ซาดีก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ซาดีก (ฝรั่งเศส: Zadig) หรือ ซาดีกูลาแด็สตีเน (ฝรั่งเศส: Zadig ou la destinée) หรือ ชะตาลิขิต เป็นนวนิยายเชิงปรัชญาซึ่งเป็นผลงานชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของวอลแตร์ ผลงานชิ้นนี้มีชื่อเสียงมากพอกับนวนิยายปรัชญาเรื่องอื่น ๆ แห่งยุค วอลแตร์ได้อาศัยจินตนาการจากนวนิยายตะวันออก ทั้งนี้เพื่อง่ายต่อการเสียดสีและวิจารณ์สังคมฝรั่งเศสสมัยนั้น ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า นวนิยายปรัชญาเรื่องซาดีกนี้เขาได้แรงบันดาลใจจากชะตาชีวิตที่ผกผันของเขาในราชสำนักระหว่างปี พ.ศ. 2286 - 2290 ที่เกิดจากประสบการณ์อันขมขื่นของวอลแตร์ในราชสำนักแวร์ซาย (Versailles) ก็คงไม่ผิด เนื่องจากในเรื่องนี้วอลแตร์ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ของตัวเองผ่านตัวละครเอกของเรื่อง ซึ่งก็คือ ซาดีก

ที่มาของเรื่อง[แก้]

วอลแตร์เริ่มเขียนงานชิ้นนี้ในปี พ.ศ. 2288 โดยเริ่มแรกใช้ชื่อว่า “เม็มนง” และตีพิมพ์ครั้งแรกที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพราะเรื่องนี้ไม่สามารถตีพิมพ์ในประเทศฝรั่งเศสได้ เนื่องจากมี เนื้อหาที่เสียดสีสังคมชั้นสูงคือชนชั้นพระและขุนนาง แม้จะเป็นการสมมติเรื่องว่าเกิดในตะวันออกก็ตาม

อีก 2 ปีต่อมา ในปี พ.ศ. 2290 "เม็มนง ซาดีก" เริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในประเทศฝรั่งเศส และในปี พ.ศ. 2291 "ซาดีก หรือ ชะตาลิขิต" (Zadig ou la destinée) ก็ได้ออกเผยแพร่ต่อหน้าสาธารณชน โดย ตอนแรกวอลแตร์ไม่ยอมรับว่าเป็นผู้แต่ง แต่หลังจากที่ซาดีกประสบความสำเร็จ เขาจึงยอมรับว่าเป็นผู้แต่ง ภายหลังในปี พ.ศ. 2295 - พ.ศ. 2299 วอลแตร์ได้เขียนเพิ่มขึ้นอีก 2 บท คือการเต้นรำและนัยน์ตาสีฟ้า ซึ่งสองบทหลังนี้ตอนแรกไม่ได้นำมารวมกับเรื่องซาดีก เนื่องจากโครงสร้างเรื่องที่มีอยู่ 19 บทนี่ดีอยู่แล้ว แต่ภายหลังจากที่วอลแตร์ได้เสียชีวิตแล้ว สองบทหลังนี่ก็ได้ถูกนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2328

จุดประสงค์ในการแต่ง[แก้]

วอลแตร์เขียนเรื่องนี้ขึ้นเพื่อต้องการตัดพ้อให้เห็นถึงความอยุติธรรม ความไร้เหตุผลของชะตาชีวิต หรือพระเจ้าซึ่งมนุษย์ทุกคนต้องประสบและไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ เพราะพระผู้เป็นเจ้าได้ลิขิตเอาไว้แล้ว โดยที่เขาต้องการสื่อให้เห็นความหมายของคำว่า “ชะตาลิขิต“ นอกจากนี้เขายังต้องการเสียดสี และวิพากษ์วิจารณ์สถาบันต่าง ๆ ในสังคม ในขณะนั้น ดังตัวอย่างเช่น สถาบันศาสนา วอลแตร์นั้นต่อต้านความงมงาย ความบ้าคลั่งทางศาสนา ความขาดขันติธรรม และพิธีกรรมต่าง ๆ ของศาสนจักร สถาบัน การเมืองการปกครอง เขาต่อต้านการกดขี่ และความไม่เป็นธรรมทางการเมือง สถาบันสังคม เขาต่อต้านความอยุติธรรมต่าง ๆ ในสังคม โจมตีชนขั้นขุนนางที่มักหลงใหลในอำนาจ ชื่อเสียง เกียรติยศ และศักดิ์ศรีมากกว่าคุณธรรมความดี และวอลแตร์ยังได้โจมตีระบบตุลาการศาลที่ผู้พิพากษาตัดสินคดีอย่างไม่เป็นธรรม ตัดสินตามอำเภอใจของตน และมักลงโทษผู้บริสุทธิ์อยู่เสมอ เป็นต้น นอกจากนี้วอลแตร์ยังต้องการแสดงให้เห็นว่าความทุกข์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เพราะชะตาลิขิตที่พระผู้เป็นเจ้ากำหนดไว้ แต่เป็นเพราะความดี ความชั่วของมนุษย์นั่นเอง และในตอนท้ายเขายังเสนอทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น คือ การใช้เหตุผลในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ซึ่งทำให้มนุษย์ได้พบกับความสุขได้ไม่ยาก

เรื่องย่อ[แก้]

ซาดีกเป็นชายหนุ่มเมืองบาบิโลนที่เพียบพร้อมไปด้วยทรัพย์สมบัติ รูปสมบัติและคุณสมบัติ แต่ชีวิตเขากลับต้องผจญภัยและพบกับความทุกข์นานัปการ เริ่มจากการที่นางอันเป็นที่รักทอดทิ้งเขาไปหาชายอื่น จากโชคชะตาทำให้เขากลายเป็นเสนาบดีของกษัตริย์โมอับดาร์ (Moabdar) แต่เพียงไม่นานราชินีอัสตาร์เต้ (Astarté) กับซาดีกต่างก็หลงรักกัน จึงทำให้กษัตริย์โมอับดาร์เกิดความหึงหวงจึงหาวิธีฆ่าซาดีก แต่ซาดีกรู้ตัวเสียก่อนจึงหนีออกจากปราสาทไปพร้อมกับโอดครวญว่า

โอ้คุณธรรมเอ๋ย เจ้าช่วยอะไรข้าได้บ้าง [...] ความดีทั้งหลายที่ข้าสะสมล้วนแต่กลายเป็นบ่อเกิดแห่งคำสาปแช่ง ข้าขึ้นสู่เกียรติยศอันสูงส่งก็เพียงเพื่อที่จะลงสู่ห้วงเหวแห่งความอับโชค หากข้าเป็นคนชั่วเหมือนคนอื่น ๆ เขาบ้างคงจะสุขกว่านี้ดอกกระมัง

จากนั้นซาดีกก็ได้หนีไปถึงประเทศอียิปต์ หลังจากนั้นเขาก็ได้ถูกขายให้กับพ่อค้าชาวอาหรับที่มีชื่อว่า เซต็อค (Sétoc) หลังจากนั้นซาดีกได้ผ่านการผจญภัยและเหตุการณ์ต่าง ๆ อีกมากมาย เช่นคณะพระ ลูกขุนได้สั่งให้เผาเขาทั้งเป็นในข้อหากระทำการลบหลู่ผู้ทรงศีล ซึ่งในตอนหลังซาดีกก็รอดมาได้ด้วยการช่วยเหลือของหญิงชาวบ้านผู้หนึ่ง และต่อมาเขาได้เดินทางต่อไป ซาดีกได้พบว่าผู้หญิงเป็นคนที่มีจิตใจรวนเร ไม่แน่นอน มักอ่อนไหวกับชายหนุ่มรูปงามซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยเงินทอง ยศถาบรรดาศักดิ์ แม้ว่าหญิงนั้นจะมีสามีแล้วก็ตาม ผู้ชายเต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา พระเป็นเพียงคนเพ้อคลั่ง ยังมีกิเลสและความลุ่มหลงดังเช่นมนุษย์ธรรมดา ผู้พิพากษาก็เป็นเช่นเพียงคนตาบอด ในตอนท้ายซาดีกก็ได้พบกับราชินีอัสตาร์เต้อีกครั้ง และได้กลับมายังกรุงบาบิโลนเพื่อทำการแข่งขันประลองยุทธเพื่อแย่งชิงตำแหน่งพระราชาแห่งกรุง บาบิโลนแทนกษัตริย์โมอับดาร์ซึ่งถูกปลงพระชนม์ และตอนจบซาดีกก็ได้เสวยราชสมบัติและได้ครองคู่กับราชินีอัสตาร์เต้

กลวิธีการประพันธ์[แก้]

วอลแตร์แต่งเรื่องซาดีกขึ้นโดยใช้รูปแบบของการเล่าเรื่อง (le conte philosophique) ในแนวนวนิยายเชิงปรัชญา ซึ่งเปิดโอกาสให้เขาได้ลับคมฝีปากของเขาอย่างเต็มที่ เขาได้ใช้ฉากที่สมมติขึ้นในประเทศตะวันออก (l’exotisme) มาเป็นฉากในการเล่าเรื่อง เพื่อที่ว่าจะได้ง่ายต่อการเสียดสีวิพากษ์วิจารณ์สถาบันต่าง ๆ ในสังคมที่เขาเห็นว่าไม่เป็นธรรม

หากจะกล่าวถึงวอลแตร์กับซาดีก จะเห็นได้ว่าตัวซาดีกนั้นคือวอลแตร์นั่นเอง ซึ่งในเรื่องนี้กษัตริย์ โมอับดาร์ก็คือพระหลุยส์ที่ 15 นั่นเอง โดยวอลแตร์มีความหวังว่าเขาจะได้มีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ และซาดีกก็ได้เป็นอัครมหาเสนาบดีของพระเจ้าโมอับดาร์ และเป็นที่ปรึกษาของพระเจ้านาบุสซันอีกด้วยวอลแตร์ต้องการต่อต้านราชสำนักแวร์ซาย เขาเปิดเผยให้เห็นถึงการคอรัปชั่น ความโง่ ความอิจฉาริษยา การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นและความเสื่อมโดยผ่านตัวซาดีก ท้ายที่สุด วอลแตร์ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาต่าง ๆ คือการใช้เหตุผลในการตัดสินปัญหา วอลแตร์ยังได้แสดงความสงสัยในเรื่องแผนการของพระเจ้า ซึ่งเราเองเป็นคนธรรมดาไม่อาจเข้าใจได้ แต่นับว่ามันเป็นสิ่งที่ดีที่สุด กล่าวคือเขาไม่ยอมรับคำกล่าวที่ว่า “ความยุติธรรมของพระเจ้าไม่ใช่ความอยุติธรรมของมนุษย์” เขาเชื่อว่าพระเจ้าสร้างจักรวาลอันยิ่งใหญ่ให้อยู่ในกฎเกณฑ์อันไม่เปลี่ยนแปลงและไม่เอนเอียงไปตามคำสวดอ้อนวอนของใคร แต่พระเจ้าก็ได้ประทานเหตุผลและความเมตตาให้แก่มนุษย์ ซึ่งถ้าคนเรารู้จักนำ 2 สิ่งนี้มาปรับใช้กับชีวิตของตนก็จะพบกับความสุขได้ไม่ยาก

  • ภาษาศิลป์

วอลแตร์ได้สอดแทรกความคิดของเขาลงไปในเนื้อเรื่อง โดยใช้ถ้อยคำที่เสียดสีประชดประชันอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้เขาสามารถตีแผ่นิสัยที่แท้จริงของแต่ละคนได้อย่างเปิดเผย รวมทั้งความงมงาย ความเพ้อคลั่งทางศาสนา ความเพ้อเจ้อของนักอภิปรัชญา ความฟุ้งเฟ้อของราชสำนัก ความไม่ยุติธรรมทั้งหลายในสังคมมนุษย์ได้อย่างแนบเนียนลึกซึ้งและตรึงใจผู้อ่าน ตัววอลแตร์เองได้แอบซ่อนอยู่หลังบรรทัด คอยยิ้มคอยเยาะ เย้ยหยัน เย้าหยอก แดกดัน ประชดประชัน เสียดสีความเป็นไปทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ ด้วยภาษาที่ไพเราะสละสลวย ประณีตบรรจงและงดงาม

  • โครงเรื่องและฉาก

วอลแตร์ได้ผสมผสานโดยอาศัยรูปแบบที่เกี่ยวกับนิยายตะวันออกรวมกับนิยายตะวันตก โดยออกมาในรูปแบบไพรัชนิยาย (les contes éxotiques) ซึ่งหมายถึง นิทานหรือนิยายที่ใช้ฉากในท้องเรื่องดำเนินไปในดินแดนไกลที่สมมติขึ้น ทั้งนี้เพื่อง่ายต่อการเสียดสีสังคม ในเรื่องนี้วอลแตร์ใช้กรุงบาบิโลนเป็นฉาก ซึ่งจริง ๆ แล้วหมายถึงกรุงปารีสนั่นเอง ส่วนจักรวรรดิแคลเดียหรือเฟอร์เซียโบราณนั่นก็คือ ประเทศฝรั่งเศส เรื่องราวที่เกิดขึ้นในเนื้อเรื่องก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศฝรั่งเศส ลักษณะเด่นของ นิทานปรัชญาเรื่องนี้ วอลแตร์ได้สื่อความหมายของชะตากรรมที่เกิดขึ้นและตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น จุดประสงค์หลักของนิทานเรื่องนี้ก็คือต้องการสื่อให้เห็นถึงความหมายของคำว่า “ชะตากรรม”

  • ตัวละครสำคัญ
    • ซาดีก – เป็นชายหนุ่มชาวเมืองบาบิโลนในสมัยโบราณผู้พรั่งพร้อมด้วยคุณสมบัติ ทรัพย์สมบัติ และคุณธรรมความดี ด้วยความที่เขาเป็นคนฉลาด มีไหวพริบและซื่อสัตย์ ทำให้เขาได้เป็นเสนาบดีที่โปรดปรานของกษัตริย์โมอับดาร์ แต่ชีวิตของเขาก็ต้องผจญภัยกับความทุกข์ยากนานัปการในเวลาต่อมา ซึ่งวอลแตร์ได้ใช้ซาดีกเปรียบเสมือนตัวละครที่ถ่ายทอดชีวิตของเขาออกมา คือชะตาชีวิตที่ผกผันของเขาในราชสำนักระหว่างปี พ.ศ. 2286 - พ.ศ. 2290
    • พระราชาโมอับดาร์ – เป็นพระราชาแห่งกรุงบาบิโลน พระองค์เป็นกษัตริย์ที่มีคุณธรรม จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้พระองค์มีพระราชประสงค์ให้วางยาพิษราชินีอัสตาร์เต้และรัดคอซาดีก และหลังจากนั้นพระองค์ก็ดูเหมือนจะละทิ้งคุณธรรมไปเพราะความลุ่มหลงในผู้หญิงคนหนึ่ง

ส่วนตัวละครตัวอื่น ๆ แทบทุกตัวเป็นแบบฉบับของความเลวทรามอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น สตรีมีแต่จิตใจรวนเร บุรุษล้วนละโมบและริษยากัน พระก็คลั่งศาสนาแบบไม่ลืมหูลืมตา ประชาชนก็เอาแต่งมงาย

ในเรื่องนี้ วอลแตร์ต้องการแสดงให้เห็นว่าการแสวงหาความสุขนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนทุกชนชั้นในสังคมโลกต้องการ และเป็นสิ่งที่หาได้ยากมาก ดังนั้นเขาจึงเอาความสุขเหล่านี้ไปผูกกับตัวละครเอกของเรื่องที่ดำเนินชีวิตไปอย่างลุ่ม ๆ ดอน ๆ สุขบ้างทุกข์บ้าง นอกจากนี้ วอลแตร์ยังได้ยกตัวอย่างของมนุษย์ที่เป็นตัวอย่างของความเลวไว้ด้วย ที่ว่าสตรีมีจิตใจรวนเรไม่แน่นอน บุรุษมีแต่ความละโมบและความอิจฉา ชอบโกหก เจ้าเล่ห์และฉ้อโกง พวกพระก็เพ้อคลั่งในศาสนาอย่างไม่ลืมหูลืมตา ความเมตตาล้วนแต่ได้รับความอกตัญญูเป็นสิ่งตอบแทนและความสุขก็เป็นสิ่งที่หายากเสียเหลือเกิน ส่วนในเรื่องความเชื่อที่งมงายทางด้านพิธีกรรม วอลแตร์ได้ต่อต้านโดยการถ่ายทอดความคิดของเขาลงไปในตัวละครคือ การให้ซาดีกไป เกลี้ยกล่อมผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเคร่งครัดทางศาสนาให้ล้มเลิกความตั้งใจที่จะทำพิธีสตี ทั้งนี้วอลแตร์ได้สอดแทรกทัศนะทางปรัชญาของเขาไว้ในผลงานชิ้นนี้ด้วย กล่าวคือ เขายกความไม่แน่นอน ความผันแปรทั้งหลายให้เป็นความประสงค์ของพรหมลิขิต (la providence) ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถหยั่งถึงได้ ดังจะเห็นในบทท้าย ๆ ของเรื่อง คือ ซาดีกได้พบกับเทวทูตที่ปลอมตัวเป็นนักพรต โดยได้เปิดเผยความลับแห่งจักรวาลให้แก่ซาดีก ดังนี้

“ทว่าในโลกนี้หาได้มีความบังเอิญแต่อย่างใดไม่ ทุกสิ่งทั้งปวงเป็นการทดสอบ เป็นการลงโทษ เป็นการให้รางวัล หรือเป็นการกำหนดล่วงหน้า เจ้าคงจำคนหาปลาผู้ที่เชื่อว่าตนจักมีความทุกข์ที่สุดได้ ออรอส-มัด ทรงให้เจ้าไปเปลี่ยนชะตาลิขิตของเขา มรรตัยผู้อ่อนแอ จงสิ้นสงสัยในองค์พระผู้ควรแก่การบูชาเถิด”

นอกจากนี้วอลแตร์ยังมีความเชื่อที่ว่า นอกจากชะตากรรมที่กำหนดชีวิตมนุษย์แล้ว ความดีและความเลวยังเป็นอีกสิ่งที่สัมพันธ์กับชีวิตของมนุษย์

ตัวอย่างของเรื่องซาดีก (Zadig)

วอลแตร์ได้สอดแทรกการเสียดสีสังคมและแนวคิดต่าง ๆ ของเขาไว้ในเรื่องซาดีก ซึ่งจะได้เห็นจากตัวอย่างดังต่อไปนี้

“ถ้าเป็นตาข้างขวา” หมอแอร์แมสกล่าว “ข้าย่อมรักษาให้หายได้ แต่บาดแผลที่ตาซ้ายนั้นมิอาจบำบัดเป็นแน่แท้”

“สองวันต่อมา อาการเป็นพิษนั้นปะทุออกมาเอง ซาดีกจึงหายสนิท แอร์แมสแต่งหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง พิสูจน์ให้เห็นประจักษ์ว่า ซาดีกมิควรหายเจ็บในครั้งนี้”

วอลแตร์ต้องการเสียดสีหมอในสมัยนั้นว่า เป็นคนที่ไม่รู้จริงในการรักษาโรค มักคาดเดาอย่างผิด ๆ และมักจะหาผลประโยชน์จากอาชีพนี้ แต่เมื่ออาการของคนไข้กลับเป็นไปในทางตรงข้ามกับที่หมอได้กล่าวไว้ หมอก็กลับแต่งหนังสือขึ้นมาเพื่อพิสูจน์ว่า เป็นไปไม่ได้ที่อาการเช่นนี้จะสามารถรักษาให้หายได้

นอกจากนี้วอลแตร์ยังได้เสียดสีถึงระบบความยุติธรรมในสมัยนั้นด้วย ดังเช่นในตอนที่ซาดีกถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ขโมยม้าของพระราชาและสุนัขของพระราชินีไปโดยที่ไม่มีหลักฐานอะไรเลย

"มหาอำมาตย์แลหัวหน้าขันที ปลงใจว่าซาดีกเป็นคนขโมยอัศวราชของพระราชาและสุนัขของ พระราชินี จึงพาตัวมาต่อหน้าที่ประชุมคณะผู้ให้คำปรึกษาของประมุขมนตรีแห่งเมือง ที่ประชุมตัดสินให้ลงโทษด้วยการโบย แล้วเนรเทศไปไซบีเรียตลอดชีวิต การพิพากษาเพิ่งสิ้นสุดลง ก็มีผู้พบอาชาและสุนัข คณะตุลาการจำต้องกลับคำตัดสินด้วยความทุกข์ใจเป็นอย่างยิ่ง พวกเขาตัดสินใหม่ว่า ซาดีกมีโทษฐานกล่าวว่ามิได้เห็นสิ่งที่เขาเห็นและให้ถ่ายโทษด้วยทองคำหนักสิบชั่ง ซาดีกต้องเสียค่าปรับจำนวนนั้นทันที เสร็จแล้วจึงอนุญาตให้แก้ต่างต่อคณะที่ปรึกษาของประมุขมนตรีได้ (…)"

วอลแตร์ต้องการเสียดสีระบบการศาลในสมัยนั้นว่า ไม่มีความยุติธรรม มักจะตัดสินตามอำเภอใจแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิดได้ และกฎหมายนั้นมีความรุนแรงเกินเหตุ

นอกจากอาชีพหมอและระบบความยุติธรรมที่วอลแตร์ได้เสียดสีแล้ว เขายังเสียดสีชนชั้นขุนนางในสมัยนั้นอีกเช่นกัน

แขกรับเชิญของเขามาจากตระกูลเก่าแก่แห่งบาบิโลน ที่เป็นสตรีก็น่าชื่นชมไปทั้งสิ้น อาหารที่เลี้ยงก็จัดมาล้วนประณีต และหลายครั้งหลายคราวก็มีการฟังดนตรีก่อน การสนทนาระหว่างเวลาอาหารแฝงเสน่ห์ชวนติดตาม ซาดีกรู้วิธีที่จะมิให้ผู้ใดผู้หนึ่งโอ้อวดว่ามีสติปัญญา การโอ้อวดเยี่ยงนั้นย่อมแสดงชัดว่า ผู้พูดมิรู้จริงในสิ่งที่กล่าวอ้าง และสังคมน้อยๆที่ปราดเปรื่องนี้จักมิถูกทำลายให้สิ้นความสำราญไป บุรุษและสตรีที่ซาดีกเลือกเชิญมาก็ดี อาหารที่เขาเลือกสรรก็ดี มิได้เป็นไปเพื่อสนองความหลงตน ด้วยซาดีกนั้นนิยมชมชื่นในตัวตนแท้จริงของบุคคลยิ่งกว่าสิ่งที่เห็นจากภายนอก ดังนี้เขาจึงได้รับความนับถืออย่างจริงใจจากคนรอบข้าง โดยที่มิได้เรียกร้องแต่อย่างใด

วอลแตร์ต้องการเสียดสีขุนนางที่มักจัดงานเลี้ยงสังสรรค์อย่างหรูหรา ฟุ่มเฟือยและใหญ่โตเสมอ เพื่อที่จะโอ้อวดว่าตนร่ำรวย มาจากชนชั้นสูง นอกจากนี้เขายังได้กล่าวถึงบุคคลที่มักชอบโอ้อวด แสดงความรู้ว่าตนเก่ง มีความรู้มาก มีสติปัญญาดี ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว บุคคลเหล่านี้มิได้รู้จริงในสิ่งที่พูด หรืออาจจะรู้เพียงแค่ฉาบฉวยเท่านั้น

ในทางศาสนานั้น วอลแตร์ได้เสียดสีในเรื่องของความเชื่องมงายในศาสนา เช่นกัน

ทว่าซาดีกมิพอใจที่เซต็อคกราบไหว้บูชาทวยเทพแห่งฟากฟ้า อันได้แก่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และหมู่ดาว ตามธรรมเนียมประเพณีของชาวอาระเบีย ซาดีกตะล่อมพูดถึงเรื่องนี้ ท้ายที่สุดก็กล่าวว่า เทพแห่งท้องฟ้าเป็นเพียงเทพฟากฟ้าดังเช่นเทพวัตถุอื่น ๆ ซึ่งมิคู่ควรแก่การบูชามากไปกว่าต้นไม้ต้นหนึ่งหรือผาหินแห่งหนึ่ง

วอลแตร์ไม่เห็นด้วยที่มนุษย์เรานั้นมีความเชื่องมงายในลัทธิต่าง ๆ หรือพิธีกรรมต่าง ๆ อย่างบ้าคลั่ง เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้มนุษย์ขาดเหตุผลและเกิดความงมงาย ความบ้าคลั่งทางศาสนา