ข้ามไปเนื้อหา

ชายฝั่งมะละบาร์

พิกัด: 12°01′00″N 75°17′00″E / 12.0167°N 75.2833°E / 12.0167; 75.2833
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หาดป้อมเบคัล (Bekal Fort) รัฐเกรละ

ชายฝั่งมะละบาร์ (อังกฤษ: Malabar Coast) เป็นแนวชายฝั่งทะเลยาวและแคบทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย บริเวณที่ราบรัฐเกรละและรัฐกรณาฏกะ ระหว่างเทือกเขาฆาฏตะวันตก (Western Ghats) กับทะเลอาหรับ[1] กินพื้นที่ตั้งแต่รัฐกัวถึงเมืองกันยากุมารี (Kanyakumari; เดิมเรียก เคปคอโมริน) ในขณะที่ชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดียเรียกว่า ชายฝั่งโคโรมันเดล (Coromandel Coast)[2]

บางครั้งชายฝั่งมะละบาร์ยังหมายถึงพื้นที่ชายฝั่งทั้งหมดของอินเดียตั้งแต่ชายฝั่งกงกัณ (Konkan) จนถึงเมืองกันยากุมารี[1] มีความยาวมากกว่า 845 กิโลเมตร (525 ไมล์) ตั้งแต่ชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐมหาราษฏระ ผ่านรัฐกัวและชายฝั่งทั้งหมดของรัฐเกรละและรัฐกรณาฏกะถึงเมืองกันยากุมารี ชายฝั่งแห่งนี้ทิศตะวันตกจรดทะเลอาหรับ ทิศตะวันออกจรดเทือกเขาฆาฏตะวันตก และทางใต้มีป่าผลัดใบที่ชุ่มชื้นที่สุดในอินเดียใต้[3]

ชายฝั่งมะละบาร์มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นจุดทำการค้าหลักกับเมโสโปเตเมีย อียิปต์ กรีซ โรม เยรูซาเลม และอาหรับ และยังมีเมืองท่าหลายเมือง เช่น โกจจิ (Kochi), โคชิโคด (Kozhikode), กัณณูร์ (Kannur) ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญของมหาสมุทรอินเดียมานานนับศตวรรษ[4]

ในสมัยศตวรรษที่ 15 ราชวงศ์หมิงได้ให้เจิ้งเหอนำกองเรือออกเดินทางสำรวจดินแดนต่าง ๆ ชายฝั่งมะละบาร์เป็นจุดหนึ่งที่กองเรือจีนมักจะมาขึ้นฝั่ง[5] หลังจากนั้นไม่นาน ในปี ค.ศ. 1498 วัชกู ดา กามา นักสำรวจชาวโปรตุเกสได้มาขึ้นฝั่งที่เมืองแคลิคัต (Calicut; ปัจจุบันคือเมืองโคชิโคด) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการค้าเครื่องเทศของโปรตุเกสและมหาอำนาจยุโรป

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Britannica
  2. Map of Coromandel Coast on a website dedicated to the East Indian Campaign (1782-1783), an offshoot of the American war of independence.
  3. Tipu Sultan - the Tyrant of Mysore, Sandeep Balakrishna, (Chapter 10) pg 109
  4. The spicy history of Malabar including a bibliography of sources on the spice trade via the Malabar coast
  5. Chan, Hok-lam (1998). "The Chien-wen, Yung-lo, Hung-hsi, and Hsüan-te reigns, 1399–1435". The Cambridge History of China, Volume 7: The Ming Dynasty, 1368–1644, Part 1. Cambridge: Cambridge University Press. pp. 233–236. ISBN 9780521243322.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

12°01′00″N 75°17′00″E / 12.0167°N 75.2833°E / 12.0167; 75.2833