คณะที่ปรึกษาด้านการค้นหาและกู้ภัยระหว่างประเทศ
ชื่อย่อ | INSARAG |
---|---|
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2534 |
ประเภท | องค์กรในสังกัดองค์การสหประชาชาติ |
สถานะตามกฎหมาย | ปฏิบัติการ |
สํานักงานใหญ่ | เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ |
องค์กรปกครอง | สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ |
เว็บไซต์ | www |
คณะที่ปรึกษาด้านการค้นหาและกู้ภัยระหว่างประเทศ (อังกฤษ: International Search and Rescue Advisory Group, ย่อ: INSARAG) คือกลุ่มเครือข่ายของประเทศและองค์กรสำหรับตอบสนองต่อเหตุการณ์ภัยพิบัติและมีศักยภาพในการค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง (Urban search and rescue: USAR) และการประสานงานในภาคสนาม เพื่อสร้างมาตรฐานและกำหนดชั้นของการปฏิบัติงานของทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงบรรเทาเหตุการณ์หลังประสบเหตุภัยพิบัติจำพวกแผ่นดินไหวและโครงสร้างขนาดใหญ่ถล่ม ตั้งอยู่ในสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA)
ประวัติ
[แก้]คณะที่ปรึกษาด้านการค้นหาและกู้ภัยระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2534 จากแนวคิดของทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองระหว่างประเทศ (International USAR Teams) ที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวในอาร์เมเนีย พ.ศ. 2531 และแผ่นดินไหวในเม็กซิโกซิตี้ พ.ศ. 2528[1] โดยได้เลือกตั้งสำนักเลขาธิการที่สหประชาชาติ เพื่อความสะดวกในการประสานงานระหว่างประเทศ
การดำเนินงานของ INSARAG นั้นเป็นไปตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ที่ 57/150 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2545 เรื่อง "การเสริมสร้างประสิทธิผลและการประสานงานของความช่วยเหลือในการค้นหาและกู้ภัยในเมืองระหว่างประเทศ" [2]
ขอเรียกร้องให้ทุกประเทศช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานให้ง่ายขึ้นหรือลดขั้นตอน การดำเนินงานบริหารจัดการและพิธีศุลกากรที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางขาเข้า (Entry) การเดินทางผ่าน (Transit) การพำนักและการเดินทางขาออกของทีมค้นหาและกู้ภัยระหว่างประเทศ รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตามความเหมาะสม คำนึงถึงคู่มือปฏิบัติงานคณะที่ปรึกษาด้านการค้นหาและกู้ภัย ระหว่างประเทศ (INSARAG Guidelines) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านวีซ่าสำหรับนักกู้ภัยและการกักกันสุนัขค้นหา การใช้น่านฟ้า และการนำเข้าอุปกรณ์สื่อสารทางเทคนิคและทางด้านการค้นหาและกู้ภัย เวชภัณฑ์ที่จำเป็น และวัตถุอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรการบังคับด้านความปลอดภัยของสาธารณะ และความมั่นคงของชาติของประเทศนั้น ๆ นอกจากนี้ ยังขอเรียกร้องให้ทุกประเทศดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัย และการรักษาความปลอดภัยสำหรับทีมค้นหาและกู้ภัยระหว่างประเทศในขณะปฏิบัติภารกิจในดินแดน ของประเทศเหล่านั้นอีกด้วย[2]
และ ปฏิญญา INSARAG Hyogo ซึ่งได้รับการรองในการประชุมระดับโลกของ INSARAG ครั้งแรกในปี 2553 ที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น
ข้อบังคับของ INSARAG นั้นจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาขั้นตอนการค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองระหว่างประเทศ ให้มีประสิทธิภาพและมาตรฐานในการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นไปตามมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 57/150 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2545 เรื่อง "การเสริมสร้างประสิทธิภาพและการประสานงานของความช่วยเหลือการค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง" รวมไปถึงการส่งเสริมร่วมมือและการประสานงานกันระหว่างทีมการค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองระหว่างประเทศเมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติขึ้นในเขตพื้นที่ต่าง ๆ ส่งเสริมการฝึกและเตรียมความพร้อมในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภัยพิบัติ พัฒนาแนวทางและขั้นตอนที่เป็นมาตรฐาน ส่งเสริมการแบ่งปันประสบการณ์การทำงานระหว่างทีมระดับชาติและนานาชาติ และกำหนดมาตรฐานพื้บฐานของทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองระหว่างประเทศ
สมาชิก
[แก้]ประเทศหรือองค์กรที่มีศักยภาพในการค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองสามารถขอเข้าร่วมกับ INSARAG ได้ โดยประเทศที่ต้องการจะเข้าร่วมจะต้องกำหนดหน่วยงานในการประสานงานระดับชาติของประเทศนั้น ๆ เพื่อติดต่อกับส่วนงาน INSARAG ระดับภูมิภาคและสำนักเลขาธิการ INSARAG องค์กรที่ต้องการเข้าร่วมจะต้องแสดงความจำนงมายังสำนักเลขาธิการผ่านหน่วยงานประสานงานระดับชาติ (National Focal Point) ของตน ซึ่งประเทศที่มีทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองที่สามารถปฏิบัติงานในต่างประเทศจะได้รับการทาบทามให้ขอรับรองมาตรฐานการประเมินศักยภาพทีมค้นหาและกู้ภัยตามระบบของ INSARAG (INSARAG External Classification: IEC) ซึ่งเป็นระบบตามความสมัครใจ ไม่ใช่ข้อบังคับของสมาชิก INSARAG
การประเมินศักยภาพทีมค้นหาและกู้ภัยตามระบบของ INSARAG
[แก้]การประเมินศักยภาพทีมค้นหาและกู้ภัยตามระบบของ INSARAG (INSARAG External Classification: IEC)[2] จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการจำแนกศักยภาพการปฏิบัติงานของทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองในการตอบสนองต่อเหตุการณ์และให้ความช่วยเหลือในระดับนานาชาติ ช่วยให้ประเทศที่ประสบภัยสามารถพิจารณาการตอบรับความสนับสนุนทีมค้นหากและกู้ภัยในเขตเมืองจากประเทศต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เป็นเครื่องหมายรับรองประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองของประเทศนั้น ๆ ด้วย ซึ่งการประเมินศักยภาพทีมค้นหาและกู้ภัยตามระบบของ INSARAG จะประเมินโดยผู้เชียวชาญเฉพาะด้านจากประเทศต่าง ๆ และหน่วยงานอิสระ สามารถตรวจสอบได้ และเป็นกระบวนการประเมินแบบสมัครใจที่ได้รับการยอมรับสำหรับนานาชาติและประเทศสมาชิก INSARAG โดยมีการเริ่มประเมินมาตั้งแต่ พ.ศ. 2548[3] ประกอบไปด้วย 3 ระดับ คือ
- ทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองขนาดใหญ่ (Heavy USAR Teams)
- ทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองขนาดกลาง (Medium USAR Teams)
- ทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองขนาดเล็ก (Light USAR Teams)
ระเบียงภาพ
[แก้]-
ทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองจากสหราชอาณาจักรพร้อมสุนัขค้นหากู้ภัย ติดเครื่องหมาย IEC ทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองขนาดใหญ่
-
หน่วยปฏิบัติการ @fire ของเยอรมนี เป็นหน่วยที่ได้ IEC ทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองขนาดเล็กตั้งแต่ พ.ศ. 2564
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "INSARAG - International Search and Rescue Advisory Group: Overview". OCHA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 October 2011. สืบค้นเมื่อ 4 November 2012.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย. (2560). คู่มือปฏิบัติงานคณะที่ปรึกษา ด้านการค้นหาและกู้ภัยระหว่างประเทศ (INSARAG Guidelines) เล่มที่ 2: การเตรียมความพร้อมและการเผชิญเหตุ คู่มือ C: การประเมินทีมค้นหาและกู้ภัย/กู้ภัยซ้ำตามระบบของ INSARAG (IEC/R). เก็บถาวร 2023-02-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กรุงเทพฯ. ศูนย์สื่อและสิ่งพิมพ์แก้วเจ้าจอม มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา.
- ↑ "IEC – INSARAG" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).