คณะผู้แทนทางทูต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คณะผู้แทนทางทูต (อังกฤษ: diplomatic mission) หรือ คณะผู้แทนต่างชาติ (อังกฤษ: foreign mission) เป็นกลุ่มบุคคลจากรัฐหรือองค์การหนึ่ง (เรียกว่า ผู้ส่ง) ซึ่งไปอยู่ในอีกรัฐหนึ่ง (เรียกว่า ผู้รับ) เพื่อเป็นปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการในรัฐผู้รับ แทนรัฐหรือองค์การผู้ส่ง ในทางปฏิบัติแล้ว คณะผู้แทนทางทูตมักได้แก่กลุ่มผู้แทนที่มาพำนักอยู่ในรัฐผู้รับ กลุ่มหลัก คือ คณะเอกอัครราชทูต (embassy) แต่สถานที่พำนักไม่จำเป็นต้องเป็นเมืองหลวงของรัฐผู้รับเสมอไป ส่วนคณะกงสุล (consulate) เป็นคณะผู้แทนทางทูตที่มีขนาดเล็กกว่าคณะเอกอัครราชทูต และมักตั้งอยู่นอกเมืองหลวง (แต่อาจตั้งอยู่ในเมืองหลวงได้ ถ้าไม่มีคณะเอกอัครราชทูตในเมืองหลวง) คณะผู้แทนถาวรซึ่งไม่พำนักอยู่ในรัฐผู้รับก็มี[1][2][3][4]

การเรียกขาน[แก้]

ปรกติแล้ว คณะผู้แทนทางทูตถาวรเป็นที่รู้จักในชื่อ "คณะเอกอัครราชทูต" (embassy) มีหัวหน้า คือ เอกอัครราชทูต (ambassador) หรือข้าหลวงใหญ่ (high commissioner) คำว่า "embassy" ในภาษาอังกฤษยังใช้เรียกสถานเอกอัครราชทูตอันเป็นที่ทำการของคณะเอกอัครราชทูต แต่ก็มีผู้ถือโดยเคร่งครัดว่า "embassy" ใช้เรียกตัวคณะผู้แทน ส่วนที่ทำการของคณะผู้แทนเรียก "chancery" (สำนักงานสถานทูต)

สมาชิกคณะผู้แทนทางทูตจะพำนักอยู่ในหรือนอกสำนักงานสถานทูตก็ได้ สถานที่พำนักส่วนตัวของสมาชิกคณะผู้แทนได้รับสิทธิบางประการในเรื่องการละเมิดมิได้และการคุ้มครองป้องกันเสมือนเป็นสถานที่ของคณะผู้แทนเอง[5]

ในภาษาอังกฤษ คณะผู้แทนทุกคณะที่ส่งไปยังสหประชาชาติมักเรียก "permanent mission" และคณะผู้แทนที่รัฐสมาชิกสหภาพยุโรปส่งไปยังสหภาพยุโรปเรียก "permanent representation" ทั้งสองมีความหมายว่า "คณะผู้แทนถาวร" เหมือนกัน ส่วนหัวหน้าของคณะดังกล่าวเรียก "เอกอัครราชทูต" (ambassador) หรือ "ผู้แทนถาวร" (permanent representative) คณะผู้แทนที่สหภาพยุโรปส่งไปต่างประเทศเรียก "คณะผู้แทนสหภาพยุโรป" (European Union delegation)

บางประเทศใช้การเรียกขานอย่างอื่น เช่น สันตะสำนักเรียกคณะผู้แทนของตนว่า "คณะเอกอัครสมณทูต" (apostolic nunciature) มีหัวหน้าเรียกว่า "เอกอัครสมณทูต" (nuncio) ส่วนลิเบียภายใต้การปกครองของมูอัมมาร์ กัดดาฟี (Muammar Gaddafi) เรียกคณะผู้แทนของตนว่า "คณะประชาชน" (people's bureau) และเรียกหัวหน้าคณะว่า "เลขานุการ" (secretary)

คณะผู้แทนที่ประเทศในเครือจักรภพส่งไปมาหาสู่กันนั้นเรียก "คณะข้าหลวงใหญ่" (high commission) มีหัวหน้า คือ "ข้าหลวงใหญ่" (high commissioner)[6] ทั้งนี้ เพราะคณะเอกอัครราชทูตมักส่งไปมาระหว่างประเทศต่างกัน แต่ประเทศเหล่านี้ถือว่าอยู่ในเครือจักรภพเหมือนกัน จึงเรียกผู้แทนของตัวว่า "ข้าหลวงใหญ่" แทน ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับที่กระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักรมีชื่อว่า "สำนักการต่างประเทศและเครือจักรภพ" (Foreign and Commonwealth Office)

เอกอัครราชทูตนั้นปฏิบัติการแทนประมุขรัฐหนึ่งในอีกรัฐหนึ่ง และหนังสือแต่งตั้งเอกอัครราชทูต ซึ่งเรียก "อักษรสาสน์ตราตั้ง" (letter of credence) นั้น ก็เป็นข้อความที่ประมุขรัฐหนึ่งส่งหาประมุขอีกรัฐหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ สำหรับประเทศทั้งหลายในเครือจักรภพซึ่งมีประมุขคนเดียวกัน หนังสือแต่งตั้งข้าหลวงใหญ่จึงเป็นข้อความถึงรัฐบาลแทน[7][8]

ในอดีต คณะผู้แทนทางทูตที่มีหัวหน้าต่ำศักดิ์กว่าเอกอัครราชทูตหรือข้าหลวงใหญ่จะเรียก "คณะอัครราชทูต" (legation) มีหัวหน้าเรียก "รัฐทูต" (envoy) หรือ "อัครราชทูตประจำ" (minister resident)

"คณะกงสุล" (consulate) หรือ "คณะกงสุลใหญ่" (consulate general) คล้ายกับคณะทูต แต่ไม่ใช่คณะทูต เพราะเน้นหน้าที่เกี่ยวกับปัจเจกบุคคลหรือธุรกิจมากกว่าทางราชการ ตามที่นิยามในอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล (Vienna Convention on Consular Relations) แต่คณะกงสุลมักปฏิบัติหน้าที่แทนคณะเอกอัครราชทูตในท้องที่นอกเมืองหลวง[6] หัวหน้าของคณะสงกุลหรือคณะกงสุลใหญ่มักได้แก่ "กงสุล" (consul) หรือ "กงสุลใหญ่" (consul general)

เมื่อเกิดกรณีพิพาท รัฐผู้ส่งมักเรียกหัวหน้าคณะผู้แทนกลับคืนจากรัฐผู้รับเพื่อส่งสัญญาณความไม่พอใจ การทำเช่นนี้ไม่ร้ายแรงเท่ากับตัดความสัมพันธ์ทางทูตโดยสิ้นเชิง เพราะคณะผู้แทนจะยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่จะลดหน้าที่ปรกติลงตามลำดับ และจะเปลี่ยนหัวหน้าจากเอกอัครราชทูตเป็น "อุปทูต" (chargé d'affaires) ซึ่งมีอำนาจจำกัดแทน นอกจากนี้ "อุปทูตชั่วคราว" (chargé d'affaires ad interim) อาจทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนในช่วงรอยต่อระหว่างที่หัวหน้าคนเดิมหมดวาระและวาระใหม่กำลังจะเริ่ม

อ้างอิง[แก้]

  1. Tom Nierop, Systems and Regions in Global Politics (Wiley, John and Sons 1994 ISBN 978-0-471-94942-8), p. 67.
  2. "The Russian Federation has diplomatic relations with a total of 187 countries, but some of them – mainly for financial reasons – maintain non-resident embassies in other countries", International Affairs, issues 4–6 (Znanye Pub. House, 2006), p. 78
  3. "Of Chile's 109 foreign diplomatic missions in 1988, no fewer than 31 were on a non-residential basis, while 17 of the 63 missions in Santiago were non resident" (Deon Geldenhuys, Isolated States: A Comparative Analysis (University of Cambridge 1990 ISBN 0-521-40268-9), p. 158).
  4. "America's diplomatic mission to (Saudi Arabia) was changed from non-resident to permanent Minister in Jeddah" (Fahad M. Al-Nafjan, The Origins of Saudi-American Relations, page not numbered).
  5. "1961 Vienna Convention on Diplomatic Relations, article 30" (PDF).
  6. 6.0 6.1 Sidhur Andrews (1 Jun 2007). Introduction To Tourism And Hospitality Industry. Tata McGraw-Hill Education. p. 33.
  7. Nutt, Jim S. "Diplomatic and Consular Representations". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-12. สืบค้นเมื่อ 2018-05-21.
  8. "Commonwealth Parliamentary Association, "What does the work of a High Commissioner involve?"" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-12-22. สืบค้นเมื่อ 2018-05-21.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]