ข้อจำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ข้อจำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง เป็นข้อจำกัดทางกฎหมายที่จำกัดจำนวนวาระของบุคคลในการดำรงตำแหน่งบางตำแหน่ง โดยเฉพาะตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้ง โดยอาจเป็นการห้ามดำรงตำแหน่งเกินบางวาระติดต่อกัน หรือห้ามดำรงตำแหน่งซ้ำ[1]

ข้อจำกัดเช่นนี้เป็นองค์ประกอบหนึ่งของแนวคิดแบบรัฐธรรมนูญนิยมที่มีไว้จำกัดผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ของระบอบประชาธิปไตย[2] เช่น เพื่อป้องกันความเป็นไปได้ที่จะเกิดการผูกขาดตำแหน่ง

ประธานาธิบดีหลายคนเคยพยายามอยู่เกินวาระที่จำกัดไว้โดยอาศัยหลายวิธี[3][4] มีสถิติปรากฏว่า ในช่วง ค.ศ. 1960–2010 หนึ่งในสี่ของประธานาธิบดีที่มีวาระจำกัดได้ขยายหรือฝ่าฝืนวาระของตนเป็นผลสำเร็จ และการบังคับใช้ข้อจำกัดวาระเป็นหนึ่งในงานที่ท้าทายที่สุดในพัฒนาการทางประชาธิปไตย นอกจากนี้ ข้อจำกัดวาระยังเป็นกลไกทางประชาธิปไตยซึ่งเป็นที่รับรองทั้งระดับประเทศและระดับสากลมากกว่ากลไกอย่างอื่น และความพยายามฝ่าฝืนข้อจำกัดวาระมักพบกับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากประชาชนในประเทศและจากเวทีโลกด้วย[5] การฝ่าฝืนข้อจำกัดวาระยังสัมพันธ์กับความเสื่อมถอยของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน[6]

ถึงแม้ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยน้อยจะพบการฝ่าฝืนข้อจำกัดวาระได้บ่อยกว่าประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแข็งแรง แต่ในประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็ยังสามารถบังคับใช้ข้อจำกัดวาระได้โดยผ่านฝ่ายค้าน รัฐบาลต่างประเทศ และบรรดาพลเมืองเอง[7]

ในทางประวัติศาสตร์ ข้อจำกัดวาระเช่นนี้สามารถย้อนหลังไปได้ถึงยุคกรีซโบราณ สาธารณรัฐโรมัน และสาธารณรัฐเวนิส[8] ส่วนข้อจำกัดวาระที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญแบบสมัยใหม่เป็นครั้งแรกนั้น คือ ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ ปี 3 (ค.ศ. 1795) สมัยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1 ซึ่งกำหนดว่า ดีแร็กตัวร์ (ผู้บริหารสูงสุดของประเทศ) อยู่ในตำแหน่งได้เพียง 5 ปี และห้ามดำรงตำแหน่งซ้ำ[9]

อ้างอิง[แก้]

  1. Baturo 2014, p. 17.
  2. Baturo 2014, p. 3.
  3. On the Evasion of Executive Term Limits 2010, University of Chicago Law School. Chicago Unbound
  4. The Law and Politics of Presidential Term Limit Evasion Columbia Law Review, 2020
  5. Baturo 2014, pp. 1–4.
  6. Baturo 2014, pp. 38–39.
  7. Baturo 2014, pp. 76–79.
  8. O'Keefe, Eric (2008). "Term Limits". ใน Hamowy, Ronald (บ.ก.). The Encyclopedia of Libertarianism. Thousand Oaks, CA: SAGE; Cato Institute. pp. 504–06. doi:10.4135/9781412965811.n308. ISBN 978-1-4129-6580-4. LCCN 2008009151. OCLC 750831024. ... Political scientist Mark Petracca has outlined the importance of rotation in the ancient Republics of Athens, Rome, Venice, and Florence. The Renaissance city-state of Venice [also] required rotation....
  9. Baturo 2014, p. 23.

บรรณานุกรม[แก้]

  • Baturo, Alexander (2014). Democracy, Dictatorship, and Term Limits (ภาษาอังกฤษ). United States: University of Michigan Press.