ข้ามไปเนื้อหา

กำแพงพัง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กำแพงพัง
ขาซ้ายของผู้ป่วยโรคกำแพงพังที่มีแมลงวันตอมหึ่ง ขณะเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลโกโรกา (Goroka) เมืองโกโรกา ประเทศนิวกินี
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
ICD-10L98.4 (ILDS L98.440)

กำแพงพัง (อังกฤษ: tropical ulcer, aden ulcer, jungle rot, malabar ulcer หรือ tropical phagedena; ละติน: ulcus tropicum) เป็นชื่อโรคผิวหนังชนิดแผลเปื่อยหรือโรคไข้กาฬประเภทหนึ่งซึ่งอาจยังให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตายได้ "โรคแผลเปื่อยในประเทศร้อน" หรือ "โรคแผลประเทศร้อน" หรือ "โรคแผลปากหมู" ก็เรียก

ประวัติ

[แก้]

"กำแพงพัง" เป็นศัพท์ที่แพทย์ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณใช้เรียกชื่อโรคไข้กาฬชนิดหนึ่ง ตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์ฉบับของหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจัดพิมพ์เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2497 อธิบายเกี่ยวกับโรคนี้ว่า

"เมื่อจะตั้งต้นเป็นขึ้นมานั้น มีหัวผุดขึ้นมาหัวเดียวทำพิษสงเป็นกำลัง ให้จับสะท้านร้อนสะท้านหนาว ให้เชื่อมมัวร้อนในกระหายน้ำ ให้ฟกบวมขึ้น น้ำเหลืองแตกพังออก วางยาไม่หยุด ให้พังออกได้ตาย"

ราชบัณฑิตยสถานสันนิษฐานว่า โรคกำแพงพังตามแพทยศาสตร์แผนโบราณนั้น คือ โรคที่ปัจจุบันเรียกตามแพทยศาสตร์สมัยใหม่ว่า "โรคแผลเปื่อยในประเทศร้อน" หรือ "โรคแผลประเทศร้อน" ซึ่งพบมากในเขตร้อน เช่น ในทวีปอัฟริกาหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงประเทศไทยด้วย

โรคนี้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในประเทศไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2498

อาการ

[แก้]

ตามแพทยศาสตร์สมัยใหม่ โรคกำแพงพังมีอาการตั้งต้นด้วยการเกิดตุ่มเล็ก ๆ คล้ายยุงหรือแมลงกัดต่อย หรืออาจเกิดตุ่มในแผลเดิมของคุดทะราดหรือแผลเรื้อรังก็ได้ จะมีอาการเจ็บปวดที่ตุ่มนั้น และก่อให้เกิดอาการไข้

ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ตุ่มนั้นจะกลายเป็นแผลเน่าและแตกออกอย่างรวดเร็ว

ภายในไม่กี่วันถัดนั้น แผลจะเน่าเปื่อยลึกลงไปถึงกระดูก และแผ่กว้างออกยาวออกทุกทิศทุกทางรอบแผลนั้นจนเป็นอาณาเขตโตหลายนิ้วหลายฟุต โบราณจึงเปรียบว่าเหมือนกับกำแพงที่พังแผ่ออก

โรคนี้ทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตายได้

การเกิดโรค

[แก้]

สวัสดิ์ แดงสว่าง ผู้บัญชาการกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ สันนิษฐานว่า โรคนี้ ทางแพทยศาสตร์เข้าใจว่าเกิดจากเชื้อโรคชนิด Spirochaeta schaudinni และชนิด Fusiform bacilus

อ้างอิง

[แก้]
  • สวัสดิ์ แดงสว่าง. (2528). "กำแพงพัง". สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน, (เล่ม 3 : กาลิทาส-ขอมแปรพักตร์). กรุงเทพฯ : ไพศาลศิลป์การพิมพ์. หน้า 1320-1321.