การเสียชีวิตของวราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล
จุดเกิดเหตุ | |
วันที่ | 21 มกราคม 2565 |
---|---|
ที่ตั้ง | ทางม้าลายหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท กรุงเทพมหานคร |
ชื่ออื่น | เหตุรถชนหมอกระต่าย |
ประเภท | อุบัติเหตุ |
สาเหตุ | การขี่จักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงชนคนเดินเท้า |
เสียชีวิต | พญ. วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล |
จับ | ส.ต.ต. นรวิชญ์ บัวดก |
พิพากษาลงโทษ | จำคุก 5 ปี 1 เดือน
(อยู่ระหว่างฎีกา) |
ข้อหา | - ฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย - ฐานขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือดร้อนของผู้อื่น |
เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2565 ที่บริเวณทางม้าลายหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท กรุงเทพมหานคร เกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ของ ส.ต.ต. นรวิชญ์ บัวดก อายุ 21 ปี พุ่งชนแพทย์หญิงวราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล อายุ 33 ปี ด้วยความเร็วสูงจนถึงแก่ความตาย[1] หลังเกิดเหตุผู้ก่อเหตุได้เข้าพิธีอุปสมบทและเดินทางไปร่วมงานสวดอภิธรรมศพในช่วงเย็นวันเดียวกัน ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหตุใดผู้ต้องหาคดีอาญาจึงอุปสมบทได้[2] จนเจ้าอาวาสวัดต้องให้พระนรวิชญ์สึกในวันต่อมา[3]
ต่อมา เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานได้ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเกิดเหตุ พบว่าผู้ต้องหาขี่รถด้วยความเร็ว 108-128 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด[4] หลังจากนั้นในเดือนเมษายนปีเดียวกัน ศาลอาญาได้พิพากษาจำคุก ส.ต.ต. นรวิชญ์ (จำเลย) 1 ปี 15 วัน และปรับเงินผู้ต้องหาเป็นจำนวน 4,000 บาท[5] ซึ่งทางครอบครัวของ พญ.วราลัคน์ เห็นว่าคำพิพากษาเป็นไปตามคาดการณ์ แต่ไม่ใช่ที่คาดหวัง ชี้กรณีนี้ร้ายแรงกว่าคดีประมาททั่วไป เพราะผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ควรได้รับโทษสูงกว่านี้[6]
ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า "โทษที่ศาลชั้นต้นลงแก่จำเลยมานั้นเบาเกินไป ไม่เหมาะสมและไม่ได้สัดส่วนกับความร้ายแรงของการกระทำความผิดของจำเลยและอัตราโทษที่กำหนดโดยกฎหมาย มิฉะนั้นคงไม่มีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดในฐานนี้ที่ร้ายแรงยิ่งกว่านี้ที่จะลงโทษหนักกว่านี้ได้"[7] ได้ตัดสินเพิ่มโทษจำคุกในความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย[8] เห็นควรวางโทษจำคุกจำเลย 10 ปี และความผิดฐานขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือดร้อนของผู้อื่น เห็นควรให้ระวางโทษจำคุก 2 เดือน รวมเป็น 10 ปี 2 เดือน ภายหลังเกิดเหตุจำเลยมิได้หลบหนีและให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาของศาลตลอดมา[7] จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือ 5 ปี 1 เดือน โดยไม่รอการลงอาญา[9] อย่างไรก็ตาม ส.ต.ต. นรวิชญ์ (จำเลย) ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างฎีกา[10]
ในส่วนของคดีแพ่ง ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษา เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2567 ให้ส.ต.ต. นรวิชญ์ (จำเลยที่ 2) ชดใช้เป็นเงิน 27.3 ล้านบาท แต่ได้ยกฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (จำเลยที่ 1) ไม่ต้องร่วมรับผิด[11]
เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความปลอดภัยของคนเดินเท้า การบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทย และการสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทางเป็นอย่างมาก[12] และนำมาสู่การปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจราจรในประเทศไทย[13]
ประวัติ
[แก้]วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล
[แก้]แพทย์หญิงวราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย, KT[14] เป็นจักษุแพทย์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[15] ก่อนเสียชีวิตมีอายุ 33 ปี ย่างเข้า 34 ปี เกิดเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2531 จบชั้นมัธยมต้นและปลายจากโรงเรียนสาธิตปทุมวัน จากนั้นศึกษาต่อที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ก่อนกลับไปใช้ทุนที่โรงพยาบาลสระบุรี[16]
หลังจากนั้นแพทย์หญิงวราลัคน์เรียนต่อเฉพาะทางจักษุวิทยา โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ต่อยอดจักษุวิทยาภูมิคุ้มกันอักเสบ และศึกษาต่อเฉพาะทางต่อยอดจอตาและวุ้นตา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์[16]
นรวิชญ์ บัวดก
[แก้]ส.ต.ต. นรวิชญ์ บัวดก เป็นตำรวจผู้บังคับหมู่ กองร้อยที่ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน อายุ 21 ปี[15]
ผลที่ตามมา
[แก้]มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2566 กำหนดให้วันที่ 21 มกราคม ของทุกปี เป็น "วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน"[17] คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่ทำงานของ พญ.วราลัคน์ ได้จัดทำโครงการ “ทางม้าลายกระต่ายน้อย” ภายใต้วัตถุประสงค์หลักคือ “ระลึก ระวัง ระงับ” นอกจากนี้ยังเป็นการระลึกถึงคุณหมอกระต่ายและเป็นการปลุกจิตสำนึกที่ดีในด้านวินัยการจราจร[18] อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการใช้ถนนยังคงไม่เปลี่ยนแปลง[19]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ปล่อยตัวตำรวจโดยไม่ใช้หลักประกัน หลังขับบิ๊กไบค์ชนหมอเสียชีวิต เผยมอบตัว-รับสารภาพ-มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง". THE STANDARD. 2022-01-23.
- ↑ ""พระนรวิชญ์" บวชให้ "หมอกระต่าย" มีคดี-คนตาย บวชได้ยังไง?". bangkokbiznews. 2022-01-25.
- ↑ Thailand, BECi Corporation Ltd. "เจ้าอาวาสวัดปริวาสฯ สั่งสึก ส.ต.ต.ชน 'หมอกระต่าย' สำนักพุทธชี้บวชไม่ได้". CH3Plus.com.
- ↑ "ตร.พบหลักฐานบิ๊กไบค์ชน "หมอกระต่าย" ขี่เร็ว 108-128 กม./ชม". Thai PBS. 2022-01-29. สืบค้นเมื่อ 2023-06-16.
- ↑ "ศาลสั่งจำคุก 'ส.ต.ต.นรวิชญ์' 1 ปี 15 วัน ไม่รอลงอาญา คดีขี่รถชน 'หมอกระต่าย' ขณะข้ามทางม้าลายเสียชีวิต". workpointTODAY. 2022-04-25. สืบค้นเมื่อ 2023-06-16.
- ↑ "ไขข้อสงสัย ทำไมจำเลยคดีหมอกระต่าย "ได้รับโทษน้อย"". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2024-04-02.
- ↑ 7.0 7.1 "เพิ่มโทษคุก 10 ปี ตำรวจขับบิ๊กไบค์ชน หมอกระต่าย เสียชีวิตระหว่างข้ามทางม้าลาย". THE STANDARD. 2024-01-16.
- ↑ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท
- ↑ "ศาลอุทธรณ์ตัดสินเพิ่มโทษ คุก ตำรวจ คฝ.ซิ่งบิ๊กไบค์ชนหมอกระต่าย 10 ปี 2 เดือน". www.thairath.co.th. 2024-01-16. สืบค้นเมื่อ 2024-01-17.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ศาลฎีกาให้ประกันตำรวจ คฝ. ขับบิ๊กไบค์ชนหมอกระต่าย ตีหลักประกัน 3 แสน ใช้ตำแหน่งพ่อ-หัวหน้า". THE STANDARD. 2024-01-18.
- ↑ "ศาลแพ่งสั่งตำรวจซิ่งบิ๊กไบค์ชนหมอกระต่ายเสียชีวิต ชดใช้ 27.3 ล้านบาท". THE STANDARD. 2024-03-26.
- ↑ "คนไข้หมดโอกาส...กว่าจะมีหมอตาแบบ #หมอกระต่าย สุดยากเข็ญทั้งประเทศไม่ถึง50คน". เดลินิวส์. 2022-01-23. สืบค้นเมื่อ 2023-06-16.
- ↑ "ย้ำอีกครั้ง! ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ปรับไม่เกิน 4 พัน ตัดทันที 1 คะแนน". PPTV HD 36. 2023-01-24. สืบค้นเมื่อ 2023-06-16.
- ↑ "The Francis I. Proctor Foundation for Research in Ophthalmology" (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-24. สืบค้นเมื่อ 2023-03-30.
- ↑ 15.0 15.1 "ปล่อยตัวตำรวจโดยไม่ใช้หลักประกัน หลังขับบิ๊กไบค์ชนหมอเสียชีวิต เผยมอบตัว-รับสารภาพ-มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง". THE STANDARD. 2022-01-23. สืบค้นเมื่อ 2023-06-16.
- ↑ 16.0 16.1 "เปิดประวัติ หมอกระต่าย จักษุแพทย์อนาคตไกล ที่มีเพียงไม่กี่คนของประเทศ". kapook.com. 2022-01-24. สืบค้นเมื่อ 2023-06-16.
- ↑ ครม.กำหนดให้วันที่ 21 มกราคมของทุกปีเป็น “วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน” หยุดความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน
- ↑ Faculty of Medicine at Chulalongkorn University » ทางม้าลายกระต่ายน้อย
- ↑ "2 ปีคดีหมอกระต่าย กับวินัยการใช้ถนนที่ยังเหมือนเดิม". THE STANDARD. 2024-01-21.