ข้ามไปเนื้อหา

การช็อกทางวัฒนธรรม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การเผชิญหน้ากับเหล่ากองกิสตาดอร์ซึ่งใช้เหล็กกล้าและม้าทำให้ชาวแอซเท็กตื่นตระหนกและเข้าใจสับสนว่าชาวยุโรปอาจเป็นศาสดาพยากรณ์จากตะวันออกตามตำนาน
นักเดินทางจากออสเตรเลียไปเยี่ยมชมไร่เล็ก ๆ แห่งหนึ่งในเซียร์ราลีโอน

การช็อกทางวัฒนธรรม หรือ ความตื่นตระหนกทางวัฒนธรรม (อังกฤษ: culture shock) คือประสบการณ์ที่บุคคลหนึ่งอาจมีเมื่อบุคคลนั้นย้ายไปอยู่ในสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมที่ต่างกับสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมของตน นอกจากนี้ยังเป็นความสับสนที่บุคคลหนึ่งอาจรู้สึกเมื่อประสบกับวิถีชีวิตที่ไม่คุ้นเคยอันเนื่องมาจากการย้ายถิ่นเข้าหรือการไปเยือนประเทศใหม่ การย้ายไปมาระหว่างสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ต่างกัน หรือการปรับเปลี่ยนไปใช้ชีวิตแบบอื่น[1] หนึ่งในสาเหตุที่พบได้บ่อยของการช็อกทางวัฒนธรรมเกี่ยวพันกับปัจเจกบุคคลที่อยู่ในสภาพแวดล้อมต่างแดน เราอาจอธิบายได้ว่าการช็อกทางวัฒนธรรมประกอบด้วยระยะที่แตกต่างกันอย่างน้อยหนึ่งในสี่ระยะ ได้แก่ ความหวานชื่น การต่อรอง การปรับแก้ และการปรับตัว[2][3]

ปัญหาที่พบบ่อย ได้แก่ ภาวะข้อมูลท่วมท้น กำแพงภาษา ช่องว่างระหว่างวัย ช่องว่างทางเทคโนโลยี การพึ่งพาทักษะซึ่งกันและกัน อาการคิดถึงบ้าน (ทางวัฒนธรรม) ความเบื่อหน่าย (การขึ้นอยู่ระหว่างกันของงาน) และความสามารถในการตอบสนอง (ชุดทักษะทางวัฒนธรรม)[4] เป็นต้น ไม่มีวิธีที่แท้จริงในการป้องกันการช็อกทางวัฒนธรรมได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากปัจเจกบุคคลในสังคมใด ๆ ก็ตามได้รับผลกระทบจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมในรูปแบบและระดับที่แตกต่างกันไป[5]

การช็อกทางวัฒนธรรมแบบผันกลับ

[แก้]

การช็อกทางวัฒนธรรมแบบผันกลับ (reverse culture shock) การช็อกหลังกลับเข้าเมือง (re-entry shock) หรือ การช็อกทางวัฒนธรรมของตนเอง (own culture shock)[6] ก็เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ การกลับสู่วัฒนธรรมบ้านเกิดของบุคคลหนึ่งหลังจากเริ่มคุ้นเคยกับวัฒนธรรมใหม่แล้วอาจส่งผลกระทบได้เช่นเดียวกัน[7][8] สิ่งเหล่านี้เป็นผลทางกายเหตุจิตและทางจิตวิทยาของกระบวนการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมหลักอีกครั้ง[9] ผู้ได้รับผลกระทบมักพบว่าการช็อกทางวัฒนธรรมแบบผันกลับนั้นน่าประหลาดใจและรับมือได้ยากกว่าการช็อกทางวัฒนธรรมเริ่มแรก ปรากฏการณ์นี้ ปฏิกิริยาที่สมาชิกของวัฒนธรรมบ้านเกิดแสดงต่อผู้กลับเข้าเมืองอีกครั้ง และความหลีกเลี่ยงไม่ได้ของสถานการณ์ทั้งสองได้รับการสรุปไว้ในคำกล่าวต่อไปนี้ (ซึ่งยังเป็นชื่อนวนิยายของทอมัส วุล์ฟ ด้วย): คุณกลับบ้านไม่ได้อีกแล้ว

การช็อกทางวัฒนธรรมแบบผันกลับโดยทั่วไปประกอบด้วยสองส่วน ได้แก่ การสร้างอุดมคติและความคาดหวัง เมื่อเราใช้เวลาอยู่ในต่างถิ่นเป็นระยะเวลานาน เราจะมุ่งเน้นไปที่สิ่งที่ดีจากอดีตของเรา ตัดสิ่งที่ไม่ดีออก และสร้างอดีตในรูปแบบที่เป็นอุดมคติ ประการที่สอง เมื่อเราถูกลบออกจากสภาพแวดล้อมที่เราคุ้นเคยและวางไว้ในสภาพแวดล้อมต่างถิ่น เราจะทึกทักเอาว่าโลกใบเก่าของเรานั้นไม่ได้เปลี่ยนไป เราจะคาดหวังว่าสิ่งต่าง ๆ ยังเป็นอย่างเดิมเหมือนตอนที่เราจากมา การตระหนักว่าชีวิตในบ้านเกิดนั้นไม่เหมือนเดิมแล้ว ว่าโลกใบนั้นได้ดำเนินต่อไปในขณะที่ไม่มีเรา และกระบวนการปรับตัวให้เข้ากับสภาพใหม่เหล่านี้อีกครั้ง รวมทั้งการสร้างการรับรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับโลกใบนั้นด้วยวิธีการใช้ชีวิตแบบเก่าของเราก่อให้เกิดความอึดอัดและความทุกข์ทางใจ[10]

การช็อกจากการแปรเปลี่ยน

[แก้]

การช็อกทางวัฒนธรรมเป็นประเภทย่อยของเค้าโครงที่เป็นสากลมากขึ้นที่เรียกว่า การช็อกจากการแปรเปลี่ยน (transition shock) การช็อกจากการแปรเปลี่ยนเป็นสถานะของการสูญเสียและความสับสนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคยของบุคคลหนึ่ง ๆ ซึ่งทำให้ต้องมีการปรับตัว อาการช็อกจากการแปรเปลี่ยนมีหลายอย่าง เช่น[11]

  • ความโกรธ
  • ความเบื่อหน่าย
  • การกินหรือดื่มอย่างหยุดไม่ได้
  • ความปรารถนาบ้านและเพื่อนเก่า
  • ความกังวลเรื่องความสะอาดมากเกินไป
  • การนอนหลับมากเกินไป
  • ความรู้สึกหมดหนทางและแยกตัว
  • การ "จมปลัก" อยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
  • การมองเหม่อ
  • การคิดถึงบ้าน
  • ความเป็นปรปักษ์ต่อชนชาติเจ้าบ้าน
  • ความหุนหันพลันแล่น
  • ความหงุดหงิด
  • ความแปรปรวนของอารมณ์
  • ปฏิกิริยาความเครียดทางสรีรวิทยา
  • การเหมารวมชนชาติเจ้าบ้าน
  • ความคิดฆ่าตัวตายหรือความคิดปล่อยไปตามยถากรรม
  • การแยกตัว

อ้างอิง

[แก้]
  1. Macionis, John, and Linda Gerber. "Chapter 3 - Culture." Sociology. 7th edition ed. Toronto, ON: Pearson Canada Inc., 2010. 54. Print.
  2. http://citeseerx.ist.psu.edu/viewdoc/download?doi=10.1.1.461.5459&rep=rep1&type=pdf
  3. Oberg, Kalervo: "Cultural shock: Adjustment to new cultural environments, Practical Anthropology 7 (1960), pp. 177–182
  4. Pedersen, Paul. The Five Stages of Culture Shock: Critical Incidents Around the World. Contributions in psychology, no. 25. Westport, Conn: Greenwood Press, 1995.
  5. Barna, LaRay M. "HOW CULTURE SHOCK AFFECTS COMMUNICATION." Communication 5.1 (n.d.): 1-18. SocINDEX with Full Text. EBSCO.29 Sept.2009.web.
  6. Martin Woesler, A new model of intercultural communication – critically reviewing, combining and further developing the basic models of Permutter, Yoshikawa, Hall, Geert Hofstede, Thomas, Hallpike, and the social-constructivism, Bochum/Berlin 2009, book series Comparative Cultural Sciences vol. 1
  7. Clarke, Laura (6 November 2016). "How expats cope with losing their identity". BBC Capital. British Broadcasting Corporation. สืบค้นเมื่อ 5 December 2017.
  8. Garone, Elizabeth (3 November 2014). "Expat culture shock boomerangs in the office". BBC Capital. British Broadcasting Corporation. สืบค้นเมื่อ 5 December 2017.
  9. Huff, Jennifer L. "Parental attachment, reverse culture shock, perceived social support, and college adjustment of missionary children." urnal of Psychology & Theology9.3 (2001): 246-264.29 Sept 2009.Web
  10. Martin, Hank "Dealing with Reverse Culture Shock." Breaking Trail Online. http://brktrail.com/rshock/ เก็บถาวร 2016-02-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  11. CESA. "Dealing with culture shock". Management Entity: Office of International Research, Education, and Development. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 August 2009. สืบค้นเมื่อ 29 September 2009.