก้]

  1. Ford, Cheryl Waiters, with Darnella (October 2011). Blood, sweat, and high heels: a memoir. Bloomington: iUniverse. p. 9. ISBN 978-1462054961.
  2. Shah, Mudassar (August 24, 2012). "Boys no more". Nepali Times. สืบค้นเมื่อ September 12, 2012.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 Nordberg, Jenny. "Where Boys Are Prized, Girls Live the Part", The New York Times, September 20, 2010. Accessed September 20, 2010.
  4. Tahir Qadiry (March 27, 2012). "The Afghan girls who live as boys". BBC News. สืบค้นเมื่อ March 28, 2012.
  5. Arbabzadah, Nushin (November 30, 2011). "Girls will be boys in Afghanistan". Guardian. สืบค้นเมื่อ September 12, 2012.
  6. Warcholak, Natasha (30 May 2012). "Cross dressing in quest for education". Guardian. สืบค้นเมื่อ 12 September 2012.
  7. 7.0 7.1 Nordberg, Jenny. "Where Girls Will be Boys". The (ON).
  8. 8.0 8.1 Qadiry, Tahir (Jan 17, 2012). "The Trouble With Girls". BBC. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-21. สืบค้นเมื่อ May 22, 2012.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]