ชาดาร์จีลิง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชาดาร์จีลิง
ใบชาดาร์จีลิง

ดาร์จีลิง (อังกฤษ:Darjeeling Tea) เป็นชาที่ถูกผลิตขึ้นในเมืองดาร์จีลิงอยู่ทางรัฐเบงกอลตะวันตก ประเทศอินเดีย ชาดาร์จีลิงถูกผลิตขึ้นในหลายรูปแบบเช่น ชาแดง ชาเขียว ชาขาว และชาอูหลง เมื่อได้รับการชงจะได้ชาที่มีสีทองสว่าง ให้กลิ่นหอมดอกไม้ จึงทำให้ชาดาร์จีลิงได้ฉายาว่า แชมเปญแห่งชา (อังกฤษ: Champagne of teas)

ชาดาร์จีลิงมักทำจากใบชาพันธุ์จีน (สายพันธุ์:Camellia sinensis var. sinensis )ซึ่งแตกต่างจากชาอินเดียอื่นๆทำจากใบชาสายพันธุ์อัสสัม ( สายพันธุ์:Camellia sinensis var. assamica) ที่มีใบขนาดใหญ่กว่า เป็นชาที่นิยมผลิตออกมาในรูปแบบของชาแดงเสียส่วนใหญ่ ในปี 2003 ชาดาร์จีลิงได้กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์อินเดียผลิตภัณฑ์แรกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ผ่านทางสำนักงานสิทธิบัตรแห่งอินเดีย[1]

ประวัติ[แก้]

การปลูกชาในดาร์จิลิงเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1841 โดย อาร์ชิบาลด์ แคมป์เบล[2]

แคมป์เบลได้เดินทางจากกรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาลมายังดาร์จีลิง ประเทศอินเดียในปีค.ศ. 1839 จากนั้นในปีค.ศ. 1841แคมป์เบล ได้นำชาสายพันธุ์จีนเข้ามาทดลองปลูกในดาร์จีลิง ต่อมารัฐบาลอังกฤษได้ทำการจัดตั้งศูนย์เพาะชำชาในปีค.ศ. 1874 การปลูกชาในดาร์จีลิงได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ชาดาร์จีลิงได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ มีการเปิดไร่ชาและบริษัทจัดจำหน่ายมากมาย

ชาดาร์จีลิงมีสีทองสว่างและมีกลิ่นหอมละมุนคล้ายดอกไม้ส่งผลให้ชาดาร์จีลิงได้รับความนิยมจากทั่วโลก

แต่ละปีสามารถผลิตชาดาร์จีลิงได้เพียงร้อยละ 1 จากผลผลิตชาทั้งหมดของอินเดีย ชาดาร์จีลิงจึงมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับชาตัวอื่น ๆ ที่นิยมดื่มกัน

อ้างอิง[แก้]

  1. "GI tag: TN trails Karnataka with 18 products". The Times of India. 29 August 2010.
  2. Mair, Victor H.; Hoh, Erling (2009). The True History of Tea. Thames & Hudson.ISBN 978-0-500-25146-1.