ซิลเวนา โทมาเซลลี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซิลเวนา วินด์เซอร์
เกิดซิลเวนา พัลมา โทมาเซลลี
28 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 (66 ปี)
แพลเซนเทีย รัฐนิวฟันด์แลนด์และแลบราดอร์ ประเทศแคนาดา
อาชีพนักประวัติศาสตร์, นักวิชาการวิทยาลัยเซนต์จอนส์ (เคมบริดจ์)
ตำแหน่งเคาน์เตสแห่งเซนต์แอนดรูส์ (พ.ศ. 2531–ปัจจุบัน)
คู่สมรสจอห์น พอล โจนส์ (พ.ศ. 2520–2524)
จอร์จ วินด์เซอร์ เอิร์ลแห่งเซนต์แอนดรูส์ (พ.ศ. 2531–ปัจจุบัน)
บุตรเอ็ดเวิร์ด วินด์เซอร์ ลอร์ดดาวน์แพทริก
เลดีมารีนา ชาร์ลอตต์ วินด์เซอร์
เลดีอาเมเลีย วินด์เซอร์
บิดามารดา
  • มักซีมีเลียน คาร์ล โทมาเซลลี (บิดา)
  • โจซิแอน เพรสเชซ (มารดา)

ซิลเวนา พัลมา วินด์เซอร์ เคาน์เตสแห่งเซนต์แอนดรูส์ (อังกฤษ: Sylvana Palma Windsor, Countess of St Andrews; 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2500) เป็นที่รู้จักในชื่อเดิมว่า ซิลเวนา โทมาเซลลี (อังกฤษ: Sylvana Tomaselli)[1] เป็นนักวิชาการ, นักประวัติศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และเป็นภรรยาของจอร์จ วินด์เซอร์ เอิร์ลแห่งเซนต์แอนดรูส์ พระโอรสในเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งเคนต์

ประวัติ[แก้]

ซิลเวนาเกิดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 ณ เมืองแพลเซนเทีย รัฐนิวฟันด์แลนด์และแลบราดอร์ ประเทศแคนาดา เป็นธิดาของมักซีมีเลียน คาร์ล โทมาเซลลี (Maximilian Karl Tomaselli) ชาวซาลซ์บูร์ก กับโจซิแอน เพรสเชซ (Josiane Preschez)

ซิลเวนาสำเร็จการศึกษาจากประเทศแคนาดาและอังกฤษ

สมรส[แก้]

ซิลเวนาสมรสครั้งแรกกับจอห์น พอล โจนส์ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2520 ที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา แล้วหย่าใน พ.ศ. 2524 โดยไม่มีบุตรด้วยกัน ต่อมาเธอสมรสหนที่สองกับจอร์จ วินด์เซอร์ เอิร์ลแห่งเซนต์แอนดรูส์ เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2531 ที่เมืองลีธ ประเทศสกอตแลนด์[2] ทั้งคู่มีบุตรสามคน คือ

  1. เอ็ดเวิร์ด เอ็ดมุนด์ แมกซิมิเลียน จอร์จ วินด์เซอร์ ลอร์ดดาวน์แพทริก (2 ธันวาคม พ.ศ. 2531)
  2. เลดีมารีนา ชาร์ลอตต์ อะเล็กซันดรา แคเทอริน เฮเลน วินด์เซอร์ (30 กันยายน พ.ศ. 2535)
  3. เลดีอาเมเลีย โซเฟีย เทโอโดรา แมรี มาร์กาเรต วินด์เซอร์ (24 สิงหาคม พ.ศ. 2538)

ส่วนตัวเธอนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และไม่ยอมทิ้งความเชื่อหลังการสมรสกับสามีที่นับถือนิกายอังกฤษ ซึ่งไม่มีผลต่อสิทธิในการสืบราชสันตติวงศ์ของเอิร์ลแห่งเซนต์แอนดรูส์ แต่ในเวลาต่อมาเอ็ดเวิร์ดและเลดีมารีนา บุตรสองคนแรกของเธอได้เข้ารีตนิกายโรมันคาทอลิกตามเธอใน พ.ศ. 2546 และ พ.ศ. 2551 ตามลำดับ ถือเป็นการละเมิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์แห่งสหราชอาณาจักร ส่งผลทั้งสองจึงถูกถอนชื่อออกจากการเป็นรัชทายาท มีเพียงเลดีอาเมเลียเพียงคนเดียวที่ยังอยู่ในลำดับการสืบราชสันตติวงศ์

การทำงานด้านวิชาการ[แก้]

ซิลเวนารับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย และศิลปศาสตรมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยยอร์ก, มหาวิทยาลัยออนแทรีโอ และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เมื่อ พ.ศ. 2547 เธอมีเชี่ยวชาญด้านทฤษฎีการเมืองฝรั่งเศสและอังกฤษช่วงศตวรรษที่ 18 โดยเฉพาะความเป็นผู้หญิง รวมทั้งมีงานเขียนเกี่ยวกับจอห์น ล็อก, ฌ็อง-ฌัก รูโซ, เดวิด ฮิวม์, แมรี โวลสโตนคราฟต์ และจอห์น สจวร์ต มิลล์ เธอสอนวิชาประวัติศาสตร์ทฤษฎีการเมืองและเป็นผู้บรรยายของคณะประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะด้านสังคมและรัฐศาสตร์[3]

เธอเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งศูนย์ยุโรป เรื่องปรัชญาเกี่ยวกับเพศสภาพ (Philosophy of Gender) เมืองซีเกิน ประเทศเยอรมนี[4] ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการการศึกษาประวัติศาสตร์ส่วนที่ 1 สังคมและรัฐศาสตร์ วิทยาลัยเซนต์จอนส์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์[5] และเป็นอาจารย์พิเศษแก่นักศึกษาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติในวิทยาลัยเซนต์จอนส์

ซิลเวนาได้รับการเลือกตั้งให้เป็นนักวิชาการของราชสมาคมประวัติศาสตร์ (Royal Historical Society)[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. "CRASSH Seminar Room, 17 Mill Lane". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 กันยายน 2015. สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2015.
  2. "Earl of St Andrews". Debrett's. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 September 2012.
  3. "Miss Tomaselli | St John's College". Joh.cam.ac.uk. สืบค้นเมื่อ 9 April 2012.
  4. "Europäisches Zentrum für philosophische Geschlechterforschung (EZPG), Siegen — EuroGender". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-03-10. สืบค้นเมื่อ 27 October 2016.
  5. "Sylvana Tomaselli". The Centre for Research in the Arts, Social Sciences and Humanities. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 ตุลาคม 2010.
  6. FRHistS List T เก็บถาวร 8 มกราคม 2016 ที่ Wikiwix
ก่อนหน้า ซิลเวนา โทมาเซลลี ถัดไป
เคาน์เตสแห่งอัลสเตอร์ ลำดับโปเจียมแห่งสหราชอาณาจักร
(ฝ่ายใน)

เลดีดาวีนา ลูวิส