ฌ็อง นูแวล
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง คุณสามารถพัฒนาบทความนี้ได้โดยเพิ่มแหล่งอ้างอิงตามสมควร เนื้อหาที่ขาดแหล่งอ้างอิงอาจถูกลบออก |
ฌ็อง นูแวล | |
---|---|
![]() | |
เกิด | ฟูว์แมล, จังหวัดลอเตการอน, ประเทศฝรั่งเศส | 12 สิงหาคม ค.ศ. 1945
สัญชาติ | ฝรั่งเศส |
รางวัล | Chevalier de la légion d'honneur, Commandeur de l'Ordre des Arts et des Lettres, Aga Khan Award for Architecture (Arab World Institute), Pritzker Prize, Wolf Prize in Arts |
ผลงานสำคัญ | Arab World Institute Guthrie Theater |
ฌ็อง นูแวล (ฝรั่งเศส: Jean Nouvel; 12 สิงหาคม พ.ศ. 2488 — ) สถาปนิกชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงระดับโลก เจ้าของรางวัลพริตซ์เกอร์ ทางสถาปัตยกรรมแห่งปี ค.ศ. 2008
ประวัติ[แก้]
ฌ็อง นูแวล เกิดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ที่เมืองฟูว์แมล จังหวัดลอเตการอน ประเทศฝรั่งเศส เป็นบุตรชายของนายโรแชร์ และนางเรอเน นูแวล ที่เป็นครูทั้งคู่ ครอบครัวของนูแวลต้องย้ายถิ่นฐานบ่อยครั้งเมื่อบิดาของเขาได้ตำแหน่งผู้อำนวยการการศึกษาประจำเขตปกครอง บิดามารดาของนูแวลสนับสนุนให้เขาเรียนคณิตศาสตร์ และภาษา แต่เมื่อเขาอายุย่างเข้า 16 ปี ก็เริ่มหลงใหลในศิลปะ เมื่อได้เรียนวาดรูปกับคุณครูท่านหนึ่ง ที่บอกว่าครอบครัวของนูแวลสนับสนุนให้บุตรชายเรียนไปทางด้านการศึกษาหรือไม่ก็วิศวกรรม แต่ก็ยอมประนีประนอมให้เขาเรียนสถาปัตยกรรมได้ เพราะเห็นว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่าการเรียนศิลปะ
นูแวลสอบเอ็นทรานซ์เข้าโรงเรียนวิจิตรศิลป์แห่งเมืองบอร์โดไม่ผ่าน เขาจึงย้ายเข้ากรุงปารีส และได้ชนะเลิศการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนศิลปะชั้นสูงแห่งชาติ จากปี ค.ศ. 1960 ถึง 1970 นูแวลเลี้ยงชีพด้วยการเป็นผู้ช่วยสถาปนิกของโกลด ปาร็อง และปอล วีรีลีโอ ผู้ซึ่งภายในระยะเวลาเพียงปีเดียว ได้เลื่อนตำแหน่งให้นูแวลขึ้นเป็นผู้จัดการโครงการก่อสร้างอพาร์ตเมนต์คอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่
นูแวลได้สมรสกับออดีล ฟีลียง นักสร้างภาพยนตร์ และมีบุตรชายด้วยกันสองคน คนโตชื่อแบร์ทร็อง เป็นนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ระดับ post-doctorate ปัจจุบันทำงานให้กับมหาวิทยาลัยแห่งเมืองชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ส่วนปีแยร์ ลูกชายคนรองเป็นนักผลิตละครเวทีและนักออกแบบให้กับบริษัทของตนเองที่ชื่อว่า Factoid นูแวลมีบุตรสาวหนึ่งคน (ซาร่า) กับแคทรีน ริชาร์ด ภรรยาคนที่สอง ปัจจุบัน นูแวลอยู่กินกับมีอา ฮักก์ สถาปนิกชาวสวีเดนผู้ซึ่งทำงานที่สำนักงานสถาปนิก Habiter Autrement (HA) ในกรุงปารีส
ผลงาน[แก้]

หลังจากที่ได้โครงการก่อสร้างสถาบันโลกอาหรับ และโครงการปรับปรุงห้างสรรพสินค้าฟอรั่ม เลส์อาล ได้สิ้นสุดลงในปีค.ศ. 2004 นูแวลได้เปิดตัวอาคารพิพิธภัณฑ์แห่งเก บร็องลีย์เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 2006 ที่กรุงปารีส และได้เป็นผลงานเลื่องชื่อชิ้นล่าสุดในเมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศส
ในช่วงต้นปี ค.ศ. 2006 บริษัทเนสต์เล่ ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ภายใต้การบริหารของนายเนลลี เวนเจอร์ ได้นำเสนอรูปแบบบรรจุหีบห่อช็อกโกแลตแบบใหม่ ภายใต้ยี่ห้อ ไกเยอร์ ที่เป็นผลงานออกแบบของฌ็อง นูแวล ชาวสวิสที่คุ้นเคยกับห่อกระดาษ ไม่ตอบรับห่อพลาสติกดีเท่าที่ควร เนื่องจากมันไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และแสดงภาพลักษณ์ฟุ่มเฟือยกว่าห่อที่ทำจากกระดาษที่เป็นวุสดุห่อแบบดั้งเดิมของผลิตภัณฑ์ ร้านค้าปลีกเดนแนร์ได้ทำให้เรื่องนี้บานปลายด้วยการปฏิเสธการวางจำหน่ายช็อกโกแลตนี้ และกล่าวหาว่าบริษัทขายผลิตภัณฑ์นี้แพงกว่าเดิม ปลายปี ค.ศ. 2006 บริษัทเนสต์เล่ได้ประกาศยกเลิกหีบห่อบรรจุที่ออกแบบโดยฌ็อง นูแวล
วันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 2008 ฌ็อง นูแวล ได้รางวัลพริตซ์เกอร์[1] จากผลงานตลอดชีวิตโดยรวมที่โดดเด่น และได้รับคำชมเชยจาก โธมัส พริตซ์เกอร์ ว่า "มีการคิดค้นที่แปลกใหม่และกล้าหาญ และตั้งข้อสงสัยกับรูปแบบที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป และยังก้าวพ้นขอบเขตการสร้างสรรค์ผลงานของตนเอง"
แฟรนไชส์ใหม่ของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ สาขาอาบูดาบี ตั้งอยู่บนเกาะ Saadiyat ซึ่งเป็นเกาะที่สร้างโดยมนุษย์ และได้ฌ็อง นูแวล เป็นผู้ออกแบบให้ ว่ากันว่าการลงนามในครั้งนี้จะทำให้ฝรั่งเศสร่ำรวยขึ้นอีก 700 ล้านยูโร โดย 400 ล้านยูโรคิดเป็นค่าลิขสิทธิ์ในการใช้ชื่อลูฟวร์ ฝรั่งเศสวางแผนจะนำเงินนี้มาปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ในกรุงปารีส
อ้างอิง[แก้]
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
![]() |
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ: อาคารที่ออกแบบโดย ฌ็อง นูแวล |