ข้ามไปเนื้อหา

ค็อมพยูเทอร์ชปีเลอมูเซอุม เบอร์ลิน

พิกัด: 52°31′03″N 13°26′31″E / 52.5176°N 13.4419°E / 52.5176; 13.4419
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ค็อมพยูเทอร์ชปีเลอมูเซอุม เบอร์ลิน
ค็อมพยูเทอร์ชปีเลอมูเซอุมเมื่อปี 2013
แผนที่
ก่อตั้งค.ศ. 1997 (1997) (เปิดใหม่ในปี ค.ศ. 2011 (2011))
ยุติค.ศ. 2000 (2000) (นิทรรศการเดิม)
ที่ตั้งถนนคาร์ล มาคส์ ฟรีดริชส์ไฮน์ เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
พิกัดภูมิศาสตร์52°31′03″N 13°26′31″E / 52.5176°N 13.4419°E / 52.5176; 13.4419
ประเภทพิพิธภัณฑ์วิดีโอเกม
ขนาดผลงาน>37,000 ชิ้น
เจ้าของสมาคมเสริมกำลังเพื่อกิจการเยาวชนและสังคม
เว็บไซต์www.computerspielemuseum.de

ค็อมพยูเทอร์ชปีเลอมูเซอุม (เยอรมัน: Computerspielemuseum; แปลว่า พิพิธภัณฑ์เกมคอมพิวเตอร์) เป็นพิพิธภัณฑ์วิดีโอเกม ตั้งขึ้นที่เบอร์ลินในปี 1997 ก่อนจะปิดให้บริการงานจัดแสดงถาวรในปี 2000 และกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ออนไลน์โดยสมบูรณ์ กระทั่งปี 2011 ได้เปิดตัวนิทรรศการถาวรอีกครั้งในเขตฟรีดริชส์ไฮน์ของเบอร์ลิน ตั้งอยู่ริมถนนคาร์ล มาคส์

นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 1997 พิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงนิทรรศการในระดับชาติและนานาชาติถึง 30 ครั้ง ซึ่งรวมถึงโครงการ "pong.mythos" ที่ได้รับการสนับสนุนโดยมูลนิธิวัฒนธรรมสหพันธ์เยอรมัน และถือเป็นนิทรรศการเคลื่อนที่ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในประวัติศาสตร์เกมคอมพิวเตอร์ ในระยะเวลา 5 ปี มียอดผู้เข้าชมนิทรรศการดังกล่าว 470,000 คน ของสะสมของพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยอุปกรณ์สำรองข้อมูลจำนวน 25,000 ชิ้นที่มีเกม, นิตยสารเทคนิค 12,000 ชิ้น และเครื่องเล่นเกมต่าง ๆ ทั้งเกมอาเขต, คอมพิวเตอร์ครัวเรือน, ระบบคอนโซล ไปจนถึงเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงวิดีโอ โปสเตอร์ คู่มือ พิพิธภัณฑ์ถือว่ามีของสะสมซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์เพื่อความบันเทิงมากที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป[1] ของสะสมทั้งหมดเป็นของสมาคมเสริมกำลังเพื่อกิจการเยาวชนและสังคม ตัวพิพิธภัณฑ์ดำเนินงานโดยบริษัท เกมส์เฮาส์ จำกัด อาคารนิทรรศการถาวรหลังใหม่ริมถนนคาร์ล มาคส์ ก่อสร้างด้วยเงินทุนจากกองทุนหวยเยอรมันและจากโครงการลงทุนทางวัฒนธรรมของกรมกิจการวัฒนธรรม

พิพิธภัณฑ์จัดแสดงงานจัดแสดงแบบโต้ตอบมากกว่า 300 ชิ้น ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของการเล่นเกมคอมพิวเตอร์[1] หนึ่งในส่วนสำคัญของงานจัดแสดงคือวิดีโอเกมอาเขตของจริงจากคริสต์ทศวรรษ 1980 ระบบคอนโซลเกมต่าง ๆ ที่จัดแสดงมีตั้งแต่แม็กนาว็อกซ์ออดิสซีย์ฉบับดั้งเดิมจากปี 1972 ไปจนถึงของใช้ในบ้านอย่างเกมของนินเทนโดและเครื่องเล่นทุกรุ่นจากกลุ่มเพลย์สเตชัน ส่วนจัดแสดงหนึ่งของพิพิธภัณฑ์มีชื่อว่า "เพนสเตชัน" (PainStation; เป็นคำล้อของเพลย์สเตชัน รวมกับคำว่า pain ซึ่งแปลว่าความเจ็บปวด) ที่ซึ่งผู้แพ้ในเกมจะต้องถูกลงโทษทางกาย เช่นด้วยความร้อนหรือด้วยไฟฟ้าช็อตเบา ๆ[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Ungerleider, Neal (28 January 2011). "World's Largest Video Game Exhibition Opens in Berlin". Fast Company (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 14 August 2021.
  2. amusingplanet.com 15 May 2011 Worlds's Largest Video Game Museum

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]