ข้าวหมูสับ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ข้าวหมูสับ
ข้าวหมูสับกับเกี้ยมไฉ่
อักษรจีนตัวเต็ม滷肉飯
ความหมายตามตัวอักษรข้าวหน้าหมูเคี่ยว

ข้าวหมูสับ (จีน: 滷肉飯; พินอิน: lǔròufàn; เป่อ่วยยี: ló͘-bah-pn̄g; อังกฤษ: minced pork rice) เป็นอาหารซึ่งพบได้ทั่วไปในประเทศไต้หวันและตอนใต้ของมณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน วิธีทำและส่วนผสมแตกต่างกันไปตามท้องที่ แต่รูปลักษณ์เหมือนกัน คือ เป็นข้าวสวยราดหมูสับเคี่ยวซีอิ๊ว

ศัพท์[แก้]

ภาษาจีนสำเนียงกลางเรียกข้าวหมูสับว่า "หลู่โร่วฟั่น" และเรียกน้ำราดว่า "โร่วเจ้า" (肉燥; ròuzào)

หนังสือ ศัพทานุกรม (說文解字; Shuōwén Jiězì) ซึ่งเป็นพจนานุกรมจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น ระบุว่า คำว่า "หลู่" (; ) แปลว่า เคี่ยว (cooking in thick broth or sauce) และ "หลู่โร่วฟั่น" (滷肉飯; lǔròufàn) มีความหมายตรงตัวว่า ข้าวหน้าหมูเคี่ยว (rice with braised meat)

ชาวไต้หวันนิยมใช้อักษร "魯" แทน "滷" แม้อ่านออกเสียงเหมือนกันว่า "หลู่" และมีความหมายเหมือนกัน แต่อักษรแรกเป็นชื่อเก่าของมณฑลชันตง เป็นเหตุให้มีผู้เสนอว่า ข้าวหมูสับเป็นอาหารจีนแผ่นดินใหญ่ กำเนิดในมณฑลชันตง แต่มาโด่งดังที่ไต้หวัน อย่างไรก็ดี ชาวไต้หวันส่วนมากเชื่อว่า ข้าวหมูสับเป็นอาหารไต้หวันแท้ ๆ

การทำ[แก้]

โดยทั่วไป ข้าวหมูสับในไต้หวันทำโดยผัดหมูสับกับหอมซอย ระหว่างผัดจะปรุงรสตามชอบใจไปด้วยก็ได้ เช่น ใส่น้ำตาล พริกไทย หรือพริก ก่อนเคี่ยวกับซีอิ๊วและส่วนผสมอื่น ๆ เสร็จแล้ว ราดหมูกับน้ำลงบนข้าวสวย น้ำราดยังใช้รับประทานกับอาหารอื่นได้ด้วย เช่น บะหมี่ ก๋วยเตี๋ยว ผัก และอาหารไต้หวันอื่น ๆ ซึ่งทำได้ในครัวเรือน

ความแตกต่าง[แก้]

แม้ปัจจุบันข้าวหมูสับเป็นหนึ่งในอาหารประจำชาติและสัญลักษณ์ของไต้หวัน แต่วิธีทำและวัตถุดิบนั้นแตกต่างกันมากในท้องที่ต่าง ๆ เช่น ในภาคใต้มักใช้หมูมีมันน้อย ส่วนในภาคเหนือนิยมหมูติดมัน

นอกจากนี้ ในภาคใต้เรียกข้าวหมูสับว่า "โร่วเจ้าฟั่น" (肉燥飯; ròuzàofàn) แปลตรงตัวว่า ข้าวราดน้ำหมู แทนชื่อ "หลู่โร่วฟั่น" ที่ใช้กันทั่วไป และใช้ชื่อ "หลู่โร่วฟั่น" เรียกข้าวราดหมูสามชั้นเคี่ยวแทน ขณะที่ในภาคเหนือเรียกข้าวราดหมูสามชั้นเคี่ยวว่า "ฮงโร่วฟั่น" (焢肉飯; hōngròufàn)

ในประเทศจีน ข้าวหมูสับก็พบเจอได้ แต่มักรับประทานกับพืชผักหลายชนิดที่ชาวไต้หวันไม่กินกัน เช่น ข้าวโพดอ่อน

ระเบียงภาพ[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]