ข้ามไปเนื้อหา

ข้าวฟ่างสามง่าม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ข้าวฟ่างสามง่าม
ข้าวฟ่างสามง่าม
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Monocots
ไม่ได้จัดลำดับ: Commelinids
อันดับ: Poales
วงศ์: Poaceae
วงศ์ย่อย: Chloridoideae
สกุล: Eleusine
สปีชีส์: E.  coracana
ชื่อทวินาม
Eleusine coracana
Gaertn.
ทุ่งปลูกข้าวฟ่างสามง่ามในเนปาล

ข้าวฟ่างสามง่าม ชื่อวิทยาศาสตร์: Eleusine coracana เป็นพืชในวงศ์หญ้า เป็นหญ้ากอขนาดใหญ่ ลำต้นตั้งตรงแบบข้าว ผิวลำต้นเกลี้ยง เขียวอ่อนเป็นมัน มีใบมาก กาบใบแบน ผิวเกลี้ยง มีขนเล็กน้อยตามขอบใบ ลิ้นใบสั้นเป็นชายครุย ใบมักโค้งลง มีขนสาก ดอกช่อเป็นกระจุกที่ปลาย ผลแบบกระเปาะ มีหลายสี

ข้าวฟ่างสามง่ามเป็นพืชที่มีความหลากหลายและแบ่งเป็นพันธุ์จำนวนมาก พืชชนิดนี้สามารถผสมข้ามพันธุ์กับ Eleusine africana ได้และมีลักษณะทางพันธุกรรมใกล้เคียงกัน ลูกผสมที่ได้ไม่เป็นหมัน จึงรวมเป็นสปีชีส์เดียวกัน และแบ่งเป็นสปีชีส์ย่อยคือ subsp. africana เป็นพันธุ์ที่พบตามธรรมชาติ และ subsp. coracana เป็นพันธุ์ปลูก ในกลุ่มของพันธุ์ปลูกแบ่งเป็น 5 สายพันธุ์คือ

  • กลุ่มย่อย compacta ช่อดอกมีจำนวน 4-10 อัน โค้งขึ้น ใหญ่กว่ากลุ่มย่อย vulgaris มักมีการแตกแขนงซ้ำเป็นช่อดอกขนาดใหญ่ พบในอินเดีย เคนยา เอธิโอเปีย และยูกันดา
  • กลุ่มย่อย coracana แขนงช่อดอก 5-19 อัน แขนงช่ออันกลางพัฒนาอย่างสมบูรณ์ นิยมปลูกในอินเดียและแอฟริกา
  • กลุ่มย่อย elongata แขนงช่อดอกยาวและเรียว โค้งพับลงเมื่อแก่ นิยมปลูกในแอฟริกาตะวันออกและอินเดีย
  • กลุ่มย่อย Plana แขนงช่อดอกเป็นแถบยาว ช่อดอกย่อยขนาดใหญ่ เรียง 2 แถวปลูกในอินเดียและเอธิโอเปีย
  • กลุ่มย่อย vulgaris แขนงช่อตรงโค้ง พับลงหรือขึ้น ปลูกในอินเดีย แอฟริกา และอินโดนีเซีย

คาดว่าต้นกำเนิดของพืชชนิดนี้อยู่ในแอฟริกาตะวันออก ในบริเวณระหว่างเอธิโอเปียและยูกันดา แล้วแพร่กระจายไปยังอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมล็ดใช้เป็นอาหาร เมล็ดนำมาเพาะให้งอก นำไปหมักเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมล็ดนำไปบดเป็นแป้งใช้ต้มโจ๊กหรือทาขนมปัง ในชวาตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย นำต้นอ่อนมารับประทานเป็นผัก ฟางใช้เลี้ยงสัตว์ ลำต้นนำไปทำเชือก เมล็ดมีแคลเซียม เหล็ก และฟอสฟอรัสสูง

รวมภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  • พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ. ทรัพยากรพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10: ธัญพืช. กทม. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. 2544.หน้า 118 - 122