คดีขอให้ศาลสั่งให้เป็นหญิง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คดีขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องถือเพศเป็นหญิง
สาระแห่งคดี
คำร้อง ผู้ร้องขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องถือเพศเป็นหญิง
คู่ความ
ผู้ร้อง ชุมพล ศิลประจำพงษ์
ศาล
ศาล ไทย ศาลฎีกา
องค์คณะ ไพศาล สว่างเนตร
จังหวัด แสงแข
อาจ ปัญญาดิลก
คำพิพากษา
คำพิพากษา คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 157/2524
พิพากษา
" ยกคำร้อง "
ลงวันที่ พ.ศ. 2524
กฎหมาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
(มาตรา 55 สิทธิฟ้อง)
เว็บไซต์
ดูเบื้องล่าง

"คดีขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องถือเพศเป็นหญิง" เป็นคดีแพ่งในประเทศไทย โดย ชุมพล ศิลประจำพงษ์ ผู้ร้อง ได้ร้องต่อศาลไทยว่า ตนเป็นชายโดยกำเนิด แต่ได้แปลงเพศเป็นหญิงตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ครบถ้วนแล้ว ขอให้ศาลสั่งให้ตนเป็นหญิง

คดีนี้ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา วินิจฉัยว่า เพศตามกฎหมายนั้นถือเอาเพศตามธรรมชาติ ประกอบกับศาลไม่อาจสั่งให้บุคคลกลายเป็นเพศอื่นนอกจากเพศตามธรรมชาติของบุคคลนั้น ๆ ได้ และไม่มีกฎหมายให้อำนาจบุคคลสามารถร้องขอศาลให้เปลี่ยนเพศตนได้ จึงพิพากษายกคำร้อง

กระบวนพิจารณาในศาลล่าง[แก้]

ชุมพล ศิลประจำพงษ์ ผู้ร้อง ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ว่า

"ผู้ร้องเป็นชายโดยกำเนิด แต่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะเพศเป็นหญิงแล้ว เพียงแต่ไม่สามารถมีบุตรได้เท่านั้น ผู้ร้องมีความประสงค์จะถือเพศเป็นหญิง แต่เจ้าพนักงานขัดข้องในการแก้หลักฐานในทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน และทะเบียนทหาร นอกจากจะได้รับอนุญาตจากศาลก่อน จึงขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องถือเพศเป็นหญิง"

ศาลชั้นต้นตรวจคำร้อง แล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ผู้ร้องจึงอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

กระบวนพิจารณาในศาลฎีกา[แก้]

ผู้ร้องฎีกา และศาลฎีกาวินิจฉัยว่า

"เพศของบุคคลธรรมดานั้น กฎหมายรับรองและถือเอาตามเพศที่ถือกำเนิดมา และคำว่า 'หญิง' ตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายความถึง 'คนที่ออกลูกได้' ผู้ร้องถือกำเนิดมาเป็นชาย ถึงหากจะมีเสรีภาพในร่างกายโดยรับการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงอวัยวะเพศเป็นอวัยวะเพศของหญิงแล้วก็ตาม แต่ผู้ร้องก็รับอยู่ว่าไม่สามารถมีบุตรได้ ฉะนั้น โดยธรรมชาติและตามที่กฎหมายรับรอง ผู้ร้องยังคงเป็นเพศชายอยู่ และไม่มีกฎหมายรับรองให้สิทธิผู้ร้องขอเปลี่ยนแปลงเพศที่ถือกำเนิดมาได้ ทั้งมิใช่กรณีที่ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิทางศาลตามกฎหมาย"

ที่สุด ศาลฎีกาพิพากษายืน

ผลพวง[แก้]

คำสั่งทางปกครองเกี่ยวกับการรับรองเพศ[แก้]

ภายหลังมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 157/2524 กรมการปกครองได้มีหนังสือเวียนแจ้งให้เจ้าพนักงานถือเป็นแนวปฏิบัติว่า ถ้ามีบุคคลซึ่งโดยกำเนิดมีเพศหนึ่ง มาร้องขอเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อตามกฎหมายเป็นสำหรับอีกเพศหนึ่ง ให้บอกปัด โดยให้ยึดตามคำพิพากษาดังกล่าวว่า เพศของบุคคลให้ถือตามธรรมชาติที่ให้กำเนิด มิใช่โดยสภาพ[1]

ต่อมา เมื่อมีการตรา พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 แล้ว หนังสือเวียนข้างต้นจัดเป็นคำสั่งทางปกครอง (อังกฤษ: administrative act) ประเภทหนึ่ง[2] และอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ซึ่งจัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542[3] สำหรับจะวินิจฉัยว่า คำสั่งทางปกครองดังกล่าว ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน ที่ห้ามเลือกปฏิบัติโดยเหตุแห่งเพศ หรือไม่ แต่ยังไม่มีผู้ร้องขอให้ศาลปกครองวินิจฉัยเช่นนี้

การร่างรัฐธรรมนูญให้รับรอง "ความหลากหลายทางเพศ"[แก้]

การเสนอญัตติ[แก้]

หลังจากที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ยึดอำนาจการปกครอง ใน พ.ศ. 2549 และสั่งให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลง ในการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ก็ได้อภิปรายอย่างกว้างขวางในอันที่จะบัญญัติ มาตรา 30 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เก็บถาวร 2011-03-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ซึ่งว่าด้วยการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งเหล่ากำเนิด ชาติ เชื้อ เพศ ภาษา วัฒนธรรม ฯลฯ นั้น ให้รับรอง "ความหลากหลายทางเพศ" [4] โดย นที ธีระโรจนพงษ์ หัวหน้าแกนนำองค์กรกลุ่มหลากหลายทางเพศ ได้เสนอให้เพิ่มคำว่า "บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ" เข้าไปในมาตราดังกล่าว เขากล่าวว่า[5]

"ที่ผ่านมา เคยมีการจำกัดความของพวกเราว่า 'เพศที่สาม' ซึ่งก็บอกไม่ได้ชัดเจน เพราะมีทั้งกะเทย เกย์ ตุ๊ด ทอม ดี้ ซึ่งมันกว้างมาก จะรวมทั้งหมดให้เป็น 'เพศที่สาม' ก็คงจะขัดแย้งกัน เพราะต่างคนต่างไม่เหมือนกัน หรือจะใช้คำว่า 'เพศสภาพ' คือ มองตามรูปแบบของเรา อันนี้ยิ่งไม่ตรงกันไปใหญ่ อย่างกะเทยแปลงเพศก็รับได้ แต่พวกทอม หรือเกย์เพศเรา ก็ต้องเป็นไปตามรูปร่างทั้ง ๆ ที่อารมณ์และจิตใจภายในไม่ได้เป็น เรื่องนี้ถกเถียงกันมานานมาก จนมาลงที่คำว่า 'กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ'

"ในที่ประชุม สสร. ครั้งที่ผ่านมาที่มีการพิจารณามาตรา 30 นี้ บางส่วนเห็นด้วย บางส่วนไม่เห็นด้วย และสรุปว่าคำที่เสนอไปนั้นยังไม่เหมาะสม...ให้ไปหาคำที่เหมาะสมใหม่มาแทน ทางกลุ่มองค์กร ก็ได้มีการพูดคุยกัน และได้ปรึกษากับคณะทำงาน รวมทั้งนักวิชาการ จึงอยากจะเสนอคำว่า 'อัตลักษณ์ทางเพศ' หรือ 'sexual identity' ซึ่งจะหมายรวม คือ กลุ่มรสนิยมทางเพศที่ไม่ตรงตามการกำเนิด คำนี้ทางองค์กรเรามองว่าเหมาะสมที่สุดแล้ว ทั้งรูปแบบภาษา ความสละสลวย และไม่ล่อแหลมแต่อย่างใด ก็อยากให้ สสร. ลองพิจารณากันดูใหม่ ปัญหาอย่างที่ผ่านมาจะได้หมดไป และถือว่าเป็นการทำให้ทุกคนได้สิทธิขั้นพื้นฐานกันอย่างเท่าเทียมกัน"

การอภิปราย และลงมติ[แก้]

ในการประชุม สสร. ครั้งที่ 22/2550 วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน 2550 ณ อาคารรัฐสภา ได้มีการอภิปรายเรื่องดังกล่าว ใช้เวลากว่าสองชั่วโมง โดย สวิง ตันอุด สมาชิก สสร. กล่าวว่า[6]

"...ตอนนี้เราก็มีอยู่ประมาณห้าหกล้านคนที่อยู่ในลักษณะที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ผ่านมา ข้อจำกัดในเรื่องเกี่ยวกับการตีความหมายเรื่องเพศเราแคบเกินไป เราดูเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับสรีระ หรือดูเพียงแค่เครื่องเพศว่า เขาเป็นเพศอะไร แต่สรีระเป็นเครื่องที่บ่งบอกไม่ได้นะครับว่าเขามีจิตใจเป็นเพศอะไร ดังนั้น เราก็จะเห็นเรื่องนี้อยู่โดยทั่วไป คนที่มีความสามารถในทางสังคม คนที่เป็นผู้นำประเทศ คนที่ตัดสินในทางนโยบาย หลายคนก็อยู่ในสภาพอย่างนี้ ความเป็นจริงนี่เกิดขึ้นแล้วในเรื่องนี้ แต่ยังไม่มีกฎหมายใดที่รับรองเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ ผมคิดว่า อันนี้จะเป็นช่วงจังหวะที่สำคัญในการที่เราจะต้องบัญญัติเรื่องนี้ลงไป เพื่อที่จะทำให้เกิดความเสมอภาค เพื่อที่จะคุ้มครองสิทธิของประชาชน..."

ขณะที่ สุพจน์ ไข่มุกด์ สมาชิก สสร. เห็นว่า[7]

"...ด้วยความเห็นใจนะครับ แต่ว่าความเห็นใจนั้น คงจะมาเปลี่ยนแปลงหลักการคงไม่ได้นะครับ...ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เกิดมา ชายก็คือชาย หญิงก็คือหญิง...ผมถือว่า เป็นหลักการสากล...วรรคที่สองของมาตรา 30 บอกว่า ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน อันนี้มันก็ล็อกในตัวมันเองนะครับว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้...ระบุไว้มีสองเพศเท่านั้นเอง คือ ชาย และหญิง เพราะฉะนั้นความหลากหลายทางเพศที่ใส่เข้ามา ถ้าหมายถึงเพศที่สามแล้ว มันก็คงจะติดนี่อยู่...[ส่วน] ทางด้านกฎหมาย คือว่า ปัญหาถ้าว่ามีเพศเพิ่มขึ้นจากชายและหญิงเป็นเพศที่สาม กฎหมายต่าง ๆ คงจะอลวนกันหมดเลย เพราะว่าจะต้องมีการแก้กฎหมาย...มันจะเกิดความโกลาหลแค่ไหน ในเรื่องของกฎหมายแพ่ง กฎหมายครอบครัวต่าง ๆ..."

และ ชูชัย ศุภวงศ์ สมาชิก สสร. กล่าวว่า "...อันนี้เป็นอคติที่เป็นตราบาปอย่างยิ่งในสังคม..."[8]

ที่สุด จากสมาชิก สสร. หนึ่งร้อยคน ห้าสิบสี่เสียงเห็นว่าไม่ควรเพิ่มถ้อยคำ "อัตลักษณ์ทางเพศ" หรือทำนองเดียวกันเข้าไปในรัฐธรรมนูญ ส่วนยี่สิบสามเสียงเห็นควรให้เพิ่ม และอีกสองเสียงงดออกเสียง[9] โดย วัชรินทร์ สังสีแก้ว อัยการประจำกรม แสดงความคิดเห็นว่า[10]

"...ในอนาคตก็คงต้องฝาก ส.ส. ส.ว. และรัฐบาล ได้หันมามอง...ด้วย เพื่อที่จะได้ปฏิบัติต่อผู้ผ่าตัดแปลงเพศอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาทางอาญา อาทิ การจับกุม การสอบสวน การจำคุกตามลักษณะทางสมองและความเป็นจริงที่ปรากฏ ทั้งจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้วกับเขาบ้าง"

การแก้ไขนิยามคำว่า "หญิง" ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน[แก้]

คดีลักษณะเดียวกัน[แก้]

ในสหราชอาณาจักร ศาลอุทธรณ์แห่งอังกฤษและเวลส์ (อังกฤษ: Court of Appeal of England and Wales) มีคำพิพากษาใน "คดีระหว่างคอร์เบต กับคอร์เบต" (อังกฤษ: Corbett v Corbett) ว่า เพศของบุคคลต้องพิจารณาจากโครโมโซม (อังกฤษ: chromosome), ต่อมบ่งเพศ (อังกฤษ: gonad) และอวัยวะสืบพันธุ์ (อังกฤษ: genital organ) จึงไม่ยอมรับสถานะของผู้ได้รับการผ่าตัดแปลงเพศ ผู้ผ่าตัดแปลงเพศจึงฟ้องสหราชอาณาจักรเป็นคดีต่อศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป (อังกฤษ: European Human Rights Court) หลายครั้ง เพื่อบังคับให้สหราชอาณาจักรยอมรับสถานะของพวกตน ซึ่งสหราชอาณาจักรก็แพ้คดีทุกครั้ง เช่นใน "คดีระหว่างกูดวิน กับสหราชอาณาจักร" (อังกฤษ: Goodwin v United Kingdom)[10] ที่สุดใน พ.ศ. 2547 รัฐสภาสหราชอาณาจักรจึงตราพระราชบัญญัติรับรองเพศ ค.ศ. 2004 (อังกฤษ: Gender Recognition Act 2004) ขึ้น

เชิงอรรถ[แก้]

  1. วัชรินทร์ สังสีแก้ว, 2549 : 95-104.
  2. ราชกิจจานุเบกษา, 2539 : ออนไลน์.
  3. ราชกิจจานุเบกษา, 2542 : ออนไลน์.
  4. ในมุมมองของภาคประชาสังคม ป พ.ศ. 2552, ม.ป.ป. : ออนไลน์.
  5. ทางเลือกเสมอภาคเพศที่ 3 ยังอยู่ห่างไกล, 2550 : ออนไลน์.
  6. รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 22/2550 วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน 2550, 2550 : 184.
  7. รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 22/2550 วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน 2550, 2550 : 193.
  8. รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 22/2550 วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน 2550, 2550 : 203.
  9. เพศที่ 3 สลดใจ ไร้สิทธิเช่นเดิม, 2550 : ออนไลน์.
  10. 10.0 10.1 วัชรินทร์ สังสีแก้ว, 2548 : ออนไลน์.

อ้างอิง[แก้]

  • กลุ่มเกย์ฯ มอบดอกไม้ สสร. แม้ไม่สมหวัง. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 1 ตุลาคม 2553).
  • ทางเลือกเสมอภาคเพศที่ 3 ยังอยู่ห่างไกล. (2550, 30 มิถุนายน). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์ เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 1 ตุลาคม 2553).
  • ในมุมมองของภาคประชาสังคม ปี พ.ศ. 2552. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 1 ตุลาคม 2553).
  • "เพศที่สาม" แถลงย้ำให้ รธน. คุ้มครองสิทธิเท่าเทียม ชายจริงหญิงแท้. (2550, 26 พฤษภาคม). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 1 ตุลาคม 2553).
  • เพศที่ 3 สลดใจ ไร้สิทธิเช่นเดิม. (2550, 14 มิถุนายน). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 1 ตุลาคม 2553).
  • ราชกิจจานุเบกษา
    • (2539, 14 พฤศจิกายน). "พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539". (เล่ม 113, ตอนที่ 60 ก, หน้า 1-24). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 1 ตุลาคม 2553).
    • (2542, 14 พฤศจิกายน). "พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542". (เล่ม 113, ตอนที่ 60 ก, หน้า 1-24). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์ เก็บถาวร 2010-07-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 1 ตุลาคม 2553).
  • รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 22/2550 วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน 2550. (2550). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 1 ตุลาคม 2553).
  • วัชรินทร์ สังสีแก้ว.
    • (2548, 10 พฤษภาคม). "กฎหมายยอมรับสถานะผู้แปลงเพศ". มติชน, (ปีที่ 28, ฉบับที่ 9922). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 1 ตุลาคม 2553).
    • (2549, ธันวาคม). "คำสั่งทางปกครองกับผู้แปลงเพศ". วารสารกฎหมายสุโขทัยธรรมาธิราช, (ปีที่ 18, ฉบับที่ 2). หน้า 95-104.

ดูเพิ่ม[แก้]