นางสีเวย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นางสีเวย ผลงานของหนานบัวผัน

นางสีเวย นางสีเหว่ย หรือ อินายสีเวย เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังวิหารของวัดต้าม่อน อำเภอลอง จังหวัดแพร่ อันเป็นผลงานของฝีมือช่างชุดเดียวกันกับจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน คือ หนานบัวผัน จิตรกรพื้นถิ่นเชื้อสายไทลื้อ อินายสีเวยทัดอดกสลิด (ดอกแก้ว) เป็นภาพวาดชิ้นเอกของจิตรกรรมฝาผนังวัดต้าม่อนที่กล่าวขาญกันว่า นี่คือภาพที่ถ่ายทอดความงามแบบล้านนาของสาวงามชาวเมืองต้าได้เป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุด ดังที่ได้รับการยกย่องจากทั่วโลกว่าเป็น โมนาลิซ่าไทยแลนด์ [1]

ประวัติ[แก้]

นางสีเวย เป็นหนึ่งในจิตรกรรมฝาผนังวัดต้าม่อน ถูกวาดขึ้นในปีพ.ศ. 2427[2] ระหว่างการสร้างวัดต้าม่อน และวิหารไม้สักทองโดยพ่อเจ้าฮ้อยหลวง (ต้นตระกูลรัตนภาค) เชื้อสายเจ้าฟ้าเชียงตุง เจ้าฮ้อยหลวงได้หาช่างฝีมือดีมาจากเมืองเชียงตุง เพื่อสร้างวัดต้าม่อน ภายในวิหารด้านข้าง ทั้ง 2 ด้าน ได้ให้ช่างวาดภาพพุทธประวัติ และนิทานธรรมะเรื่อง เจ้าก่ำกาดำ ไว้อย่างสวยสดงดงาม การก่อสร้างดำเนินไปเกือบจะแล้วเสร็จ แต่ต้องหยุดชะงักการก่อสร้างลง ด้วยเหตุผลน่าเศร้าสลดกล่าวคือ วันนั้นสล่าเก๊า (หัวหน้าช่าง) ได้ปีนขึ้นไปบนนั่งร้านเพื่อตกแต่งประดับหลังคาให้สวยงาม ซึ่งจะสำเร็จเรียบร้อยอย่างสมบูรณ์ ขณะที่กำลังปฏิบัติงานอยู่นั้นเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อนั่งร้านที่คาดไว้อย่างแน่นหนาเชือกได้ขาดลง ทำให้หัวหน้าช่างร่วงลงสู่พื้นจากความสูงกว่า 10 เมตร ร่างลอยละลิ่วลงกระแทกพื้นอย่างแรงเสียชีวิตทันที เจ้าอ้อยหลวงสั่งหยุดการก่อสร้างทันที ด้วยความเสียใจในอุบัติเหตุครั้งนี้ ทำให้สูญเสียช่างฝีมือเอกไป 1 คน จากการสอบสวนจึงรู้ว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจาก เพราะมีการกระทำผิดครูเก๊า(บรมครู) เนื่องจากมีเด็กของวัดต้าม่อนได้แอบไปขโมยกินมะพร้าวอ่อน ที่เป็นเครื่องเซ่นบูชาครูไว้ จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

จิตรกรรมผนังวัดต้าม่อน เป็นฝีมือช่างชุดเดียวกันกับวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน คือ หนานบัวผัน จิตรกรพื้นถิ่นเชื้อสายไทลื้อ ในปีพ.ศ. 2532 วิหารไม้เกิดการชำรุดทรุดโทรมไม่มีงบประมาณซ่อมแซม ชาวบ้านจึงได้ถวายให้กับไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันสิ่งที่หลงเหลือจากอดีตคงเหลือแค่แต่เพียงเสาวิหารไม้ และลายคำเพดานซึ่งยังคงมีสภาพสมบูรณ์เช่นในอดีต

ปัจจุบันจิตรกรรมเวียงต้าของดั้งเดิมอยู่ที่หอคำน้อย ไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ส่วนภาพจำลองฉบับสมบูรณ์อีกชุด ถูกทำจัดทำขึ้นมาใหม่และได้จัดแสดงให้ชมที่พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ อำเภอลอง จังหวัดแพร่[3]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. คนสร้างศิลป์เมืองแพร่.แม่นางสีเวย.สืบค้น 17 กรกฎาคม 2559
  2. OKnation.จากแม่นางสีเว่ยแห่งเมืองลอง ถึงกระซิบรักจากเมืองน่าน สืบค้น 17 กรกฎาคม 2559
  3. บทความพิทักษ์ ปัญญาฉลาด.ประวัติการสร้างวัดต้าม่อน สืบค้น 17 กรกฎาคม 2559