ทฤษฎีหน้าต่างแตก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หน้าต่างที่แตกของตึกร้างในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

ทฤษฎีหน้าต่างแตก (อังกฤษ: Broken windows theory) คือ ทฤษฎีทางอาชญาวิทยาของการสร้างมาตรฐาน และที่ผลของการก่อกวนและความวุ่นวายในตัวเมืองส่งผลต่อการเพิ่มของอาชญากรรม และพฤติกรรมต่อต้านสังคม ทฤษฎีระบุว่าการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเมืองโดยการป้องกันอาชญากรรมเบาๆ เช่น การก่อกวน การดื่มในที่สาธารณะ และการไม่จ่ายค่าโดยสาร มีส่วนช่วยในการสร้างบรรยากาศของความถูกต้องทางกฎหมาย ดังนั้นจึงมีส่วนช่วยในการยับยั้งการเกิดขึ้นของอาชญากรรมที่ร้ายแรง

ทฤษฎีถูกริเริ่มในปี พ.ศ. 2525 ในบทความที่เขียนโดยนักสังคมศาสตร์  เจมส์ คิว วิลสัน และ จอร์จ แอล เคลลิ่ง[1] ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาทฤษฏีนี้ก็ได้เป็นที่ถกเถียงทั้งภายในสังคมศาสตร์เองและในพื้นที่สาธารณะ ทฤษฎีนี้ถูกใช้เป็นแรงบันดาลใจสำหรับการปฏิรูปในนโยบายทางอาชญากรรมมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง รวมไปถึงการใช้อย่างกว้างขวางของ "หยุด ถาม ค้น" โดยกรมตำรวจนครนิวยอร์ก

บทความและการป้องกันอาชญากรรม[แก้]

เจมส์ คิว วิลสัน และ จอร์จ แอล เคลลิ่ง ได้เริ่มใช้ทฤษฎีหน้าต่างแตกเป็นครั้งแรกในบทความชื่อว่า หน้าต่างแตก ในนิตยสาร เดอะ แอตแลนติก มันท์ลี่ ฉบับเดือนมีนาคม ปีพ.ศ. 2525 [1] โดยชื่อหัวข้อมาจากตัวอย่างต่อไปนี้ 

ก่อนการเริ่มใช้ของทฤษฏีนี้โดยวิลสันและเคลลิ่ง ฟิลลิป ซิมบาร์โด นักนักจิตวิทยาจากสแตนฟอร์ด ทำการทดลองเพื่อทดสอทฤษฎีหน้าต่างแตกในปีพ.ศ. 2512 ซิมบาร์โดได้นำรถซึ่งไม่มีป้ายทะเบียนและเปิดฟากระโปรงไว้ไปจอดนิ่งๆไว้ใน ย่านบร็องซ์หนึ่งคัน และที่พาโล อัลโต รัฐแคลิฟอร์เนีย รถในย่านบร็องซ์นั้นถูกโจมตีในเวลาไม่กี่นาที ซิมบาร์โดได้บันทึกว่า "ผู้ทำลายทรัพย์สิน" กลุ่มแรกคือครอบครัวที่มีพ่อ แม่ และลูกชายวัยเยาว์ ซึ่งนำหม้อน้ำและแบตเตอรี่ออกมา ไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังจากนำไปจอด ของมีค่าทั้งหมดถูกถอดออกไปจากรถ จากนั้นกระจกได้ถูกตีจนแตก ชิ้นส่วนหลุดออก เบาะที่นั่งขาดวิ่น ส่วนเด็กๆนั้นใช้รถเป็นสนามเด็กเล่น ในขณะเดียวกัน รถแบบเดียวกันที่ถูกจอดที่พาโล อัลโต นั้นไม่มีใครแตะต้องเป็นเวลากว่าหนึ่งสัปดาห์จนกระทั่งซิมบาร์โดเองนำค้อนไปทุบรถคันนั้น จากนั้นไม่นานจึงมีคนมาร่วมทำลาย ซิมบาร์โดสังเกตว่าผู้ใหญ่ที่เป็น "ผู้ทำลายทรัพย์สิน" ส่วนใหญ่นั้นเป็นคนผิวขาวที่แต่งตัวดี ตัดผมเรียบร้อย และดูเหมือนคนที่ได้รับการเคารพในสังคม เชื่อกันว่าในย่านที่อยู่อาศัยเช่นบร็องซ์ ซึ่งมีประวัติของการทิ้งร้างทรัพย์สินสูงกว่าที่อื่นนั้น มีการทำลายทรัพย์สินเกิดขึ้นรวดเร็วกว่าที่อื่นด้วยความที่ชุมชนนั้นดูไม่แยแส เหตุการณ์คล้ายกันอาจเกิดขึ้นในชุมชนไหนก็ได้เมื่อสัมผัสของการเอาใจใส่และหน้าที่ของความเป็นพลเมืองดี ถูกทำให้ลดลงโดยการกระทำที่สื่อถึงการไม่แยแส[1] บทความได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางและยังถูกใช้อ้างอิง[2]

ผู้แต่งหนังสือได้กล่าวไว้ว่า แผนการที่ประสบความสำเร็จในการป้องกันการทำลายทรัพย์สิน คือการจัดการกับปัญหาเมื่อมันยังเล็กอยู่ ซ่อมหน้าต่างที่แตกในเวลาอันสั้น ภายในประมาณซักหนึ่งวันหรือหนึ่งสัปดาห์ แล้วแนวโน้มที่กระจกจะแตกเพิ่มขึ้นหรือทรัพย์สินจะถูกทำลายจะน้อยลงมาก ทำความสะอาดทางเท้าทุกวัน แล้วแนวโน้มของขยะสะสมจะน้อยลง (หรือการทิ้งขยะลงบนทางเท้าจะน้อยลงมาก) สิ่งเหล่านี้จะทำให้ปัญหามีโอกาสน้อยลงที่จะบานปลายและยังทำให้ผู้อยู่อาศัยที่ "น่านับถือ" ไม่ย้ายที่อยู่หนีไป

ดังนั้นทฤษฎีนี้อ้างว่าหากอาชญากรรมเล็กๆและพฤติกรรมต่อต้านสังคมเล็กๆน้อยๆถูกขัดขวาง จะทำให้อาชญากรรมส่วนใหญ่ไม่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน การวิจารณ์ทฤษฎีนี้นั้นมีแนวโน้มที่จะเน้นไปที่การอ้างผลของทฤษฏีที่อาจจะเกินจริง

แนวคิดของความกลัว[แก้]

ระนาสิงห์กล่าวว่าแนวคิดของความกลัวเป็นส่วนประกอบสำคัญของทฤษฎีหน้าต่างแตกเพราะความกลัวนั้นเป็นพื้นฐานของทฤษฎีนี้[3] เธอยังกล่าวอีกว่าความวุ่นวายในสังคมนั้น "...เป็นปัญหาเพราะว่ามันเป็นแหล่งที่มาของความกลัว"[1] ความกลัวจะเพิ่มขึ้นเมื่อความวุ่นวายนั้นถูกมองว่ามากขึ้น สร้างเป็นรูปแบบทางสังคมที่ทำให้ชุมชนแตกแยก และทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกสิ้นหวังและถูกตัดขาด

คำอธิบายเชิงทฤษฎี[แก้]

เหตุผลที่สถานะสิ่งแวดล้อมเมืองอาจส่งผลต่ออาชญากรรมนั้นอาจมาจากสามปัจจัยหลัก ดังนี้

ในสภาพแวดล้อมแบบเมืองซึ่งมีคนอยู่น้อยหรือไม่มีเลยนั้นมีบรรทัดฐานและการเฝ้าดูทางสังคมที่ไม่มีใครรู้แน่ชัด ดังนั้นบุคคลจึงมองหาสัญญาณเกี่ยวกับบรรทัดฐานทางสังคมในสภาพแวดล้อม รวมถึงความเสี่ยงในการถูกจับขณะละเมิดบรรทัดฐานเหล่านั้น โดยหนึ่งในสัญญาณเหล่านั้นคือสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปของพื้นที่

ภายใต้ทฤษฎีหน้าต่างแตก สภาพแวดล้อมที่สะอาดเรียบร้อยซึ่งถูกดูแลเป็นอย่างดีส่งสัญญาณว่าพื้นที่นั้นถูกเฝ้าดูและจะไม่ยอมให้เกิดอาชญากรรมขึ้น ในทางตรงข้าม สิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นระเบียบซึ่งไม่ได้รับการดูแล (มีหน้าต่างแตก มีรอยวาดตามผนัง มีขยะตามทาง) ส่งสัญญาณว่าพื้นที่นี้ไม่ได้ถูกเฝ้าดูและมีโอกาสไม่มากที่จะถูกจับเมื่อกระทำผิด

ทฤษฎีนี้สันนิษฐานว่าภูมิทัศน์ "สื่อสาร" กับคน หน้าต่างที่แตกส่งสัญญาณให้กับอาชญากรว่าชุมชนนี้ไม่มีการควบคุมทางสังคม และไม่สามารถปกป้องตนเองจากการบุกรุกทางอาชญากรรมได้ หน้าต่างที่แตกนั้นไม่ได้มีความสำคัญมากมายอะไร ทว่าข้อความที่หน้าต่างแตกๆส่งไปให้ผู้คนนั้น เป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนแอและไร้การป้องกันของชุมชน รวมทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความแตกแยกของผู้คนในชุมชน ละแวกบ้านที่มีการทำงานร่วมกันซ่อมหน้าต่างที่แตกและแสดงความรับผิดชอบทางสังคมได้ให้สิทธิ์ในการควบคุมพื้นที่กับตัวพวกเขาเอง แม้ทฤษฎีจะเน้นไปทางสิ่งแวดล้อมที่ถูกสร้างขึ่น ก็ยังต้องคำนึงถึงพฤติกรรมมนุษย์เช่นกัน[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Wilson, James Q; Kelling, George L (Mar 1982), "Broken Windows: The police and neighborhood safety", The Atlantic, retrieved 2007-09-03).
  2. Kelling, George; Coles, Catherine, Fixing Broken Windows: Restoring Order and Reducing Crime in Our Communities,ISBN 0-684-83738-2.
  3. Ranasinghe, P (2012), "Jane Jacobs' framing of public disorder and its relation to the 'broken windows' theory", Theoretical Criminology 16 (1): 63–84, doi:10.1177/1362480611406947.
  4. Herbert, Steve; Brown, Elizabeth (September 2006), "Conceptions of Space and Crime in the Punitive Neoliberal City", Antipode 38 (4): 755–77, doi:10.1111/j.1467-8330.2006.00475.x.