ข้ามไปเนื้อหา

ซีโควยา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซีโควยา
ᏍᏏᏉᏯ
เกิดป. 1770
ทัสคีกี, ชนชาติเชอโรคี (ใกล้กับน็อกซ์วิลล์, รัฐเทนเนสซีในปัจจุบัน)[1]
เสียชีวิตสิงหาคม 1843 (อายุ 72–73)
San Fernando de Rosa, โกอาวีลา, เม็กซิโก (ใกล้กับซาราโกซา, โกอาวีลา, ประเทศเม็กซิโกในปัจจุบัน)
สัญชาติเชอโรคี, อเมริกัน
ชื่ออื่นGeorge Guess, George Gist
อาชีพช่างเงิน, ช่างตีเหล็ก, นักการศึกษา, นักสู้, นักการเมือง, นักประดิษฐ์
คู่สมรสคนแรก: แซลลี (ไม่ทราบชื่อก่อนสมรส), คนที่ 2: U-ti-yu, ᎤᏘᏳ
บุตรภรรยาคนแรกมีลูกสี่คน ภรรยาคนที่สองมีลูกสามคน
บิดามารดาWut-teh กับ Nathanial Gist

ซีโควยา (เชโรกี: ᏍᏏᏉᏯ Ssiquoya ชื่อที่เจ้าตัวสะกด) [2][3] หรือ เซโควยา (เชโรกี: ᏎᏉᏯ Sequoya ชื่อที่มักสะกดกันในปัจจุบัน) มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า จอร์จ กิสต์ (อังกฤษ: George Gist) (ประมาณ พ.ศ. 2310–2386) เป็นช่างเงินชาวเชโรกีและเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรเชโรกีสำหรับเขียนภาษาเชโรกีในปีพ.ศ. 2364 ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในเพียงไม่กี่ครั้งที่บุคคลผู้ไม่รู้หนังสือจะสามารถสร้างระบบการเขียนที่มีประสิทธิภาพสำหรับภาษาหนึ่งได้[1][4] อักษรเชโรกีของซีโควยาได้แพร่หลายและเป็นที่ยอมรับในหมู่ชาวเชโรกี และทำให้อัตราการรู้หนังสือของชาวเชโรกีในสมัยนั้นสูงกว่าชาวอเมริกันที่อพยพมาจากยุโรปเสียอีก[1]

การคิดค้นระบบการเขียน

[แก้]
ตัวอักษรที่ซีโควยาคิดค้นขึ้น เรียงตามลำดับที่เขาจัดไว้ในตอนแรก

ในฐานะช่างเงิน ซีโควยาจึงได้ติดต่อกับคนผิวขาวอยู่เป็นประจำ ทำให้ซีโควยาได้เห็น "ใบพูดได้" (talking leaves) หรือหนังสือ และเกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้างระบบการเขียนสำหรับภาษาของตนบ้าง จึงได้เริ่มการคิดค้นตัวอักษรในช่วงประมาณปีพ.ศ. 2352 ในตอนแรกซีโควยาได้พยายามสร้างตัวอักษรขึ้นมาสำหรับคำแต่ละคำ โดยใช้เวลาเป็นปีเพื่อคิดตัวอักษรโดยแทบไม่สนใจไร่นาของตนเลย ทำให้บรรดาเพื่อนและเพื่อนบ้านคิดว่าเขาเสียสติไปแล้ว[5][6] กล่าวกันว่าภรรยาของเขาได้เผางานในช่วงแรก ๆ ของเขา เพราะคิดว่าเป็นเวทมนตร์[1]

ซีโควยาไม่ประสบความสำเร็จจนกระทั่งเขาได้ล้มเลิกความตั้งใจที่จะสร้างตัวอักษรขึ้นสำหรับคำแต่ละคำ และได้พยายามที่จะสร้างตัวอักษรขึ้นมาสำหรับพยางค์แต่ละพยางค์แทน หลังจากนั้นประมาณหนึ่งเดือน เขาได้สร้างตัวอักษรขึ้นมา 86 ตัว ซึ่งหลายตัวมีหน้าตาเหมือนอักษรละตินที่เขาได้แบบอย่างมาจากหนังสือสอนสะกดคำ[5] Janine Scancarelli นักวิชาการทางด้านอักษรเชโรกีกล่าวว่า "ตัวอักษรหลายตัวมีรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกับอักษรละติน ซีริลลิก กรีก และเลขอารบิก แต่ก็ไม่มีความสัมพันธ์ทางด้านเสียงในภาษาดังกล่าวกับภาษาเชโรกีแม้แต่น้อย"[1]

เนื่องจากเขาไม่สามารถหาคนที่ต้องการจะเรียนรู้อักษรที่เขาประดิษฐ์ขึ้นมาได้ ซีโควยาจึงสอน Ayokeh (หรือ Ayoka) ลูกสาวของเขาเอง[1] และได้เดินทางไปยังพื้นที่ที่ปัจจุบันเป็นรัฐอาร์คันซอ ซึ่งมีชาวเชโรกีอาศัยอยู่จำนวนหนึ่ง เขาได้พยายามโน้มน้าวให้หัวหน้าของคนในท้องถิ่นเห็นความสำคัญของอักษร และได้สาธิตให้ดู โดยให้คนเหล่านั้นพูดคำมาคำหนึ่ง แล้วเขาก็เขียนคำลงไป จากนั้นก็ให้ลูกสาวของเขาอ่านคำที่เขาเขียนไว้ การสาธิตดังกล่าวได้ทำให้เขาได้สอนอักษรกับคนเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย ซึ่งทำให้เกิดข่าวลือว่าเขาได้สอนวิชาการใช้เวทมนตร์กับพวกนักเรียน หลังจากที่สอนเสร็จแล้ว เขาได้ทดสอบการอ่านเขียนของนักเรียน ซึ่งก็ทำให้ชาวเชโรกีในที่แห่งนั้นเข้าใจว่าซีโควยาได้สร้างระบบการเขียนที่ใช้งานได้จริง[6]

เมื่อซีโควยากลับมาทางตะวันออก เขาได้นำจดหมายปิดผนึกที่บันทึกคำพูดของหัวหน้าชาวพื้นเมืองที่อาร์คันซอมาด้วย และได้อ่านข้อความดังกล่าวให้กับชาวเชโรกีทางตะวันออกฟัง ทำให้มีชาวเชโรกีทางตะวันออกสนใจเรียนอักษรเชโรกีเพิ่มขึ้นอีก[5][6]

ในปีพ.ศ. 2368 ชนชาติเชโรกีได้รับระบบการเขียนดังกล่าวอย่างเป็นทางการ และระหว่างปีพ.ศ. 2371 - 2377 นักเขียนและบรรณาธิการได้ใช้อักษรของซีโควยาตีพิมพ์ เชโรกี ฟีนิกซ์ หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของชนชาติเชโรกี ซึ่งตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษและภาษาเชโรกี[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 Wilford, John Noble. "Carvings From Cherokee Script’s Dawn ." New York Times. 22 June 2009 (retrieved 23 June 2009)
  2. Morand, Ann (2003). Treasures of Gilcrease: Selections from the Permanent Collection. Tulsa, OK: Gilcrease Museum. ISBN 097256571X. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  3. Holmes, Ruth Bradley (1976). Beginning Cherokee: Talisgo Galiquogi Dideliquasdodi Tsalagi Digoweli. Norman: University of Oklahoma Press. ISBN 0-8061-1362-6. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  4. 4.0 4.1 "Sequoyah" เก็บถาวร 2007-11-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, New Georgia Encyclopedia, accessed 3 Jan 2009
  5. 5.0 5.1 5.2 G. C. (1820-08-13). "Invention of the Cherokee Alphabet". Cherokee Phoenix. Vol. 1 no. 24.
  6. 6.0 6.1 6.2 Boudinot, Elias (1832-04-01). "Invention of a new Alphabet". American Annals of Education.