ก้งเหอ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ก้งเหอ (จีน: 共和; พินอิน: Gònghé; "สันติร่วม") เป็นช่วงเวลาว่างกษัตริย์ในประวัติศาสตร์จีน ตั้งแต่ 841 ถึง 828 ปีก่อนคริสตกาล เกิดขึ้นเมื่อพระเจ้าโจวลี่ (周厲王) ถูกขับออกจากราชสมบัติ และหาผู้สืบราชบัลลังก์ต่อไม่ได้ จึงมีการตั้งผู้สำเร็จราชการขึ้น จนได้พระโอรสของพระองค์ คือ พระเจ้าโจวเซฺวียน (周宣王) มาสืบราชสมบัติต่อ ช่วงเวลานี้จึงสิ้นสุดลง

ความเป็นมา[แก้]

พระเจ้าโจวลี่ทรงเป็นผู้ปกครองที่ฉ้อฉลและหยาบช้า ทรงขึ้นภาษีและสร้างความเดือดร้อนแก่ปวงประชาเพื่อความสุขส่วนพระองค์ กล่าวกันว่า ทรงห้ามสามัญชนใช้ประโยชน์จากป่าและแม่น้ำสาธารณะ และทรงตรากฎหมายให้อำนาจพระองค์ประหารผู้ใดก็ตามที่กล่าววาจาล่วงเกินพระองค์ การปกครองอันกดขี่ของพระองค์นั้นไม่ช้าก็บีบให้ทหารและชนชั้นรากหญ้าทั่วประเทศลุกฮือขึ้นต่อต้านพระองค์ ที่สุดแล้ว พระองค์ทรงถูกขับไปยังสถานที่หนึ่งซึ่งอยู่ใกล้กับหลินเฝิน (臨汾) ในปัจจุบัน ส่วนพระโอรสของพระองค์นั้นก็ถูกเสนาบดีผู้หนึ่งนำตัวไปซ่อนเร้นเสีย ทำให้ไม่มีผู้จะสืบราชสมบัติต่อ จึงต้องตั้งผู้สำเร็จราชการขึ้น[1]

ซือหม่า เชียน (司馬遷) นักประวัติศาสตร์แห่งราชวงศ์ฮั่น (漢朝) ระบุว่า ช่วงเวลาที่มีการสำเร็จราชการดังกล่าว เรียกว่า "ก้งเหอ" (สันติร่วม) เพราะมีบุคคลสองคนสำเร็จราชการร่วมกัน คือ โจวติ้งกง (周定公) และจ้าวมู่กง (召穆公) แต่เอกสาร จู๋ชูจี้เหนียน (竹書紀年) ว่า มีผู้สำเร็จราชการคนเดียว ชื่อว่า เหอ (和) บรรดาศักดิ์ว่า ก้งปั๋ว (共伯)

ปีแรกแห่งช่วงเวลาก้งเหอนั้น ถือกันว่า มีความสำคัญยิ่งนักในหน้าประวัติศาสตร์จีน เพราะซือหม่า เชียน สามารถกำหนดเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เป็นรายปีได้ไกลที่สุดถึงปีนั้น ส่วนเหตุการณ์ที่ไกลกว่านั้น ทั้งซือหม่า เชียน เอง และนักประวัติศาสตร์รุ่นหลัง ๆ ยังไม่สามารถระบุเวลาที่แม่นยำได้ ทั้งนี้ เพราะซือหม่า เชียน เห็นว่า แหล่งข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ไกลกว่าปีดังกล่าวนั้นขัดแย้งกันเองและไม่น่าเชื่อถือ จึงเลือกจะไม่เขียนลงในเอกสารของตน รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนสนับสนุนให้มีโครงการลำดับเวลาเซี่ย–ชาง–โจว (Xia–Shang–Zhou Chronology Project) ขึ้นเพื่อกำหนดเวลาสำหรับเหตุการณ์ก่อนปีก้งเหอปีแรกให้ได้ แต่รายงานฉบับร่างของคณะทำงานโครงการดังกล่าว ซึ่งเผยแพร่ใน ค.ศ. 2000 นั้น เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการจำนวนมาก

ครั้นพระเจ้าโจวลี่สิ้นพระชนม์ระหว่างเสด็จลี้ภัยในปีที่ 828 ก่อนคริสตกาล ก็ได้ตัวพระโอรสของพระองค์มาเสวยราชย์ต่อเป็นพระเจ้าโจวเซฺวียน[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. Sources of Western Zhou History: Inscribed Bronze Vessels by Edward L. Shaughnessy
  2. Sima Qian. Records of the Grand Historian. Vol. 4.