การลวงประสาทเหมือนเวลาหยุด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การลวงประสาทเหมือนเวลาหยุด (อังกฤษ: Chronostasis, จาก กรีกโบราณ: χρόνος, chrónos, แปลว่า "เวลา" และ กรีกโบราณ: στάσις, stásis, แปลว่า "หยุด") เป็นการรับรู้เวลาผิดอย่างหนึ่ง ที่เกิดความรู้สึกเมื่อเริ่มกิจกรรมใหม่ว่า เวลายืดออกไป[1] ยกตัวอย่างเช่น ความรู้สึกเหมือนเวลาหยุดจะเกิดขึ้นเมื่อกำลังตรึงตาที่จุด ๆ หนึ่ง แล้วทำการเคลื่อนไหวตาแบบรวดเร็วที่เรียกว่า saccade (เหลือบตา) ไปมองที่จุดที่สอง ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกว่าได้มองอยู่ที่จุดที่สองเป็นระยะเวลานานกว่าที่ได้มองแล้วจริง ๆ โดยสามารถเกิดความรู้สึกเหมือนเวลายืดออกไปแบบนี้ถึง 500 มิลลิวินาที (ครึ่งวินาที) เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ขัดแย้งกับไอเดีย (หรือทฤษฎี) ที่ว่า ระบบการมองเห็นทำการจำลองเหตุการณ์ที่กำลังเป็นไปก่อนจะเกิดการรับรู้เหตุการณ์นั้นจริง ๆ[2]

รูปแบบของการลวงประสาทที่รู้จักกันดีที่สุดก็คือ ภาพลวงตาเหมือนนาฬิกาหยุด (stopped-clock illusion) ที่หลังจากการเหลือบตาแบบ saccade ไปดูนาฬิกา การเคลื่อนไปของเข็มวินาทีเป็นครั้งแรกเหมือนจะใช้เวลานานกว่าครั้งที่สอง โดยที่เข็มวินาทีอาจจะดูเหมือนกับหยุดอยู่กับที่สักระยะหนึ่งหลังจากการเหลือบดู[3][4][5][6]

การแปลสิ่งเร้าผิดเช่นนี้สามารถเกิดขึ้นทางหูและทางสัมผัสได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยหนึ่งบอกเป็นนัยว่า เมื่อกำลังฟังเสียงสัญญาณโทรศัพท์ที่บอกว่า โทรศัพท์เบอร์ที่โทรไปกำลังดังอยู่ ถ้ามีการสลับหูเพื่อจะฟังเสียงนั้น คนโทรจะประเมินระยะเวลาระหว่างสัญญาณโทรศัพท์ดังมากเกินไป[1]

กลไกการทำงาน[แก้]

โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว การลวงประสาทเหมือนเวลาหยุดเป็นผลจากการที่ระบบรับความรู้สึกทางตาหยุดส่งข้อมูลไปให้กับระบบที่ทำให้เกิดการเห็น คือว่า ปกติแล้ว ระบบการเห็นจะใช้ข้อมูลที่ได้จากตาเพื่อทำให้เกิดการเห็น โดยการเห็นจริง ๆ แล้วเป็นการประมวลข้อมูลทางตาแล้วให้ความหมายแก่ข้อมูลนั้น[7] แต่ว่า การเคลื่อนตาอย่างรวดเร็วโดย saccade มีผลเป็นการตัดการส่งข้อมูลนั้น คือ ขณะที่มีการเคลื่อนไหวแบบ saccade ข้อมูลบางอย่าง (หรืออาจจะทั้งหมด) ที่ตาส่งไปยังระบบประมวลผลจะหยุดระงับไป

เพราะว่า งานวิจัยทางประสาทเกี่ยวกับการประมวลผลทางตายังเป็นไปในทุกวันนี้อยู่ ก็เลยยังมีการถกเถียงกันอยู่ว่า มีการปรับเปลี่ยนการรับรู้โดยเวลาอย่างไรที่นำไปสู่การลวงประสาท[8] อย่างไรก็ดี บทความนี้จะกล่าวต่อไปถึงเหตุการณ์อย่างคร่าว ๆ ที่นำไปสู่การลวงประสาท โดยใช้ตัวอย่างของนักเรียนคนหนึ่งที่มองดูที่นาฬิกาในห้องเรียน คือ

  1. ในส่วนเริ่มแรก ตาจะรับข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมตรงจุดที่กำลังมอง ข้อมูลที่ได้รับนี้จะดำเนินไปถึงคอร์เทกซ์สายตาเพื่อประมวลผล หลังการประมวลผล ก็จะเกิดการรับรู้วัตถุที่กำลังมอง[9] สำหรับตัวอย่างนักเรียน เบื้องต้นนักเรียนกำลังอ่านหนังสือที่อยู่บนโต๊ะของตน หลังจากที่ตารวบรวมแสงสะท้อนจากหนังสือแล้วส่งให้คอร์เทกซ์สายตาเพื่อประมวลผล นักเรียนก็จะรับรู้ตัวหนังสือนั้นที่อยู่ข้างหน้า
  2. หลังจากเกิดความจงใจที่จะเปลี่ยนการทอดสายตา หรือเกิดการเห็นวัตถุใดวัตถุหนึ่งที่ส่วนรอบนอกของลานสายตาโดยไม่ได้อยู่ใต้อำนาจจิตใจ ระบบควบคุมตาก็จะประสงค์จะทอดสายตาลงที่วัตถุเป็นที่สนใจวัตถุที่สองนั้น[10] สำหรับนักเรียน เธออาจจะเช็คดูนาฬิกาหน้าห้องเรียนว่ากี่โมงแล้ว
  3. กล้ามเนื้อต่าง ๆ ที่ตาก็จะเริ่มการเกร็งตัวและขยับตาอย่างรวดเร็วไปยังวัตถุที่สองผ่านกระบวนการเคลื่อนตาที่เรียกว่า saccade[11] ทันทีที่ saccade เริ่มขึ้น ก็จะมีสัญญาณจากระบบที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวตา (งานวิจัยเสนอว่าคือส่วน superior colliculus) ส่งไปหาอีกส่วนหนึ่งของสมอง สัญญาณนี้ที่เรียกว่า efferent cortical trigger หรือ efference copy[12] (ก๊อปปี้สัญญาณสั่งการเคลื่อนไหว) ก็จะบอกสมองอีกส่วนหนึ่งว่า saccade จะเริ่มขึ้นแล้ว[5][13] ในขณะที่ saccade กำลังเป็นไป ระบบสายตาไม่สามารถรวบรวมข้อมูลทางตาเหมือนกับปกติได้ และดังนั้น ข้อมูลภาพที่รวบรวมในช่วงนี้จะมีความพร่ามาก[8] เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้คอร์เทกซ์สายตาประมวลผลข้อมูลที่พร่านี้ ก็จะเกิดการระงับการส่งข้อมูลบางส่วนผ่านกระบวนการที่เรียกว่า saccadic masking[14]
  4. เมื่อ saccade ยุติลงแล้ว ตาก็จะทอดลงอยู่ที่วัตถุที่สอง ทันทีที่ saccade ยุติลง ก็จะมี efference copy[12] ส่งจากระบบเคลื่อนไหวตาไปยังอีกส่วนหนึ่งของสมอง ซึ่งแจ้งว่า saccade ได้ยุติลงแล้ว โดยสัญญาณนี้ คอร์เทกซ์สายตาก็จะดำเนินการประมวลผลข้อมูลทางตาต่อไป[5] สำหรับนักเรียน ตาของเธอในขณะนี้อยู่ที่นาฬิกา และคอร์เทกซ์สายตาก็จะเริ่มประมวลข้อมูลที่มาจากตา แต่ว่า efference copy ที่สองนี้ ก็จะแจ้งด้วยว่า มีช่วงเวลาแห่งการรับรู้คือการเห็นช่วงหนึ่งที่ขาดหายไป เพื่อที่จะทดแทนช่วงเวลารับรู้ที่ขาดหายไปนี้ จะมีการแปลผลโดยวิธีที่เรียกว่า neural antedating หรือ neural backdating (น่าจะแปลว่า การป้อนข้อมูลประสาทย้อนหลัง)[14] คือ จะมีการเติมช่วงเวลาที่ขาดไปนี้ให้เต็มด้วยข้อมูลที่ได้รับหลังจาก saccade สำหรับนักเรียน จะมีการเติมช่วงเวลาที่ขาดไปในช่วง saccade ด้วยภาพนาฬิกา ดังนั้น ทันทีหลังจาก saccade เข็มวินาทีดูเหมือนจะหยุดอยู่กับที่ก่อนที่จะเคลื่อนต่อไปอีก[15]
ลำดับเหตุการณ์ของข้อมูลที่ตาเห็น และการเห็นของนักเรียน ที่แสดงว่า การลวงประสาทเหมือนเวลาหยุดอาจเกิดขึ้นได้อย่างไร ลำดับคือ (1) ตาเห็นหนังสือ (นักเรียนก็เห็นหนังสือ) (2) ตาเห็นหนังสือ (นักเรียนก็เห็นหนังสือ) (3) ตาพร่าเพราะ saccade (นักเรียนรู้สึกว่า เห็นเข็มนาฬิกาที่ 1 วินาที เป็นภาพที่สมองแทนที่ให้ด้วยข้อมูลที่ได้ในภายหลัง) (4) ตาเห็นนาฬิกาที่ 1 วินาที (นักเรียนก็เห็นเข็มนาฬิกาที่ 1 วินาที เป็นช่วงที่ 2) (5) ตาเห็นนาฬิกาที่ 2 วินาที (นักเรียนเห็นนาฬิกาที่ 2 วินาที) ให้สังเกตว่า สิ่งที่นักเรียนเห็นในช่วงที่ 3 ไม่ใช่ข้อมูลจากตาในช่วงเวลานั้นจริง ๆ เป็นข้อมูลที่สมองเติมให้ใช้ข้อมูลที่เกิดในภายหลัง เป็นกระบวนการที่ทำให้รู้สึกว่า การเห็นไม่มีการขาดช่วง

ในการศึกษาปรากฏการณ์นี้และเหตุเกิดของมัน ง่ายที่จะมีความเอนเอียงเพราะเหตุจากวิธีการทดลอง ในงานทดลองเป็นจำนวนมาก มีการสั่งผู้รับการทดลองให้ทำกิจกรรมบางอย่างเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้า ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้รับการทดลองคาดการถึงสิ่งเร้าที่นำไปสู่การมีความเอนเอียง นอกจากนั้นแล้ว กลไกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์นี้ซับซ้อนและยากที่จะวัดได้ เช่น เป็นความยากที่ผู้ทดลองจะสังเกตการณ์ความรู้สึกหรือการรับรู้ของผู้รับการทดลองโดยที่ไม่รู้ใจ[1]

องค์ประกอบที่มีอิทธิพล[แก้]

เพราะความซับซ้อนของปรากฏการณ์นี้ สิ่งเร้าที่มีลักษณะต่าง ๆ กัน และการกระทำทางกายต่าง ๆ กันสามารถเปลี่ยนประสบการณ์ลวงประสาทเหมือนเวลาหยุด

แอมพลิจูดของ saccade[แก้]

แอมพลิจูด (ช่วงระยะ) ของ saccade ยิ่งสูงขึ้นเท่าไร การประเมินค่าเวลาเกินไปก็เพิ่มขึ้นเท่านั้น เช่นในตัวอย่างเกี่ยวกับนักเรียน ตายิ่งต้องเคลื่อนไปไกลยิ่งเท่าไรที่จะเห็นนาฬิกา การรับรู้เหมือนว่าเวลาหยุด ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นไปเท่านั้น[14] ความเป็นไปอย่างนี้สนับสนุนทฤษฎีที่ว่า การประเมินระยะเวลาเกินเกิดขึ้น เพราะเกิดจากการเติมข้อมูลที่หายไปในช่วง saccade คือ saccade ยิ่งใช้เวลานานเท่าไร สมองก็จะต้องเติมข้อมูลที่หายไปนานขึ้นเท่านั้น ซึ่งนำไปสู่การประเมินช่วงเวลาของข้อมูลทางตาที่ได้รับทันทีหลังจาก saccade เกินไป[16]

การยักย้ายความใส่ใจ[แก้]

เมื่อเปลี่ยนจุดทอดสายตาจากวัตถุหนึ่งไปยังอีกวัตถุหนึ่ง การเคลื่อนไหวแบบ saccade นั้นจะประกอบด้วยการยักย้ายความใส่ใจด้วย เช่น ในกรณีภาพลวงตาเหมือนนาฬิกาหยุด ไม่ใช่ตาเท่านั้นที่ขยับไป แต่ต้องมีการย้ายความใส่ใจไปที่นาฬิกา เพราะเหตุนี้ นักวิจัยจึงยังไม่ทราบว่า การเคลื่อนไหวตา หรือเพียงแค่การย้ายความเใส่ใจไปยังตัวกระตุ้นที่สองเท่านั้น ที่เป็นตัวเริ่ม saccadic masking แต่มีการทดลองที่ผู้รับการทดลองย้ายความใส่ใจโดยไม่ขยับตาที่แสดงว่า การยักย้ายความใส่ใจเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เกิดประสบการลวงประสาทเหมือนเวลาหยุด[14] นี้บอกเป็นนัยว่า การใส่ใจไม่ได้เป็นสัญญาณจุดเริ่มต้นทางเวลาที่ใช้ในการเติมการรับรู้ให้เต็ม แต่จริง ๆ แล้ว การเคลื่อนไหวตาจริง ๆ นั่นแหละเป็นสัญญาณจุดเริ่มต้นทางเวลาที่สำคัญนี้ ถึงอย่างนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างความใส่ใจกับการรับรู้ในเรื่องของการลวงประสาทเหมือนเวลาหยุด เป็นความสัมพันธ์ที่วัดได้ยากและอาจจะมีความเอนเอียง (bias) เพราะอาศัยวิธีการทดลอง เพราะผู้รับการทดลองเองนั่นแหละอาจมีความเอนเอียง เนื่องจากรับสั่งให้ทำกิจกรรมหรือย้ายความสนใจไปทางอื่น ทฤษฎีว่าความใส่ใจอาจจะเป็นสัญญาณจุดเริ่มต้นทางเวลาสำหรับการลวงประสาทเหมือนเวลาหยุดยังไม่สามารถที่จะปฏิเสธได้โดยส่วนเดียว[16]

เสถียรภาพของตำแหน่งสิ่งแวดล้อม[แก้]

เราอาจจะสงสัยว่า การลวงประสาทเหมือนเวลาหยุดยังเกิดขึ้นหรือไม่ถ้าเป้าหมายของ saccade เคลื่อนที่ไปจากจุดเดิม พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราจะประสบการลวงประสาทเหมือนเวลาหยุดหรือไม่ถ้านาฬิกาที่เราดูเคลื่อนไปจากจุดเดิม โดยผ่านวิธีการทดลอง นักวิจัยพบว่า ขึ้นอยู่กับว่าเรารู้หรือไม่ว่าวัตถุนั้นได้เคลื่อนไปจากที่เดิมแล้ว คือ ถ้าเรารู้ว่า เป้าหมายของ saccade ได้เคลื่อนไปแล้ว ก็จะไม่เกิดประสบการลวงประสาทเหมือนเวลาหยุด และโดยนัยตรงกันข้าม ถ้าไม่รู้ว่า เป้าหมายของ saccade ได้เคลื่อนไปแล้ว ก็จะประสบกับปรากฏการณ์นี้ นี่น่าจะเป็นเพราะว่า การป้อนข้อมูลประสาทย้อนหลังจะไม่เกิดขึ้นในกรณีที่มีการรับรู้ถึงการเคลื่อนไหวของเป้าหมาย คือ ถ้าหลัง saccade ตาก็ทอดลงตรงที่เป้าหมาย สมองก็จะสมมุติว่า เป้าหมายได้ดำรงอยู่ที่ตำแหน่งของมันตลอดช่วงระยะ saccade แต่ถ้าเป้าหมายเปลี่ยนตำแหน่งในช่วง saccade ความแปรเปลี่ยนของสถานการณ์ย่อมทำให้เหมือนกับเป็นวัตถุใหม่[14]

ลักษณะของตัวกระตุ้น[แก้]

ลักษณะต่าง ๆ ของสิ่งเร้ามีอิทธิพลที่สำคัญต่อปรากฏการณ์นี้ โดยเฉพาะก็คือ ความถี่และรูปแบบของสิ่งเร้า ถ้ามีความถี่ทางกาลเวลา (temporal frequency) ของสิ่งเร้าสูง คือปรากฏต่อ ๆ กัน ก็จะทำให้การประเมินเวลาเกินเพิ่ม ทำการลวงประสาทให้มีกำลังเพิ่มขึ้น ถ้าเป็นสิ่งเร้าตัวเดียวที่ซ้ำ ๆ กัน ระยะเวลาที่ประมาณเกินก็จะสั้นลงกว่าสิ่งเร้าใหม่ ๆ[15] เนื่องจากกระบวนการระงับกระแสประสาท (neural suppression) ภายในคอร์เทกซ์ คือ งานวิจัยที่ใช้เทคนิคต่าง ๆ ในการสร้างภาพของสมองแสดงว่า การยิงสัญญาณซ้ำ ๆ กันของนิวรอนในคอร์เทกซ์มีผลให้สมองระงับการยิงสัญญาณของนิวรอนเหล่านั้น[17] นี้เป็นการปรับตัวของระบบประสาท (neural adaptation) แบบหนึ่ง

ประสาทสัมผัสต่าง ๆ[แก้]

การลวงประสาทเหมือนเวลาหยุดไม่ใช่เกิดขึ้นทางตาอย่างเดียว แต่ยังเกิดทางหูและทางสัมผัสอีกด้วย[18]

สำหรับทางหู การลวงประสาทและการประเมินเวลาเกินเกิดขึ้นเมื่อทำการสังเกตการณ์ทางหู ตัวอย่างสามัญอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ก็คือการใช้โทรศัพท์ เมื่อกำลังฟังเสียงที่บอกว่าโทรศัพท์เบอร์ที่กำลังโทรถึงกำลังดังอยู่ แล้วเปลี่ยนการฟังจากหูหนึ่งไปสู่อีกหูหนึ่ง ช่วงระยะห่างระหว่างโทรศัพท์ดังดูเหมือนจะยาวขึ้น[1]

ส่วนทางสัมผัส การลวงประสาทจะเกิดเมื่อปล่อยวัตถุหนึ่งไปจับอีกวัตถุหนึ่ง คือหลังจากเอื้อมไปจับวัตถุที่สอง ผู้รับการทดลองประมาณเวลาที่ได้จับวัตถุที่สองเกินความเป็นจริง[4] ในอีกการทดลองหนึ่งที่ใช้วิธีคล้าย ๆ กัน นักวิจัยสามารถปรับผู้รับการทดลองให้เห็นแสงก่อนที่จะเปิดสวิทช์ไฟ (เพราะเกิดการลวงประสาทสัมผัส) การทดลองเหล่านี้บอกเป็นนัยว่า เหมือนกับที่มีการประเมินระยะเวลาของเข็มวินาทีที่เห็นทางตาเกิน ก็สามารถที่จะประเมินระยะเวลาของสิ่งเร้าทางหูและทางสัมผัสเกินได้เช่นกัน หลักฐานนี้ชี้ให้นักวิจัยเริ่มศึกษาถึงกลไกการรักษาเวลาหรือว่ากระบวนการรักษาเวลาทั่ว ๆ ไป ที่ต้องใช้ในการรับรู้ระยะเวลาของสิ่งเร้าและเป็นสิ่งที่สามัญทั่วไปในระบบประสาทสัมผัสต่าง ๆ[15]

ดูเพิ่ม[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Hodinott-Hill, Iona; Thilo, Kai V.; Cowey, Alan; Walsh, Vincent (15 October 2002). "Auditory Chronostasis: Hanging on the Telephone". Current Biology. 12 (20): 1779–1781. doi:10.1016/S0960-9822(02)01219-8. PMID 12401174.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  2. Yarrow, Kielan; Whiteley, Louise; Rothwell, John C.; Haggard, Patrick (February 2006). "Spatial consequences of bridging the saccadic gap". Vision Research. 46 (4): 545–555. doi:10.1016/j.visres.2005.04.019.
  3. Knoll, Jonas; Morrone, M. Concetta; Bremmer, Frank (28 February 2013). "Spatio-temporal topography of saccadic overestimation of time". Vision Research. 83: 56–65. doi:10.1016/j.visres.2013.02.013.
  4. 4.0 4.1 Yarrow, Kielan; Rothwell, John C (July 2003). "Manual Chronostasis: Tactile Perception Precedes Physical Contact". Current Biology. 13 (13): 1134–1139. doi:10.1016/S0960-9822(03)00413-5.
  5. 5.0 5.1 5.2 Yarrow, Kielan; Johnson, Helen; Haggard, Patrick; Rothwell, John C. (June 2004). "Consistent Chronostasis Effects across Saccade Categories Imply a Subcortical Efferent Trigger". Journal of Cognitive Neuroscience. 16 (5): 839–847. doi:10.1162/089892904970780.
  6. "The mystery of the stopped clock illusion". BBC - Future - Health -. 2012-08-27. สืบค้นเมื่อ 2012-12-09.
  7. Goldstein, E. Bruce (2010). Sensation and perception (8th ed.). Belmont, CA: Wadsworth, Cengage Learning. ISBN 978-0495601494.
  8. 8.0 8.1 Knoll, Jonas (30 October 2012). "Spatio-temporal representations during eye movements and their neuronal correlates" (Dissertation).
  9. Kolb, Bryan; Whishaw, Ian Q. (2008). Fundamentals of Human Neuropsychology (6th ed.). Basingstoke: Palgrave Macmillan. pp. 350–375. ISBN 0716795868.
  10. Ibbotson, M. R.; Crowder, N. A.; Cloherty, S. L.; Price, N. S. C.; Mustari, M. J. (October 2008). "Saccadic Modulation of Neural Responses: Possible Roles in Saccadic Suppression, Enhancement, and Time Compression". Journal of Neuroscience. 28 (43): 10952–10960. doi:10.1523/JNEUROSCI.3950-08.2008. PMID 18945903.
  11. Purves, Dale (2012). Neuroscience (5th ed.). Sunderland, Mass.: Sinauer. ISBN 978-0-87893-695-3.
  12. 12.0 12.1 efference copy เป็นก๊อปปี้ของสัญญาณสั่งการเคลื่อนไหวที่ส่งไปจากระบบสั่งการ (motor system) ข้อมูลนี้สามารถใช้ในการเปรียบเทียบกับความรู้สึกที่ได้รับเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวที่เกิดจากสัญญาณสั่งการนั้น ส่งผลให้สามารถเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจริง ๆ กับการเคลื่อนไหวที่ประสงค์ และให้สามารถกรองผลที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของตนจากการรับรู้ โดยใช้ efference copy กับ internal models สมองก็จะสามารถพยากรณ์ถึงผลของการกระทำหนึ่ง ๆ ได้
  13. Bridgeman, Bruce (1995). "A review of the role of efference copy in sensory and oculomotor control systems". Annals of Biomedical Engineering. 23 (4): 409–422. doi:10.1007/BF02584441.
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 14.4 Thilo, Kai V.; Walsh, Vincent (19 February 2002). "Vision: When The Clock Appears to Stop". Current Biology. 12: R135–R137. doi:10.1016/S0960-9822(02)00707-8.
  15. 15.0 15.1 15.2 Eagleman, David M (April 2008). "Human time perception and its illusions". Current Opinion in Neurobiology. 18 (2): 131–136. doi:10.1016/j.conb.2008.06.002.
  16. 16.0 16.1 Nobre, Anna C. (2010). Attention and time (1. publ. ed.). Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-956345-6.
  17. Verhoef, B.-E.; Kayaert, G.; Franko, E.; Vangeneugden, J.; Vogels, R. (15 October 2008). "Stimulus Similarity-Contingent Neural Adaptation Can Be Time and Cortical Area Dependent". Journal of Neuroscience. 28 (42): 10631–10640. doi:10.1523/JNEUROSCI.3333-08.2008.
  18. Nijhawan, Romi (2010). Space and Time in Perception and Action. Cambridge, UK: Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-86318-6.

แหล่งข้อมูลอื่น (เป็นภาษาอังกฤษ)[แก้]