ข้ามไปเนื้อหา

นกเงือกดินเหนือ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นกเงือกดินเหนือ
ตัวผู้
ตัวเมีย
ทั้งคู่ พบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเซมิคิ อูกันดา
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Bucerotiformes
วงศ์: Bucorvidae
สกุล: Bucorvus
สปีชีส์: B.  abyssinicus
ชื่อทวินาม
Bucorvus abyssinicus
(Boddaert, 1783)

นกเงือกดินเหนือ หรือ นกเงือกดินอะบิสซิเนีย (อังกฤษ: northern ground hornbill หรือ Abyssinian ground hornbill; ชื่อวิทยาศาสตร์: Bucorvus abyssinicus) เป็นนกเงือกขนาดใหญ่หนึ่งในสองชนิดในวงศ์นกเงือกดิน มีพฤติกรรมหากินและดำรงชีวิตบนพื้นดินเป็นหลัก พบเฉพาะในตอนเหนือของเส้นศูนย์สูตรของทวีปแอฟริกา นกเงือกดินเหนือต่างจากนกเงือกดินใต้ ตรงที่มีขนาดเล็กกว่า มีสีหนังขอบตาสีฟ้า และถุงคอสีฟ้า (ในนกตัวเมีย)

อนุกรมวิธาน

[แก้]

นกเงือกดินเหนือ (B. abyssinicus) ได้รับการระบุชนิดโดยจอร์จ-ลุยส์ เลอแคลค เคานต์แห่งบูฟฟง (Georges-Louis Leclerc, Comte de Buffon) นักธรรมชาติวิทยาและพหุคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ใน ค.ศ. 1780 ในหนังสือประวัติศาสตร์ธรรมชาติของนก (Histoire Naturelle des Oiseaux)[2] นกเงือกดินเหนือยังปรากฏในภาพพิมพ์แกะสลัก (ด้วยมือ) โดยฟรองซัวร์-นิโคลา มาร์ติเนต (François-Nicolas Martinet) เป็นภาพประกอบหนึ่งในพันภาพของชุดสมุดภาพประวัติศาสตร์ธรรมชาติ (Planches Enluminées D'Histoire Naturelle) ซึ่งผลิตภายใต้การกำกับของเอดเมอ-ลุยส์ เดาเบ็นทง (Edme-Louis Daubenton) และประกอบกับคำอธิบายลักษณะของบูฟฟง[3]

ทั้งภาพประกอบบรรยายและคำอธิบายของบูฟฟงดังกล่าวไม่ได้ระบุชื่อวิทยาศาสตร์ จนกระทั่ง ค.ศ. 1783 พิเอแทร์ โบดแดร์ท (Pieter Boddaert) นักธรรมชาติวิทยาชาวดัตช์ได้บัญญัติชื่อทวินาม Buceros abyssinicus ในบัญชีรายชื่อประกอบที่เขาสร้างเพิ่มเติมในชุดสมุดภาพประวัติศาสตร์ธรรมชาติ[4] ตัวอย่างชนิดต้นแบบเก็บจากประเทศเอธิโอเปีย (หรือที่เรียกอะบิสซิเนีย)[5] ปัจจุบันนกเงือกดินเหนือ (หรือนกเงือกดินอะบิสซิเนีย) อยู่ในสกุลนกเงือกดิน (Bucorvus) ซึ่งเดิมเป็นสกุลย่อยระบุโดยเรอเน เลซง (René Lesson) นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1830[6][7] นกเงือกดินเหนือมีชนิดย่อยเดียว (monotypic)[7]

ชื่อสามัญ (ชื่อสกุล Bucorvus) ของนกเงือกดินเหนือ (และนกเงือกดินใต้) ดัดแปลงมาจากชื่อสกุล Buceros ที่กาโรลุส ลินเนียส นำเสนอใน ค.ศ. 1758 สำหรับสกุลนกเงือกเอเชียขนาดใหญ่ โดยที่ corvus เป็นคำภาษาละตินสำหรับ เป็น "นกกา" จากลักษณะโดยรวมที่คล้ายอีกา[8]

ลักษณะ

[แก้]
หัวของนกเงือกดินเหนือตัวผู้

นกเงือกดินเหนือเป็นนกเงือกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองในทวีปแอฟริกา รองจากนกเงือกดินใต้ที่มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย

เป็นนกขนาดใหญ่ (ปลายปากถึงรูทวาร) ยาวรวม 90 ถึง 110 เซนติเมตร (35 ถึง 43 นิ้ว) อาศัยบนพื้นเป็นหลัก มีขนบนลำตัวสีดำและขนปีกหลักสีขาวซึ่งมองเห็นได้ในขณะบิน ตัวผู้ที่โตเต็มวัยมีผิวเปลือยสีฟ้ารอบดวงตา มีถุงหนังเปลือยที่คอสีแดงและพองตัวได้ แต้มด้วยหนังเปลือยสีฟ้าที่คางซึ่งหนังคางสัฟ้านี้มีขนาดต่าง ๆ กันในแต่ละตัว จะงอยปากยาวสีดำ มีแถบสีแดงที่โคนจะงอยปากใต้โหนก ด้านบนของจะงอยปากมีโหนกแข็ง (casque) สีดำปลายเปิด ทู่ และสั้น นกตัวเมียมีลักษณะคล้ายคลึงกันแต่เล็กกว่า ผิวเปลือยทั้งหมด (รอบตา ถุงคอ และคาง) เป็นสีน้ำเงินเข้ม (ยังคงมีแถบสีแดงบนโคนจะงอยปาก) นกรุ่นมีขนสีน้ำตาลเข้ม มีปากที่เล็กกว่าและโหนกแข็งในระยะเริ่มต้น มักใช้เวลา 3 ปีในการเจริญเป็นตัวเต็มวัยซึ่งจะค่อย ๆ พัฒนาส่วนที่เป็นขนนก สีของผิวเปลือย และโหนกแข็ง[9]

นกเงือกดินเหนือ มีขนยาวคล้ายขนตาที่ล้อมรอบดวงตา ช่วยปกป้องดวงตาจากการบาดเจ็บ[10]

จากการศึกษาพบว่า เมื่อยืนนกสูงประมาณ 90 ถึง 100 เซนติเมตร (35 ถึง 39 นิ้ว) อาจสูงได้ 110 ซม. (43 นิ้ว) และหนักประมาณ 4 กิเลกรัม (8.8 ปอนด์) จากรายงานการศึกษาของสตีเวนสันและแฟนชอว์ ระบุว่านกเงือกดินเหนือเป็นชนิดที่มีขนาดเฉลี่ยที่ที่ 102 เซนติเมตร (40 นิ้ว) ใหญ่กว่านกเงือกดินใต้ แต่น้ำหนักและการวัดมาตรฐานในส่วนอื่นขัดแย้งกันซึ่งระบุว่านกเงือกดินใต้นั้นใหญ่กว่าเล็กน้อยจริง ๆ [11][12]

เสียงร้อง

[แก้]

มีเสียงร้องที่ลึกต่ำและกังวาน "อุ-อุ" และ "อุ-อุ-อุ" ซึ่งได้ยินชัดจากระยะไกล มักร้องในตอนเช้าจากทั้งขณะเกาะคอนหรือขณะอยู่บนพื้นดิน[9] โดยทั่วไปนกตัวผู้และตัวเมียจะร้องเพลงคู่กัน[13]

การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย

[แก้]

นกเงือกดินเหนือ พบได้ทางตอนเหนือของภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา (โดยเฉพาะช่วงตอนเหนือของเส้นศูนย์สูตรของภูมิภาคฯ) จากตอนใต้ของมอริเตเนีย เซเนกัล และกินีทางตะวันออกถึงเอริเทรีย เอธิโอเปีย ทางตะวันตกเฉียงเหนือของโซมาเลีย ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเคนยา และยูกันดา[14][15] พบในแหล่งที่อยู่อาศัยแบบเปิด เช่น ทุ่งหญ้าสะวันนา ทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทราย และบริเวณที่เป็นหิน โดยชอบพื้นที่ที่มีพืชพรรณต้นเตี้ยซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในพฤติกรรมการหาอาหารด้วยสายตา มักอาศัยในพื้นที่ที่แห้งแล้งกว่าถิ่นที่อยู่ที่นกเงือกใต้เลือก นกเงือกดินเหนือทนต่อพื้นที่ธรรมชาติที่ถูกรบกวน แต่ยังต้องการต้นไม้ขนาดใหญ่เพื่อใช้เป็นที่ทำรัง[13]

มีประชากรนกเงือกดินเหนือหลบหนีหรือถูกปล่อยโดยเจตนาในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา แต่ไม่มีหลักฐานว่าประชากรนกเงือกเหล่านี้กำลังขยายพันธุ์และคงสืบพันธุ์อยู่ได้หลังการปล่อยหรือหลบหนี[16]

พฤติกรรม

[แก้]

นกเงือกดินเหนืออาศัยอยู่ในทุ่งหญ้าโล่ง อยู่เป็นคู่หรืออาศัยแบบครอบครัวเล็ก ๆ มักออกลาดตระเวนอาณาเขตของตนด้วยการเดินและมักไม่เลือกที่จะบิน โดยปกติแล้วจะบินขึ้นไปในอากาศเมื่อตื่นตระหนกเท่านั้น[9] กลุ่มนกเงือกดิน (ฝูงครอบครัวขนาดเล็ก) ครอบครองพื้นที่ขนาด 2–100 ตารางไมล์ (5.2–259.0 km2) เป็นนกที่หากินกลางวัน นกที่เลี้ยงในกรงขังสามารถมีชีวิตอยู่ได้ 35–40 ปี

อาหารในธรรมชาติประกอบด้วยสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหลายชนิด รวมทั้งเต่าบกขนาดเล็ก กิ้งก่า งู นก แมงมุม ด้วง และหนอนผีเสื้อ นอกจากนี้ยังอาจกินซากศพ ผลไม้ เมล็ดพืช และถั่วเปลือกแข็งที่พบที่พื้น

การผสมพันธุ์

[แก้]

ฤดูผสมพันธุ์ของนกเงือกดินเหนือแตกต่างกันไปตามช่วงการกระจายพันธุ์ ได้แก่ ประชากรนกในแอฟริกาตะวันตกผสมพันธุ์ในเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม ประชากรในไนจีเรียและยูกันดาผสมพันธุ์ในเดือนมกราคม และประชากรในเคนยาผสมพันธุ์ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน พวกมันชอบทำรังบนต้นไม้ใหญ่ โดยมักใช้โพรงในต้นเบาบับและตอปาล์ม รวมทั้งได้รับการบันทึกว่าทำรังในโพรงประเภทอื่น ๆ ได้แก่ รูในหินและโพรงที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่นในกล่องเลี้ยงผึ้งหรือตะกร้า

การทำรังของนกเงือกดิน นกตัวเมียจะฟักและดูแลในโพรงรังที่ปิดผนึกบางส่วนโดยใช้ส่วนผสมของโคลนและพืชพรรณ ซึ่งต่างกับนกเงือกชนิดอื่น ๆ ตัวเมียที่ทำรังจะสลัดขนปีกหลักออกทั้งหมด นกเงือกดินตัวผู้เตรียมรังโดยใช้ใบไม้แห้งบุก้นโพรงก่อนที่ตัวเมียจะเข้าไปและวางไข่หนึ่งหรือสองฟองในช่วงห่างประมาณห้าวัน ตัวเมียเริ่มฟักไข่ทันทีที่วางไข่เพื่อให้ลูกนกที่ฟักออกมาก่อนมีพัฒนาการที่เหนือลูกนกตัวถัดมา การฟักไข่แต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 37 ถึง 41 วัน ตลอดช่วงฟักไข่นกไม่มีความพยายามที่จะรักษาโพรงให้สะอาดและนกตัวผู้มีหน้าที่จัดหาอาหารให้กับตัวเมียที่กำลังฟักไข่ น้ำหนักของลูกไก่ที่เพิ่งฟักออกมาใหม่จะอยู่ที่ประมาณ 70 กรัม (2.5 ออนซ์) และลูกนกที่ฟักครั้งแรกจะโตอย่างรวดเร็วเพื่อแย่งทรัพยากรจากลูกนกที่ฟักออกตัวที่สองซึ่งปกติแล้วจะตายจากความอดอยากก่อนที่มันจะอายุสี่วัน โดยลูกนกตัวแรกอาจมีน้ำหนักมากถึง 350 กรัม (12 ออนซ์) (ในระยะเพียงช่วงระหว่างไข่ใบแรกและใบที่สองฟัก) เมื่อลูกนกที่รอดตายอายุ 21 ถึง 33 วัน แม่จะออกจากรังและเริ่มให้อาหารจากนอกรัง ลูกนกจะออกจากรังหลังจากวันที่ 80 ถึง 90[13]

นกเงือกดินเหนือลงทุนทางทรัพยากรอย่างมากในลูกหลานของพวกมัน และลูกนกที่โตเต็มวัยจะอยู่กับพ่อแม่ได้นานถึงสามปี พวกมันมีอัตราการผสมพันธุ์ที่ต่ำ โดยเฉลี่ยแล้วนกหนึ่งตัวจะโตเต็มวัยเมื่ออายุ 9 ปี ดังนั้นการลงทุนในการเติบโตเต็มวัยในนกแต่ละตัวของพ่อแม่นกจึงสูงเป็นพิเศษ[13]

การหาอาหาร

[แก้]

นกเงือกดินเหนือ เป็นนกที่หาอาหารตามโอกาส ไม่ว่าโดยการหาอาหารตามหลังฝูงสัตว์กีบและจากไฟป่า โดยใช้กลยุทธ์การรอโอกาสกินสัตว์เล็ก ๆ ที่ถูกรบกวนโดยฝูงสัตว์ขนาดใหญ่หรือเปลวไฟ นกเงือกดินเหนือแต่ละตัวสามารถเดินได้ไกลถึง 11 กิโลเมตร (6.8 ไมล์) ในแต่ละวัน เมื่อพบอาหารจะพุ่งกระโจนเข้าหาและกินสัตว์ขนาดเล็กทุกอย่างที่พวกมันเจอ มีการบันทึกว่านกเงือกดินเหนืออาจขุดหาสัตว์จำพวกแมลงและแมงในดินและโจมตีรังผึ้งเพื่อกินรังผึ้ง นกเงือกดินเหนือมักไม่ค่อยกินพืชใด ๆ อาจเนื่องจะงอยปากที่ยาวแข็งแรงเหมาะกับการใช้เพื่อจับและฆ่าเหยื่อในการกิน[13]

ศัตรูในธรรมชาติ

[แก้]

สัตว์นักล่า

[แก้]

สัตว์นักล่าของนกเงือกดินเหนือ ได้แก่สัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ เช่น เสือดาว การถูกล่าเป็นอาหารของมนุษย์เกิดขึ้นในบางประเทศ ได้แก่แคเมอรูนตอนเหนือและบูร์กินาฟาโซ รังอาจตกเป็นเหยื่อโดยสัตว์บกนักล่าแม้มีขนาดเล็กกว่า

ปรสิตและโรคต่าง ๆ

[แก้]

เป็นที่รู้จักดีว่ามักพบเหานก Bucorvellus docophorus, Bucerophagus productus และ Bucerophagus africanus ในนกเงือกดินเหนือ และยังพบปรสิตเช่นไส้เดือนฝอย (พยาธิตัวกลม) Histiocephalus bucorvi และพยาธิตัวตืด Chapmania unilateralis, Idiogenes bucorvi, Ophryocotyloides pinguis และ Paruterina daouensis นกเลี้ยงในกรงขังที่จับมาจากธรรมชาติมักตายจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Aeromonas hydrophila ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคทั่วไปในปลา แต่ไม่พบรายงานการติดเชื้อนี้ในนกเงือกดินเหนือในธรรมชาติ ในอเมริกาเหนือพบว่านกเงือกดินเหนือในกรงเลี้ยงตายเพราะไวรัสเวสต์ไนล์[13]

ความสำคัญในวัฒนธรรม

[แก้]

นกเงือกดินเหนือ ไม่ใช่เหมืองนกที่ถูกล่าเพื่อการค้านกเชิงพาณิชย์ แม้ว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะพบพวกมันในสวนสัตว์

ในบางพื้นที่นกชนิดนี้มีความสำคัญทางวัฒนธรรม พรานล่าสัตว์ใช้หัวและคอของนกเงือกดินห้อยรอบคอด้วยความเชื่อที่ว่าจะช่วยให้พวกมันสะกดรอยตามฝูงสัตว์กีบเท้า ในบางหมู่บ้านมักจะเลียนแบบเสียงร้องของนกชนิดนี้ แม้กระทั่งบางเพลงที่แต่งขึ้นจากพื้นฐานเสียงร้องคู่ประสานของนกเงือกดินเหนือตัวผู้และตัวเมีย[13]

สถานภาพและการอนุรักษ์

[แก้]

นกเงือกดินเหนืออยู่ภายใต้ภาวะการสูญเสียและความเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ และบางส่วนของการถูกล่า ในลักษณะเดียวกันกับญาติของมันคือ นกเงือกดินใต้ เป็นผลให้แนวโน้มประชากรของนกเงือกดินทั้งสองชนิดอาจเริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ระบุให้มีสถานะเป็นสิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (VU)

อ้างอิง

[แก้]
  1. BirdLife International (2018). "Bucorvus abyssinicus". IUCN Red List of Threatened Species. 2018: e.T22682632A132204438. doi:10.2305/IUCN.UK.2018-2.RLTS.T22682632A132204438.en.
  2. Buffon, Georges-Louis Leclerc de (1780). "Le cacao d'Abyssinie". Histoire Naturelle des Oiseaux (ภาษาฝรั่งเศส). Vol. 13. Paris: De L'Imprimerie Royale. p. 230.
  3. Buffon, Georges-Louis Leclerc de; Martinet, François-Nicolas; Daubenton, Edme-Louis; Daubenton, Louis-Jean-Marie (1765–1783). "Grand calao, d'Abyssinie". Planches Enluminées D'Histoire Naturelle. Vol. 8. Paris: De L'Imprimerie Royale. Plate 779.
  4. Boddaert, Pieter (1783). Table des planches enluminéez d'histoire naturelle de M. D'Aubenton : avec les denominations de M.M. de Buffon, Brisson, Edwards, Linnaeus et Latham, precedé d'une notice des principaux ouvrages zoologiques enluminés (ภาษาฝรั่งเศส). Utrecht. p. 48, Number 779.
  5. Peters, James Lee, บ.ก. (1945). Check-list of Birds of the World. Vol. 5. Cambridge, Massachusetts: Harvard University Press. p. 272.
  6. Lesson, René (1830). Traité d'Ornithologie, ou Tableau Méthodique (ภาษาฝรั่งเศส). Paris: F.G. Levrault. p. 256 (livre 4).
  7. 7.0 7.1 Gill, Frank; Donsker, David, บ.ก. (2019). "Mousebirds, Cuckoo Roller, trogons, hoopoes, hornbills". World Bird List Version 9.2. International Ornithologists' Union. สืบค้นเมื่อ 23 July 2019.
  8. Jobling, James A. (2010). The Helm Dictionary of Scientific Bird Names. London: Christopher Helm. p. 80. ISBN 978-1-4081-2501-4.
  9. 9.0 9.1 9.2 Borrow, Nik; Demey, Ron (2001). Birds of Western Africa. A & C Black. ISBN 0-7136-3959-8.
  10. "Abyssinian ground hornbill". Smithsonian's National Zoo. สืบค้นเมื่อ 7 May 2019.
  11. Field Guide to the Birds of East Africa: Kenya, Tanzania, Uganda, Rwanda, Burundi by Stevenson & Fanshawe. Elsevier Science (2001), ISBN 978-0856610790
  12. "Birds: Hornbill". San Diego Zoo. สืบค้นเมื่อ 16 July 2013.
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 13.5 13.6 "Krause, B. 2009. "Bucorvus abyssinicus" (On-line), Animal Diversity Web". Animal Diversity Web. Regents of the University of Michigan. สืบค้นเมื่อ 14 October 2016.
  14. "Northern Ground-hornbill (Bucorvus abyssinicus)". Lynx Edicions. สืบค้นเมื่อ 14 October 2016.
  15. "Bucorvus abyssinicus (Abyssinian Ground-Hornbill) - Avibase". avibase.bsc-eoc.org.
  16. "Abyssinian Ground-Hornbill". Florida Fish and Wildlife Conservation Commission. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-30. สืบค้นเมื่อ 9 January 2017.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • Asefa, Addisu. "Exploration of human-bird relationships: Oromo proverbs associated with the Northern Ground-hornbill in Ethiopia." Social Sciences & Humanities Open 4, no. 1 (2021): 100-162.