นกปากกบยักษ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นกปากกบยักษ์
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Caprimulgiformes
วงศ์: Podargidae
สกุล: Batrachostomus
สปีชีส์: B.  auritus
ชื่อทวินาม
Batrachostomus auritus
(Gray, 1829)
แหล่งกระจายพันธุ์ของนกปากกบยักษ์ (B. auritus)
ภาพวาดประกอบ

นกปากกบยักษ์ (อังกฤษ: frogmouth; ชื่อวิทยาศาสตร์: Batrachostomus auritus) เป็นนกกลางคืนขนาดใหญ่ในวงศ์ Podargidae ลักษณะเด่นคือ ปากที่กว้าง อวบใหญ่ คล้ายปากกบ พบในบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และภาคใต้ของไทย มักอาศัยอยู่ในป่าเบญจพรรณเขตร้อนชื้น หรือป่าดิบที่ราบลุ่ม การทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยทำให้ความเสี่ยงต่อการอยู่รอด และสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติได้ระบุสถานะใกล้ถูกคุกคาม

อนุกรมวิธานและศัพทมูลวิทยา[แก้]

ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ "frogmouth" จากภาษากรีก batracho (βατραχο) แปลว่า "กบ" และ stoma (στομα) "ปาก"[2]

ชื่ออื่น[แก้]

ภาษามลายู: Burung Segan Besar, Segan Besar, Sepn Besar

ภาษาอินโดนีเซีย: Burung Paruh-kodok Besar, Paruhkodok Besar, Paruh-kodok besar

ลักษณะทางกายวิภาค[แก้]

นกปากกบยักษ์ (B. auritus) เป็นนกกลางคืนขนาดใหญ่ และใหญ่ที่สุดในสกุลนกปากกบ มีขนาดลำตัวประมาณ 42 เซนติเมตร (17 นิ้ว) ทั้งสองเพศมีลักษณะคล้ายคลึงกัน สีขนค่อนข้างหลากหลาย ลำตัวส่วนบนเป็นสีน้ำตาลแดงและน้ำตาลดำ ท้ายทอยคาดแถบขาว ปีก ลำตัวส่วนบนและอก ประด้วยจุดหรือแถบขาวหรือน้ำตาลอ่อน ซี่งจุดขาวสว่างเด่นชัดบริเวณโคนปีก ลำตัวส่วนล่างมีสีน้ำตาลเทาหรือน้ำตาลแดงซีด ท้องมีสีซีดกว่าอก[3]

เปลือกตามีสีน้ำตาลอ่อน ดวงตาสีดำสนิท ขนคิ้วและหนวดสีขาวหม่นหรือเทาเป็นพู่ยาว[4] จะงอยปากมีสีเทา ปลายปากสีเทาเข้มหรือดำ จะงอยปากด้านในและขอบเป็นสีเหลือง และขาเป็นสีเหลืองหม่น[3]

ลูกนกเมื่ออายุ 2-3 วัน มีขนปุยสีขาวเทาทั้งตัว เมื่ออายุประมาณ 15 วัน สีขาวส่วนใหญ่ถูกแทนที่ด้วยขนสีน้ำตาล ยกเว้นเพียงบางส่วนของศีรษะและลำคอ[5]

พฤติกรรม[แก้]

แม้จะมีขนาดใหญ่ แต่สังเกตพบนกปากกบยักษ์ได้ยากมากในป่าดงดิบ จากพฤติกรรมนกกลางคืนซึ่งพักเกาะคอนในที่กำบังในเวลากลางวันและออกหากินในตอนกลางคืน[4] อาหารหลักคือ แมลงเช่น ตั๊กแตน จักจั่น และผีเสื้อกลางคืน โดยใช้ปากที่กว้างใหญ่งับเหยื่อกลางอากาศ และบินหากินในระดับที่ค่อนข้างสูง แต่ในตอนกลางวันจะหาที่เกาะนอนพักสูงไม่เกิน 3 เมตร[6]

มักร้องในเวลากลางคืนจากที่หลบซ่อนตามกิ่งไม้หรือซ่อนตัวอยู่ในโพรงโดยลำพังหรืออาจเป็นคู่[7] โดยปกติเสียงร้องแบบคลื่นรัว ๆ คล้ายการรัวลิ้น (คล้าย "วก ๆ ๆ ") ยาว 2 วินาทีเป็นช่วง ๆ ชุดละ 4-8 ครั้ง เสียงร้องแบบอื่นได้แก่ เสียงเห่าและเสียงกรีดร้อง[4] อาจอ้าปากระบายความร้อนในช่วงกลางวัน[5]

การทำรัง[แก้]

ทำรังตั้งบนต้นไม้ สูงจากพื้นดินประมาณ 4 เมตร ในส่วนที่ปกคลุมด้วยใบไม้ค่อนข้างหลวม ๆ และมักห่างจากแหล่งน้ำประมาณ 30 เมตร[5]

รังมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7-8 ซม. และถูกสร้างขึ้นในง่ามกิ่งไม้ที่เป็นแนวนอน ถักแน่นกับกิ่งไม้ที่หนาประมาณ 5 เซนติเมตร หรือบางกว่า สร้างรังเป็นแท่นรูปถ้วย ด้วยใบไม้สดและแห้งขนาดเล็ก และเส้นขนสีเข้มของพ่อแม่นก ซึ่งเป็นลักษณะเด่นในการสร้างรังของนกปากกบในสกุล Batrachostomus[5] ออกไข่ฟองเดียว[3] รังที่ค่อนข้างเล็กกะทัดรัดพ่อแม่นกต้องเกาะข้างๆ เมื่อให้อาหารลูกนก[5]

การแพร่กระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย[แก้]

ประชากรนกปากกบยักษ์กระจายตัวอย่างเบาบางมาก ตั้งแต่ภาคใต้ของประเทศไทย คาบสมุทรมลายู ซาบาห์ ซาราวัก ไปจนถึงกาลิมันตัน เกาะสุมาตรา หมู่เกาะรีเยา (นาตูนา) และบรูไน[8][9] นกปากกบยักษ์ชอบอาศัยในเขตป่าเบญจพรรณเขตร้อนชื้น ป่าเต็งรัง ป่าพรุ[9] หรือป่าดิบชื้นที่ราบลุ่ม ป่าดิบเขา[10] ที่เป็นป่าดิบสมบูรณ์ที่ไม่ถูกรบกวน แต่บางครั้งพบได้ในพื้นที่ป่าอื่น ๆ เช่น ป่าทุติยภูมิและในพื้นที่ป่าปลูก[9] พบที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่ต่ำกว่า 250 เมตร และอาจถึง 1,000 เมตร

นิเวศวิทยาและการอนุรักษ์[แก้]

นกปากกบยักษ์ (B. auritus) เป็นนกที่ไม่ค่อยเป็นรู้จัก หายากและหายากมากในแหล่งการแพร่กระจายพันธุ์ส่วนใหญ่ ทำให้ไม่สามารถระบุจำนวนประชากรทั้งหมดได้ แต่คาดว่าประชากรนกมีแนวโน้มลดลงค่อนข้างรวดเร็วควบคู่ไปกับการทำลายป่าและไฟป่าในที่ราบลุ่มตลอดช่วงกระจายพันธุ์ แต่นกปากกบยักษ์มีความสามารถในการปรับตัวอาศัยในป่าปลูกต่าง ๆ ได้พอควร สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้ประเมินสถานะการอนุรักษ์ของนกปากกบยักษ์ในระดับ "ใกล้ถูกคุกคาม" (NT)[3][9]

ในประเทศไทย[แก้]

เป็นนกประจำถิ่นที่ถูกระบุว่าเป็นนกที่หายากมาก (extremely rare) และแนวโน้มที่ลดลงจากการทำลายป่าและไฟป่าในที่ราบลุ่ม แม้ว่าจะไม่รุนแรงเท่าสถานะการณ์บนเกาะบอร์เนียวและหมู่เกาะซุนดา[9] อาจพบได้ในป่าดิบในจังหวัดนครศรีธรรมราช และแนวป่ารอยต่อประเทศมาเลเซีย[10]

อ้างอิง[แก้]

  1. แม่แบบ:Author = BirdLife International
  2. Liddell, Henry George (1871). A lexicon. Robert Scott. Oxford. ISBN 0-19-910207-4. OCLC 4060180.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Holyoak, D.T. (2001). Nightjars and Their Allies: The Caprimulgiformes. OUP Oxford. pp. 132–135. ISBN 978-0-19-854987-1.
  4. 4.0 4.1 4.2 "นกปากกบยักษ์ - eBird". ebird.org.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 Gim Cheong Tan, Ding Li Yong, (2010). Observations on the nesting of the Large Frogmouth Batrachostomus auritus in Taman Negara National Park, )peninsular Malaysia. BirdingASIA 14 (2010): 37–43
  6. "ยุทธจักรปักษา : นกกลางคืน (3)". สยามรัฐ. 2018-10-14. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-02. สืบค้นเมื่อ 2021-05-30.
  7. "Photos of Batrachostomus auritus · iNaturalist". iNaturalist.
  8. "Batrachostomus auritus (Large Frogmouth) - Avibase". avibase.bsc-eoc.org.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 International), BirdLife International (BirdLife (2016-10-01). "IUCN Red List of Threatened Species: Batrachostomus auritus". IUCN Red List of Threatened Species.
  10. 10.0 10.1 "Batrachostomus auritus (Large Frogmouth) - Avibase". avibase.bsc-eoc.org.