คดีระหว่างบริษัทมอนซานโต้แคนาดากับชไมเซอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คดีระหว่างบริษัทมอนซานโต้แคนาดากับชไมเซอร์
ศาลสูงสุดแคนาดา
ศาลสูงสุดแคนาดา
การนั่งพิจารณา: 20 มกราคม 2547
คำพิพากษา: 5 พฤษภาคม 2547
ชื่อคดีเต็มคดีระหว่างเพอร์ซี ชไมเซอร์ และบริษัท ชไมเซอร์วิสาหกิจ จำกัด กับบริษัท มอนซานโต้แคนาดา จำกัด และบริษัทมอนซานโต้
อ้างอิง[2004] 1 S.C.R. 902, 2004 SCC 34, 239 D.L.R. (4th) 271, 31 C.P.R. (4th) 161
รายงานกระบวนพิจารณาของศาลเลขที่29437
คำวินิจฉัยชี้ขาดข้ออุทธรณ์บางข้อคงยืน
สมาชิกศาล
ประธานศาลสูงสุด: Beverley McLachlin
Puisne Justices: John C. Major, Michel Bastarache, Ian Binnie, Louis LeBel, Marie Deschamps, Morris Fish, Rosalie Abella, Louise Charron
เหตุผลที่ให้
ฝ่ายข้างมากMcLachlin C.J. and Fish J. (paras. 1-106), joined by Major, Binnie, and Deschamps JJ.
ไม่เห็นพ้องArbour J. (paras. 107-171), joined by Iacobucci, Bastarache, LeBel JJ.

คดีระหว่างบริษัทมอนซานโต้แคนาดากับชไมเซอร์ (อังกฤษ: Monsanto Canada Inc v Schmeiser) [2004] 1 S.C.R. 902, 2004 SCC 34 เป็นคดีบรรทัดฐานของศาลสูงสุดของประเทศแคนาดา เรื่องสิทธิของสิทธิบัตรสำหรับเทคโนโลยีชีวภาพ ระหว่างเกษตรกรผักกาดชาวแคนาดาคือ เพอร์ซี ชไมเซอร์ กับบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการเกษตรมอนซานโต้ ศาลฯ นั่งพิจารณาปัญหาว่า พืชดัดแปรพันธุกรรมที่ปลูกโดยเจตนาของชไมเซอร์นั้นเป็น "การใช้" (use) เซลล์พืชดัดแปรพันธุกรรมที่จดสิทธิบัตรของมอนซานโต้หรือไม่ ศาลฯ มีคำวินิจฉัยชี้ขาดด้วยฝ่ายข้างมาก 5-4 ว่าเป็น[1] คดีนี้ได้รับความสนใจจากชนทั่วโลก ที่เข้าใจผิดกันอย่างกว้างขวางว่า อะไรจะเกิดขึ้นถ้าไร่ของเกษตรกรเกิดปนเปื้อนโดยไม่ได้ตั้งใจด้วยเมล็ดพันธุ์ที่จดสิทธิบัตร ทว่าเมื่อพิจารณาคดี ข้อเรียกร้องที่เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์จดสิทธิบัตรในแปลงที่ถูกปนเปื้อนในปี 2540 ก็ล้วนถูกถอนไปหมดแล้ว และศาลเพียงแต่พิจารณาเรื่องเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกในแปลงปี 2541 ซึ่งชไมเซอร์จงใจเก็บรวบรวมจากพืชผลแปรพันธุกรรมที่ได้อย่างไม่ได้ตั้งใจในปี 2540 แล้วปลูกโดยเจตนาในปีต่อมา และสำหรับพืชผลในปี 2541 ชไมเซอร์เองก็ไม่ได้พยายามสู้ความโดยอ้างว่าเกิดการปนเปื้อนโดยอุบัติเหตุเลย[2]

พื้นเพ[แก้]

บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพมอนซานโต้ พัฒนาและจดสิทธิบัตรยีนทนยาฆ่าวัชพืชไกลโฟเสตสำหรับพืชวงศ์ผักกาด canola แล้วผลิตเมล็ดผักกาดที่มียีนจดสิทธิบัตรที่มีคุณสมบัติทนต่อไกลโฟเสต โดยบริษัทวางตลาดเมล็ดพันธุ์โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า Roundup Ready Canola เกษตรกรที่ใช้ระบบการปลูกพืชเช่นนี้ สามารถควบคุมวัชพืชโดยใช้ยาฆ่าวัชพืช Roundup โดยไม่ทำพืชที่ทนยาให้เสียหาย ผู้ที่ใช้ต้องเซ็นสัญญากับมอนซานโต้ ผู้กำหนดว่าต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุก ๆ ปี ราคาเมล็ดพันธุ์พืชจะรวมค่าธรรมเนียมอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตร บริษัทเริ่มวางตลาดในแคนาดาในปี 2539 และโดยปีต่อมา ก็กลายเป็น canola ที่ปลูกในแคนาดาถึง 25%[3]

ที่มาของเมล็ดพันธุ์สิทธิบัตรในแปลงของชไมเซอร์[แก้]

ดังที่สืบความได้ในศาลรัฐบาลกลางชั้นต้น นายเพอร์ซี ชไมเซอร์เป็นเกษตรกรผักกาดในเมืองบรูโน รัฐซัสแคตเชวัน ผู้พบพืชทนยา Roundup ในพืชผลของเขาในปี 2540[4] คือเขาได้ใช้ยา Roundup เพื่อกำจัดวัชพืชรอบ ๆ เสาไฟฟ้าและคูน้ำที่ติดกับถนนสาธารณะที่วิ่งไปข้าง ๆ แปลงพืชของเขาแปลงหนึ่ง แล้วสังเกตเห็นว่า ต้นผักกาดบางส่วนที่ได้ฉีดสเปรย์กลับรอดมาได้ เขาจึงทดสอบโดยฉีดยากับอีกแปลงหนึ่งที่มีบริเวณ 3-4 เอเคอร์ (7.59-10.11 ไร่) ใกล้ ๆ กัน แล้วพบว่า ต้นผักกาดถึง 60% ไม่ตาย ในช่วงเก็บเกี่ยว ชไมเซอร์จึงสั่งให้คนงานคนหนึ่งเก็บเกี่ยวแปลงนั้น แล้วเก็บเมล็ดพืชต่างหากจากพืชผลที่ได้ในที่อื่น แล้วใช้เมล็ดพืชที่ได้ปลูกในเขตพื้นที่ 1,000 เอเคอร์ (2529 ไร่) ในปีต่อมาคือปี 2541

ในช่วงเวลานั้น มีเกษตรกรหลายคนในบริเวณนั้นที่ใช้ Roundup Ready canola ชไมเซอร์อ้างว่า เขาไม่ได้ปลูกพืชเหล่านั้นเองในปี 2540 และแปลงไร่ผักกาดของเขาเกิดการปนเปื้อนโดยอุบัติเหตุ แม้ว่าที่มาของพืชที่พบในแปลงของชไมเซอร์ในปี 2540 จะไม่ชัดเจน ศาลชั้นต้นพบว่า สำหรับพืชผลปี 2541

"...ไม่มีแหล่งที่มาที่เสนอ (โดยชไมเซอร์) ที่สามารถจะอธิบายอย่างมีเหตุผลถึงความหนาแน่นและความกว้างขวางของพืช canola พันธุ์ Roundup Ready ที่มีคุณภาพในระดับการค้า ที่พบจากการทดสอบพืชผลของชไมเซอร์"[5]

ความขัดแย้ง[แก้]

ในปี 2541 มอนซานโต้พบว่า ชไมเซอร์กำลังเพาะปลูกพืชที่ทนต่อ Roundup แล้วจึงติดต่อเขาเพื่อให้เซ็นสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิบัติแลกกับการจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อทำสัญญา ชไมเซอร์ปฏิเสธโดยอ้างว่า การปนเปื้อนในปี 2540 เป็นอุบัติเหตุ และเขาเป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์ที่เขาเก็บเกี่ยวได้ จึงสามารถปลูกพืชได้ตามความปรารถนาเพราะเป็นทรัพย์ของตน ดังนั้น มอนซานโต้จึงฟ้องชไมเซอร์ฐานละเมิดสิทธิบัตร โดยฟ้องในศาลรัฐบาลกลางของประเทศแคนาดาในวันที่ 6 สิงหาคม 2541[4] ต่อมา การต่อรองคดีนอกศาลล้มเหลวในวันที่ 10 สิงหาคม 2541 มีผลเป็นชไมเซอร์ฟ้องบริษัทกลับในศาลโดยเรียกร้องค่าเสียหายเป็นมูลค่า 10 ล้านดอลล่าร์แคนาดา ในฐานการหมิ่นประมาท การบุกรุก และการปนเปื้อนแปลงไร่ของเขา[6] แต่ว่า โดยถึงปี 2550 ชไมเซอร์ก็ยังไม่ได้เริ่มดำเนินคดีการฟ้องกลับในศาล[7]

สิทธิของสิทธิบัตรกับสิทธิทรัพย์สิน[แก้]

เกี่ยวกับปัญหาสิทธิของสิทธิบัตรและสิทธิของเกษตรกรที่จะใช้เมล็ดพันธุ์พืชเก็บเกี่ยวจากแปลงของตน มอนซานโต้อ้างว่า เพราะว่า บริษัทได้จดสิทธิบัตรสำหรับยีน และเซลล์ผักกาดที่เป็นประเด็นก็มียีนที่ว่า บริษัทจึงมีสิทธิตามกฎหมายที่จะควบคุมการใช้พืช รวมทั้งการปลูกเมล็ดพันธุ์พืชที่เก็บเกี่ยวได้จากพืชที่มียีนแม้ว่าพืชจะเกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุ ส่วนชไมเซอร์ยืนยันว่า เขามี "สิทธิของเกษตรกร" ที่จะทำตามใจของตนได้ เมื่อใช้พืชที่เก็บเกี่ยวมาจากแปลงของตน รวมทั้งพืชที่เกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุ และว่า สิทธิในทรัพย์สินที่มีรูปร่างเช่นนี้มีอำนาจเหนือสิทธิในสิทธิบัตรของมอนซานโต้

แต่ว่า กฎหมายแคนาดาไม่ได้กล่าวถึง "สิทธิของเกษตรกร" ตามที่ว่า คือ ศาลเห็นว่า สิทธิของชาวนาในการเก็บเกี่ยวและปลูกเมล็ดพันธุ์ เป็นเพียงสิทธิของเจ้าของทรัพย์ในการใช้ทรัพย์สินของตนตามที่ต้องการ และดังนั้น สิทธิในการใช้เมล็ดพันธุ์จึงมีข้อจำกัดตามกฎหมายเหมือนกับการใช้ทรัพย์สินอย่างอื่น ๆ รวมทั้งข้อจำกัดที่มาจากสิทธิบัตรในกรณีนี้ ศาลได้ลิขิตความเห็นไว้ว่า

"เกษตรกรที่ไร่ของตนมีเมล็ดพืชหรือพืช ที่มาจากเมล็ดพันธุ์ที่ล้นเข้ามาในแปลงหรือว่ามีลมพัดเข้ามาในแปลง จะเป็นต้นที่เกี่ยวแล้วหล่นเข้ามา หรือแม้จะเป็นต้นจากเมล็ดที่เกิดโดยละอองเรณูที่นำเขามาในไร่ของตนโดยสัตว์ นก หรือลม อาจจะเป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์หรือพืชที่อยู่ในไร่ของตนแม้ว่าจะไม่ได้ปลูกด้วยตนเอง แต่ว่า เขาไม่ได้มีสิทธิที่จะใช้ (use) ยีนที่จดสิทธิบัตร ใช้เมล็ด หรือใช้พืช ที่มียีนหรือเซลล์ที่จดสิทธิบัตร"[4]

ความโด่งดัง[แก้]

กรณีนี้ ได้รับความสนใจจากประชาชนและสื่อมวลชนอย่างกว้างขวาง ก่อนที่คดีจะไปถึงศาลชั้นต้นเสียอีก มีการวาดภาพเป็นการต่อสู้กันระหว่างยักษ์ใหญ่กับหนูน้อย คือระหว่างมอนซานโต้กับชาวนา หรือเป็นการขโมยผลงานวิจัยและพัฒนาที่ทำมานานหลายปี[8][9][10] กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและผู้ต่อต้านพันธุวิศวกรรมได้สนับสนุนสิทธิของชไมเซอร์ ผู้ได้ให้คำสัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีนี้ไปทั่วโลก[8][9][11] ส่วนบางพวกวาดภาพกรณีนี้ว่า เป็นการต่อสู้กันระหว่างบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพขนาดยักษ์ กับกลุ่มต่อต้านเทคโนโลยีชีวภาพที่ใหญ่และมีทุนสนับสนุนเท่าเทียมกัน[12] แล้วแสดงความเป็นห่วงว่า ทั้งความเท็จจริงและบริบทของคดีนี้ ถูกบิดเบือนโดยชไมเซอร์ โดยกลุ่มสิ่งแวดล้อม และโดยกลุ่มต่อต้านพันธุวิศวกรรมต่าง ๆ[12][13][14]

คดีนี้ ยังวาดภาพอีกด้วยว่า เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการกำหนดขอบเขตกฎหมายเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพ รวมทั้งพันธุวิศวกรรม และการเป็นเจ้าของสิ่งมีชีวิตระดับสูง และเป็นคดีที่มักจะเชื่อมกับคดีหนูแปรพันธุกรรมที่ใช้ในการทดลองโรคมะเร็งที่เรียกว่าหนูฮาร์วาร์ด หรือ Oncomouse ที่ในปี 2545 ศาลสูงสุดแคนาดาได้ปฏิเสธสิทธิบัตร คดีหนูฮาร์วาร์ดเป็นคดีตั้งบรรทัดฐานในแคนาดา เกี่ยวกับการเป็นเจ้าของสิ่งมีชีวิตระดับสูง แม้ว่าการตัดสินของแคนาดาจะไม่เข้ากับการตัดสินของศาลในประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป ที่ให้สิทธิบัตรกับหนูฮาร์วาร์ด[8] แต่ว่า ศาลสูงสุดแคนาดาในที่สุดก็บ่งชี้อย่างพิถีพิถันว่า คดีนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับยีนในเมล็ดพันธุ์ ไม่ใช่เรื่องสิ่งมีชีวิตในระดับสูง เป็น "คดีแรกที่ศาลสูงสุดของประเทศไหนก็ตาม ได้ตัดสินเรื่องสิทธิบัตรเกี่ยวกับพืชและยีนเมล็ดพันธุ์พืช"[15]

คดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์[แก้]

ศาลรัฐบาลกลางแคนาดาชั้นต้น ได้ตัดสินปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรและ "สิทธิของเกษตรกร" ให้มอนซานโต้ชนะ[4] และเช่นกันในระดับศาลอุทธรณ์ โดยศาลทั้งสองพบว่า จุดหลักของการละเมิดสิทธิบัตรของชไมเซอร์ในพืชผลปี 2541 ก็คือ เขารู้หรือควรจะรู้คุณลักษณะของเมล็ดพันธุ์ทนยาไกลโฟเสตที่ตนได้เก็บไว้แล้วปลูก

การดำเนินคดีในศาลรัฐบาลขั้นต้นทำในวันที่ 5 มิถุนายน 2543 ในเมือง Saskatoon รัฐซัสแคตเชวัน[16] แต่ว่า การโจทย์เกี่ยวกับพืชที่พบในแปลงชไมเซอร์ในปี 2540 ได้ยกฟ้องก่อนที่จะไปถึงศาล และศาลพิจารณาเพียงแค่เรื่องพืชในแปลงปี 2541 ซึ่งเป็นปีที่ชไมเซอร์ไม่ได้พยายามสู้ความโดยอ้างว่า มีการปนเปื้อนโดยอุบัติเหตุ หลักฐานแสดงว่า อัตราของพืชทนไกลโฟเสตในแปลงชไมเซอร์ปี 2541 อยู่ที่ระดับ 95-98%[4]: ย่อหน้า 53  และว่า ระดับความหนาแน่นของพืชเช่นนี้ไม่สามารถเกิดได้โดยอุบัตเหตุ ซึ่งเป็นมูลฐานที่ศาลใช้ตัดสินว่า ชไมเซอร์รู้หรือ "ควรจะรู้" ว่าเขาได้ปลูกพืช Roundup Ready canola ในปี 2541 ดังนั้น ปัญหาว่า พืชที่เข้ามาในแปลงของเขาในปี 2540 เป็นอุบัติเหตุหรือไม่ จึงไม่สำคัญ ถึงอย่างนั้นก็ดี ในศาลชั้นต้น มอนซานโต้ได้แสดงหลักฐานเพียงพอที่ทำให้ศาลเชื่อว่า พืชที่เกิดขึ้นในปี 2540 ก็คงไม่ได้เกิดโดยอุบัติเหตุ[4]: ย่อหน้า 118  ศาลกล่าวว่า เชื่อถือได้ "ตามดุลความน่าจะเป็น" (ซึ่งเป็นมาตรฐานในคดีแพ่งว่า "เป็นไปได้มากกว่าที่จะไม่ใช่" คือมีความน่าจะเป็นสูงกว่า 50%) ว่า พืชที่พบในปี 2540 ไม่ได้เกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุ เช่น การตกจากรถบรรทุก หรือพัดมาตามลม ดังที่ชไมเซอร์ได้เสนอ

ส่วนในสื่อสาธารณชน ผู้สนับสนุนชไมเซอร์อ้างว่า คำอธิบายของเขายังไม่ได้กำจัดความเป็นไปได้ว่า การเก็บเกี่ยวแล้วปลูกพืชจากเขตที่ถูกสเปรย์เป็นอุบัติเหตุ ที่เกิดจากการสื่อสารที่ผิดพลาดระหว่างชไมเซอร์กับคนงาน หรือว่าเขาไม่ได้ตั้งสติที่จะสั่งคนงานให้หลีกเลี่ยงใช้เมล็ดพันธุ์พืชในการปลูก ส่วนผู้สนับสนุนมอนซานโต้อ้างว่า การประมาทเลินเล่อเช่นนี้ไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจาก

  • ข้ออ้างของชไมเซอร์ว่า ตนไม่ต้องการ Roundup Ready canola ในแปลงของตนเพียงไร และว่าตนให้ความความสำคัญมากกับความเป็นอยู่ได้ของพันธุ์พืชของตน
  • มอนซานโต้ได้แจ้งชไมเซอร์ก่อนฤดูเพาะปลูกปี 2541 แล้วว่า บริษัทเชื่อว่าเขาได้จงใจปลูกพืชในปี 2540

อย่างไรก็ดี ตามกฎหมายแล้ว ความประมาทเลินเล่อเช่นนี้ไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างแก้การละเมิดสิทธิบัตรได้ และดังนั้น จึงไม่สำคัญ เพราะว่า สิทธิบัตรเป็นเรื่องกฎหมายแพ่ง และดังนั้น ความจงใจละเมิด จึงไม่ได้เป็นองค์การตัดสินว่าได้ละเมิดสิทธิบัตรหรือไม่[4]: ย่อหน้า 115  แต่ว่าในจุดนี้ ศาลอุทธรณ์ต่อมาให้ข้อสังเกตว่า การปนเปื้อนทางยีนโดยอุบัติเหตุที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของเกษตรกร ควรจะเป็นข้อยกเว้นในกฎที่ว่า ความจงใจไม่ได้เป็นประเด็นในการโต้แย้งเรื่องสิทธิบัตร

ศาลชั้นต้นได้สรุปว่า

ตามดุลความน่าจะเป็น จำเลยได้ละเมิดข้อเรียกร้องจำนวนหนึ่งของโจทก์ภายใต้สิทธิบัตรแคนาดาหมายเลข 1,313,830 โดยไม่ได้รับความยินยอมหรือการอนุญาตจากโจทก์ ด้วยการปลูกแปลง canola ในปี 2541 ด้วยเมล็ดพันธุ์ที่เก็บจากปี 2540 ที่จำเลยรู้ หรือควรจะรู้ว่า ทนต่อยา Roundup ซึ่งเป็นพืชที่เมื่อทดสอบก็พบว่า มียีนและเซลล์ที่เป็นข้อเรียกร้องภายใต้สิทธิบัตรของโจทก์ จำเลยยังละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์เพิ่มขึ้นอีกโดยการขายเมล็ดพันธุ์ที่เก็บเกี่ยวได้ในปี 2541[4]

ต่อมา ศาลอุทธรณ์จึงได้ดำเนินคดีที่เมืองเดียวกันเริ่มวันที่ 15 พฤษภาคม 2545 แล้วตัดสินให้การตัดสินของศาลชั้นต้นคงยืน[17]

ศาลอุทธรณ์เน้นความสำคัญโดยเฉพาะของการที่ชไมเซอร์ใช้เมล็ดพันธุ์ทั้ง ๆ ที่รู้ ในการตัดสินว่ามีการละเมิดสิทธิบัตร แล้วตั้งข้อสังเกตว่า ในกรณีที่มีการปนเปื้อนโดยอุบัติเหตุ หรือที่เกษตรกรรู้ถึงการมีอยู่ของยีนสิทธิบัตรแต่ไม่ทำการเพื่อเพิ่มจำนวนพืช ศาลอาจจะตัดสินแตกต่างออกไปได้[17]: ย่อหน้า 55-58  ศาลไม่ได้ปรับชไมเซอร์โดยส่วนบุคคล แต่ปรับบริษัทเกษตรของชไมเซอร์คือบริษัทชไมเซอร์วิสาหกิจจำกัด โดยที่ชไมเซอร์ทำการเป็นกรรมการของบริษัท

ต่อมา มีการยื่นฎีกาต่อศาลสูงสุด ซึ่งตกลงที่จะฟังความในเดือนพฤษภาคม 2546 แล้วจึงเริ่มดำเนินคดีในวันที่ 20 มกราคม 2547 ประเด็นพิจารณาของศาลสูงสุดก็คือ การเพาะปลูกผักกาดแปรพันธุกรรมของชไมเซอร์เป็นการใช้ (use) เซลล์พืชแปรพันธุกรรมซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ของมอนซานโต้หรือไม่[1]

ชไมเซอร์มีองค์การนอกภาครัฐ 6 องค์กรเป็นผู้ช่วยสนับสนุนในศาล คือ องค์กรนิยมการเมืองฝ่ายซ้าย สภาชาวแคนาดา (Council of Canadians), กลุ่มปฏิบัติการเกี่ยวกับความเสื่อม เทคโนโลยี และการรวมอำนาจ (Action Group on Erosion, Technology and Concentration), กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมคลับเซียร์รา (Sierra Club), สหภาพเกษตกรแห่งชาติ (National Farmers Union), มูลนิธิการวิจัยเพื่อวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนิเวศน์ (Research Foundation for Science, Technology and Ecology), ศูนย์ประเมินเทคโนโลยีนานาชาติ (International Center for Technology Assessment), และรัฐมนตรีกระทรวงอัยการรัฐออนแทรีโอ (Attorney General of Ontario)[18][19]

ข้ออ้างและคำโต้แย้ง[แก้]

ข้อต่อสู้หลักของชไมเซอร์ในศาลก็คือ เนื่องจากเขาไม่ได้ใช้ยาฆ่าวัชพืช Roundup สำหรับผักกาดของเขา เขาจึงไม่ได้ "ใช้" สิ่งประดิษฐ์ของมอนซานโต้ แต่ศาลปฏิเสธข้ออ้างนี้ คือกล่าวว่า สิทธิบัตรที่ให้กับสิ่งประดิษฐ์นี้ ไม่ได้กำหนดว่าต้องใช้ยา Roundup เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งประดิษฐ์ ดังนั้น จึงไม่มีเหตุที่จะเริ่มกำหนดว่า ต้อใช้ยาจึงจะเรียกว่า เป็นการใช้สิ่งประดิษฐ์ ซึ่งก็หมายความว่า สิทธิบัตรห้ามการใช้สิ่งประดิษฐ์โดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ว่าจะเป็นวิธีใดก็ตาม ไม่ใช่ห้ามแค่การใช้ตามที่มุ่งหมายโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

ศาลพิจารณาประเด็นว่า การเพาะปลูกพืชแปรพันธุกรรมทั้ง ๆ ที่รู้ หรือควรจะรู้ เป็นการ "ใช้" เซลล์พืชอันเป็นสิ่งประดิษฐ์ของมอนซานโต้หรือไม่ แม้ว่าจะไม่ได้ฉีดพืชด้วยยา Roundup และดังนั้น การมียีนเช่นนี้จึงไม่ได้มีประโยชน์อะไรเพิ่มขึ้นสำหรับเกษตรกร ศาลตัดสินเห็นพ้องด้วยกับมอนซานโต้ โดยถือว่า การใช้ยีนและเซลล์ที่จดสิทธิบัตรของชไมเซอร์ เป็นเหมือนกับการใช้เครื่องยนต์ที่มีชิ้นส่วนที่จดสิทธิบัตร คือ "ไม่สามารถแก้ตัวได้ว่า สิ่งที่ใช้ไม่ได้จดสิทธิบัตร เป็นเพียงแต่ส่วนหนึ่งของมันเท่านั้น"[1]: ย่อหน้า 78  ศาลยังถือด้วยว่า โดยปลูกผักกาดแปรพันธุกรรมที่ทนต่อยา Roundup ชไมเซอร์ใช้หรือได้ ประโยชน์จากการรับประกันสืบเนื่องจากสิ่งประดิษฐ์ นั่นก็คือ เขามีโอกาสเลือกใช้ยา Roundup กับพืชถ้ามีเหตุ ซึ่งศาลพิจารณาว่า เหมือนกับการติดตั้งเครื่องสูบที่จดสิทธิบัตรบนเรือ คือ แม้ว่าจะไม่ได้ติดเครื่องสูบ แต่ก็มีโอกาสใช้ถ้ามีเหตุ

การตัดสิน[แก้]

วันที่ 21 พฤษภาคม 2547 ศาลสูงสุดตัดสินเห็นพ้องด้วยกับมอนซานโต้เป็นคะแนนเสียง 5-4 แต่ชไมเซอร์ก็ได้ชัยชนะเป็นบางส่วนด้วย เพราะศาลตัดสินว่า เขาไม่ต้องจ่ายมอนซานโต้กำไรที่ได้จากพืชผลในปี 2541 เพราะว่า ยีนที่มีอยู่ในพืชไม่ได้สร้างประโยชน์ให้แก่เขา และเขาไม่ได้กำไรเพิ่มขึ้นจากคุณสมบัติที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ แม้ว่ากำไรที่ชไมเซอร์ได้จากการเพาะปลูกจะค่อนข้างน้อย คือแค่ 19,832 ดอลลาร์แคนาดา (ประมาณ 617,370 บาทในปี 2547 เปรียบเทียบกับรายได้ประชากรเฉลี่ยต่อปีที่ 1,234,686 บาท) แต่ว่า เพราะไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย เขาจึงไม่ต้องจ่ายค่าทนายให้มอนซานโต้ ซึ่งมีมูลค่าหลายแสนดอลลาร์แคนาดา และมีค่าสูงกว่าค่าทนายของตน

เหตุผลของศาล[แก้]

ฝ่ายเสียงข้างมากของศาลไม่เห็นด้วยกับข้อต่อสู้ว่า การใช้ (use) เซลล์หรือยีนจดสิทธิบัตร จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อใช้ในบริบทของตน และการที่ชไมเซอร์ไม่ได้ใช้ยาฆ่าวัชพืช Roundup ก็ไม่ได้หมายความว่า เขาไม่ได้ใช้ยีนนั้น ๆ คือจริง ๆ แล้ว แม้ว่าพืชจะสืบพันธุ์ต่อไปได้โดยมนุษย์ไม่ต้องทำอะไร แต่ว่า สถานการณ์จริงในเกษตรกรรมปัจจุบันหมายความว่า มนุษย์จะทำการที่ช่วยการเจริญเติบโตของพืช ดังนั้น การทำเกษตรกรรมจึงเป็นการ "ใช้" ยีนพืช

ศาลตัดสินว่า ชไมเซอร์ละเมิดสิทธิการผูกขาดผักกาดพิเศษของมอนซานโต้ โดยเก็บแล้วปลูกเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าของตน ดังนั้น ชไมเซอร์จึงละเมิดมาตราที่ 42 ของกฎหมายสิทธิบัตรแคนาดา แต่ว่า ศาลไม่เห็นด้วยกับค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นปรับ เพราะว่า ไม่มีผลประโยชน์โดยตรงที่เกิดขึ้นจากการใช้พืชนั้น ๆ

ในการตัดสิน ศาลบอกอย่างชัดเจนว่า เรื่องที่ตัดสินเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรอย่างเดียว และประเด็นอื่น ๆ เกี่ยวกับพันธุวิศวกรรมในเกษตรกรรมไม่ได้อยู่ในขอบเขตของคดี คือ

93 สิ่งประดิษฐ์ในเกษตรกรรมอาจทำให้เกิดประเด็นที่ไม่มีในเรื่องอื่น ๆ เช่นประเด็นทางจริยธรรมว่า เป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่ที่จะเข้าไปจัดการยีนเพื่อให้ควบคุมวัชพืชได้ดีกว่า หรือให้ได้ผลิตผลมากกว่า เป็นโอกาสของรัฐสภาที่จะพิจารณาประเด็นเหล่านี้แล้วปรับปรุงกฎหมายสิทธิบัตร ถ้าพบว่า ประเด็นเหล่านี้ น่าฟัง[1]
94 แต่ว่า งานของศาลก็คือ ตีความหมายและประยุกต์ใช้กฎหมายสิทธิบัตรตามที่มี ตามหลักการที่มีอยู่แล้ว (และ) ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน สิ่งประดิษฐ์ในเรื่องเกษตรกรรมก็ควรจะให้ความคุ้มครองเท่า ๆ กับสิ่งประดิษฐ์ในเรื่องวิทยาศาตร์กลภาพ (และ) ในที่ที่รัฐสภาไม่เห็นควรที่จะแยกแยะระหว่างสิ่งประดิษฐ์เกี่ยวกับพืชและสิ่งประดิษฐ์อื่น ๆ ศาลก็ไม่ควรเช่นกัน[1]

ความเห็นแย้งของศาล[แก้]

เหตุผลของฝ่ายเห็นแย้งส่วนน้อยในศาล คล้ายกับที่พบในเสียงข้างมากที่เป็นฝ่ายตัดสินในคดี "วิทยาลัยฮาร์วาร์ดกับกรรมาธิการสิทธิบัตรแคนาดา [Harvard College v. Canada (Commissioner of Patents)]" ที่สรุปว่า แม้ว่าบริษัทจะสามารถจดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์และกระบวนการ แต่ก็ไม่สามารถจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตระดับสูงเช่นพืชทั้งต้น คือ "สิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเซลล์พืช ไม่สามารถขยายผ่านจุดที่เซลล์แปรพันธุกรรมเริ่มเพิ่มจำนวนแล้วจำแนกออกเป็นเนื้อเยื่อพืชส่วนต่าง ๆ ซึ่ง ณ จุดนี้จะกลายเป็นข้อเรียกร้องกับทุก ๆ เซลล์ในพืช"[1]: ย่อหน้า 138  ซึ่งเป็นการขยายสิทธิบัตรออกมากเกินไป นอกจากนั้นแล้ว สิทธิบัตรควรจะจำกัดอยู่ที่พืชต้นพันธุ์เท่านั้น และไม่ควรขยายไปถึงลูกหลาน

ผล[แก้]

ศาลทั้งสามชั้นให้ข้อสังเกตว่า การปนเปื้อนโดยอุบัติเหตุที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของเกษตรกรนั้น ไม่ใช่ประเด็นในคดี แต่ว่า การที่ชไมเซอร์ได้กำหนด แยกแยะ แล้วเก็บเมล็ดพันธุ์พืชที่ทนต่อยา Roundup เป็นตัวกำหนดประเด็นของคดี นอกจากนั้นแล้ว ศาลชั้นอุทธรณ์ยังกล่าวถึงเหตุการณ์อย่างหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ ที่เกษตรกรรู้ถึงความปนเปื้อนจากเมล็ดแปรพันธุกรรม แต่ไม่ทำอะไรที่จะเพิ่มจำนวนของพืช ศาลกล่าวว่า ยังไม่ชัดเจนว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเป็นการละเมิดสิทธิบัตรหรือไม่ แต่มันเป็นประเด็นที่ไม่ต้องตัดสินในกรณีของชไมเซอร์[17]: ย่อหน้า 57 

ข้อตัดสินของศาลเพิ่มความคุ้มครองให้กับบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพในแคนาดา และได้กำหนดประเด็นที่ไม่ได้ทำให้ชัดในข้อตัดสินคดีหนูฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นคดีที่ศาลตัดสินว่า "สิ่งมีชีวิตในระดับสูง (higher lifeform)" เช่นสัตว์ หรือโดยปริยายคือพืช ไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วทำให้แคนาดาไม่เหมือนกับประเทศจี8 อื่น ๆ ที่ให้จดสิทธิบัตรได้ ในคดีบริษัทมอนซานโต้กับชไมเซอร์ ศาลกำหนดว่า การคุ้มครองยีนและเซลล์ที่จดสิทธิบัตร ขยายไปถึงยีนที่พบในพืชทั้งหมด แม้ว่าพืชโดยตนเองซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตระดับสูงจะไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้ ความเห็นข้างมากที่มีมูลฐานจากบรรทัดฐานคือเครื่องกล เป็นหลักการตัดสินของศาล ดั้งนั้น เรื่องนี้จึงตกเป็นหน้าที่ของรัฐสภาแคนาดาที่จะแยกแยะระหว่างเครื่องกลและสิ่งมีชีวิตตามพิจารณาญาณของตน

มีละครสารคดีในปี 2548 ที่แสดงการต่อสู้ในศาล โดยมีชื่อว่า Seeds (เมล็ดพันธุ์) แสดงในเมืองมอนทรีออล โดยบทละครมาจากคำพูดคำต่อคำที่ได้จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ

คดีนี้เป็นเรื่องที่อ้างอิงกันอย่างกว้างขวางในกลุ่มต่อต้านสิ่งมีชีวิตแปรพันธุกรรม โดยสัมพันธ์กับความกลัวว่า บริษัทจะสามารถเรียกร้องความเป็นเจ้าของต่อพืชผลของเกษตรกร เนื่องจากการมีละอองเรณูหรือเมล็ดพันธุ์พืชแปรพันธุกรรมที่ไม่ได้ตั้งใจ[20][21] "แต่ว่า บันทึกของศาลแสดงว่า นี่ไม่ใช่เป็นแค่เมล็ดเพียง 2-3 เมล็ดตกลงมาจากรถบรรทุกที่วิ่งผ่านไป แต่เป็นการที่ชไมเซอร์เพาะปลูกพืชผลที่เป็นพืช Roundup Ready ในอัตราสุทธิ 95-98% เป็นความบริสุทธิระดับการค้าที่สูงกว่าที่จะคาดหวังได้จากเหตุการณ์ที่ไม่ได้ตั้งใจหรือเป็นอุบัติเหตุ ศาลไม่สามารถอธิบายได้ว่า เมล็ดพันธุ์ไม่กี่เมล็ดหรือละอองเรณูไม่กี่ละอองที่หลุดเข้ามา จะกลายเป็นพืชส่วนใหญ่ในแปลงหลายร้อยเอเคอร์ โดยไม่มีการร่วมมือจากชไมเซอร์ได้อย่างไร โดยกล่าวว่า ‘...ไม่มีแหล่งที่มาที่เสนอ (โดยชไมเซอร์) ที่สามารถจะอธิบายอย่างมีเหตุผลถึงความหนาแน่นและความกว้างขวางของพืช canola พันธุ์ Roundup Ready ที่มีคุณภาพในระดับการค้า ที่พบจากการทดสอบพืชผลของชไมเซอร์’" พูดได้อีกอย่างก็คือ ถ้าแม้ว่าการมีเมล็ดพันธุ์ของมอนซานโต้ในที่ดินของเขาดั้งเดิมในปี 2540 จะเป็นเรื่องที่ไม่ได้ตั้งใจก็ดี แต่ว่า พืชผลของมอนซานโต้ที่พบในปี 2541 เป็นเรื่องที่ตั้งใจ[2]

ดูเพิ่ม[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 "Canadian Supreme Court Decision". LexUM. 2004.
  2. 2.0 2.1 McHughen, A; Wager, R (2010). "Popular misconceptions: agricultural biotechnology" (PDF). N Biotechnol. 27 (6): 724–8. doi:10.1016/j.nbt.2010.03.006.[ลิงก์เสีย]
  3. "Achievements in Plant Biotechnology - Evaluation: Canola]. Monsanto Company; 2001". biotechknowledge.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-05-05. สืบค้นเมื่อ 2006-04-04.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 4.7 "Monsanto Canada Inc. v. Schmeiser Date: 20010329 Docket: T-1593-98". Federal court of Canada. สืบค้นเมื่อ 2006-03-26.
  5. "Muckraking Columnist Takes on Biotech Industry". patentbaristas.com. 2005-12-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-03-26. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22.
  6. "Legal battle over patented canola set for next June". Western Producer. 1999-08-19.
  7. Phillips, Peter W. B.; Onwuekwe, Chika B. (2007). "Accessing and Sharing the Benefits of the Genomics Revolution". Farmers' Privilege and Patented Seeds. Springer. p. 58.
  8. 8.0 8.1 8.2 "Percy Schmeiser's battle". CBC. 2014-05-21. สืบค้นเมื่อ 2015-02-10.
  9. 9.0 9.1 Broydo, Leora (2000-12-13). "The Trouble With Percy". Mother Jones. สืบค้นเมื่อ 2015-02-10.
  10. Foss, Krsta (2002-04-08). "Fight against Monsanto vaults farmer into spotlight". Globe and Mail. สืบค้นเมื่อ 2015-02-10.
  11. Ilo, Merita (2007-10-02). "Canadian couple win 'alternative Nobel'". Toronto Star. สืบค้นเมื่อ 2015-02-10.
  12. 12.0 12.1 Wager, R (2005-04-15). "Convicted farmer makes unlikely hero for rural lifestyle". Star Phoenix. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-23. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22.
  13. Hursh, K (2004-02-12). "Don't Pity Poor Percy". CropChoice.com.
  14. "When excuses won't fly: No seed of doubt in canola trial. Farmer claim's he's victim of corporate cruelty but explanations don't stand up to scrutiny". Montreal Gazeteer. 2002-11-09. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-10-23. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22.
  15. Makin, Kirk (2004-05-22). "Plant genes, modified cells can be patented, court rules". Globe and Mail. สืบค้นเมื่อ 2015-02-10.
  16. "Farmer v. Monsanto: GM Seed Fight in Canadian Court". Environmental Newswire. 2000-06-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-01-11. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22.
  17. 17.0 17.1 17.2 "Monsanto Canada Inc. v. Schmeiser (C.A.) [2003] 2 F.C. 165]". Federal Court of Appeal of Canada. สืบค้นเมื่อ 2006-03-26.
  18. "Canada's Supreme Court Hears Percy Schmeiser's Appeal". History Commons. 2004-01-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22.
  19. "Small farmer's fight becomes anti-biotech crusade". USA TODAY. 2004-01-19.
  20. "Suing Monsanto: Intellectual Property, Genetic Contamination, and Farmers' Rights - Notice of 2011 talk being given". CT NOFA, Connecticut Chapter of the Northeast Organic Farming Association. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-03. สืบค้นเมื่อ 2019-01-18.
  21. "Percy Schmeiser, Percy Schmeiser vs Monsanto: The Story of a Canadian Farmer's Fight to Defend the Rights of Farmers and the Future of Seeds". Democracy Now. 2012-09-17. When Monsanto seeds blew into Schmeiser’s property, Monsanto accused him of illegally planting their crops and took him to court.