นุสรณ์ พจน์พิพัฒน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Nanusorn Photpipat
ชื่อเกิดนนุสรณ์ พจน์พิพัฒน์
เกิด21มีนาคม พ.ศ.2510 (57ปี)
แนวเพลงฮาร์ดร็อก
อาชีพนักดนตรี, โปรแกรมเมอร์
เครื่องดนตรีคีย์บอร์ด
ช่วงปีพ.ศ. 2527 - 2539

นุสรณ์ พจน์พิพัฒน์ เป็นอดีตนักดนตรี ในตำแหน่งคีย์บอร์ดของวงดิ โอฬาร โปรเจ็คต์ ก่อนจะออกจากวงการดนตรี หันมาเป็นนักพัฒนาโปรแกรม โดยเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาระบบภาษาไทยให้กับซอฟต์แวร์ ไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ อินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์ วินโดวส์โมบายสำหรับพ็อกเกตพีซี และปลาดาวออฟฟิศ [1] นุสรณ์ได้รับคัดเลือกจากนิตยสารเอเชียวีค ให้เป็น 1 ใน 25 ผู้บริหารธุรกิจรุ่นใหม่ในเอเชีย ประจำปี พ.ศ. 2545 จากผลงานการพัฒนา ปลาดาวออฟฟิศ ซึ่งเป็นเวอร์ชันภาษาไทยของสตาร์ออฟฟิศ ให้กับซันไมโครซิสเต็มส์ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเปิดให้ใช้งานได้ฟรี [2]

ประวัติ[แก้]

นุสรณ์ พจน์พิพัฒน์ เกิด 21มีนาคม พ.ศ.2510 คลองบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

ชีวิตวัยเด็ก[แก้]

นุสรณ์ศึกษา โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ในระดับชั้นมัธยมศึกษาและเคยร่วมงานกับ ธนา ลวสุต[3] ในฐานะเพื่อนร่วมโรงเรียน ในวง ฟีดแบค หลังจากนั้นจึงไปเรียนต่อด้านคอมพิวเตอร์ไซน์ ที่ Leney College มหาวิทยาลัยเล็กๆ ในสหรัฐอเมริกา

หลังการเรียนจบ[แก้]

หลังจากเรียนจบ เขาทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ในบริษัทเอกชน ขณะเดียวกันก็ใช้ชีวิตเป็นนักดนตรี เคยร่วมอยู่ในทีมทำเพลงประกอบภาพยนตร์คนเลี้ยงช้าง และออกอัลบั้มร่วมกับชักกี้ ธัญรัตน์ แอนด์บลูแพลเน็ท จนกระทั่งได้มาเป็นมือคีย์บอร์ด ให้กับวง The Olarn Project ในช่วงปี พ.ศ. 2534 - 2539 ก่อนจะหันไปเป็นโปรแกรมเมอร์


ก้าวสู่วงการโปรแกรมเมอร์[แก้]

นุสรณ์ใช้เวลา 2 ปี กับการเล่นดนตรีประจำที่ร็อกผับ ที่เล่นแนวเฮฟวี่ฮาร์ดร็อก อาทิตย์ละ 2 วัน มีรายได้เดือน ละ 4,000 บาท แม้จะได้ทำงานที่ชื่นชอบ แต่เมื่อรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย ทำให้เขาต้องกลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้ง จากนั้นเขาก็ตัดสินใจยุติอาชีพนักดนตรี และหันกลับไปใช้ชีวิตเป็นโปรแกรม เมอร์อีกครั้ง

เป็นผู้มีส่วนร่วมกับไมโครซอฟท์[แก้]

ระหว่างนั้น ไมโครซอฟท์มีแผนที่จะพัฒนาโปรแกรมออฟฟิศ 95 ให้เป็นภาษาไทย เขาได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ในทีมงานคนไทย ที่ต้องบินไปทำงานในสำนัก งานใหญ่ไมโครซอฟท์ที่เมืองเรดมอนด์ ใช้เวลาพัฒนา 5 เดือน บินกลับมาพัก 1 เดือน จากนั้นบินกลับไปทำงานต่ออีก 2 เดือน นุสรณ์ได้เข้าร่วมเป็นทีมพัฒนาโปรแกรม Window 95 service release 1 ให้เป็นภาษาไทย เขายังเป็นผู้พัฒนาโปร แกรม Internet explorer 2.0 ภาษาไทย ซึ่งเป็นเบราว์เซอร์ภาษาไทยตัวแรก หลังประสบการณ์ครั้งนี้ เขาจึงได้เลือกให้เข้าร่วมในการพัฒนาโปรแกรมออฟฟิศ 95 ภาษาเวียดนาม ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญ ที่ทำให้เขาได้รับเลือกจากไมโครซอฟท์ให้เป็น Developer lead พัฒนาโปรแกรมออฟฟิศ 97 เป็นภาษาไทย ทำงานร่วมกับคนไทยอีก 18 คน จนกระทั่งไมโครซอฟท์มีแนวคิดที่ต้องการรวมโค้ดภาษาไทยเข้ากับโปรแกรม ออฟฟิศ เรียกว่ามีซีดีแผ่นเดียว ก็สามารถใช้ภาษาอะไรก็ได้ ครั้งนี้ไมโครซอฟท์ไม่ต้องการจ้างเขาเป็นโปรเจกต์เหมือนเคย แต่ต้องการให้ทำงานเป็นพนักงานประจำอยู่ที่สำนักงานใหญ่ นอกเหนือจากเงินเดือนประจำ หุ้น อีกพันกว่าหุ้นของไมโครซอฟท์แล้ว บวก กับข้อเสนอของไมโครซอฟท์อีกคือ หลังจากทำงานครบ 3 ปี ไมโครซอฟท์จะช่วยทำใบอนุญาตทำงานในสหรัฐฯ ตลอดชีพ หรือกรีนการ์ด

ปัจจุบัน[แก้]

ปัจจุบัน นุสรณ์เป็นเจ้าของ และผู้พัฒนาเว็บไซต์เกมออนไลน์ ชื่อ PlayArcade [4]

ผลงาน[แก้]

ผลงานดนตรี[แก้]

  • Feed Back - ชุด ฟีดแบ็ค #1 (2527) [5]
  • ชัคกี้ ธัญญรัตน์ และ บลูแพลนเนต - ชุด พาฝัน (2533)
  • ดิ โอฬาร โปรเจ็คต์ - ชุด ไตรภาค (2536)
  • ดิ โอฬาร โปรเจ็คต์ - ชุด ลิขิตดวงดาว (2539)

ผลงานพัฒนาโปรแกรม[แก้]

  • ไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ 95 Thai Edition (2538)
  • อินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์ 2.0 Thai Edition (2539)
  • ไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ 95 Thai Edition (2538)
  • วินโดวส์ 95 OEM Service Release 1 (OSR 1) (2540) [6]
  • ปลาดาวออฟฟิศ 1.0 (2544)
  • ปลาดาวออฟฟิศ 2.0 (2545)
  • ปลาดาวออฟฟิศ 3.x (2546)

อ้างอิง[แก้]

  1. ไทย PDA กับ ปลาดาว ออฟฟิศ[ลิงก์เสีย] นิตยสาร WinMag, ฉบับที่ 107 มิถุนายน 2545
  2. "นุสรณ์ พจน์พิพัฒน์ เบื้องหลังปลาดาว ออฟฟิศ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2014-11-21.
  3. Feed Back & วงเด็กเซนต์ฯ
  4. "นนุสรณ์ พจน์พิพัฒน์" จากปลาดาว.. สู่เกมออนไลน์[ลิงก์เสีย] สำเนาจาก กรุงเทพธุรกิจ BizWeek, 25 กุมภาพันธ์ 2551
  5. ฟีดแบ็ค โดย Kilroy
  6. นุสรณ์ พจน์พิพัฒน์ เบื้องหลังปลาดาว ออฟฟิศ นิตยสารผู้จัดการ, พฤษภาคม 2545