คาเรน เวตเทอร์ฮาห์น
คาเรน เวตเทอร์ฮาห์น | |
---|---|
เกิด | 16 ตุลาคม ค.ศ. 1948 แพลตต์สเบิร์ก รัฐนิวยอร์ก สหรัฐ |
เสียชีวิต | 8 มิถุนายน ค.ศ. 1997 เลบานอน รัฐนิวแฮมป์เชอร์ สหรัฐ | (48 ปี)
ชื่ออื่น | คาเรน เวตเทอร์ฮาห์น เจนเน็ตต์[1] |
ศิษย์เก่า | |
มีชื่อเสียงจาก |
|
อาชีพทางวิทยาศาสตร์ | |
สาขา | เคมี |
สถาบันที่ทำงาน | วิทยาลัยดาร์ตมัธ |
วิทยานิพนธ์ | Metallointercalation reagents: synthesis, physical properties and their interaction with nucleic acids (1975) |
อาจารย์ที่ปรึกษาในระดับปริญญาเอก | สตีเฟน เจ. ลิปพาร์ด |
ได้รับอิทธิพลจาก | คริสตีน อาเลวีน |
คาเรน เอลิซาเบ็ท เวตเทอร์ฮาห์น (อังกฤษ: Karen Elizabeth Wetterhahn) หรือคาเรน เวตเทอร์ฮาห์น เจนเน็ตต์ (อังกฤษ: Karen Wetterhahn Jennette)[1] เป็นศาสตราจารย์ด้านเคมีประจำวิทยาลัยดาร์ตมัธ รัฐนิวแฮมป์เชอร์ ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับพิษจากการได้รับโลหะหนัก เธอเสียชีวิตจากภาวะพิษปรอท (mercury poisoning) ขณะอายุได้ 48 ปีหลังจากที่เธอได้รับไดเมทิลเมอร์คิวรี (Hg(CH
3)
2) เนื่องจากหยดสารซึมทะลุผ่านถุงมือที่เธอใช้
ประวัติและอาชีพ
[แก้]เวตเทอร์ฮาห์นเกิดที่เมืองแพลตต์สเบิร์ก รัฐนิวยอร์ก[2] เธอสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเซนต์ลอว์เรนซ์ใน ค.ศ. 1970 และระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียใน ค.ศ. 1975[3] โดยอาจารย์ที่ปรึกษาในระดับปริญญาเอกได้แก่สตีเฟน เจ. ลิปพาร์ด[4] เธอเข้าทำงานที่วิทยาลัยดาร์ตมัธใน ค.ศ. 1975 และตีพิมพ์ผลงานกว่า 85 ฉบับ[2] เธอมีส่วนร่วมก่อตั้งโครงการส่งเสริมนักศึกษาหญิงในสาขาวิทยาวิทยาศาสตร์ (WISP; Women in Science Project) ขึ้นที่ดาร์ตมัธใน ค.ศ. 1990 ซึ่งเพิ่มจำนวนนักศึกษาหญิงในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์จากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 25 และกลายเป็นต้นแบบสำหรับสถาบันอุดมศึกษาแห่งอื่นในสหรัฐ[2][5][6]
อุบัติเหตุและการเสียชีวิต
[แก้]วันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1996 เวตเทอร์ฮาห์นกำลังศึกษาอันตรกิริยาระหว่างไอออนปรอทและแคดเมียมกับโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมแซมดีเอ็นเอ ในการทดลองเธอใช้ไดเมทิลเมอร์คิวรีเป็นสารมาตรฐานสำหรับการวิเคราะห์ 199
Hg นิวเคลียร์แมกเนติกเรโซแนนซ์ (NMR) ซึ่งเป็นเทคนิคที่นิยมใช้ในการวิเคราะห์สารประกอบของปรอทในขณะนั้น[7]
เวตเทอร์ฮาห์นจำได้ว่าหยดไดเมทิลเมอร์คิวรีสองสามหยดกระเด็นจากปลายปิเปตต์ที่เธอใช้อยู่และตกลงบนถุงมือยางที่เธอใช้[8] เธอไม่คิดว่าจะมีอันตรายเกิดขึ้น เนื่องจากเธอทำตามมาตรการป้องกันทุกประการที่มีกำหนดไว้[9] เธอทำความสะอาดพื้นที่ที่เธอทำงานก่อนที่จะถอดอุปกรณ์ป้องกันสารเคมีออก[8] อย่างไรก็ตาม การทดสอบในภายหลังพบว่าไดเมทิลเมอร์คิวรีสามารถซึมผ่านถุงมือยางและผ่านเข้าสู่ผิวหนังได้ภายใน 15 วินาทีเท่านั้น[7] ซึ่งสอดคล้องกับการวิเคราะห์หาปริมาณปรอทในเส้นผมซึ่งแสดงให้เห็นว่าปริมาณปรอทในเส้นผมเพิ่มขึ้นอย่างมาก 17 วันหลังได้รับสาร และเพิ่มถึงจุดสูงสุด 39 วันหลังได้รับสาร ก่อนที่จะลดลงอย่างช้า ๆ[8]
ประมาณสามเดือนหลังได้รับสาร เวตเทอร์ฮาห์นเริ่มมีอาการปวดท้องและผมร่วงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่อาการด้านประสาทวิทยาได้แก่การเสียความสามารถในการทรงตัวและการพูดที่ช้าลงเริ่มปรากฏในเดือนมกราคม ค.ศ. 1997 หรือห้าเดือนหลังได้รับสาร[8] ซึ่งที่ระยะนี้ การทดสอบพบว่าเธอมีภาวะปรอทในเลือดสูง[5][6][9] ปริมาณปรอทในเลือดและในปัสสาวะวัดได้ 4,000 µg L−1[7] และ 234 µg L−1 ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าปริมาณขั้นต่ำที่ถือว่าเป็นพิษได้แก่ 200 µg L−1 ในเลือดและ 50 µg L−1 ในปัสสาวะ (ในคนปกติ เลือดและปัสสาวะจะมีปริมาณปรอทอยู่ 1–8 µg L−1 และ 1–5 µg L−1 ตามลำดับ)[8]
แม้ว่าแพทย์จะใช้คีเลชันเพื่อบำบัดพิษปรอทอย่างเต็มที่ก็ตาม อาการของเวตเทอร์ฮาห์นก็แย่ลงอย่างรวดเร็ว สามสัปดาห์หลังเริ่มปรากฏอาการทางประสาทวิทยา เธอเริ่มมีอาการคล้ายสภาพผักสลับกับอาการกระตุกอย่างรุนแรง[8] นักศึกษาคนหนึ่งของเธอเล่าว่า "สามีของเธอเห็นน้ำตาไหลบนหน้าเธอ ฉันถามว่าเธอรู้สึกเจ็บปวดไหม หมอบอกว่าดูเหมือนกับว่าสมองเธอไม่น่าจะรับรู้ความเจ็บปวดแล้ว"[9] เวตเทอร์ฮาห์นเสียชีวิตในวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1997 ไม่ถึงหนึ่งปีหลังจากได้รับสารปรอท[8]
การเสียชีวิตของเวตเทอร์ฮาห์นชี้ให้เห็นว่ามาตรการป้องกันในสมัยนั้น (ซึ่งเวตเทอร์ฮาห์นทำถูกต้องทุกประการ) ยังไม่เพียงพอสำหรับสารเคมีที่มีพิษร้ายแรงอย่างเช่นไดเมทิลเมอร์คิวรี[8] องค์การอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของสหรัฐหรือ OSHA แนะนำว่าให้หลีกเลี่ยงการใช้ไดเมทิลเมอร์คิวรีเท่าที่จะทำได้ และในกรณีที่ต้องใช้สารนี้ ผู้ใช้ต้องสวมถุงมือเคลือบพลาสติก (SilverShield)[10] นอกจากนี้ ได้มีความพยายามที่จะหาสารอื่นเพื่อใช้เป็นสารมาตรฐานสำหรับการวิเคราะห์นิวเคลียร์แมกเนติกเรโซแนนซ์ของปรอทแทนที่ไดเมทิลเมอร์คิวรี[11][12][13]
สิ่งสืบเนื่อง
[แก้]การเสียชีวิตของเวตเทอร์ฮาห์นส่งผลกระทบเป็นวงกว้างนอกเหนือจากภายในภาควิชาเคมีที่วิทยาลัยดาร์ตมัธ ผลกระทบยังส่งไปถึงองค์การด้านความปลอดภัยเนื่องจากกรณีของเธอชี้ให้เห็นว่าแม้ว่าเธอจะทำตามมาตรการป้องกันที่กำหนดไว้ทุกประการ เช่นการใช้ถุงมือยาง ตู้ดูดควัน และขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัย เป็นต้น หลังจากที่ทราบว่าเวตเทอร์ฮาห์นล้มป่วยเนื่องจากพิษปรอท เพื่อนร่วมงานของเธอได้ทดสอบถุงมือชนิดต่าง ๆ ในห้องปฏิบัติการและพบว่าไดเมทิลเมอร์คิวรีสามารถซึมผ่านถุงมือส่วนใหญ่ได้ภายในไม่กี่วินาที ซึ่งเร็วกว่าที่คาดไว้[7][8] ในปัจจุบันจึงแนะนำให้ใช้ถุงมือเคลือบพลาสติกเพื่อป้องกันไดเมทิลเมอร์คิวรี
ในขณะนั้นไดเมทิลเมอร์คิวรีนิยมใช้เป็นสารมาตรฐานสำหรับการวิเคราะห์ 199
Hg นิวเคลียร์แมกเนติกเรโซแนนซ์เนื่องจากมีคุณสมบัติบางประการดีกว่าสารอื่น[14] อย่างไรก็ตาม หลังจากกรณีการเสียชีวิตของเธอ ได้มีการแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้ไดเมทิลเมอร์คิวรี[10] การเสียชีวิตของเธอนั้นนำไปสู่การปรับปรุงมาตรการด้านความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการขนานใหญ่[15]
วิทยาลัยดาร์ตมัธได้ก่อตั้งโครงการสำหรับให้ทุนนักวิจัยได้แก่ Karen E. Wetterhahn Graduate Fellowship in Chemistry ใน ค.ศ. 1998 โดยได้เงินทุนสนับสนุนจากกองทุนอนุสรณ์คาเรน อี. เวตเทอร์ฮาห์น (Karen E. Wetterhahn Memorial Fund) เพื่อส่งเสริมนักศึกษาหญิงให้ศึกษาด้านวิทยาศาสตร์[16] สถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (National Institute of Environmental Health Sciences) ได้ก่อตั้งรางวัลอนุสรณ์คาเรน เวตเทอร์ฮาห์น (Karen Wetterhahn Memorial Award) ซึ่งเป็นรางวัลประจำปีสำหรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาและนักวิจัยหลังปริญญาเอก[17]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "Lippard's PhD. students at Columbia University" (PDF). lippardlab.mit.edu. สืบค้นเมื่อ July 7, 2021.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 "Karen Wetterhahn; Dartmouth Scientist". Los Angeles Times. June 12, 1997. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 14, 2014. สืบค้นเมื่อ July 11, 2014.
- ↑ "In Memoriam Karen E. Wetterhahn, Ph.D. 1948−1997". Chemical Research in Toxicology. 10 (9): 923. 1997. doi:10.1021/tx9704922.
- ↑ Long, Janice (1997). "Mercury poisoning fatal to chemist". Chemical & Engineering News. 75 (24): 11–12. doi:10.1021/cen-v075n024.p011a.
- ↑ 5.0 5.1 Endicott, Karen (April 1998). "The Trembling Edge of Science" (PDF). Dartmouth Alumni Magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-07-15.
- ↑ 6.0 6.1 "A Tribute to Karen Wetterhahn". Dartmouth College. May 1, 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 26, 2009.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 Cotton, Simon (October 2003). "Dimethylmercury and Mercury Poisoning: The Karen Wetterhahn story". Molecule of the Month. Bristol University School of Chemistry. doi:10.6084/m9.figshare.5245807. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 30, 2012. สืบค้นเมื่อ January 6, 2021.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 8.6 8.7 8.8 Nierenberg, David W.; Nordgren, Richard E.; Chang, Morris B.; Siegler, Richard W.; Blayney, Michael B.; Hochberg, Fred; Toribara, Taft Y.; Cernichiari, Elsa; Clarkson, Thomas (1998). "Delayed Cerebellar Disease and Death after Accidental Exposure to Dimethylmercury". New England Journal of Medicine. 338 (23): 1672–1676. doi:10.1056/NEJM199806043382305. PMID 9614258.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 Newman, Cathy (May 2005). "Pick Your Poison – 12 Toxic Tales". National Geographic. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-18. สืบค้นเมื่อ 2009-03-07.
- ↑ 10.0 10.1 Witt, Steven F. (March 9, 1998). "Dimethylmercury". OSHA Hazard Information Bulletins. Office of Science and Technology Assessment, Occupational Safety and Health Administration. สืบค้นเมื่อ March 22, 2021.
- ↑ Zacks, Rebecca (September 1997). "Looking for alternatives". Scientific American. Vol. 277 no. 3. p. 20.
- ↑ Blayney, Michael B.; Winn, John S.; Nierenberg, David W. (May 12, 1997). "Handling dimethylmercury". Chemical & Engineering News. Vol. 75 no. 19. p. 7. doi:10.1021/cen-v075n019.p007.
- ↑ Toriba, Taft Y.; Clarkson, Thomas W.; Nierenberg, David W. (June 16, 1997). "More on working with dimethylmercury". Chemical and Engineering News. Vol. 75 no. 24. p. 6. doi:10.1021/cen-v075n024.p006.
- ↑ O'Halloran, Thomas V.; Singer, Christopher P. (March 10, 1998). "199Hg NMR Standards". Northwestern University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 3, 2013.
- ↑ Cavanaugh, Ray (February 2019). "The dangers of dimethylmercury". Chemistry World. Royal Society of Chemistry. สืบค้นเมื่อ January 6, 2021.
- ↑ "The Karen E. Wetterhahn Graduate Fellowship in Chemistry". Dartmouth College. January 30, 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 10, 2015. สืบค้นเมื่อ July 15, 2014.
- ↑ "Karen Wetterhahn Memorial Award". National Institute of Environmental Health Sciences. June 27, 2013. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 14, 2012. สืบค้นเมื่อ July 14, 2014.