ก้งกง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รูปของงูหัวคนนาม "จู๋หลง" (燭龍) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับก้งกง

ก้งกง (จีน: 共工; พินอิน: Gònggōng) เป็นเทพแห่งน้ำซึ่งเรื่องปรัมปราและเรื่องเล่าพื้นบ้านของจีนว่า มีตัวเป็นงูหรือมังกร มีหัวเป็นคน มีผมสีแดง หรือมีตัวและหัวเป็นคน มีหางเป็นงูหรือมังกร[1] มักก่อความเดือดร้อน และเป็นต้นเหตุแห่งภัยพิบัติต่าง ๆ ที่สุดแล้วไปสู้รบกับเทวดาหลายองค์ ซึ่งรวมถึงจู้หรง (祝融) เทพแห่งไฟ แล้วพ่ายแพ้ จึงถูกฆ่าตายหรือถูกอัปเปหิ

ตำนาน[แก้]

ก้งกงเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่ก่อนปีที่ 221 ก่อนคริสตกาล ซึ่งตรงกับปลายยุครณรัฐ (戰國時代) บทร้อยกรองชื่อ เทียนเวิ่น (天問; "ถามฟ้า") ซึ่งรวมอยู่ในหนังสือ ฉู่ฉือ (楚辭; "คำของฉู่") ระบุว่า ก้งกงทำแกนโลกหัก ทำให้โลกเอียงไปทางตะวันออกเฉียงใต้ และทำให้ท้องฟ้าเอียงไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ[1] ความเชื่อเรื่องนี้ใช้อธิบายว่า ทำไมแม่น้ำในประเทศจีน เช่น ฉางเจียง (長江; "แม่น้ำยาว") และหฺวังเหอ (黃河; "แม่น้ำเหลือง") มักไหลไปทางตะวันออกเฉียงใต้ และทำไมดวงตะวัน ดวงจันทร์ และดวงดาว มักเคลื่อนไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ

งานเขียนในสมัยราชวงศ์ฮั่น (漢朝) เริ่มใส่รายละเอียดให้แก่เรื่องของก้งกง บันทึกเรื่องปรัมปราหลายฉบับกล่าวว่า ก้งกง กับลูกน้อง คือ เซียงหลิ่ว (相栁) ซึ่งเป็นงูเก้าหัว ก่อให้เกิดมหาอุทกภัยกุ๋น-ยฺหวี่ (鯀禹治水) ซึ่งกินเวลาถึงสองชั่วคน นอกจากนี้ ก้งกงสู้รบกับจู้หรง เทพแห่งไฟ เพื่อชิงบัลลังก์สวรรค์ ก้งกงแพ้ ก็พาลโกรธ เอาหัวโหม่งภูเขาปู้โจว (不周山) ซึ่งเป็นหนึ่งในเสาค้ำฟ้าทั้งแปดเสา ทำให้ภูเขาปู้โจวทลาย ท้องฟ้าจึงเอียงไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ส่วนโลกก็เอียงไปทางตะวันออกเฉียงใต้ นำมาซึ่งน้ำท่วมใหญ่และพิบัติภัยนานา ร้อนถึงเทพธิดานฺหวี่วา (女媧) ต้องออกมากู้สถานการณ์ด้วยการตัดขาของเต่ายักษ์นาม "อ๋าว" (鳌) มาใช้แทนเสาค้ำฟ้า แม้จะยุติเภทภัยต่าง ๆ ได้ แต่โลกและท้องฟ้าที่เอียงไปแล้วไม่สามารถแก้ไขได้ ทำให้สายน้ำ ดวงตะวัน ดวงจันทร์ และดวงดาว เคลื่อนไหวไปในทิศทางดังกล่าวชั่วนิรันดร

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Yang & al. (2005), p. 124.

บรรณานุกรม[แก้]

  • Yang, Lihui (2005), Handbook of Chinese Mythology, Oxford: Oxford University Press, ISBN 978-0-19-533263-6 {{citation}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |authormask= ถูกละเว้น แนะนำ (|author-mask=) (help)