การเดินทางคอน-ติกิ

การเดินทางคอน-ติกิ เป็นการเดินทางด้วยแพจากทวีปอเมริกาใต้ ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังพอลินีเชียในปี ค.ศ. 1947 การเดินทางครั้งนี้นำโดยทอร์ เฮเยอร์ดาห์ล นักผจญภัยชาวนอร์เวย์ ชื่อคอน-ติกิ มาจากพระนามเดิมของ Viracocha พระผู้สร้างของชาวอินคา นอกจากนี้ยังเป็นชื่อหนังสือที่เฮเยอร์ดาห์ลเขียนหลังเสร็จสิ้นการเดินทาง (แปลไทยในชื่อ ล่องแพสู่แปซิฟิค) และชื่อภาพยนตร์ในปี ค.ศ. 2012 (ชื่อไทยของภาพยนตร์คือ ลอยทะเลให้โลกหงายเงิบ)[1]
เฮเยอร์ดาห์ลเชื่อว่าชาวอเมริกาใต้เป็นผู้ตั้งรกรากในพอลินีเชียตั้งแต่ยุคก่อนโคลัมบัส เขาจึงสร้างแพด้วยวัสดุและเทคโนโลยีในสมัยนั้นเพื่อพิสูจน์สมมติฐานดังกล่าว แพคอน-ติกิสร้างจากลำต้นไม้บัลซา 9 ต้น ประกอบเข้าด้วยกันด้วยเชือกกัญชง ขอบเรือและคัดแคงทำจากไม้สน เสาแพทำจากไม้โกงกาง ส่วนเพิงพักทำจากไม้ไผ่มุงด้วยใบตอง ด้านอาหารที่คณะเดินทางนำไปด้วยได้แก่ น้ำดื่ม 1,040 ลิตร มะพร้าว มันเทศ น้ำเต้า และผักผลไม้อื่น ๆ นอกจากนี้กองทัพสหรัฐยังสนับสนุนอาหารกระป๋อง อาหารแห้งและอุปกรณ์ยังชีพจำนวนหนึ่ง ระหว่างเดินทาง คณะเดินทางจับปลาได้จำนวนมาก เช่น ปลานกกระจอก ปลาอีโต้มอญ และปลาทูน่าครีบเหลือง ขณะที่ด้านการสื่อสารคณะเดินทางใช้วิทยุที่มีรหัสเรียกขาน LI2B เพื่อติดต่อกับสถานีในทวีปอเมริกา[2]
28 เมษายน ค.ศ. 1947 เฮเยอร์ดาห์ลพร้อมด้วยลูกเรือ 5 คนได้แก่ ผู้นำทาง เอริก เฮสเซลแบร์ก (Erik Hesselberg) ผู้ดูแลสัมภาระ เบงต์ แดเนียลส์สัน (Bengt Danielsson) วิศวกร แฮร์มัน วัตซิงเกอร์ (Herman Watzinger) และผู้ดูแลวิทยุสื่อสาร คนุต ฮอกลันด์ (Knut Haugland) และทอร์สตีน ราบี (Torstein Raaby) พร้อมด้วยนกแก้วชื่อ โลริตา[3] ออกเดินทางจากเมืองคาเญา ประเทศเปรู โดยมีเรือของกองทัพเปรูลากออกจากฝั่งเพื่อหลีกเลี่ยงเรือลำอื่น ๆ ก่อนจะล่องไปตามกระแสน้ำฮุมบ็อลท์ วันที่ 30 กรกฎาคม คณะเดินทางมองเห็นแผ่นดินแรกคืออะทอลล์ปูกา-ปูกา ในหมู่เกาะดิสแอปพอยต์เมนต์ จากนั้นวันที่ 4 สิงหาคม คณะเดินทางไปถึงอะทอลล์แองกาเตาและพบกับชาวบ้านบนเกาะ แต่พวกเขาไม่สามารถขึ้นฝั่งได้ ต่อมาในวันที่ 7 สิงหาคม แพคอน-ติกิชนเข้ากับแนวปะการังก่อนจะเกยหาดของเกาะ Raroia ในหมู่เกาะตูอาโมตัส การเดินทางจึงต้องยุติลงหลังคณะเดินทางล่องด้วยระยะทาง 6,980 กิโลเมตร เป็นเวลา 101 วัน ภายหลังคณะเดินทางออกจากเกาะ Raroia ไปยังตาฮีตีด้วยเรือใบของฝรั่งเศส โดยมีซากแพคอน-ติกิ พ่วงไปด้วย[4]
การเดินทางคอน-ติกิแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการเดินทางด้วยแพจากทวีปอเมริกาใต้มายังพอลินีเชีย รวมถึงความเป็นไปได้ที่บรรพบุรุษของชาวพอลินีเชียมาจากอเมริกาใต้[5] อย่างไรก็ตาม สมมติฐานของเฮเยอร์ดาห์ลไม่ได้การยอมรับในวงวิชาการ[6] เวด เดวิส นักมานุษยวิทยาชาวแคนาดาวิจารณ์ว่า "สมมติฐานของเฮเยอร์ดาห์ลนั้น "ละเลย" ต่อหลักฐานทางภาษาศาสตร์ ชาติพันธุ์วรรณนา และพฤกษศาสตร์พื้นบ้านที่มีอยู่จำนวนมาก"[7] ปัจจุบันนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าชาวพอลินีเชียเป็นส่วนหนึ่งของชาวออสโตรนีเซีย และมีบรรพบุรุษมาจากทางตะวันตกหรือทวีปเอเชีย โดยอิงจากการศึกษาทางภาษาศาสตร์ โบราณคดีและพันธุศาสตร์[8][9][10]

อ้างอิง[แก้]
- ↑ "Kon-Tiki raft". Britannica. สืบค้นเมื่อ January 10, 2020.
- ↑ Stafford, Ed. Expeditions Unpacked: What the Great Explorers Took into the Unknown. North London, England, UK: White Lion Publishing. p. 71. ISBN 9781781318782.
- ↑ "Kon-Tiki". New World Encyclopedia. April 23, 2018. สืบค้นเมื่อ January 10, 2020.
- ↑ Klein, Christopher (October 6, 2014). "Thor Heyerdahl's Kon-Tiki Voyage". HISTORY. สืบค้นเมื่อ January 10, 2020.
- ↑ Herman, Doug (September 4, 2014). "How the Voyage of the Kon-Tiki Misled the World About Navigating the Pacific". Smithsonian Magazine. สืบค้นเมื่อ January 10, 2020.
- ↑ Robert C. Suggs The Island Civilizations of Polynesia, New York: New American Library, p.212-224.
- ↑ Davis, Wade (2010) The Wayfinders: Why Ancient Wisdom Matters in the Modern World, Crawley: University of Western Australia Publishing, p. 46.
- ↑ Bhanoo, Sindya N. (February 7, 2011). "DNA Sheds New Light on Polynesian Migration". The New York Times. สืบค้นเมื่อ January 10, 2020.
- ↑ Gibbons, Ann (October 3, 2016). "'Game-changing' study suggests first Polynesians voyaged all the way from East Asia". ScienceMag.org. สืบค้นเมื่อ January 10, 2020.
- ↑ Ghose, Tia (October 5, 2016). "The First People to Settle Polynesia Came from Asia". Live Science. สืบค้นเมื่อ January 10, 2020.