ข้ามไปเนื้อหา

นิสสัน ซิลฟี่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก นิสสัน บลูเบิร์ด ซิลฟี)
นิสสัน ซิลฟี่
ภาพรวม
บริษัทผู้ผลิตนิสสัน
เริ่มผลิตเมื่อพ.ศ. 2543–ปัจจุบัน
ตัวถังและช่วงล่าง
ประเภทรถยนต์นั่งขนาดเล็ก
ระยะเหตุการณ์
รุ่นก่อนหน้านิสสัน พัลซาร์
นิสสัน พรีเซีย

นิสสัน ซิลฟี (Nissan Sylphy) หรือในอดีตเรียกว่า นิสสัน บลูเบิร์ด ซิลฟี (Nissan Bluebird Sylphy) เป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็ก (Compact Car) ผลิตโดยนิสสัน เริ่มการผลิตใน พ.ศ. 2543 เพื่อทดแทนรถยนต์รุ่นก่อนหน้าคือ นิสสัน ซันนี่ และ นิสสัน บลูเบิร์ด ซึ่งทั้ง 2 รุ่นนี้ได้ยุติการผลิตและการทำตลาดแล้ว

ในความจริงแล้ว บลูเบิร์ด และบลูเบิร์ด ซิลฟี เป็นรถต่างประเภทกัน โดยนิสสัน บลูเบิร์ด เป็นรถยนต์นั่งขนาดกลาง ส่วนบลูเบิร์ด ซิลฟี เป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ผลิตมาแล้วถึง 3 เจนเนอเรชั่นด้วยกัน โดยรุ่นปัจจุบันได้ตัดคำว่า บลูเบิร์ด ออกไป คงเหลือเพียงคำว่าซิลฟีเท่านั้น

ในประเทศไทย เคยนำบลูเบิร์ด ซิลฟี Generation ที่ 1 มาผลิตและจำหน่ายในช่วง พ.ศ. 2543-2549 โดยบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และยังมีให้เห็นทั่วไป จนมาถึง Generation ที่ 2 รุ่นนี้ไม่มีขายในไทย จนในปี พ.ศ. 2555 ได้นำกลับมาผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยอีกครั้ง ใน Generation ที่ 3

รุ่นที่ 1 (พ.ศ. 2543-2549)

[แก้]
นิสสัน บลูเบิร์ด ซิลฟี รุ่นที่ 1

นิสสัน บลูเบิร์ด ซิลฟี รุ่นที่ 1 ผลิตครั้งแรกในปี พ.ศ. 2543 ใช้รหัสคือ G10 มีเครื่องยนต์ให้เลือก 4 แบบ มีเครื่องยนต์ 1.5 1.6 1.8 และ 2.0 ลิตร มีชื่อในการส่งออกคือ นิสสัน พัลซาร์ (ประเทศออสเตรเลีย) นิสสัน ซันนี่ (ประเทศไทย, สิงคโปร์, ฮ่องกง และในแถบตะวันออกกลาง) นิสสัน เซนทรา (ประเทศไต้หวัน, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย) นิสสัน อัลเมร่า (ประเทศบรูไน)

มีการไมเนอร์เชนจ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2547 โดยปรับกระจังหน้าให้คล้าย นิสสัน เทียน่า และเลิกผลิตในปี พ.ศ. 2549

โฉมนี้ เคยนำมาขายในไทยอย่างเป็นทางการ โดยเป็นที่รู้จักของคนไทยในชื่อ นิสสัน ซันนี่ นีโอ ช่วงปี พ.ศ. 2543-2549 เป็นตลาดที่ 2 ต่อจากญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2543 และถูกนำไปดัดแปลงเป็น Almera Sedan สำหรับตลาดยุโรป Pulsar Sedan ในออสเตรเลีย และ Sunny Almera ในประเทศไทย เปิดตัวเมื่อปี พ.ศ. 2545 ใช้เครื่องยนต์ 1.8 ลิตร แต่มียอดขายไปได้เรื่อยๆ ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากการเปิดตัว Toyota Corolla Altis สำหรับตลาดเอเชีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี พ.ศ. 2544 ในตลาดไต้หวัน และเปิดตัวในไทยในงาน Bangkok Motor Show 2001 เริ่มขายจริงเมื่อเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน ทำให้ตลาดกลุ่มนี้มีการแข่งขันกันอย่างลุกเป็นไฟ และทำให้รถยนต์ทุกรุ่น ทุกยี่ห้อที่อยู่ในตลาดช่วงนั้น รวมถึง Sunny Neo กลายเป็นรถยนต์ที่เชย และล้าสมัยไปเพียงชั่วข้ามคืน มียอดขายพอประคองตัวให้อยู่รอดได้เท่านั้น และยังทำให้ยอดขายของนิสสันในไทยในช่วงนั้นเริ่มถดถอย เนื่องจากบริษัทแม่ต้องการเข้ามาทำตลาดเอง แต่สยามกลการ ในฐานะผู้ถือสิทธิ์การผลิต นำเข้าและจำหน่ายนิสสันไม่ยอม ทำให้บริษัทแม่ตัดการช่วยเหลือ และสนับสนุนรถรุ่นใหม่ๆ มาทำตลาด ทั้ง X-Trail รุ่นแรกและ Navara สูญเสียโอกาสในการทำตลาดช้าไปหลายปี ในที่สุด หลังจากเจ้าสัวถาวร พรประภาถึงแก่อนิจกรรมไปได้พักใหญ่ การเจรจากับทางญี่ปุ่นลงตัว นิสสันจึงเข้ามาเพิ่มทุนในสยามกลการ 7.6 พันล้านบาท พร้อมก่อตั้ง Siam Nissan Automobile ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น Nissan Motors Thailand ในปี พ.ศ. 2552 จนถึงปัจจุบัน

โฉมนี้มีการผลิตเกียร์ 2 รูปแบบ คือ เกียร์ธรรมดา 5 สปีด และเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด (โฉมนี้ยังไม่มีการผลิตเกียร์ CVT)

รุ่นที่ 2 (พ.ศ. 2549-2555)

[แก้]
นิสสัน บลูเบิร์ด ซิลฟี รุ่นที่ 2

นิสสัน บลูเบิร์ด ซิลฟี รุ่นที่ 2 ผลิตครั้งแรกในปี พ.ศ. 2549 รหัสคือ G11 มีเครื่องยนต์ให้เลือก 3 แบบ คือ 1.5 1.6 และ 2.0 ลิตร โดยได้เลิกผลิตรุ่นเครื่องยนต์ 1.8 ลิตร มีชื่อในการส่งออกชื่อเดียวคือ นิสสัน ซิลฟี (ประเทศจีน) โดยโฉมนี้ไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย ทั้งที่เหมาะจะนำมาประกอบขายในไทยมากกว่า เพราะถูกออกแบบให้มีห้องโดยสารที่หรูหรากว่า เอาใจชาวเอเชียอย่างชัดเจน ต่างจาก Tiida ที่ถูกออกแบบมาเพื่อชาวญี่ปุ่น ซึ่งชอบรถขนาดเล็ก แต่มีภายในใหญ่โตเท่าที่จะทำได้ แต่เนื่องจากความต้องการที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค ทำให้แนวทางการพัฒนาไม่ชัดเจน ส่งผลให้ไม่สามารถทำต้นทุนให้ต่ำลงได้ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีอำนาจการต่อรองไม่สูงเท่าาสหรัฐอเมริกาและจีน ทำให้ราคาขายปลีกสูงกว่าที่ตั้งใจไว้ ทำให้ Tiida ถูกนำมาผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยแทน แม้จะไม่สามารถบอกว่าเป็นรุ่นที่ทดแทน Sunny NEO ได้อย่างเต็มปาก หากแต่ว่าต้องทำตลาดแทน Sunny Neo ที่ยุติบทบาทไปแล้วเท่านั้น

โฉมนี้เป็นโฉมสุดท้ายที่มีการผลิตเครื่องยนต์ 1.5 และ 2.0 ลิตรขายอีกด้วย

มีเกียร์ 3 แบบให้เลือก คือ เกียร์ธรรมดา 5 สปีด เกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด และเกียร์ CVT โดยโฉมนี้เป็นโฉมสุดท้ายที่มีการผลิตเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีดขาย และโฉมต่อไปนี้จะไม่มีอีก หลังจากนั้นนิสสันที่ประเทศรัสเซียก็นำมาผลิตหลังจากตกรุ่นแล้วโดยใช้ชื่อว่านิสสัน อัลเมราโดยออกแบบภายในหลายๆอย่างใหม่อีกด้วย

รุ่นที่ 3 (พ.ศ. 2555-2563)

[แก้]
นิสสัน บลูเบิร์ด ซิลฟี รุ่นที่ 3

นิสสัน บลูเบิร์ด ซิลฟี รุ่นที่ 3 ผลิตครั้งแรกในปี พ.ศ. 2555 โดยเปิดตัวครั้งแรกที่ประเทศจีน และมีการเข้าไปเปิดตัวแล้วถึง 5 ประเทศ คือ ประเทศจีน ไทย อเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยมีแผนส่งเข้าไปตลาดในอีก 120 ประเทศทั่วโลกในปี ค.ศ. 2014 รหัสคือ B17 มีเครื่องยนต์เพียง 2 ขนาด คือ 1.6 และ 1.8 ลิตร โดยได้นำรุ่น 1.8 ลิตร กลับมาผลิตอีกครั้ง มีเกียร์ 2 แบบให้เลือกซื้อ คือเกียร์ธรรมดา 5 สปีด และเกียร์ CVT

โฉมนี้ ทางนิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) ได้นำกลับมาผลิตและจำหน่ายอีกครั้ง ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2555 โดยมี อารยา เอ ฮาร์เก็ต และ ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ เป็นพรีเซนเตอร์อีกด้วย

รุ่นที่ 4 B18 (พ.ศ. 2562-ปัจจุบัน)

[แก้]
นิสสัน บลูเบิร์ด ซิลฟี รุ่นที่ 4

นิสสัน บลูเบิร์ด ซิลฟี รุ่นที่ 4 ผลิตครั้งแรกในปี พ.ศ. 2562 โดยเปิดตัวครั้งแรกที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ต่อจากรุ่นน้องอย่าง Nissan Versa นิสสันเผยโฉมคอมแพคท์คาร์ Nissan Sylphy รุ่นใหม่เจนเนอเรชั่น 4 (Nissan Sentra ในสหรัฐฯ) ต่อเนื่องที่งาน 2019 Shanghai Auto Show แน่นอนว่างานออกแบบยังคงเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นภายนอกหรือภายใน ซึ่งช่วยให้รถในกลุ่มซีดานของนิสสันยุคใหม่มีภาพลักษณ์ของความสปอร์ตเพิ่มขึ้นในทุกคลาสตั้งแต่ออกมาจากโรงงาน

โฉมนี้ ทางนิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) ได้นำกลับมาผลิตและจำหน่ายอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2563 แต่มีข่าวแจ้งมาว่า นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย ร่อนจดหมายถึงตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ โดยมีใจความสำคัญที่ระบุว่า “ยุติการทำตลาดรถ 3 รุ่น ได้แก่ X-Trail, Teana และ Sylphy อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน เป็นต้นไป”

Nissan มีแผนที่จะเปิดตัวรถยนต์ที่ใช้ขุมพลัง e-POWER (ไฮบริดแบบอนุกรม) หลากหลายรุ่นที่จีนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ล่าสุด มีภาพมาให้ชมกันแล้วหนึ่งรุ่น ก่อนถึงกำหนดเปิดตัวกับ Nissan Sylphy e-POWER ซึ่งมาพร้อมขุมพลัง e-POWER แบบ generation ที่ 2 แรงบิดสูงสุด 300 นิวตันเมตร และ มีรูปแบบการขับขี่ให้เลือก 5 รูปแบบ

เบื้องต้น มีการระบุแค่ว่า Nissan Sylphy e-POWER มีเครื่องยนต์เบนซินไว้ชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่ ขับเคลื่อนล้อคู่หน้า ส่วนอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ย ตามมาตรฐานของประเทศจีนอยู่ที่ 25.6 กิโลเมตร/ลิตร พร้อมให้อัตราเร่งที่ฉับไว, ลดความเร็วอย่างนุ่มนวล และห้องโดยสารเงียบ ตามสไตล์รถยนต์ไฟฟ้า EV

พร้อมแบตเตอรี่และมอเตอร์ไฟฟ้า กำลังสูงสุดทั้งระบบ 187 แรงม้า แรงบิดสูงสุดทั้งระบบ 300 นิวตันเมตร ขับเคลื่อนล้อคู่หน้า

Nissan Sylphy e-POWER เป็นส่วนหนึ่งของแผนการเป็นกลางทางคาร์บอนที่ Nissan ตั้งเป้าให้บรรลุภายในปี 2050 พร้อมเล็งให้รถยนต์รุ่นใหม่ทุกรุ่นที่ออกจำหน่ายในตลาดหลัก มาพร้อมกับขุมพลังพ่วงระบบไฟฟ้า ภายในต้นทศวรรษ 2030 ส่วน Nissan ประเทศจีน ตั้งเป้าเปิดตัวรถยนต์ที่ใช้ขุมพลัง e-POWER ให้ครบ 6 รุ่น ภายในปี 2025

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]