ซารีนามารีเยีย เตมรีอูคอฟนาแห่งรัสเซีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มารีเยีย เตมรีอูคอฟนาแห่งรัสเซีย
ภาพวาดเรื่องราวพระเจ้าซาร์และซารีนามารีเยีย พร้อมซาเรวิชอีวานและซาเรวิชเฟโอดอร์ เสด็จจากเมืองอะเลคซันดรอฟ กลับไปยังมอสโก
ซารีนาแห่งรัสเซีย
ครองราชย์21 สิงหาคม ค.ศ. 1561-
1 กันยายน ค.ศ. 1569
ก่อนหน้าว่าง
อนาสตาเซีย โรมานอฟนา
ถัดไปว่าง
มาร์ฟา โซบาคินา
ประสูติราวค.ศ. 1544
คาบาร์เดีย
สวรรคตผิดพลาด: ต้องการวันเกิดที่ถูกต้อง (วันที่สอง): ปี เดือน วัน
อะเลคซันดรอฟ, แคว้นวลาดีมีร์, อาณาจักรซาร์รัสเซีย
ฝังพระศพคอนแวนต์แอสเซนชัน โคโลเมนสโกเย
วิหารเทวทูต เครมลินแห่งมอสโก (ค.ศ. 1929)
พระราชสวามีซาร์อีวานที่ 4 แห่งรัสเซีย
พระราชบุตรซารเรวิชวาซิลี อีวาโนวิช
พระนามเต็ม
มารีเยีย เตมรีอูคอฟนา
เดิม
โคเชนีย์ บินท์ เตมูร์
ราชวงศ์รูริค
พระราชบิดาเตมรูคแห่งคาบาร์เดีย
ศาสนาออร์โธดอกซ์รัสเซีย
เดิม อิสลาม

ซารีนามารีเยีย เตมรีอูคอฟนาแห่งรัสเซีย (Maria Temryukovna, รัสเซีย: Мари́я Темрюко́вна, ราวค.ศ. 1544 - 1 กันยายน ค.ศ. 1569) เป็นซารีนาเชื่อสายชาวเซอร์คาสเซียน แห่งอาณาจักรซาร์รัสเซีย และเป็นพระมเหสีพระองค์ที่สองในซาร์อีวานที่ 4 แห่งรัสเซีย

พระชนม์ชีพ[แก้]

เสกสมรส[แก้]

พระธำมรงค์ประจำพระองค์ของซารีนามารีเยีย เตมรีอูคอฟนาแห่งรัสเซีย

มารีเยียเป็นธิดาของเตมรูค (ติมูร์ หรือ เตมูร์) แห่งคาบาร์เดีย นับถือศาสนาอิสลาม พระนามเดิมของมารีเยีย คือ โคเชนีย์ บินท์ เตมูร์ [Qochenay bint Teymour] (Кученей) เป็นพระนามเดิมก่อนที่เข้าพิธีศีลจุ่ม หลังจากที่ซารีนาอนาสตาเซีย โรมานอฟนา พระมเหสีพระองค์แรกสิ้นพระชนม์ได้ 8 วัน โดยมีเขียนบรรยายว่า "สังฆมณฑล คณะสงฆ์และขุนนางโบยาร์ได้เชื้อเชิญอย่างจริงจังให้พระองค์เสาะหาเจ้าสาว และแจ้งว่าจะผ่อนปรนกฏแห่งความเหมาะสม"[1] แต่เดิมซาร์อีวานที่ 4 แห่งรัสเซียทรงตั้งพระทัยที่จะอภิเษกสมรสกับคาทาริสนา จากีลอน พระขนิษฐาในกษัตริย์โปแลนด์ แต่กษัตริย์โปแลนด์ทรงเรียกร้องดินแดนปัสคอฟ สโมเลนสค์ และเวลีคีนอฟโกรอด จึงทำให้พระองค์ล้มเลิกแผนการ

ในปีค.ศ. 1560 พระเจ้าซาร์ทรงส่งขุนนางดูตัวไปสองคน คือ โวคเชรีนและเมียคีนิน ไปยังแถบเทือกเขาคอเคซัส "เพื่อดูตัวธิดาของเหล่าเจ้านครแถบเชอกาซี" ในวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1561 ก็ได้พบเจ้าหญิงโคเชนีย์ "สตรีชาวเชอกาจากเมืองปียาตีกรอสค์" พวกเขาจึงให้เธอเดินทางมายังมอสโกพร้อมพี่ชายของเธอชื่อ ซัลตาลกุน (ต่อมามีการเปลี่ยนศาสนาและรับนามใหม่เป็น มีฮาอิล) พวกเขาได้พักที่ตึกใกล้พระราชวังเครมลิน ต่อมาพระเจ้าซาร์ทรงมี "พระบัญชาให้เจ้าหญิงเชอกาสกายาเข้าราชสำนัก พระองค์ทอดพระเนตรนางและตกหลุมรักนาง" ราชสำนักได้ส่งพระราชสาส์นไปถึงบิดาของเธอว่า

"ท่านเตมีร์กา ด้วยความดีงามในหัวใจของธิดาท่าน องค์ซารีนามารีเยีย เตมรีอูคอฟนาจะทรงเป็นที่รักยิ่งของพระเจ้าเหนือหัว ซาร์และแกรนด์ดยุกอีวาน วาซีลีเยวิช พระองค์จะทรงประทานความดีความชอบอันยิ่งใหญ่แก่พวกเรานี้ และธิดาของท่านจะอยู่เคียงข้างพระองค์ พระประมุข อันเป็นเกียรติยศแก่รัชสมัย"[2]

นิทานพื้นบ้านของรัสเซียได้มีการกล่าวว่า ก่อนที่ซารีนาอนาสตาเซียจะสิ้นพระชนม์ ได้ทรงเตือนพระเจ้าซาร์ว่าขออย่าโปรดนำหญิงนอกรีตขึ้นเป็นพระมเหสี แต่ซาร์อีวานทรงหลงใหลในความงามของมารีเยียอย่างมาก และทรงตัดสินพระทัยอภิเษกสมรสกับพระนางทันที ในวันที่ 6 กรกฎาคม มีการประกอบพระราชพิธีหมั้นตามประเพณีรัสเซียโบราณ มีการมอบแหวนและผ้าพันคอประดับมุกตามธรรมเนียม[3] โคเชนีย์ได้รับการบัฟติศมาและรับพระนามใหม่เป็นมารีเยีย ตามพระนามของนักบุญมารีย์ชาวมักดาลา หลังเสร็จสิ้นพิธีทางศาสนา พระเจ้าซาร์อีวานที่ 4 ทรงมอบไม้กางเขตสีทองแก่ซารีนามารีเยีย และซาเรวิชอีวานและซาเรวิชเฟโอดอร์ พระโอรสของพระเจ้าซาร์ทรงมอบไม้กางเขนประดับด้วยเพชรและไข่มุกแก่พระมารดาเลี้ยง ในวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1561 ได้มีการจัดพิธีอภิเษกสมรสขึ้นก่อนจะถึงวันคล้ายวันพระราชสมภพของซาร์อีวาน 4 วัน ซาร์อีวานจะมีพระชนมายุ 31 พรรษา พระนางได้รับการสวมมงกุฎในมหาวิหารอัสสัมชัญ และทรงได้รับมอบจานทองคำที่ระลึกซึ่งเป็นฝีมือจากช่างทองของรัสเซีย

การเสกสมรสกับมารีเยีย เตมรีอูคอฟนาเกิดขึ้นไม่นานหลังซารีนาอนาสตาเซีย สิ้นพระชนม์ กลุ่มเจ้าชายเชอคาสก์ ญาติพี่น้องของมารีเยียได้เข้ามามีบทบาทและมีความก้าวหน้าในราชการอย่างรวดเร็ว และต่อมาจะมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์รัสเซีย หนึ่งในหลานชายของซารีนามารีเยียคือ โฮโรเชย์-มูร์ซา ที่ได้รับนามใหม่ว่า บอริส ได้แต่งงานกับมาร์ฟา น้องสาวของอัครบิดรฟิลาเรตแห่งมอสโก

เจอโรม ฮอร์ซีย์ นักการทูตอังกฤษได้บันทึกว่า "หลังจากนั้น (การสิ้นพระชนม์ของอนาสตาเซีย) พระองค์ (ซาร์อีวาน) ได้อภิเษกสมรสกับหนึ่งในเจ้าหญิงเซอคาสเซียนจากที่ห่างไกล เรารู้ว่าพระองค์ไม่มีทายาทกับพระนาง แต่การอภิเษกสมรสนี้เป็นพิธีเฉลิมฉลองและมีการจัดเทศกาลที่แปลกประหลาดและนอกรีตมากเสียจนอยากจะเชื่อว่ามันเกิดขึ้นจริง"

พระชนม์ชีพสมรส[แก้]

ซารีนามารีเยียมีพระประสูติกาลพระโอรส คือ ซาเรวิชวาซิลี อีวาโนวิช ในวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1563 ตั้งพระนามตามพระสัสสุระของพระนาง คือ วาซิลีที่ 3 เจ้าชายแห่งมอสโก แต่ซาเรวิชสิ้นพระชนม์ในวันที่ 3 พฤษภาคม ปีเดียวกัน

ในปีค.ศ. 1562 ซารีนามารีเยียมักจะตามเสด็จพระราชสวามีไปในการเยี่ยมเยือนอารามสงฆ์ต่างๆ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1563 พระนางเสด็จเยือนเมืองอะเลคซันดรอฟ พร้อมกับพระโอรสเลี้ยงองค์โต คือ ซาเรวิชอีวาน อีวาโนวิช เพื่อเดินทางแสวงบุญไปยังเมืองซุสดัล และรอสตอฟ

ในประวัติศาสตร์รัสเซียมักแสดงภาพซารีนามารีเยีย เตมรีอูคอฟนาในทางลบ และเชื่อว่าพระนางทรงสร้างแนวคิดในแง่ร้ายแก่พระราชสวามี ในบันทึกร่วมสมัยเขียนถึงซารีนามารีเยียว่าเป็นคน "มุ่งร้าย" หรือ มาเรีย "ผู้สร้างอารมณ์เสีย" ให้แก่พระเจ้าซาร์ และทรงยุยงให้สร้างความหวาดกลัวขึ้นมา

"การอภิเษกสมรสครั้งที่สองของซาร์อีวานนั้นไม่มีความสุขเหมือนชีวิตสมรสครั้งแรก มารีเยียสะกดใจพระสวามีด้วยความงามของพระนางเท่านั้น แต่ไม่สามารถแทนที่อนาสตาเซียในหัวใจของพระองค์และของประเทศได้ สำนึกถึงความเป็นเกียรติภูมิของราชวงศ์ไม่เคยอยู่ในความคิดของซารีนา คนร่วมสมัยเขียนว่า เจ้าหญิงจากเซอร์คาสเซียน ทรงมีอารมณ์ป่าเถื่อนรุนแรง มีความโหดเหี้ยมในจิตวิญญาณ ยังถ่ายทอดจิตใจที่ชั่วร้ายไปสู่อีวานว่าพระองค์ไม่สามารถรักษาความรักของพระองค์ได้ ในไม่ช้าชีวิตสมรสก็เปลี่ยนเป็นความเย็นชา พระองค์ได้ลิ้มรสเสน่ห์อันตรายของความไม่เที่ยงและความอัปยศ มารีเยียนั้นไม่เหมือนอนาสตาเซียในสายตาของอีวาน เพราะพระนางเป็นที่จดจำไปอีก 7 ปี ในฐานะผู้บริจาคทานแก่อารามมากมาย"[4]

แต่ในไม่ช้าซาร์อีวานทรงรู้สึกเสียพระทัยที่อภิเษกสมรสกับพระนาง เพราะซารีนาองค์ใหม่ถูกมองว่าเป็นคนไม่รู้หนังสือและมีพระอุปนิสัยอาฆาตพยาบาท ซารีนามารีเยียไม่ทรงสนพระทัยในวิถีชีวิตสังคมมอสโกและถูกกล่าวขานว่าเป็นพระมารดาเลี้ยงที่แย่สำหรับพระโอรสทั้งสองของซาร์อีวาน คือ ซาเรวิชอีวาน อีวาโนวิชและซาเรวิชเฟโอดอร์ อีวาโนวิช ซารีนามารีเยียมักจะทรงเป็นที่เกลียดชังในหมู่ข้าราชบริพาร ซึ่งเชื่อว่าพระนางทรงมีพฤติกรรมที่แปลกประหลาดและทรงประพฤติตนเป็นแม่มด นักประวัติศาสตร์บางคนได้เขียนว่า[5] ซารีนามารีเยียทรงเป็นคนแรกๆที่ยุยงให้พระสวามีจัดตั้งกองกำลังโอพริชนิก ความระหองระแหงในชีวิตสมรสที่เกิดขึ้นมีบันทึกว่าพระเจ้าซาร์อีวานที่ 4 ทรงละเลยซารีนาชาวเซอร์คาสเซียน และวางแผนจะส่งพระนางไปอยู่คอนแวนต์และให้ครองตนเป็นนางชี[6] แต่คาดว่าพงศาวดารอาจจะมีการสับสนกับพระมเหสีองค์อื่นของซาร์

สิ้นพระชนม์[แก้]

ซารีนามารีเยียสิ้นพระชนม์ในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1569 ขณะมีพระชนมายุ 25 พรรษา ณ อะเลคซันดรอฟ, แคว้นวลาดีมีร์ หลังจากกลับเสด็จประพาสเมืองโวล็อกดา มีการเล่าลือว่าพระนางทรงถูกลอบปลงพระชนม์ด้วยยาพิษโดยพระสวามี แต่พระเจ้าซาร์ไม่ทรงเคยยอมรับข่าวลือนี้ และมีผู้คนจำนวนมากถูกทัณฑ์ทรมานในข้อหาเป็นผู้ต้องสงสัยในการปลงพระชนม์ซารีนา มีบันทึกว่า

"ในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1569 พระมเหสีในพระเจ้าซาร์อีวาน ซารีนามารีเยีย สิ้นพระชนม์โดยพระสวามีแทบไม่ได้โศกเศร้าเสียใจ แม้ว่าเพื่อความเหมาะสมของธรรมเนียมรัสเซียทั้งผองที่ต้องแสดงความโศกาอาดูร ทุกแห่งหนต้องหยุดนิ่ง ขุนนางโบยาร์ ชนชั้นสูง ข้าราชสำนักต้องแต่งกายด้วยชุดที่ดูถ่อมตนที่สุด หรือชุดไว้ทุกข์ (เสื้อคลุมขนสัตว์กำมะหยี่คัมชัตกาที่ไม่มีทองประดับ)" ในทุกเมืองต้องประกอบพิธีไว้อาลัยพระศพ การให้ทานผู้ยากไร้ และการบริจาคให้อารามและโบสถ์ แต่พระเจ้าซาร์อีวานผู้โหดร้ายแสดงความโศกเศร้าแบบหน้าซื่อใจคด ทรงปิดบังเรื่องราวที่แท้จริง หลังจากผ่านมาได้สิบวัน พระองค์เสด็จรับทูตต่างประเทศได้อย่างสงบในพระราชวังมอสโก แต่ก็ทรงรีบออกจากเมืองหลวงเพื่อไปปราบปรามอย่างโหดร้ายและประหารชีวิตชาวเมืองอเล็กซันดร์ สโลโบดาที่ก่อกบฏแยกดินแดน การสิ้นพระชนม์ของพระมเหสีทั้งสองแม้ว่าจะมีจิตสำนึกทางวิญญาณที่ไม่เหมือนกัน แต่กลับแสดงผลลัพธ์ที่โชคร้ายไม่แพ้กัน อนาสตาเซียจากไปโดยพาจิตสำนึกคุณธรรมไปจากอีวาน ส่วนมารีเยียจากไปโดยส่งผ่านความโหดร้ายในการฆาตกรรม มีการกระจายข่าวลือไปทั่วว่า มารีเยียถูกวางยาพิษลอบปลงพระชนม์โดยศัตรูผู้ลึกลับเหมือนอนาสตาเซีย พระองค์จึงเตรียมให้รัสเซียพร้อมรับความโกรธเกรี้ยวพยาบาทของพระองค์[7]

อ้างอิง[แก้]

  1. Карамзин Н. М. История государства Российского: в 12 томах. — СПб.: Тип. Н. Греча, 1816—1829.
  2. Повесть о женитьбе Ивана Грозного на Марии Темрюковне
  3. "Российская царица, обратившаяся из ислама (Мария Темрюковна — кабардинская княжна Гошаней)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-20. สืบค้นเมื่อ 2020-09-17. {{cite web}}: no-break space character ใน |title= ที่ตำแหน่ง 60 (help)
  4. Карамзин, 1816—1829 — Т. IX — Глава I
  5. A. P. Pavlov and Maureen Perrie (August 2003). "Ivan the Terrible". Pearson Education. pp. 116–7.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  6. Генрих Штаден. Записки немца-опричника. Составление и комментарии к.и.н. С. Ю. Шокарева, М., 2002
  7. Карамзин, 1816—1829 — Т. IX — Глава III
  • Troyat, Henri Ivan le Terrible. Flammarion, Paris, 1982
  • de Madariaga, Isabel Ivan the Terrible. Giulio Einaudi editore, 2005


ก่อนหน้า ซารีนามารีเยีย เตมรีอูคอฟนาแห่งรัสเซีย ถัดไป
ว่าง
ก่อนหน้าคือ
อนาสตาเซีย โรมานอฟนา
ซารีนาแห่งรัสเซีย
ใน ซาร์อีวานที่ 4

(21 สิงหาคม ค.ศ. 1561 - 1 กันยายน ค.ศ. 1569)
ว่าง
ถัดมาคือ
มาร์ฟา โซบาคินา