ชาขาว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชาขาว
ภาษาจีน白茶
ความหมายตามตัวอักษรชาขาว

ชาขาว เป็นชาชนิดหนึ่ง ผลิตจากตูมและยอดอ่อนของต้นชา แหล่งเพาะปลูกชาขาวที่มีชื่อเสียงอยู่ที่มณฑลฝูเจี้ยน ทางตอนใต้ของประเทศจีน กรรมวิธีผลิตชาขาวเริ่มจากการเลือกเก็บยอดอ่อนชาในช่วงฤดูใบไม้ผลิ จากนั้นนำยอดชาที่เก็บได้มาผ่านกระบวนการทำแห้งในระยะเวลาที่รวดเร็ว ด้วยวิธีธรรมชาติโดยอาศัย ลม แสงแดด หรือความร้อนซึ่งจะแตกต่างจากกรรมวิธีผลิตชาประเภทอื่น ๆ (ชาเขียว ชาดำ ชาแดง ชาอูหลง) ที่ผ่านกระบวนการทำแห้งด้วยความร้อนหรือไอน้ำและผ่านกระบวนการหมักสำหรับชาบางประเภท ทำให้ปริมาณสารต่อต้านอนุมูลอิสระและคุณค่าทางโภชนาการของชาขาวยังคงไว้ได้มาก รวมทั้งกลิ่นและรสชาติของชาขาวที่ยังคงความสดชื่นและนุ่มนวล ชาขาวจึงเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพสูง

ต้นกำเนิดชาขาว[แก้]

ชา
ยอดชาขาว
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: พืช
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
เคลด: พืชดอก
เคลด: พืชใบเลี้ยงคู่แท้
เคลด: แอสเทอริด
อันดับ: อันดับกุหลาบป่า
วงศ์: วงศ์ชา
สกุล: Camellia
สปีชีส์: Camellia sinensis
ชื่อทวินาม
Camellia sinensis
(L.) Kuntze

ประเทศจีนเป็นแหล่งผลิตดั้งเดิมของใบชา ชาขาวมีชื่อเดิมตามภาษาท้องถิ่นจีนว่า หยินเจิน (แปลว่าเข็มเงิน) ชาวจีนดื่มชาขาวมานานกว่า 1,500 ปี ในปีคริสต์ศักราช 618–907 สมัยราชวงศ์ถังเป็นยุคสมัยของประวัติศาสตร์ชา รูปแบบของชาและวิธีในการเตรียมจะมีความแตกต่างจากปัจจุบัน[1] การผลิตชาขาวในสมัยนั้น ชาขาวจะถูกเก็บตูมชาภายใน 48 ชั่วโมงนับตั้งแต่วินาทีที่ตูมชาแรกผลิออกมา การเก็บเกี่ยวจะต้องทำอย่างพิถีพิถัน โดยจะเก็บเกี่ยวด้วยมือเท่านั้นและเลือกเก็บเฉพาะในช่วงวันแรกของฤดูใบไม้ผลิ จากนั้นตูมชาจะถูกทำให้แห้งและอัดรวมเป็นก้อน ส่วนการชงชานั้นจะนำใบชาบางส่วนจากก้อนชามาใส่ในน้ำเดือดที่อยู่ในภาชนะเคลือบดินเผาจึงได้น้ำชา ในช่วงสมัยราชวงศ์ซ่ง ระหว่างปี 960–1279 การผลิตและวิธีเตรียมชาทั้งหมดในสมัยนั้นมีการเปลี่ยนแปลง รูปแบบชาในสมัยนั้น ส่วนมากจะอยู่ในลักษณะตูมชาแห้งที่ไม่มีการอัด (loose-leaf styles) [1] และมีการเกิดชารูปแบบใหม่เกิดขึ้น คือ ชาผง กระบวนการผลิตชาเริ่มจากตูมชาจะถูกเก็บและนำมาผ่านกระบวนการอบไอน้ำในระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อรักษากลิ่นและรสชาติเฉพาะตัว หลังจากนั้นผ่านกระบวนการทำแห้งและบดเป็นผงละเอียด ทำให้เกิดเครื่องดื่มลักษณะใส สีเหลืองอ่อน เมื่อดื่มแล้วรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ในช่วงสมัยราชวงศ์ซ่งนี้ได้จักรพรรดิ Hui Zhong ได้กล่าวว่า “ชาขาวเป็นชาที่ดีที่สุดในบรรดาชาทั้งหมด” และได้เกิดชาขาวขึ้นหลายชนิด เนื่องจากชาขาวเป็นชาที่มีรสชาติเป็นที่พึงพอใจของสังคมชั้นสูง มีกลิ่นหอม รสชาติ และคุณสมบัติดี หายากและมีราคาแพง จึงถือเป็นชาชั้นสูงสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน

แหล่งเพาะปลูกชาขาว[แก้]

ชาเป็นพืชกึ่งร้อน สามารถขึ้นได้ดีในเขตอบอุ่นและมีฝน ชาปลูกได้ดีในพื้นที่สูง (200–2,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล) ความลาดชันไม่เกิน 45 องศา ความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 70–90% ปริมาณน้ำฝน 1,500–2,500 มิลลิเมตร[2] การปลูกชาสามารถปลูกได้ทั่วไปบนภูเขาสูง แต่แหล่งผลิตชาขาวที่มีชื่อเสียงของประเทศจีนอยู่ที่มณฑลฟูเจี้ยน เนื่องจากเป็นพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 400–1,000 เมตร สภาพภูมิอากาศและผืนดินอุดมด้วยแร่ธาตุสมบูรณ์เหมาะสมแก่การปลูกชาขาว สามารถให้ผลผลิตชาขาวที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ยังพบการปลูกชาขาวทางตอนใต้ของจีนที่มณฑลหูหนาน มณฑลกว่างซี และในประเทศญี่ปุ่น ส่วนในประเทศอินเดียและทวีปแอฟริกามีการเพาะปลูกชาขาวได้แต่มีปริมาณน้อย แม้ว่าปริมาณผลผลิตชาขาวจะมีน้อยแต่การดื่มชาขาวกลับได้รับความนิยมในหลายประเทศ โดยการส่งออกชาขาวของประเทศจีนเริ่มต้นตั้งแต่ปี 1891 และปัจจุบันส่งออกไปยังประเทศเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ อินโดนีเซีย สิงค์โปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น ฮ่องกง และมาเก๊า [3]

กรรมวิธีในการผลิต[แก้]

ชาขาวเป็นพืชตามฤดูกาลโดยสามารถเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูใบไม้ผลิ การเก็บใบชาเพื่อนำมาทำชาขาวนั้นจะคัดเลือกเฉพาะยอดอ่อนที่มีความสมบูรณ์เต็มที่ในฤดูใบไม้ผลิ ตูมชาที่มีรูปลักษณ์เหมือนเข็มและมีขนสีขาวประกายเงินปกคลุมอยู่ รวมไปถึงยอดอ่อน 2 ยอดแรกของต้นชาจะถูกเก็บ จึงเป็นที่มาของชื่อ “ชาขาว” หลังจากนั้นตูมชาที่ถูกเก็บมาจะถูกทำให้แห้งโดยวิธีธรรมชาติ ด้วยการตากแดดหรือผึ่งให้แห้งสนิท เมื่อชงชาขาวกับน้ำร้อนจะให้สีเหลืองอ่อน รสชาติหวาน นุ่มนวล กลมกล่อมและมีกลิ่นหอมเฉพาะ ชาขาวจึงกลายเป็นของที่หายาก และมีราคาแพง ซึ่งการผลิตสามารถทำได้ในทุกช่วงยกเว้นฤดูหนาว อย่างไรก็ดีชาขาวที่ผลิตในฤดูใบไม้ผลิเป็นชาขาวที่มีคุณภาพดีที่สุด ถัดมาเป็นชาขาวที่ผลิตในช่วงฤดูใบไม้ร่วง และฤดูร้อนเป็นลำดับสุดท้าย [3] ชาส่วนใหญ่ในโลกนี้มาจากต้นชาตระกูลเดียวกัน คือ สกุล Camellia แต่ต่างกันในขั้นตอน กรรมวิธีการผลิต และอายุของใบชา[4]

ประเภทชาขาว[แก้]

เนื่องจากความแตกต่างของมาตรฐานการเก็บและคัดสรรใบชา รวมทั้งความแตกต่างของสายพันธุ์และถิ่นที่ปลูก สามารถแยกประเภทของชาขาวได้ ดังนี้

  • ไป๋เหาอิ๋นเจิน แปลว่า "เข็มเงิน" ทำจากตูมชาที่มีรูปลักษณ์เหมือนเข็มซึ่งปกคลุมด้วยขนเล็ก ๆ สีขาว เป็นชาขาวที่มีคุณภาพดีที่สุด ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บอยู่ระหว่าง 15 มีนาคมถึง 10 เมษายนของทุกปี และจะต้องเก็บด้วยมือภายในระยะเวลาไม่เกิน 48 ชั่วโมง[5] แหล่งเพาะปลูกที่มณฑลฟูเจี้ยน ประเทศจีน
  • ชาไป๋หมู่ตาน (白牡丹茶) แปลว่า ดอกโบตั๋นขาว ชาไป๋มู่ตานมีคุณภาพเป็นอันดับสอง รองลงจากชาไป๋ห่าวหยินเจิน เนื่องจากผลิตจากยอดและใบอ่อนชา แหล่งเพาะปลูกที่มณฑลฟูเจี้ยน ประเทศจีน
  • ชาก้งเหมยย์ (貢眉) แปลว่า คิ้วบรรณาการ ตามลักษณะของใบชา ชากงเหมย ผลิตจากใบอ่อนชามีคุณภาพเป็นอันดับสาม รองลงจากชาไป๋มู่ตาน แหล่งเพาะปลูกที่มณฑลฟูเจี้ยน ประเทศจีน
  • ชาโซวเหมย ทำจากยอดชาและใบอ่อน มีกลิ่นและรสแรงกว่าชาขาวประเภทอื่น ๆ มีคุณภาพดีเป็นอันดับสี่ รองลงจากชากงเหมยตามลำดับ ปลูกมากแถบมณฑลกว่างซีและมณฑลฟูเจี้ยน ประเทศจีน
  • ชาขาวผูเอ่อร์ ชาที่ปลูกทางภาคใต้ของมณฑลหยุนหนาน เก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ผลิ ชาขาวผู่เอ๋อร์เป็นชาขาวที่มีคุณภาพ มีกลิ่นหอม รสชาติดี
  • ชาขาวซีลอน มีกลิ่นแอลกอฮอล์อ่อน ๆ ผสมกับกลิ่นสนและกลิ่นน้ำผึ้ง ปลูกในประเทศศรีลังกา
  • ชาขาวดาร์จีลิง มีรสนิ่มนวล กลิ่นหอมอ่อน ๆ ปลูกในรัฐดาร์จีลิง ประเทศอินเดีย
  • ชาขาวอัสสัม มีกลิ่นหอมเฉพาะคล้ายข้าวมอลต์ (malty) ปลูกในรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย
  • ชาขาวแอฟริกัน คล้ายชาไป๋ห่าวหยินเจิน แต่มีกลิ่นและรสชาติที่แรง รวมทั้งมีปริมาณคาเฟอีนสูงกว่าชาจีน ปลูกในประเทศมาลาวีและเคนย่า

สารสำคัญในชาขาวที่มีประโยชน์[แก้]

ชานั้นถือว่ามีประโยชน์ในร่างกายเพราะประกอบไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามิน แร่ธาตุ อัลคาลอยด์ กรดอะมิโน น้ำมันหอมระเหย (volatile oil) และน้ำ[3] จากกรรมวิธีการผลิตชาขาวที่ผ่านกระบวนการเพียงเล็กน้อย ทำให้ชาขาวยังคงสารที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าชาชนิดอื่น อีกทั้งส่วนประกอบต่าง ๆ ของชาขาวยังส่งผลต่อกลิ่น รสชาติ และบ่งบอกถึงคุณภาพของชา

สารต้านอนุมูลอิสระ[แก้]

สารต้านอนุมูลอิสระที่พบในชาขาวส่วนใหญ่เป็นสารโพลีฟีนอล (polyphenol) จำพวกสารคาเทชิน (catechin) ซึ่งพบมากถึง 70% ของปริมาณสารโพลีฟีนอลทั้งหมดที่มีในชาขาว[3] มีคุณสมบัติที่ดีต่อสุขภาพ คือ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง ลดระดับของคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ในเลือด กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ต้านแบคทีเรีย ไวรัส และป้องกันฟันผุ เมื่อเปรียบเทียบปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระจากการบริโภคชาขาวหนึ่งแก้ว พบว่าการบริโภคชาขาวได้รับสารปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าการบริโภคผักและผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น ผักโขม บร๊อคโคลี่ สตรอเบอรี่ ในสัดส่วนการบริโภคที่เท่ากัน จากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยคิงสตัน (Kingston University) ประเทศอังกฤษซึ่งได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับคุณสมบัติและสารอาหารจากพืชผักชนิดต่าง ๆ กว่า 21 ชนิดและสารสกัดจากสมุนไพรประเภทต่าง ๆ ว่ามีประโยชน์อย่างไรต่อร่างกายมนุษย์ พบว่า สารอาหารที่มีประโยชน์ในชาขาวมีปริมาณมากกว่าพืชและสารสกัดจากสมุนไพรชนิดอื่น ๆ การดื่มชาขาวจึงมีผลดีต่อสุขภาพมาก[6]

สารคาเทชิน[แก้]

สารคาเทชินประกอบไปด้วย Epigallocatechin (EGC), Epicatechin (EC), Catechin (C), Epigallocatechin -3-gallate (EGCG), Epicatechin-3-gallate (ECG) และ Gallocatechin (GC) สารโพลีฟีนอลเหล่านี้ สารที่พบมากที่สุด คือ EGCG พบประมาณ 50% ของประมาณสารต้านอนุมูลอิสระในชาขาว สาร EGCG เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูงมากกว่าวิตามินเอและวิตามินซีถึง 100 เท่า[7] ทำให้มีคุณสมบัติในการช่วยยับยั้งการสร้างไนโตรซามีน (nitrosamine) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง รุนแรงได้ดีกว่าวิตามินซีมาก เพราะทำปฏิกิริยาได้เร็วและแรงกว่า นอกจากนั้น EGCG ยังสามารถยับยั้งการเปลี่ยนแปลงของเบสในดีเอ็นเอของเซลล์มะเร็ง (Hela cell) [8] ยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของไขมันเลว (low-density lipoprotein /LDL)[9] ซึ่งทำความเสียหายให้เซลล์ที่ผนังเส้นเลือดมากมาย และเป็นสาเหตุนำไปสู่โรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis)

ตารางที่ 1 ชื่อสารคาเทชินชนิดต่าง ๆ ในชา[10]

ชื่อสาร R1 R2 R3 R4
(+) -catechin OH H OH H
(–) -epicatechin H OH OH H
(+) -gallocatechin OH H OH OH
(–) -epigallocatechin H OH OH OH
(–) -epicatechin gallate H galloyl OH H
(–) -epigallocatechin gallate H galloyl OH OH
(–) -epiafzelechin gallate H galloyl H H

ฟลาโวนอยด์[แก้]

ชาขาวมีปริมาณของฟลาโวนอยด์ที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับชาชนิดอื่น โดยชาขาวมีปริมาณฟลาโวนอยด์ซึ่งเป็นสารประกอบ ของฟลาโวนอยด์มากกว่าชาชนิดอื่นถึง 14.2–21.4 เท่า ซึ่งฟลาโวนอยด์มีประสิทธิภาพสูงสุดในการต้านสารอนุมูลอิสระ[3] สามารถช่วยป้องกันการถูกทำลายของเซลล์และเนื้อเยื่อของร่างกายจากอนุมูลอิสระและออกซิเจน

สารคาเฟอีน[แก้]

ประโยชน์อื่น ๆ ของการดื่มชาขาวคือ มีปริมาณคาเฟอีน ที่ต่ำกว่าชาชนิดอื่นโดยมีประมาณ 15 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคของชา ซึ่งน้อยกว่าชาเขียวและชาดำที่มีปริมาณคาเฟอีน 20 มิลลิกรัม และ 40 มิลลิกรัม[3] ตามลำดับ ทั้งนี้ สารตัวนี้เป็นที่ถกเถียงกันในวงการแพทย์ว่ามีประโยชน์ หรือ โทษกันแน่ แต่โดยทั่วไปยอมรับกันว่าถ้าดื่มไม่เกินวันละ 200 มิลลิกรัม ก็ไม่มีผลเสียต่อร่างกาย

กรดอะมิโน[แก้]

ชาขาวมีคุณสมบัติช่วยผ่อนคลายได้เนื่องจากมีกรดอะมิโนไทอามีน ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่พบได้ตามธรรมชาติ ที่ช่วยให้รู้สึกสงบผ่อนคลายโดยที่ไม่ทำให้ง่วง

ประโยชน์ของชาขาวต่อสุขภาพ[แก้]

ชาขาวถูกใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งชาขาวถือว่ามีประโยชน์มาทางด้านนี้ เพราะมีสารโพลีฟีอลประเภท EGCG สูงทำให้มีประโยชน์มากกว่าชาชนิดอื่น อีกทั้งชาขาวยังมีคุณสมบัติในการต่อต้านโรคเรื้อรัง การต้านสารก่อมะเร็ง (anticarcinogenicity) [3] การต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant activity) และการยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ (antimicrobial activity) [11] ชาขาวกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป

คุณสมบัติต้านมะเร็ง[แก้]

เป็นที่ทราบกันว่า ชาเขียวมีคุณสมบัติในการต้านสารก่อมะเร็ง เพราะชาเขียวมีปริมาณสารคาเทชินและสารโพลีฟีนอลอื่น ๆ มาก ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ อย่างไรก็ดี จากการศึกษาปริมาณและคุณสมบัติของสารต้านอนุมูลอิสระเปรียบเทียบระหว่างชาขาวและชาเขียวของ มหาวิทยาลัยโอไฮโอเซาเทิร์น (Ohio University Southern) ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ชาขาวมีปริมาณสารโพลีฟีนอลสูงกว่าชาเขียว[12] การดื่มชาขาวจึงน่าจะมีประโยชน์และมีประสิทธิภาพในการต้านโรคมะเร็งที่ดีกว่าชาเขียวหรือชาชนิดอื่น โดยหากอ้างอิงจากคุณสมบัติของชาเขียวที่ช่วยป้องกันมะเร็งหลายชนิด ทั้งมะเร็งปอด ต่อมลูกหมาก เต้านม ลำไส้ใหญ่ ตับ ผิวหนัง และกระเพาะอาหาร ชาขาวก็ย่อมมีประสิทธิภาพในการยับยั้งมะเร็งชนิดต่าง ๆ ได้ดีกว่า เพราะประกอบไปด้วย EGCG ที่มากกว่า ทั้งนี้ข้อมูลวิจัยของมหาวิทยาลัยคิงสตัน ประเทศอังกฤษ เปิดเผยว่า ในชาขาวจะมีสารต้านอนุมูลอิสระ และตัวต้านการเกิดปฏิกิริยาของสารอื่น ๆ กับออกซิเจนทำสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งและโรคเกี่ยวกับหัวใจ [13]

มะเร็งผิวหนัง[แก้]

จากการทดลองของมหาวิทยาลัยโคเปนไฮเกน (University of Copenhagen) ประเทศเดนมาร์คร่วมกับ Stephens & Associates Inc ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า สารสกัดชาขาวสามารถยับยั้งและป้องกันการถูกทำลายของสารพันธุกรรม (DNA) ในเซลล์หลังการสัมผัสแดด[3] เพราะฉะนั้นสารต้านอนุมูลอิสระในชาขาว จะช่วยปกป้องผิวจากภายใน โดยป้องกันการสูญเสียโปรตีนในชั้นผิวจากกระบวนการออกซิเดชั่น มีส่วนในการปกป้องเซลล์ผิว ทำให้สามารถปกป้องผิวจากมลภาวะและแสงแดด อันเป็นสาเหตุของการเกิดริ้วรอยหรือจุดด่างดำ พัฒนาระบบภูมิคุ้มกันผิว ยับยั้งอนุมูลอิสระที่มีสาเหตุมาจากรังสียูวี ซึ่งหากระบบภูมิคุ้มกันของเซลล์ผิวยังทำงานได้อย่างปกติ ถือเป็นส่วนช่วยในการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง[14] และช่วยให้ต่อมน้ำเหลืองขจัดสารพิษออกจากผิว ทำให้ผิวไม่แห้งกร้าน และยังสามารถเสริมสร้างความแข็งแรงของเซลล์ผิวหนัง ช่วยในด้านความยืดหยุ่น ของผิวหนังให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ส่งผลให้การทำงานของปอด เส้นเลือด เส้นเอ็นต่าง ๆ และผิวหนังทำงานได้ดี

มะเร็งลำไส้ใหญ่[แก้]

จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยออริกอนสเตท (Oregon State University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ชาขาวมีประโยชน์ในการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยงานวิจัยยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ชาขาวมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับการใช้ยาซูลินแด[3][15] เพื่อยับยั้งและป้องการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในลำไส้ใหญ่ของสัตว์ทดลองที่มีปัจจัยทางพันธุกรรมที่ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็ง นอกจากนี้สารในชาขาวยังช่วยให้แบคทีเรียที่มีประโยชน์ในลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น ช่วยลดคลอเรสเตอรอลชนิด LDL หรือไขมันเลว และเพิ่มปริมาณคลอเรสเตอรอล HDL หรือไขมันดี ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไขมันอุดตันหลอดเลือด

คุณสมบัติป้องกันโรคหัวใจ[แก้]

ข้อมูลการศึกษาจาก Internal Medicine and Public Health ประเทศอิตาลี พบว่า การทดลองให้สัตว์ทดลองบริโภคสารฟลาโวนอยด์เป็นประจำสามารถชะลอการเกิดการสะสมไขมันที่หลอดเลือดแดงได้ ซึ่งสัมพันธ์กับข้อมูลการบริโภคชากับการป้องกันการเกิดโรคหัวใจ สารฟลาโวนอยด์ในชาสามารถลดการเสื่อมสภาพของกล้ามเนื้อหัวใจซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดโรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็งได้[16] โดยเฉพาะสาร EGCG ในชา สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยฟื้นฟูการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ การเพิ่มของไนตริกออกไซด์ในปฏิกิริยา superoxide production (ROS) และช่วยควบคุมความดันโลหิตสูง โดยไปยับยั้ง angiotensis-I converting enzyme (ACE) นอกจากนี้ยังพบว่าสารโพลีฟีนอลในชา สามารถช่วยลดการเกิดออกซิเดชั่นของ LDL และช่วยลดการดูดซึมคลอเลสเตอรอลเข้าสู่ระบบน้ำเหลือง ทำให้ปริมาณ LDL, very low-density lipoprotein (VLDL) และไตรกลีเซอไรด์ลดลง รวมทั้งสามรถเพิ่มปริมาณ HDL ในกระแสเลือด ซึ่งการมีปริมาณที่ไตรกลีเซอไรด์ต่ำและ HDL สูงนี้สะท้อนถึงสุขภาพของระบบหัวใจที่ดี

คุณสมบัติต้านโรคเบาหวาน[แก้]

การศึกษาในหนูทดลองพบว่า สารโพลีฟีนอลสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวาน โดยยับยั้งการทำงานของอะไมเลสซึ่งเป็นเอนไซม์ย่อยแป้งให้เปลี่ยนเป็นน้ำตาล โดยยับยั้งการทำงานของอะไมเลสทั้งในน้ำลายและลำไส้ ซึ่งผลที่เกิดขึ้น คือ แป้งจะถูกย่อยช้าลง ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของน้ำตาลในเลือดเป็นไปอย่างช้า ๆ ซึ่งสัมพันธ์กับอัตราการดูดซึมกลูโคส มีผลทำให้การทำงานของ glucose transporter ในลำไส้ลดลงและอัตราการดูดซึมกลูโคสเข้าสู่ร่างกาย ลดลงด้วยนอกจากนี้สารโพลีฟีนอล ประเภท EGCG ยังช่วยเพิ่มความไวต่อสิ่งกระตุ้นของอินซูลิน (insulin sensitivity) และ สารที่มีหน้าที่คล้ายอินซูลิน (insulin-like activity) รวมทั้งเพิ่มการป้องกันการทำงานของตับและตับอ่อนซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคเบาหวาน[17]

คุณสมบัติต้านจุลินทรีย์[แก้]

สารโพลีฟีนอลมีคุณสมบัติในการต้านแบคทีเรีย โดยเชื่อกันว่า สารโพลีฟีนอลสามารถทำลายเยื่อหุ้มเซลล์ของแบคทีเรีย จากการศึกษาของ Dyson College of Arts and Sciences มหาวิทยาลัยเพซ (Pace University) ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ชาขาวสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ได้ดีกว่าชาเขียว[3] โดยการวิจัยพบว่า ชาขาวสกัด (white tea extract) อาจสามารถใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดที่เกิดจากเชื้อ Staphylococcus, Streptococcus นอกจากนี้ชาขาวมีประสิทธิภาพที่ดีในการหยุดการทำงานของไวรัสและเชื้อรา จากผลการทดลองที่พบทำให้คาดว่า ชาขาวสกัดสามารถต้านไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ได้ และชาขาวสกัดสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราประเภท Penicillium chrysogenum และ Saccharomyces cerevisiae[3] ซึ่งปัจจุบัน ชาขาวสกัด ถูกใส่ลงไปในยาสีฟันหลายยี่ห้อที่ประเทศจีนและสหรัฐอเมริกาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการยับยั้งแบคทีเรียและเชื้อรา

คุณสมบัติป้องกันฟันผุ[แก้]

สารในชาขาวมีฤทธิ์เป็นสารปฏิชีวนะที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียหลายชนิดจึงสามารถลดอาการอักเสบและติด เชื้อในช่องปากได้ โดยสารโพลีฟีนอลสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในช่องปาก ซึ่งมีทั้งแบคทีเรียที่ก่อโรคในช่องปาก Porphyromonas gingivilis และ แบคทีเรียที่ทำให้ฟันผุ Streptococcus mutans[11] นอกจากนี้สารโพลีฟีนอลยังสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะไมเลสในน้ำลายช่วยให้การผลิตกลูโคสและมอลโตสน้อยลง ลดปริมาณอาหารของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดฟันผุ

คุณสมบัติต้านโรคอ้วน[แก้]

สรรพคุณของชาขาวประการหนึ่ง คือ การช่วยลดน้ำหนัก เนื่องจากสารคาเฟอีนและสารคาเทชินในชาขาว ช่วยให้ระบบเมตาบอลิซึมในร่างกายดีขึ้น เผาผลาญพลังงานได้มาก เป็นผลทำให้น้ำหนักตัวลดลง โดยที่ไม่มีผลกระทบต่ออัตราการเต้นของหัวใจ มีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์มากมายยืนยันประสิทธิภาพของสารต้านอนุมูลอิสระและสารสกัดทางธรรมชาติเกี่ยวกับคุณสมบัติต้านไขมันและโรคอ้วน สารต้านอนุมูลอิสระจำพวกโพลีฟีนอล สามารถยับยั้ง catechol-O-methyl transferase จึงช่วยกระตุ้นการสร้างความร้อนของร่างกาย ซึ่งช่วยเผาผลาญพลังงานและช่วยจัดการกับโรคอ้วน[6] ทั้งยังมีคุณสมบัติในการชะลอการปล่อยกลูโคสสู่กระแสเลือด ดังที่กล่าวมาแล้วในเรื่องคุณสมบัติต้านโรคเบาหวาน ซึ่งทำให้ชะลอการสร้าง อินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ส่งเสริมให้ร่างกายสะสมไขมัน ดังนั้น ร่างกายจึงเผาผลาญไขมันแทนที่จะสะสมไขมัน

ในการทดลองประสิทธิภาพของสารต้านอนุมูลอิสระในชาขาวและชาเขียวต่อการยับยั้งเอมไซม์ pancreatic lipase[18] ซึ่งเอมไซม์ชนิดนี้มีหน้าที่ในการย่อยกรดไขมันให้มีขนาดเล็กและสามารถดูดซึมเข้าสู่ลำไส้เล็กได้ ชาขาวแสดงประสิทธิภาพในการยับยั้งการทำงานของเอมไซม์ pancreatic lipase สูงกว่าชาเขียว พิจารณาได้จากปฏิกิริยาการต้านสารอนุมูลอิสระจากค่า EC50 (Median Effective Concentration) พบว่า ค่า EC50 ของชาขาวมีค่าอยู่ที่ 22 µg GAE/ml ซึ่งน้อยกว่าค่า EC50 ของชาเขียวที่ 35 µg GAE/ml แสดงถึง ประสิทธิภาพของชาขาวในการต่อต้านอนุมูลอิสระที่มีสูงกว่าชาเขียวในการการยับยั้งการทำงานของเอมไซม์ pancreatic lipase ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกที่มีผลต่อโรคอ้วน นอกจากนี้สารต้านอนุมูลอิสระยังมีการเหนี่ยวนำการเกิดกระบวนการทำลายเซลล์ (apoptosis), การลดลงของกระบวนการสะสมไขมันและกระตุ้นกระบวนการทำลายไขมันในเซลล์ในสัตว์ทดลอง มีการศึกษาผลการออกฤทธิ์ของสารสกัดชาขาวต่อเซลล์ไขมัน (pre-adipocytes and adipocytes) [19] ในกระบวนการสร้างเซลล์ไขมัน (adipogenesis) และกระบวนการสลายไขมันในเซลล์ (lipolysis) พบว่า สารสกัดจากชาขาวมีประสิทธิภาพในการลดปริมาณการสร้างเซลล์ไขมัน และสามารถทำลายไขมันในเซลล์ไขมันได้ โดยที่สารสกัดชาขาวสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดการเกิดการแสดงออกที่ลดลงของยีนส์ SIR1 ซึ่งเกี่ยวข้องกับเจริญเติบโตของเซลล์ไขมัน และมีผลต่อขั้นตอนการรวมตัวของไตรกลีเซอไรด์ในกระบวนการสร้างเซลล์ไขมันระหว่างกระบวนการเปลี่ยนแปลงเซลล์ จาก pre-adipocytes ไปสู่ adipocytes ซึ่งทำให้มีผลต่อจำนวนเซลล์ไขมันที่มีความสามารถในการเจริญเติบโตได้และในขณะเดียวกันก็มีกระตุ้นกระบวนการสลายไขมันซึ่งเก็บสะสมไว้ในเซลล์โดยเพิ่มกระบวนการเปลี่ยนแปลงไตรกลีเซอไรด์ไปเป็น กรดไขมันและกลีเซอรอล[19] การดื่มชาขาวเป็นประจำจึงอาจเป็นวิธีทางธรรมชาติซึ่งสามารถลดโอกาสที่จะเป็นสาเหตุของโรคอ้วนซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจได้อีกด้วย

คุณสมบัติเพิ่มภูมิคุ้มกัน[แก้]

ตูมชาขาวมีสารโพลีฟีนอลอยู่มากที่เป็นสิ่งทรงพลัง ช่วยพัฒนากระบวนการล้างสารพิษและสิ่งสกปรกออกจากร่างกาย จึงช่วยป้องกันเซลล์ของร่างกายจาก การเสื่อมสภาพและถูกทำลายก่อนวัยอันควร ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งในระบบภูมิคุ้มกันทางธรรมชาติและปรับสภาพอนุมูลอิสระให้เป็นกลาง จากข้อมูลในวารสารวิทยาภูมิคุ้มกันทางการแพทย์และโรคภูมิแพ้ ฉบับประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2546 ระบุว่าสารคาเทชินในชาขาว โดยเฉพาะ EGCG มีสรรพคุณป้องการติดเชื้อเอชไอวีผลจากการทดลองแสดงให้เห็นว่า ชาขาวเข้มข้นช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเอชไอทีจับตัวกับเซลล์เม็ดเลือดขาว ชนิดที่มีความสำคัญต่อภูมิคุ้มกันในร่างกายที่เรียกว่า “ ทีเซลล์ ” (T Cells) ซึ่งเป็นด่านแรกที่ทำให้มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีได้[20]

คุณสมบัติชะลอความแก่[แก้]

ชาขาวมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระสูงมากและยังสามารถช่วยชะลอความแก่ เซลล์ผิวหนังจะถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระภายใต้ภาวะกดดันในการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidative stress) ทำให้เกิดริ้วรอยและจุดด่างดำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้มลภาวะและแสงแดดแดด[3] จากการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยคิงสตัน (Kingston University) ประเทศอังกฤษ ในการใช้สารสกัดจากชาขาวต่อการปกป้องโครงสร้างโปรตีนอีลาสตินและคอลลาเจนในชั้นผิวหนัง พบว่าสารที่สกัดจากชาขาวสามารถปกป้องการทำงานของเอนไซม์ที่ทำลายอีลาสตินและคอลลาเจน ซึ่งจะทำให้เกิดริ้วรอยและรอยเหี่ยวย่นทำให้เกิดผลดีต่อโครงสร้างของผิวหนัง คือ เสริมสร้างความแข็งแรงของเซลล์ผิวหนัง ช่วยในด้านความยืดหยุ่นของผิวหนังให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น รวมทั้งส่งผลต่อการทำงานของปอด เส้นเลือด เส้นเอ็นต่าง ๆ และผิวหนังทำงานได้ดีด้วย[13]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Keiser J. (1 มิถุนายน 2001). White Tea: Culmination of Elegance. Adagio Teas Inc.
  2. กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (2552). การศึกษาความเป็นไปได้ของการผลิตชาเขียวและชาอูหลงแบบซองในจังหวัดเชียงราย. กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม. เก็บถาวร 3 กันยายน 2014 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 Ho CT., Lin JK., and Shahidi F. (2008). Tea and Tea Products Chemistry and Health-Promoting Properties. New York: CRC Press. ISBN 978-0-8493-8082-2.
  4. แดนศิลป์ ธ. (2545) “เสน่หาแห่งชา” กรุงเทพ: อีกหนึ่งสำนักพิมพ์ ISBN 974-90377-7-4.
  5. ตรีวานิช ส., (2551). ชาขาวกับชาเขียว... เหมือนหรือต่างกันอย่างไร เก็บถาวร 2013-02-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  6. 6.0 6.1 School of Life Sciences, Kingston University. Anti-collagenase, anti-elastase and anti-oxidant ctivities of extracts from 21 plants. BMC Complementary and Alternative Medicine. 9:27.
  7. The Antioxidants in White Tea. 2007. เก็บถาวร 29 กรกฎาคม 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  8. Bhimani, R.S., Troll, W., Gruberger, D. and Frenkel, K. 1993. Inhibition of oxidative stress in HeLa-cells by chemopreventive agents. Cancer Res. 53: 4528–33.
  9. Miura, S., Watanabe, J., Sano, M., Tomita, T., Osawa, T., Hara, Y. and Tomita, I. (1995). Effects of various natural antioxidants on the Cu2+-mediated oxidative modification of low density lipoprotein. Biol. Pharm. Bull. 18: 1–4. PMID 7735221. doi:10.1248/bpb.18.1.
  10. Hilal Y., and Engelhardt U. (2007). Characterisation of white tea – Comparison to green and black tea. Braunschweig University, Germany. doi:10.1007/s00003-007-0250-3.
  11. 11.0 11.1 American Society For Microbiology (2004). White Tea Beats Green Tea In Fighting Germs. ScienceDaily.
  12. Comparison of white tea, green tea, epigallocatechin-3-gallate, and caffeine as inhibitors of PhIP-induced colonic aberrant crypts:. Nutr. Cancer.
  13. 13.0 13.1 Kingston University (2009). White Tea Could Keep You Healthy And Looking Young. ScienceDaily.
  14. Schutt E. (2003) White tea extract: a tea less processed.
  15. Health Benefits of White Tea. ม.ป.ป. เก็บถาวร 3 ตุลาคม 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  16. Grassi, D., and et al. (2008). Tea, flavonoids, and nitric oxide-mediated vascular reactivity. Journal of Nutrition. 38. pp. 1554S–1560S.
  17. Kao, Y. H., et al. (2006). Tea, obesity, and diabetes. Molecular Nutrition & Food Research. 50. pp. 188–210.
  18. Gondoin A., et al. (2010). White and green tea polyphenols inhibit pancreatic lipase in vitro. Food Research International. 43: 1537–1544.
  19. 19.0 19.1 Söhle J., et al. (2009). White Tea extract induces lipolytic activity and inhibits adipogenesis in human subcutaneous (pre) -adipocytes. Nutrition & Metabolism.
  20. Elements Of Green Tea Prevent HIV From Binding To Human T Cells. ScienceDaily.com.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]