นิราศลอนดอน
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
นิราศลอนดอน | |
---|---|
กวี | หม่อมราโชทัย |
ประเภท | กลอนนิราศ |
คำประพันธ์ | กลอนสุภาพ |
ความยาว | 200 |
ยุค | รัชกาลที่ 4 |
ปีที่แต่ง | พ.ศ. 2400 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมวรรณศิลป์ |
นิราศลอนดอน เป็นนิราศที่แต่งโดยหม่อมราโชทัย (หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร)
ประวัติ
[แก้]เมื่อปี พ.ศ. 2398 สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร ได้ทรงแต่งตั้งให้ เซอร์ จอห์น เบาริง เป็นราชทูตเชิญพระราชสาส์น และเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชักชวนให้ประเทศไทย (สยามในสมัยนั้น) ทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี ซึ่งก็คือ สนธิสัญญาเบาริง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) พร้อมด้วยคณะ เชิญพระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการไปถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเมื่อปี พ.ศ. 2400 หม่อมราโชทัย (หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร) ในขณะนั้นได้รับตำแหน่งเป็นล่ามไปกับคณะราชทูตชุดนี้ทำให้มีโอกาส ได้เขียนจดหมายเหตุการณ์เดินทาง จนกระทั่งมาเป็นนิราศลอนดอน
ลักษณะการประพันธ์
[แก้]แต่งโดยใช้กลอนนิราศ ในรูปแบบจดหมายเหตุการณ์เดินทางแล้วตามด้วยบทร้อยกรอง
จุดมุ่งหมายในการแต่ง
[แก้]เพื่อพรรณนาและบรรยาย ถึงเหตุการณ์เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการเดินทางของผู้แต่ง
เนื้อเรื่องย่อ
[แก้]คณะราชทูตไทยอัญเชิญพระราชสาส์น พร้อมทั้งเครื่องราชบรรณาการไปถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ณ ปราสาทวินด์เซอร์ ซึ่งทำให้ได้รับผลดีคือมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาใหม่ โดยที่ไทยได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น จากนั้นคณะราชทูตไทยได้รับพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำและน้ำชาและได้พักค้างแรม ณ ปราสาทวินด์เซอร์ 1 คืน ต่อมาจึงได้ไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญๆ เช่น โรงพยาบาล โรงงานทำเหรียญกษาปณ์ ป้อมศาสตราวุธแห่งลอนดอน
มงกุฎพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรซึ่งมีเพชรขนาดใหญ่เท่าไข่นกพิราบประดับอยู่และพระราชวังบักกิงแฮม
คุณค่าทางวรรณศิลป์
[แก้]- มีกลวิธีดำเนินเรื่องเป็นไปตามลำดับเวลาและสถานที่
- มีการเลือกใช้คำซึ่งมีทั้งคำราชาศัพท์ คำภาษาต่างประเทศ จนถึงคำที่ใช้ในร้อยกรองทั่วไป
- ได้มีการใช้ภาษาที่แสดงออกถึงอารมณ์ ความรู้สึก สอดแทรกไว้ในเนื้อความบางตอน
- มีการใช้ภาษาที่กระชับ เข้าใจง่าย ทำให้การพรรณนาบรรยายในเนื้อเรื่องออกมาอย่างชัดเจน
- เนื้อหามีลักษณะเป็นสารคดีปนอยู่ด้วย
- มีการเปรียบเทียบถึงสิ่งที่เคยและไม่เคยพบเห็น รวมทั้งมีการใช้ภาษาแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา
คุณค่าทางสังคม
[แก้]- เหตุการณ์ในนิราศลอนดอนถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของไทยก่อนที่ไทยจะเปิดประตูบ้านรับอารยธรรมจากต่างประเทศเข้ามาซึ่งเป็นสิ่งที่วางรากฐานตามความเจริญของบ้านเมืองต่อมา
- สะท้อนให้เห็นสภาพชีวิตและสังคมของประเทศมหาอำนาจอย่างอังกฤษกับไทย
- สะท้อนฐานะของไทยในสายตาต่างชาติ
คณะราชทูตไทย
[แก้]คณะราชทูตไทยที่เดินทางไปเจริญราชไมตรี ณ ประเทศอังกฤษในครั้งนี้ประกอบด้วย
ทูต
[แก้]- พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ราชทูต)
- เจ้าหมื่นสรรเพชญภักดี (อุปทูต)
- จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ (ตรีทูต)
ล่าม
[แก้]- หม่อมราโชทัย (ล่ามหลวง)
- ขุนปรีชาชาญสมุทร
- ขุนจรเจนทะเล
ผู้ควบคุมเครื่องราชบรรณาการ
[แก้]- หมื่นราชามาตย์
- นายพิจารณ์สรรพกิจ
ข้อมูลที่น่าสนใจ
[แก้]- มิสเตอร์เฟาล์ มีชื่อจริงๆ ว่า “มิสเตอร์เอดวาร์ด เฟาล์” เดิมเคยอยู่พม่าเป็นผู้ที่รัฐบาลอังกฤษจัดการให้เป็นผู้สันทัดธรรมเนียมไทย เป็นผู้ดูแลอยู่กับคณะราชทูตไทย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 มิสเตอร์เฟาล์ ได้เป็นหลวงสยามานุเคราะห์ ตำแหน่งกงสุลสยาม ณ เมืองย่างกุ้งและอยู่มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5
- เยนเนอรัลกัส หรือ พลตรีเซอร์ เอดวาร์ด คัส เป็นเจ้าพนักงานการพระราชพิธี
- ลอร์ดการท่า หรือ ลอร์ด กลาเรนดอน ผู้สำเร็จราชการฝ่ายการท่า ฝ่ายต่างประเทศของอังกฤษคณะราชทูต
- หมอบรัดเลย์ ซื้อลิขสิทธิ์นิราศลอนดอนไปเมื่อปี พ.ศ. 2405 นับเป็นวรรณคดีเรื่องแรกในประเทศไทยที่มีการซื้อ-ขายลิขสิทธิ์
- กรองทอง คือ ผ้าโปร่งอันทอ หรือถักด้วยเส้นลวดทองหรือไหมทอง
- กษัตริย์สอง หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระธโรน คือ บัลลังก์ที่ประทับกษัตริย์ มาจากภาษาอังกฤษว่า “ throne”
- เพชรเม็ดใหญ่ เป็น เพชรประดับมงกุฎกษัตริย์แห่งอังกฤษมีชื่อว่า “โกอินัวร์” มีขนาดใหญ่เท่าไข่นกพิราบ
- ราชสามิศ พระราชสวามีของสมเด็จพระราชินี
- ราชสารสุวรรณ คือ พระราชสารที่จารึกบนใบลานทองเป็นพระราชสารของพระเจ้าแผ่นดินแห่งสยามทั้ง 2 พระองค์
- กัปตันเกลเวอริง กัปตันเรือกาเรดอก ที่ทูตไทย ขอให้อยู่ร่วมกับคณะราชทูต
- รัถา ใช้แปลว่า รถ
- ขวดเฟือง เป็นขวดที่หล่นเป็นพู เป็นเหลี่ยม ไม่กลมเรียบตลอด
- เครื่องต้น เป็นเครื่องทรงสำหรับกษัตริย์ สิ่งของที่กษัตริย์ทรงใช้
- ฮูโร ที่ใช้มาจากภาษาอังกฤษที่ว่า hurrah เทียบได้กับ “ไชโย” ของไทย