ข้ามไปเนื้อหา

การสิ้นพระชนม์ของพระนางเธอ ลักษมีลาวัณ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การสิ้นพระชนม์ของพระนางเธอ ลักษมีลาวัณ
65
วันที่29 สิงหาคม พ.ศ. 2504 (63 ปีที่แล้ว)
เวลาป. 15.00 น. (UTC+7)
สถานที่ไทย วังลักษมีวิลาศ จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
ประเภทเหตุแทง
สาเหตุการปล้นทรัพย์สิน
เป้าหมายพระนางเธอ ลักษมีลาวัณ
ผู้รายงานคนแรกพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
เสียชีวิตพระนางเธอ ลักษมีลาวัณ
ทรัพย์สินเสียหายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเงินพระราชสมบัติถูกขโมย
พิพากษาลงโทษเสงี่ยม หอมจันทร์
เจริญ กาญจนาภัย
จำนวนถูกพิพากษาลงโทษประหารชีวิต แต่เนื่องจากให้การสารภาพจึงลดโทษเป็น จำคุกตลอดชีวิต
พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ
พระโกศกุดั่นน้อย ทรงพระศพพระนางเธอ ลักษมีลาวัณ
พระโกศกุดั่นน้อย ทรงพระศพพระนางเธอ ลักษมีลาวัณ
การสิ้นพระชนม์
พระนามพระนางเธอ ลักษมีลาวัณ
วันสิ้นพระชนม์29 สิงหาคม พ.ศ. 2504 (63 ปีที่แล้ว)
สถานที่สิ้นพระชนม์วังลักษมีวิลาศ
ประดิษฐานพระศพศาลามรุพงศ์ วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร
พระโกศพระโกศกุดั่นน้อย
ฉัตรฉัตรโหมดทอง 5 ชั้น
พระเมรุพระเมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร
วันพระราชทานเพลิงพระศพ19 ตุลาคม พ.ศ. 2504 (63 ปีที่แล้ว)
ประดิษฐานพระอัฐิหอพระนาก ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2504 เวลา 15:00 นาฬิกา ณ พระตำหนักลักษมีวิลาศ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุมัติ หมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระศพระหว่างวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2504 - 17 ตุลาคม พ.ศ. 2504 ณ ศาลามรุพงศ์ วัดมกุฎกษัตริยารามราชวรวิหาร กำหนดการพระราชทานเพลิงพระศพฯ ระหว่างวันที่ 18 - 23 ตุลาคม พ.ศ. 2504 ซึ่งพิธีจะมีขึ้น ณ พระเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส[1]

ก่อนสิ้นพระชนม์

[แก้]

เมื่อทรงพระชรา พระองค์ก็ทรงมีพระจริยาวัตรหงุดหงิดง่าย ใครเข้าพระพักตร์ไม่ใคร่จะได้ พระประยูรญาติจึงมิใคร่สามารถทนอยู่ถวายปรนนิบัติได้ ประกอบกับพระนางเธอฯ ปรารถนาจะประทับโดยสันโดษ ทรงโปรดความวิเวก ทำสวน และเพื่อประโยชน์ในการทรงงานประพันธ์ ซึ่งบรรดาข้ารับใช้ในพระนางเธอไม่มีผู้ใดจะทนอยู่ได้นานนัก

ในการพอพระทัยแบบสันโดษนี้เอง ได้เคยมีพระประยูรญาติที่หวังดีเตือนพระสติว่าไม่เป็นการปลอดภัยและเสี่ยงต่อภยันตรายยิ่งนัก แต่ทุกองค์ที่หวังดีกลับได้รับสั่งจากพระนางเธอฯ ว่า “ก็ให้มันรู้ไป ใครจะมาทำพระนางเธอลักษมีลาวัณ บ้านก็อยู่ใกล้กรมทหาร ติดถนนใกล้โรงพักอย่างนี้” พระนางเธอฯ ทรงกล้าหาญเด็ดเดี่ยวไม่ทรงกลัว จึงยิ่งเป็นการเปิดโอกาสให้คนร้ายวางแผนชิงพระราชทรัพย์ได้

สิ้นพระชนม์

[แก้]

วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2504 นายแสง หรือ เสงี่ยม หอมจันทร์ กับนายวิรัช หรือเจริญ กาญจนาภัย อดีตคนสวนที่ถูกพระนางเธอ ลักษมีลาวัณไล่ออกไปเห็นว่าพระนางเธอทรงเป็นเพียงเจ้านายสตรีทั้งยังชรา และอาศัยเพียงลำพัง กับทั้งเคยสังเกตว่าในตู้ชั้นล่างพระตำหนักลักษมีวิลาศมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เข้าใจว่าเป็นของมีราคาทั้งสองจึงกลับเข้ามายังพระตำหนักลักษมีวิลาศ

ทั้งคู่ได้ลอบทำร้ายพระนางด้วยย่องเข้ามาทางข้างหลังใช้ชะแลงและสันขวานทำร้ายที่พระเศียรจนสิ้นพระชนม์ที่ห้องพระบรรทม[2] โดยที่พระวรกายบริเวณพระอุระ (หน้าอก) พบบาดแผลฉกรรจ์คล้ายถูกแทงอย่างโหดเหี้ยม 4 แผล ที่พระศอ (คอ) อีกแผลหนึ่ง ที่พระเศียร (ศีรษะ) ด้านหลังนั้นถูกตีจนน่วมมีพระโลหิตไหล[2] ทั้งสองได้ลากพระศพไปไว้ในโรงจอดรถหลังพระตำหนักเพื่ออำพราง แล้วค้นทรัพย์สินเท่าที่หาได้หนีไป ได้ไปแต่เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเงินพระราชสมบัติทั้งหมดไม่เหลือแม้แต่บาทเดียว ขณะที่ตู้เซฟที่เก็บฉลองพระองค์และเครื่องประดับของราชวงศ์จักรีมูลค่านับล้านบาทยังอยู่ในสภาพปกติ[2]

ภายหลังผู้ต้องหาทั้งสองถูกจับได้ และถูกพิพากษาให้ประหารชีวิต แต่ทั้งสองได้รับสารภาพ จึงได้รับการหย่อนโทษหนึ่งในสามคือให้จำคุกตลอดชีวิต เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป ด้วยพระนางเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า

สำนักพระราชวัง มีประกาศเรื่อง พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ ในรัชกาลที่ 6 สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2504 มีใจความว่า

พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ ได้เสด็จสิ้นพระชนม์จากการถูกคนร้ายลอบปลงพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วยความสลดพระราชหฤทัยยิ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ไว้ทุกข์ในพระราชสำนักมีกำหนด 15 วัน ประดิษฐานพระศพ ณ ศาลามรุพงศ์ ในวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร

สำนักพระราชวัง

3 กันยายน พ.ศ. 2504

ลำดับเหตุการณ์

[แก้]

18 มีนาคม พ.ศ. 2504

[แก้]
งานเมตตาบันเทิงรื่นฤดี

พระนางเธอลักษมีลาวัณ เสด็จพระดำเนินไปทรงร่วมงานการกุศลของมูลนิธิสตรีภาคพื้นแปซิฟิกนำโดยหม่อมในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ พระเชษฐา โดยมีชื่องานว่า งานเมตตาบันเทิงรื่นฤดี ซึ่งขอพระราชทานพระอนุญาตจัดขึ้นที่วังรื่นฤดีของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีและสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โดยมีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในงาน ซึ่งเป็นพระกรณียกิจครั้งสุดท้ายของพระนางเธอลักษมีลาวัณ

2 กันยายน พ.ศ. 2504

[แก้]

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ พระเชษฐาต่างพระมารดาของพระนางเธอ ทั้งยังเป็นรองนายกรัฐมนตรี ได้รับโทรศัพท์จาก นางสาวแน่งน้อย แย้มศิริ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตข้าในพระองค์ของพระนางเธอฯ ในเวลา 15.30 น. ว่าเธอกับมารดาไปกดออดและโทรศัพท์เข้าไปยังวังลักษมีวิลาศ แต่ไม่มีใครตอบหรือรับสาย อาจจะมีเหตุร้าย[2] พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ จึงเสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งส่วนพระองค์ไปยังวังลักษมีวิลาศ เมื่อนายเสงี่ยม ศิริสัง เทียบรถพระที่นั่งกับพระทวารแล้ว ก็เสด็จขึ้นชั้นบน พร้อมตรัสเรียกพระขนิษฐาตลอดเวลา เมื่อเสด็จถึงห้องพระบรรทมพบว่าเครื่องฉลองพระองค์และพระราชทรัพย์ในห้องถูกรื้อกระจาย พอเสด็จลงมาด้านล่างก็ได้กลิ่นเหม็นคละคลุ้งขึ้นมา เมื่อทรงตรวจดูก็พบพระศพของพระนางเธอลักษมีลาวัณขึ้นอืดเสียแล้ว อยู่บริเวณข้างโรงรถ[2] จากนั้นจึงทรงโทรศัพท์แจ้งตำรวจ สน.พญาไท เพื่อให้มาชันสูตรพระศพ เมื่อเสด็จไปที่พระทวารหลังวัง ก็ทรงพบกระเป๋าทรงของพระนางเธอทิ้งอยู่ เมื่อตรวจสอบก็พบว่าเงินสดจำนวนหนึ่งและปืนพกขนาดเล็กได้หายไป เหล่าพระราชวงศ์ พระอนุวงศ์ เมื่อทราบข่าวก็ทรงรีบเสด็จรุดมาเฝ้าพระศพที่วังลักษมีวิลาศ

3 กันยายน พ.ศ. 2504

[แก้]

เคลื่อนพระศพจากวังลักษมีวิลาสไปยังโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อทำการชันสูตรพระศพโดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเป็นประธาน และมีตำรวจ 30 นายรักษาความปลอดภัยรอบโรงพยาบาลตำรวจ มิให้ผู้ใดเข้าใกล้พระศพได้ ซึ่งแพทย์ได้วินิจฉัยว่าพระนางเธอฯ สิ้นพระชนม์มาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 วัน

4 กันยายน พ.ศ. 2504

[แก้]

เคลื่อนพระศพพระนางเธอลักษมีลาวัณสู่วัดมกุฎกษัตริยาราม โดยเชิญพระศพประดิษฐานในพระโกศกุดั่นน้อย ประดิษฐานที่ศาลามรุพงศ์ ภายใต้ฉัตรโหมดทอง 5 ชั้น รายล้อมด้วยอภิรุม ชุมสาย ฉัตร บังแทรก บังสูรย์ พัดโบก โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เป็นองค์ประธานในการพระราชทานน้ำสรงพระศพ

6 กันยายน พ.ศ. 2504

[แก้]

เวลาบ่าย โปรดให้จัดงานบำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน ณ ศาลามรุพงศ์ วัดมกุฏกษัตริยาราม[3]

พระราชพิธีถวายน้ำสรงพระศพ

[แก้]

วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2504 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เสด็จพระดำเนินแทนพระองค์โดยรถยนต์พระที่นั่ง ยังศาลามรุพงศ์ วัดมกุฎกษัตริยาราม ในการพระราชทานน้ำสรงพระศพ พระนางเธอลักษมีลาวัณ เมื่อเทียบรถยนต์พระที่นั่งที่ศาลามรุพงศ์ จากนั้นเสด็จขึ้นสู่ศาลามรุพงศ์ วัดมกุฎกษัตริยาราม พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสำหรับพระศพบูชาพระพุทธรูป แล้วทรงรับขวดน้ำพระสุคนธ์ ถวายสรงที่แถบแพรโยงจากพระศพ แล้วทรงคม เสด็จออกไปประทับพระเก้าอี่ โดยพระศพประดิษฐานเหนือพระแท่นทอง 3 ชั้น ประกอบพระลองกุดั่นน้อย ภายใต้ฉัตรโหมดทอง 5 ชั้น แวดล้อมด้วยเครื่องสูง บังแทรก ชุมสาย ต้นไม้ทองเงิน

เสร็จแล้ว ทรงวางพวงมาลาพระราชทานที่หน้าพระโกศพระศพ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูป ทรงกราบ แล้วทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ สดับปกรณ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา ทรงคมไปที่หน้าพระโกศพระศพ ทรงคมไปยังพระพุทธรูปประจำพระชนมวารที่ประดิษฐานอยู่บนพระแท่น ทรงถวายคำนับพระราชอาสน์ จากนั้นทรงจุดธูปเทียนเครื่องบูชากระบะมุกที่หน้าพระแท่นเตียงพระสวดพระอภิธรรม ทรงคม จากนั้น เสด็จพระดำเนินกลับ

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมประจำทั้งกลางวันและกลางคืน ในเวลา 18.00 น.ไปจนถึงเวลา 07.00 น.รุ่งขึ้น รับพระราชทานฉันเช้า และเพล มีกำหนด 15 วัน

อ้างอิง

[แก้]
  1. "หมายกำหนดการ ที่ ๑๓/๒๕๐๔ พระราชทานเพลิงพระศพ พระนางเธอลักษมีลาวัณ ณ พระเมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส พุทธศักราช ๒๕๐๔" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 78 (72 ง): 2144. 10 ตุลาคม 2504. สืบค้นเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 "คดีสะเทือนขวัญแห่งราชสำนัก ปลงพระชนม์มเหสี ร.6". คลิบแมส. สืบค้นเมื่อ 9 ธันวาคม 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "ข่าวในพระราชสำนัก วันพุธที่ ๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๐๔" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 78 (75 ง): 2046. 19 กันยายน 2504. สืบค้นเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)